Location: ประชาชื่น กรุงเทพฯ
Owner: คุณชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา และคุณณัฐพร พงษ์ชาญชวลิต
Architect: Monotello โดย วรพจน์ เตชะอำนวยสุข,ปัทมา พรภิรมย์ และ สหวุฒ ปานะภาค
Photographs: ศุภกร ศรีสกุล
“เจ้าของบ้าน มีโอกาสเห็นรูปภาพสุดท้ายเยอะแยะเต็มไปหมด เขาเอามาให้ผู้ออกแบบดูคิดว่านี่คือภาพที่เขาอยากได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ภาพไม่ได้บอกคือการใช้งาน ธรรมชาติของเขา เขาชอบแต่เขาใช้หรือเปล่า?”
คำถามเริ่มต้นของการออกแบบบ้านให้กับคู่รักคู่หนึ่ง จาก “คุณวรพจน์ เตชะอำนวยสุข” สถาปนิกแห่ง Monotello ที่รับหน้าที่ออกแบบความต้องการให้เกิดขึ้นจริง บนพื้นฐานของความเหมาะสมกับธรรมชาติในการอยู่อาศัยของเจ้าของบ้าน แต่กว่าที่คำถามจะนำมาซึ่งคำตอบอันเรียบง่าย เหมือนภาพที่ปรากฏบนบ้านหลังนี้ เรื่องราวระหว่างทางก็ถือเป็นความท้าทายที่ทำให้เราตระหนักว่า ภาพบ้านตัวอย่างสวยๆที่เราเห็นในเว็บไซต์ อาจไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน และการออกแบบบ้านสักหนึ่งหลังให้ผู้อยู่อาศัยมีความสุขจริงๆ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
ความชัดเจนในความไม่ชัดเจน
เริ่มต้นจากความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่มีรูปแบบบ้านที่ตนชื่นชอบอยู่ในใจ อย่างบ้านที่เรียบง่ายสไตล์มินิมัล มีโถงสูง และโทนสีสุภาพ ซึ่งได้นำภาพตัวอย่างของบ้านที่หามาให้กับสถาปนิกดู และบอกว่าต้องการบ้านในลักษณะนี้ ซึ่งในมุมมองของสถาปนิกแล้ว จากที่รู้จักเจ้าของบ้านทั้งสองเป็นการส่วนตัว พบว่า ทั้งสองมีความชัดเจน มองเห็นสิ่งที่ต้องการ แต่ยังไม่เห็นภาพตัวเองที่ใช้ชีวิตอยู่ภายใต้บ้านตัวอย่างเหล่านั้น ซึ่งทั้งหมดนี้นำมาสู่แนวคิดการออกแบบจากการสังเกตชีวิตประจำวันของเจ้าของบ้านทั้งสอง ที่ถึงแม้จะเป็นคู่ที่รักกันมาก แต่ช่วงเวลาที่อยู่บ้านด้วยกันกลับไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กันนัก สถาปนิกจึงออกแบบให้ทุกพื้นที่ภายในบ้านเชื่อมต่อกันผ่านสายตา ทำให้ทั้งคู่สามารถมองเห็นกันตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดๆอยู่ก็ตาม
เชื่อมพื้นที่ เชื่อมความสัมพันธ์
“ห้องหนึ่งห้องมักจะถูกกั้นด้วยผนังและประตู คำถามคือ ทำอย่างไรให้ผนังและประตู ยังคงฟังก์ชันการกั้นพื้นที่ระหว่างห้อง แต่หายไปเมื่อต้องการการเชื่อมต่อของพื้นที่” คำตอบของสถาปนิกคือ การออกแบบช่องเปิดกว้างด้วยกระจกบานเลื่อนแทนที่ผนังทึบ อย่างเช่น ห้องอ่านหนังสือที่สามารถเปิดประตูกั้น เชื่อมต่อพื้นที่ไปยังระเบียงหลักของบ้านได้ และห้องนั่งเล่นที่ออกแบบพื้นที่ให้เป็น Double Space หรือโถงโปร่ง ซึ่งผนังฝั่งที่ติดกับสระว่ายน้ำ ถูกเปลี่ยนให้เป็นหน้าต่างกระจกใสที่สูงจรดฝ้าเพดาน ที่นอกจากเชื่อมต่อมุมมองจากห้องนั่งเล่นสู่พื้นที่ธรรมชาติภายนอกได้เต็มที่แล้ว ยังเชื่อมต่อความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในบ้าน ที่ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใด หรืออยู่ส่วนใดของบ้านก็ตาม ก็สามารถมองเห็นอีกฝ่ายได้อย่างง่ายดายอีกด้วย
