ปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนในเมืองนั้นส่งผลต่อลักษณะนิสัยในการออกแบบอาคารและเมือง นิสัยไม่ชอบอากาศร้อนของคนไทยนั้นนำไปสู่แนวคิดโล่ง โปร่ง สบาย ที่แทบจะแฝงอยู่ในทุกๆแนวคิดของการออกแบบอาคาร หรืออากาศอันหนาวเหน็บในยุโรปก็กระตุ้นให้เกิดลานหรือจัตุรัสหลายๆจุดในเมือง เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับรับไอแดดอบอุ่น
โดยมิใช่เพียงแค่สภาพอากาศเท่านั้น รวมไปถึงรูปแบบอาหารการกิน เทรนด์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกันก็นำไปสู่เมืองที่แตกต่างและหลากหลาย ประเทศเวียดนามก็เช่นเดียวกัน วันนี้ผมจึงอยากเล่าถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างวัฒนธรรมแบบเวียดนามและแนวทางการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ครับ
ง่าย ๆ ในแบบฮานอย
หนึ่งพฤติกรรมที่สามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนจากการใช้ชีวิตในเมืองฮานอยคือนิสัยง่าย ๆ กันเองและเปิดเผย เราสามารถสังเกตนิสัยเหล่านี้ได้ตั้งแต่การพูดคุย การใช้พื้นที่ต่าง ๆ ไปจนถึงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สถาปนิกเลือกใช้ ในครั้งแรกที่ผมรับรู้ได้ว่าคนฮานอยมีนิสัยเหล่านี้นั้นเริ่มตั้งแต่สาวเท้าเข้ามาในประเทศ
(ที่มา: Nest Co-working Space)
โดยที่พักแรกในเมืองฮานอยของผมนั้นเป็น Co working space ที่รวมแนวคิดห้องพักให้เช่าสำหรับ Tech Startup เข้าไว้ด้วยกัน โดยภาพจำเกี่ยวกับ Co-Working Space ที่เราคุ้นชินมักจะเป็นบรรยากาศแห่งการทำงานอันเงียบสงบ เสียงคีย์บอร์ดเคล้ากลิ่นกาแฟและหนุ่มสาวมหาวิทยาลัยต่างนั่งจับกลุ่มกันอ่านหนังสือ แต่ที่นี่ต่างจากที่เราจดจำไปเสียสิ้นเชิง
เราสามารถเห็นภาพการจับกลุ่มทำกิจกรรมเสียงดังซึ่งนับตั้งแต่จับกลุ่มรับชมถ่ายทอดสดฟุตบอล ไปจนถึงตั้งโต๊ะเล่นปิงปองกลางห้อง ภาพเหล่านี้ฉาบทับกับกลุ่มนักศึกษาไฟแรงที่ตั้งใจอ่านหนังสือโดยไม่มีใครบ่นโวยวายเรื่องเสียงรบกวน นอกจากพฤติกรรมที่เป็นกันเองนี้แล้ว ชาวเวียดนามหลายคนมักมีนิสัยที่ค่อนข้างเปิดเผยและไม่ห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวเท่าไรนัก แม้กระทั่งวัสดุสำหรับทำประตูห้องน้ำยังนิยมใช้กระจกขุ่นแทนวัสดุปิดทึบแบบประตูห้องน้ำปกติ ซึ่งการใช้กระจกขุ่นเป็นประตูห้องน้ำนี้นิยมเป็นอย่างมาก โดยไม่เพียงแต่ห้องพักที่มีความเป็นส่วนตัวสูงเท่านั้น ห้องน้ำในCo working spaceหรือแม้กระทั่งอาคารสาธารณะเองยังเลือกใช้กระจกแบบนี้เช่นกัน
ตัวอย่างพฤติกรรมเหล่านี้ต่างสะท้อนลงไปในงานสถาปัตยกรรมและการใช้งานพื้นที่ต่าง ๆ มากมายดังเช่นเรื่องของประตูห้องน้ำหรือการนั่งรับประทานอาหารร่วมโต๊ะกับคนแปลกหน้า ซึ่งอาจด้วยความเป็นกันเองและไม่ห่วงความเป็นส่วนตัวเท่าไรนักก็อาจเป็นหนึ่งเหตุผลถึงความนิยมในการใช้งานพื้นที่สาธารณะของชาวเวียดนามก็เป็นได้
ลักษณะอาคารซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในทุกมุมเมือง
