หากเรากำลังคิดถึงที่ที่มีความสุข แน่นอนว่าหลายๆ คนคงนึกถึงบ้านเป็นที่แรกๆ เพราะ ‘บ้าน’ ถือเป็นสถานที่ที่เราได้ใช้เวลาอยู่กับมันในทุกๆ จังหวะและช่วงเวลาของชีวิต ซึ่งนิยามของคำว่าบ้านที่ดีของหลายๆ คนคงจะแตกต่างกันออกไป คุณกร ทองทั่ว เจ้าของบ้านและสถาปนิกจาก BHBK ได้ให้นิยามบ้านที่ดีกับเราไว้ว่า “บ้านที่ดี คือ บ้านที่เหมาะสมกับเจ้าของ บ้านที่เป็นตัวเจ้าของเองจริงๆ” ซึ่งการที่จะเริ่มต้นทำบ้านสักหลัง สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นอันดับแรกก็คงจะหนีไม่พ้น ผู้อยู่อาศัย เช่นเดียวกับคุณกรที่ออกแบบบ้าน Basic House หลังนี้ โดยเน้นความเรียบง่ายแบบมินิมอลสไตล์ที่เป็นความชอบส่วนตัวของภรรยา บวกกับฟังก์ชันมากมายเพื่อตอบรับกับผู้อยู่อาศัย ซึ่งก็คือ ครอบครัวของคุณกรเอง
“คำว่า Basic house เนี่ยมันขึ้นมาในสมองตั้งแต่วันแรกๆ ที่สเก็ตแบบ อะไรที่มันเบสิกที่สุด อะไรที่ธรรมดาที่สุด
คำว่า ธรรมดา คืออะไรที่เราสามารถหยิบขึ้นมาแล้วมันเกิดความงามได้ นั่นคือวัตถุดิบที่เกิดขึ้นเป็นบ้านหลังนี้เป็นการเอาของที่ธรรมดาแต่ดูเรียบง่าย อาจจะรู้สึกว่าเป็นวัสดุที่ไม่น่าจะเกิดความงามได้มากขนาดนี้ ในเวลาเดียวกัน เราเอาความงามที่ว่ามารวมเป็นฟังก์ชัน คำว่า Basic house คือบ้านธรรมดาที่สุดแต่มันมีความพิเศษอยู่” คุณกรเล่าให้เราฟังถึงนิยามของคำว่า Basic House ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเลือกวัสดุหรือโทนสีที่ใช้ภายในบ้านหรือแม้แต่รูปด้านภายนอกบ้าน จะเน้นเป็นสีขาวที่ให้ความรู้สึกเรียบง่าย มินิมอล และสบายตา
เมื่อมองจากภายนอก ก็คงจะสะดุดตากับรูปด้านของตัวบ้านที่เป็นหลังคาจั่ว สีขาวเรียบ มีหน้าต่างบริเวณด้านหน้าของบ้านหนึ่งบาน และมีต้นไม้ใหญ่บริเวณหน้าบ้านหนึ่งต้น ซึ่งคุณกรให้เล่าให้เราฟังว่า เป็นความตั้งใจส่วนตัวของภรรยาที่อยากได้บ้านเหมือนภาพสเก็ตในวัยเด็ก ซึ่งเชื่อว่าหลายๆ คนคงนึกออก จากบ้านที่เป็นภาพจำในวัยเด็กของภรรยาผสมผสานกับความเป็นมินิมอลสไตล์จนออกมาเป็นบ้าน Basic House อย่างที่เราเห็นกัน
‘มินิมอลสไตล์’ เรียบ ไม่ได้แปลว่า ง่าย
จะเห็นได้ว่าพื้นที่แต่ละส่วนของบ้านทั้งภายนอกและภายใน มีความเรียบแบบมินิมอลสไตล์มากๆ ไม่ว่าจะเป็นสี การวางเฟอร์นิเจอร์ หรือการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ โดยภายในบ้านหลังนี้เราแทบจะไม่เห็นอะไรที่ไม่สวยงามเลย โดยคุณกรเล่าถึงความยากตรงนี้ว่า “เราต้องการให้มันเรียบ ในความหมายคือต้องการให้มันเป็นสไตล์มินิมอลด้วย เลยต้องทำให้มันดูเรียบกว่าบ้านปกติ แต่ในเวลาเดียวกันเนี่ยมันก็ต้องมีเรื่องของงานระบบอยู่ เรื่องของรางระบายน้ำ เรื่องของคอมเพรซเซอร์แอร์ เรื่องของการใช้พื้นที่ service ต่างๆ ต้องโดนเก็บทั้งหมด นั่นเป็นเรื่องของความยาก การที่เราจะสร้างให้มันมินิมอลเนี่ย เบื้องหลังมันมีอะไรเยอะแยะเลย”
พื้นที่จำกัด แต่เต็มไปด้วยฟังก์ชัน