แปลนชั้น 1 ของบ้าน
แปลนชั้น 2 ของบ้าน
ไม่มีนอก ไม่มีใน
นอกจากเรื่องการเชื่อมต่อพื้นที่เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกภายในบ้านแล้ว ภายใต้การออกแบบห้องนั่งเล่น ยังซ่อนเรื่องของเปิดรับแสงสว่างและลมธรรมชาติจากภายนอก เข้าสู่พื้นที่ภายในบ้านได้อย่างเต็มที่ ซึ่งทำให้พื้นที่นี้มีความครุนเครือระหว่างพื้นที่ภายนอกและภายในบ้าน คล้ายกับการนั่งอยู่ในศาลาที่มองเห็นน้ำล้อมรอบตลอดเวลา สร้างบรรยากาศดีๆเหมาะแก่การพักผ่อนเป็นที่สุด
และด้วยความที่เจ้าของบ้านชื่นชอบการว่ายน้ำ สระว่ายน้ำขนาดใหญ่จึงเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชันแรกๆที่เจ้าของต้องการ ซึ่งความท้าทายในการออกแบบ คือเมื่อทดลองวางฟังก์ชันตัวบ้านประกอบกับสระว่ายน้ำแล้ว ปรากฏว่าพื้นที่ของสระว่ายน้ำมากกว่าครึ่งของพื้นที่ทั้งหมด สถาปนิกจึงแก้ปัญหาด้วยการออกแบบรูปลักษณ์สระว่ายน้ำให้ขนานไปกับตัวบ้าน และผสานสระว่ายน้ำให้เป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ทำให้สระว่ายน้ำให้ซ้อนทับไปกับพื้นที่ห้องนอนที่ยื่นยาวออกมาจากด้านบน
หัวใจหลักของบ้านที่เบาลอย
เส้นทางเดินทั้งหมดภายในบ้านเป็นไปอย่างลื่นไหล สถาปนิกออกแบบเส้นทางเดินต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นมุม ไม่เป็นทางตัน ทุกทางจะมีจุดหมายปลายทางเป็นห้อง ซึ่งห้องนอนถือว่าเป็นจุดปลายทางที่สำคัญที่สุดของบ้าน ซึ่งนอกจากเรื่องการเชื่อมต่อที่สามารถมองเห็นทุกพื้นที่ภายในบ้านจากภายในห้องนอนแล้ว เรื่องของโครงสร้างที่ไร้เสา ที่มีความยาวถึง 6 เมตร ยังให้ความรู้สึกเบาลอยและทำให้การใช้งานพื้นที่ระเบียงด้านใต้ ดูโปร่ง ส่งผลต่อความรู้สึกที่รับรู้เพียงระนาบของพื้นและฝ้า ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นหัวใจหลักของบ้าน นอกจากนี้ยังมีการออกแบบคอร์ทในทุกๆทางเดิน และพื้นที่ต่างๆภายในบ้าน อย่างห้องน้ำในชั้นสอง ที่มีคอร์ทภายในพร้อมทั้งออกแบบช่องเปิด Skylight เปิดรับแสงธรรมชาติจากด้านบนด้วย
เรียบง่าย และสะท้อนความเป็นตัวตน
การตกแต่งภายใน สถาปนิกออกแบบให้เป็นไปตามความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่ต้องการความเรียบง่าย ซึ่งวัสดุที่เลือกใช้จึงเป็นวัสดุที่เผยเนื้อแท้ สะท้อนออกมาในรูปแบบของการหล่อคอนกรีต “หลายๆครั้งผมค้นพบว่า การออกแบบที่สะท้อนตัวตนของเจ้าของบ้านออกมาจริงๆ เขาจะเริ่มสนุกกับการออกแบบร่วมกับสถาปนิก เรามาออกแบบด้วยกันเถอะ มาช่วยสร้างบ้านหลังนี้ มันก็เลยเกิดขึ้น”
“นอกจากเรื่องฟังก์ชันห้องแล้วยังมีเรื่องการใช้งานด้วย และสุดท้ายมันจะจบตรงที่ว่า ผู้อยู่อาศัยมีความสุขกับบ้านไหม? ซึ่งความสุขมันต้องมาด้วยความเป็นตัวตนของเขา” คำกล่าวของสถาปนิกในส่วนสุดท้าย ที่สะท้อนให้เห็นว่าการออกแบบบ้านสักหนึ่งหลังมีรายละเอียดมากกว่าที่คิด ความต้องการที่เกิดขึ้น หากไร้ซึ่งความเข้าใจในตัวตนของการอยู่อาศัย และไร้ซึ่งการออกแบบที่เหมาะสมจากสถาปนิกแล้ว ความสุขระหว่างผู้อยู่อาศัยและบ้านจะเกิดขึ้นได้อย่างไร