OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ArchEyesView : ปลดปล่อยสถาปัตยกรรม

เรื่องและภาพ กุลธิดา ทรงกิตติภักดี

หลายครั้งที่เรามักพบว่าการออกแบบงานสถาปัตยกรรมมีข้อจำกัดมากมาย ไม่ว่าจะเกิดจากบริบทที่ตั้งอาคาร สภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อม กฏหมายอาคาร รวมถึงการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งาน การออกแบบสถาปัตยกรรมนั้นจึงต้องใช้ทักษะประนีประนอมขั้นสูงเพื่อที่จะให้งานออกแบบนั้นๆ ตอบโจทย์ทุกข้อได้และยังต้องคำนึงถึงความสวยงามเป็นหลักอีกด้วย

แต่นิทรรศการ Freeing Architecture ของสถาปนิกชาวญี่ปุ่น Junya Ishigami กลับคิดต่างออกไป นิทรรศการนี้แสดงถึงการปลดปล่อยข้อจำกัดหลายๆ อย่างที่มีในสถาปัตยกรรม งานของ Ishigami ทำให้ผู้ชมและผู้ใช้งานรู้สึกอย่างนั้นจริง ไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวผลงาน แต่แบบ drawing และขั้นตอนในการทำงานทั้งหลายมันหลุดออกจากกรอบของสถาปนิกที่เคยมีมาแต่เดิม อิสระและไร้ซึ่งพันธการใดๆ แต่ยังคงไว้ถึงการรับรู้จากบริบทโดยรอบ

ว่าแต่ใครคือ Junya Ishigami หลายคนอาจจะตั้งข้อสงสัย สถาปนิกชื่อไม่คุ้นหูคนนี้ทำไมถึงมีหน่วยงานจากฝรั่งเศส Fondation Cartier pour l’art contemporain เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสนับสนุนนิทรรศการแสดงผลงานของเขาแบบเดี่ยวๆ ได้ Ishigami วัย 45 ปี สถาปนิกรุ่นใหม่ไฟแรงจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียวและเริ่มทำงานสถาปัตยกรรมกับ SANAA บริษัทสถาปนิกชื่อดังในญี่ปุ่นก่อนจะออกมาเปิดบริษัทของเขาเองในปี 2004 หลังจากเปิดบริษัทตนเองได้ไม่ถึงหกปีเขาได้รับรางวัล Golden Lion จากงาน Venice Architecture Biennale ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2019 นี้เขาได้รับเลือกให้เป็นผู้ออกแบบ Serpentine Pavilion ที่ลอนดอนอีกด้วย

ตลอดระยะเวลาสิบห้าปีที่เขาค้นหาแนวทางของตัวเองผ่านทางงานสถาปัตยกรรมนั้น เขาพบว่าการปล่อยใจจากข้อผูกมัดใดๆ ในงานสถาปัตยกรรมและเปิดใจให้กับความเป็นไปได้ต่างๆ ที่เกิดจากธรรมชาติ ผู้คนและบริบทโดยรอบ สิ่งเหล่านี้เป็นแรงขับเคลื่อนที่จะทำให้การคิดงานสถาปัตยกรรมนั้นเป็นไปอย่างอิสระ ความรู้สึกมันคงคล้ายๆ กับการทำใจให้เป็นอิสระในทางศาสนาพุทธ ถ้าข้อจำกัดต่างๆ ของงานเทียบเท่ากับความทุกข์ เมื่อเรารู้เท่าทันทุกข์ปล่อยให้มันเป็นไปดังธรรมชาติ ใจไม่ทุกข์ จิตเป็นอิสระเราก็จะค้นพบวิธีที่จัดการความทุกข์เหล่านั้นได้อย่างแยบยล

จริงๆ แล้วนิทรรศการนี้ถูกยกมาจาก Fondation Cartier ซึ่งจัดขึ้นในปารีสไปเมื่อปลายปีที่แล้ว และย้ายเนื้อหาทั้งหมดมาจัดที่เซี่ยงไฮ้กลางปีนี้ที่ Power Station of Art (PSA) พิพิธภัณฑ์แสดงงานศิลปะร่วมสมัยแห่งแรกในจีน ถึงแม้ว่างานสร้างจริงของ Ishigami มีแทบนับชิ้นได้ มันกลับน่าสนใจที่ว่าเขาจะสื่อผลงานออกมาอย่างไรที่ผู้ชมสามารถรับรู้ได้ถึงการปลดปล่อยทางความคิดแบบที่เขาพยายามทดลองมันในงานของเขา แต่เอาเข้าจริงแล้วการจัดนิทรรศการนั้นกลับไม่ได้สื่อถึง Freeing เลยแม้แต่น้อย นิทรรศการทั้งหมดถูกแบ่งด้วยผนังโดยแยกการจัดแสดงออกเป็นทั้งหมด 16 ส่วน จัดแสดงแต่ละโครงการแยกไปในแต่ละห้อง นำเสนอ 19 โครงการที่เขามีผลงานอยู่ทั้งในญี่ปุ่น จีน เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค ออสเตรเลีย รัสเซีย และอังกฤษ ห้องสุดท้ายของนิทรรศการแสดงวิดีทัศน์สรุปผลงานทั้งหมดที่จัดแสดง ในทุกๆ โครงการจะมีโมเดลจำลอง ภาพวาดแสดงแนวความคิดและขั้นตอนการออกแบบ รวมไปถึงตัวอย่างแบบก่อสร้าง แต่กลับไม่มีภาพของอาคารที่สร้างเสร็จเลยสักหลัง นอกเสียจากจอวิดีทัศน์เล็กๆ ที่นำเสนอขั้นตอนการก่อสร้างและบรรยากาศการใช้งานของอาคารเมื่อเสร็จสมบูรณ์ในโครงการที่ได้สร้างจริง