คับที่อยู่ได้ คับไปก็จัดสรร
อีกหนึ่งภาพจำของประเทศเวียดนามคือเหล่าตึกแถวหน้าแคบอันสูงชะลูดที่เรียกได้ว่าสามารถพบเห็นได้ในทุกมุมเมือง อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่าประชากรที่มากกว่าประเทศไทยถึง30ล้านคนแต่พื้นที่น้อยกว่าประเทศไทยถึง3แสนตารางกิโลเมตร(ข้อมูลปี 2560) หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือพื้นที่ที่ไม่เพียงพอกับจำนวนประชากร ทำให้พฤติกรรมการใช้งานพื้นที่ของผู้คนที่นี่ค่อนข้างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ร้านรวงต่าง ๆ ที่ต้องขยับขยายออกมายังพื้นที่บริเวณทางเท้า ธุรกิจหลากหลายประเภทที่ซุกตัวเข้าไปอยู่ในอาคารที่มีการใช้งานอันหลากหลาย ร้านอาหารบางหลายซ่อนตัวอยู่ในบริเวณชั้น 2 ของอาคารในขณะที่ด้านล่างกลับเป็นร้านซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า
โดยที่ลักษณะอาคารรูปแบบนี้ก็นำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมเพื่อการออกแบบตึกแถวมากมายหลายรูปแบบให้เราตื่นตาตื่นใจในทุกๆ ปี คำถามคืออะไรเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้อาคารลักษณะนี้เฟื่องฟูในประเทศเวียดนาม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมแบบครอบครัวขยาย คือหนึ่งในคำตอบของเหตุผลในการก่อตัวเป็นตึกแถวสูงชะลูด ที่นอกจากความต้องการด้านพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น ชาวเวียดนามมีลักษณะการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่และให้ความเคารพญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวเป็นอย่างมาก
โดยจากการเฝ้าสังเกตแนวทางการออกแบบของบริษัท ก็มักพบว่าในเกือบทุกโครงการออกแบบบ้านพักอาศัย มักจะวางแผนไปถึงการต่อเติมบ้านสำหรับลูกหลานในอนาคตอยู่เสมอ เพราะการแยกตัวออกมาจากครอบครัวใหญ่นั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก พนักงานคนหนึ่งในบริษัทเล่าให้ฟังว่า เขาทะเลาะกับครอบครัวที่ต่างจังหวัดอยู่แรมเดือน กว่าทางบ้านจะอนุญาตให้เขาเข้ามาทำงานในเมืองฮานอย ซึ่งสุดท้ายแล้วเขาก็ยังคงวางแผนที่จะกลับไปปลูกบ้านหลังเล็กๆ เพื่ออาศัยอยู่กับญาติพี่น้องที่บ้านเกิดในอนาคตอยู่ดี
ตึกแถวในเมืองฮานอยที่มีการต่อเติมออกไปเรื่อยๆ ราวกับไม่มีที่สิ้นสุดตามครอบครัวที่ขยายตัวออก
เรื่องกินเรื่องใหญ่ ใครว่าเรื่องเล่น
ชาวจีนและเวียดนามนั้นมีความใกล้เคียงกันอย่างมากทั้งรูปหน้า สีผิวและวัฒนธรรม (ถึงแม้คนจีนและเวียดนามหลายคนจะเกลียดกันมากด้วยปัญหาเรื่องพรหมแดนก็ตาม) หนึ่งในวัฒนธรรมของชาวเวียดนามที่ได้รับมาจากประเทศจีนคือวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร ชาวเวียดนามนั้นจะจริงจังกับการรับประทานอาหารมาก ต้องอยู่กันพร้อมหน้า ขณะรับประทานอาหารก็ต้องแสดงออกถึงรสชาติที่เอร็ดอร่อย หรือแม้กระทั่งบริษัทสถาปนิกที่ผมทำงานอยู่นั้น ก็มีธรรมเนียมในการผลัดกันทำอาหารแล้วนั่งรับประทานในที่ทำงานกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมหน้าตา และหัวหน้าบริษัทมักจะมองค้อนเสียทุกคราวเมื่อพยายามหลบเลี่ยงเพื่อจะหาโอกาสไปรับประทานอาหารเที่ยงข้างนอกบ้าง