ด้วยข้อจำกัดของขนาดที่ดิน ซึ่งมีหน้ากว้าง 9 เมตร แต่ลึกถึง 30 เมตร งานยาก คือความแคบแต่ยาว คุณกรจึงออกแบบพื้นที่ทางเดินภายในบ้านที่กว้างเพียง 90 เซนติเมตร แล้วเซตให้อยู่ด้านใดด้านหนึ่งของบ้าน แต่เป็นทางเดินที่สามารถเชื่อมต่อไปสู่พื้นที่หลัก ส่วนอื่นๆ ของบ้าน เช่น ห้องรับแขก ห้องทานข้าว ห้องเล่นของลูก และห้องนอน โดยการออกแบบพื้นที่ทางเดินนี้คุณกรก็เลือกใช้วัสดุทางเดินเป็นผนังกระจก ซึ่งเป็นตัวช่วยที่ทำให้รู้สึกว่าบ้านกว้างขึ้น และยังเพิ่มฟังก์ชันของพื้นที่ทำงานเข้าไปด้วย ในเวลาเดียวกัน ก็ยังสามารถมองเห็นพื้นที่ต่างๆ ที่แบ่งสัดส่วนไว้ ไว้ว่าจะเป็นพื้นที่โรงรถซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวของคุณกร และยังสามารถมองเห็นคอร์ดกลางบ้าน และพื้นที่เล่นของลูกๆได้ด้วย
‘ปิด’ เพื่อ ‘เปิด’ ให้เห็นความสวยงามที่อยู่ภายใน
“ เรารู้สึกว่าเราหวงความสวยงาม และเราก็ไม่อยากมองอะไรที่ไม่งาม บ้านหลังนี้ก็เป็นการดีไซน์ที่เป็นดีไซน์ปิด ปิดในที่นี้คือ ไม่อยากเห็นอะไร แต่ในเวลาเดียวกันคือเราอยากเห็นสิ่งที่สวยงาม นั่นคือคอร์ดกลางบ้านที่เราวางแผนให้มันมีต้นไม้ มันเกิดเป็นธรรมชาติที่เรามองเห็นกันเอง ลักษณะ area ตรงนี้ก็เหมือนบ้านสองหลังที่มองเห็นกันเอง โดยทั้งสองหลังมีความงามซึ่งกันและกัน”
ด้วยบริบทโดยรอบของพื้นที่ บริเวณย่านลาดพร้าวก็ถือว่าเป็นย่านเมืองที่มีความวุ่นวายในระดับนึง จึงเป็นความตั้งใจของคุณกรที่จะทำการออกแบบบ้านเป็นดีไซน์ปิด เนื่องจากไม่ต้องการมองเห็นสิ่งอื่นๆ ภายนอกบ้าน แต่ในขณะเดียวกัน ก็เปิดมุมมองเพื่อให้เห็นคอร์ดบริเวณกลางบ้าน ซึ่งมีการปลูกต้นไม้ พื้นที่นั่งพักผ่อนของครอบครัว หรือทำบ่อทรายไว้สำหรับลูกๆ และยังสามารถมองเห็นกันเองจากพื้นที่อื่นๆ ด้วย
โดยบริเวณชั้นสองของบ้าน คุณกรตั้งใจให้พื้นที่หลักๆ ในการอยู่อาศัย เช่น พื้นที่ทานอาหาร พื้นที่เล่นของลูก พื้นที่ส่วนห้องรับแขกในการพักผ่อนของครอบครัว รวมเป็นพื้นที่เดียวกัน เนื่องจากอยากให้มีการมองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้น แม้แต่ในส่วนห้องเล่นของลูกที่ถูกแบ่งไว้ชัดเจน คุณกรก็เลือกใช้วัสดุเป็นผนังกระจก เพื่อให้สามารถมองเห็นทะลุถึงกันได้
ถัดจากบริเวณพื้นที่หลักกลางบ้าน ก็จะพบกับทางเดินที่พาไปสู่บริเวณห้องนอน ซึ่งแยกสัดส่วนพื้นที่กันไว้อย่างชัดเจน
โดยบริเวณห้องนอน คุณกรก็ออกแบบโดยใช้ประตูบานเลื่อนกระจก เพื่อให้เปิดรับกับคอร์ดกลางบ้าน ซึ่งพาธรรมชาติเข้าสู่ห้องนอน แต่ในเวลาเดียวกันก็ยังมองเห็นพื้นที่ส่วนหลักของบ้านที่เกิดกิจกรรมหลากหลายของครอบครัวเป็นแบคกราวน์ด้วย
คงพูดได้ว่า ‘บ้าน’ ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่มีสเน่ห์ในตัวของมันเอง เนื่องจากบ้านแต่ละหลังจะดีได้นั้นก็คงต้องอยู่แล้วมีความสุข บ้านของแต่ละคนจึงปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยหลายๆ ด้านของผู้อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อม หรือแม้แต่นิสัย สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ บ้าน ต่างจากสถาปัตยกรรมประเภทอื่นๆ ซึ่ง Basic House ก็คงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของบ้านที่พอดีและเหมาะสมกับเจ้าของ เหมือนที่คุณกรให้นิยามมันไว้ตั้งแต่แรก