สิ่งที่เห็นได้ชัดในงานของเขาทุกงานนั้น คือการรังสรรค์สภาพแวดล้อมโดยรอบได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ อาทิเช่นงาน Botanical Farm Garden Art Biotop / Water Garden ที่เมือง Tochigi ประเทศญี่ปุ่น โครงการนี้มีโจทย์ว่าเจ้าของโครงการจำเป็นต้องสร้างโรงแรมบนพื้นที่ป่าซึ่งมีต้นไม้อยู่มากมาย Ishigami จึงนำเสนอให้ย้ายต้นไม้บนพื้นที่ก่อสร้างไปปลูกที่ทุ่งหญ้าตรงข้ามที่ตั้งโรงแรมซึ่งเคยเป็นทุ่งนาเดิม เขาและทีมงานลงพื้นที่ใช้เวลาเก็บข้อมูลของต้นไม้ทั้งหมดในป่าและกำหนดตำแหน่งที่ตั้งใหม่ให้มัน รวมทั้งออกแบบขุดบึงน้ำล้อมรอบต้นไม้เหล่านั้นโดยประยุกต์จากการใช้งานในพื้นที่ทุ่งนา ป่าทดแทนแห่งใหม่ก็เกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ที่น่าสนใจและแปลกตาไปจากที่เคยเป็น

ยังมีผลงานอื่นๆ อีกหลายงานที่ Ishigami พยายามใช้งานออกแบบของเขาปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและบริบทโดยรอบ อาทิเช่น งาน Park Groot Vijversburg Visitor Center ที่เมือง Tytsjerk เนเธอร์แลนด์ ที่เขาใช้ทางเดินเดิมในสวนมาเป็นตัวกำหนดกรอบของอาคาร หรืองาน Chapel of Valley เมือง Shandong ประเทศจีน โบสถ์ที่แทรกตัวระหว่างหุบเขา Ishigami ออกแบบให้โบสถ์ของเขามีสัดส่วนที่ล้อกับช่องว่างระหว่างหุบเขา โบสถ์ของเขาจึงมีความสูงถึง 45 เมตรและกว้างไม่ถึงเมตรครึ่ง ซึ่งการออกแบบอาคารที่มีสัดส่วนเช่นนี้ Ishigami เชื่อว่าอาคารไม่จำเป็นต้องมีหลังคามาปกคลุม เพราะเมื่อฝนตกจะไม่สามารถเล็ดลอดเข้ามาด้านในได้เนื่องจากฝนจะตกเป็นแนวทแยง อาคารของเขาจึงเปรียบเสมือนหุบเขาที่แทรกตัวไปในเทือกเขานั่นเอง

Freeing Architecture ของ Ishigami อาจจะไม่ใช่แค่การปลดปล่อยทางความคิดและผลงานผ่านทางสถาปัตยกรรมเท่านั้น มันกลับสื่อถึงการหลุดออกจากวงจรของการนำเสนอภาพทัศนียภาพจำลองแบบเดิมๆ รูปถ่ายอาคารสวยๆ จากช่างภาพมืออาชีพที่สถาปนิกทุกวันนี้ยังคงยึดติดอยู่ เทียบได้กับชีวิตประจำวันที่คนทุกวันนี้ยึดมั่นถือมั่นและต้องการมีเหมือนที่คนอื่นมี บางทีเราอาจจะต้องกลับมาย้อนคิด ปล่อยจิตปล่อยใจให้เป็นอิสระ ไม่แน่เราอาจจะค้นพบว่าอะไรคือสิ่งที่ควรมีและควรทำซึ่งเราสามารถมีและเป็นได้ในแบบของเรา

Junya Ishigami: Freeing Architecture

ระยะเวลาที่จัดงาน : 18 กรกฎาคม – 7 ตุลาคม 2019

เวลาทำการ : 11.00 – 19.00 น. ปิดวันจันทร์

สถานที่ : 678 Miaojiang Road, Huangpu District, Shanghai

Metro: Exit 2, South Xizang Road Station (Line 4 and 8)

http://www.powerstationofart.com/en/exhibition/Junya-Ishigami-Freeing-Architecture.html