เรียกได้ว่าคนที่เกลียดความเจี๊ยวจ๊าวขณะรับประทานอาหารนี่อาจมีแขยงกันบ้าง ซึ่งวัฒนธรรมนี้ส่งผลโดยตรงต่อการออกแบบพื้นที่รับประทานอาหารของชาวเวียดนาม นับไปตั้งแต่สถาปัตยกรรมทำมืออย่างโต๊ะอาหารข้างทางไปจนถึงห้องรับประทานอาหารในบ้านหรูที่ออกแบบโดยสถาปนิก ยกตัวอย่างเช่น การจัดโต๊ะเก้าอี้ในร้านอาหารข้างทางมักจะเป็นเก้าอี้พลาสติกตัวเล็กที่สูงไม่เกิน 30 เซนติเมตร วางชิดติดกัน เรียกได้ว่าเป็นภาพที่เห็นจนชินตาในประเทศเวียดนาม
ครั้งหนึ่งด้วยความสงสัย ผมจึงเอ่ยปากออกถามถึงที่มาที่ไปในการจัดวางนี้ ซึ่งคนขายก็ได้ให้คำตอบพอให้หายสงสัยว่า การจัดวางเก้าอี้เช่นนี้จะทำให้ใช้พื้นที่น้อยลง และช่วยลดความเคอะเขินในการร่วมโต๊ะอาหารกันของคนแปลกหน้า หากจัดวางด้วยโต๊ะเก้าอี้ตัวใหญ่แล้ว บางคราวมีเพียงผู้ใช้บริการคนเดียวก็ครอบครองพื้นที่ทั้งโต๊ะโดยยากที่จะมีคนแปลกหน้ามาร่วมโต๊ะด้วย
การเลือกใช้โต๊ะเก้าอี้ตัวเล็กที่ช่วยให้การจัดการพื้นที่ง่ายขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้คนแปลกหน้านั่งรับประทานอาหารข้างกันได้อย่างไม่เคอะเขิน
นอกจากการออกแบบพื้นที่รับประทานอาหารอย่างพิถีพิถันแบบบ้านๆแล้ว ยังลามไปถึงการออกแบบของสถาปนิกที่เลือกนำวัฒนธรรมบนโต๊ะอาหารมาเป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ เช่นงานออกแบบบ้านหลังหนึ่งที่สถาปนิกเลือกออกแบบโดยใช้แนวคิดให้ห้องอาหารเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ทั้งหมด แทนที่จะเป็นห้องนั่งเล่น เนื่องจากทางตัวสถาปนิกและเจ้าของบ้านมองเห็นตรงกันว่าพื้นที่ที่สำคัญที่สุดมิใช่ห้องนั่งเล่น หากแต่เป็นห้องอาหารนั่นเอง
ห้องอาหาร หนึ่งในหัวใจสำคัญในงานออกแบบสถาปัตยกรรมของประเทศเวียดนาม (ที่มา: TNT Architecture)
ญาห์น เกลห์ เคยกล่าวไว้ในหนังสือที่ชื่อว่า City for people ว่า “เราปั้นเมืองแล้วเมืองจึงปั้นเรา” ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าพฤติกรรมของผู้คนในเมืองนั้นแทบจะส่งผลโดยตรงกับเมืองและเหล่าอาคารที่อยู่ในเมือง ความกันเองและเปิดเผยของชาวเวียดนามนำไปสู่การใช้พื้นที่สาธารณะที่หลากหลาย การอยู่แบบครอบครัวขยายนำไปสู่ตึกแถวอันเป็นเอกลักษณ์และนวัตกรรมการออกแบบเพื่ออยู่อาศัยในที่แคบ วัฒนธรรมการรับประทานอาหารก็นำไปสู่ Street food อันลือชื่อ รากแห่งวัฒนธรรมเหล่านี้ได้ฝังลึกและแนบแน่นพร้อมกับสรรสร้างเมืองที่มีเสน่ห์ออกมา ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในทุก ๆ มุมเมืองของโลกใบนี้ ลองมาคิดเล่นๆ กันนะครับว่า ”ราก” ของไทยเรานั้นคืออะไร แล้วเราได้ใช้ ”ราก” นั้นมาสรรสร้างเมืองให้ออกมามีเสน่ห์หรือไม่