OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

สถาปัตยกรรมภายในคิดบวกของ ชารีฟ ลอนา แห่ง ‘Studio Act of kindness’

“kindness มันเป็นเหมือนปรัชญาที่สะท้อนตัวเราเอง เรารู้สึกว่าเราต้องให้ค่าของทุกคนหรือเคารพอาชีพของทุกคนเท่ากัน  นี่คือสิ่งที่ผมสอนทีมมาเสมอ ไม่ต้องคิดว่าตัวเองเป็นดีไซน์เนอร์ คิดว่าเราต้องเรียนรู้จากเขาและเราต้องสอนเขาด้วยถ้าเกิดเขาไม่รู้ เพราะว่าเขาไม่เหมือนเรา เราก็ไม่เหมือนเขา มันอาจจะเป็นเหมือนปรัชญาของตัวออฟฟิศที่คอยเตือนจิตใจว่า เราเป็นใคร ทำอะไรอยู่และทำเพื่อใคร

‘kindness’ คำภาษาอังกฤษคุ้นหูคำนี้ ที่จริงแล้วสามารถแปลเป็นไทยได้หลายความหมายซึ่งไม่ว่าความหมายไหนก็สื่อถึงด้านดีหรือมอบพลังบวกให้กับเราในทุกๆ คำ เช่นเดียวกับบรรยากาศวันที่เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณ ชารีฟ ลอนา ดีไซเนอร์และเจ้าของบริษัท ‘Studio Act of Kindness’ ที่จะมาถ่ายทอดความคิด มุมมองในประเด็นสถาปัตยกรรมภายในที่นอกจากจะได้สาระแล้ว ยังได้พลังบวกและ ได้แรงบันดาลใจได้ดีเลยทีเดียว


คุณชารีฟ ลอนา ดีไซเนอร์และเจ้าของบริษัท ‘Studio Act of Kindness’

Dsign Something: อยากให้เล่าถึงประวัติส่วนตัว การเรียนและการทำงานแบบคร่าวๆ
คุณชารีฟ : จริงๆ ถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่เด็กๆ ผมเป็นคนที่ชอบงานศิลปะมากๆ แล้วก็อยากเรียนอะไรที่เกี่ยวกับศิลปะและการออกแบบ แต่ที่บ้านเขาไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไร เราก็เลยคุยกับพ่อกับแม่ว่าเราอยากทำตามในสิ่งที่เราอยากจะทำ สุดท้ายก็เลยมีโอกาสได้เข้ามาเรียน interior design ซึ่งพอเรียนจบก็ทำงานอยู่ที่เมืองไทยได้ประมานปีครึ่ง ตอนนั้นมันมีคำถามกับตัวเองเกี่ยวกับวิธีการคิดที่เราคิด หรือสิ่งที่เราเสพย์  ก็เลยคิดว่ามันต้องมีสิ่งที่หาคำตอบให้เราได้ ก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษ แต่ที่เรียนตอนนั้นจะเป็นสาขาผังเมืองเชิงสร้างสรรค์ เพราะเรารู้สึกว่ากรุงเทพฯ มันมีศักยภาพที่จะถูกพัฒนา พอเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเมือง คน จิตวิทยาต่างๆ มันทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เรามีคำถามอยู่ในใจมาตลอดมันมีอยู่จริง มันมีกรอบที่นอกเหนือจากกล่องอาคาร มันมีเรื่องอื่นที่สามารถเป็นแนวทางในการคิดและหาคำตอบด้วยงานดีไซน์ หลังเรียนจบก็ทำงานที่อังกฤษอยู่ 2 ปีแล้วค่อยกลับมาเปิดบริษัทของตัวเอง

Dsign Something: อะไรคือจุดเริ่มต้นในการมาเป็น Interior designer?
คุณชารีฟ : พื้นฐานเดิมที่ผมค่อนข้างรู้ตัวเองก็มาจากงาน interior design จริงๆ ผมจะค่อนข้างชอบเป็นงานไปในเชิงโครงสร้างด้วย ก็คืออาจจะเป็น interior architecture  ซึ่งจากการไปเมืองนอกมา มันเลยทำให้เราเจอสิ่งที่เราสนใจ ซึ่ง interior มันสามารถลิงค์กับ fine art ลิงค์กับดนตรี ลิงค์กับอะไรอื่นๆ ทำให้กลายเป็นว่าเราสามารถอยู่ตรงนี้แล้วมองจากข้างในกล่องไปสู่นอกกล่อง หรือมองจากข้างนอกกล่องมาสู่ในกล่องได้ ตอนนั้นงาน interior มันอาจจะครอบคลุมได้มากกว่าสำหรับผม ตอนสมัยเรียนผมลองทุกอย่างเลยนะ ที่มหาลัยเขาก็จะให้เราเรียนพวก fine art ด้วย ผมก็ไปเรียนถ่ายภาพ เรียนทำ sound เรียนวิจารณ์ pop culture วิจารณ์เพลง ทั้งๆ ที่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องเรียนสถาปัตยกรรมด้วย เราก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ ทุกอย่างมันเกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด



Dsign Something:
จากประสบการณ์หรือเวลาที่ผ่านๆมา ทัศนคติที่มีต่อการทำงานสายอาชีพนี้เป็นอย่างไรบ้าง
คุณชารีฟ : จริงๆ มันก็มีหลายแง่มุม เหมือนแบบ love-hate relationship เหมือนกันนะ ผมค่อนข้างที่จะไม่รู้ความคิดของคนอื่น แต่ผมรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ผมมี passion มาตั้งแต่แรก สิ่งที่ทำให้ผมจรรโลงตัวเองที่สุดคือการวาดรูป การนั่งดูธรรมชาติ ดูต้นไม้เป็นฟอร์มแบบไหน แล้วตั้งคำถามกับมันมาเรื่อยๆ จนทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นตัวเอง เพราะว่าสิ่งที่เราเสพย์เข้าไปพวกนี้ มันเลยทำให้เราอยากมีอาชีพแบบนี้  ส่วนตัวผมรู้สึกว่า มันแยกจากชีวิตส่วนตัว แยกงานอดิเรกออกจากกันไม่ได้ เพราะมันหลอมเป็นเราไปแล้วตั้งแต่ไหนแต่ไร  อีกอย่างนึงคือเรารู้สึกว่าเป็นอาชีพที่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เราจะทำงานคนเดียวได้ด้วยตัวเอง เราเป็น one-man show ไม่ได้ อย่างน้อยยังมีคนที่ต้องทำงาน ต้องดีลกับเรา ถ้าคุณคิดว่าอาชีพนี้ขึ้นอยู่กับคุณ ต้องทำงานคนเดียวแล้วคุณอยู่ได้ ผมว่ามันอาจจะเป็นเรื่องไร้สาระสำหรับผม

Dsign Something: แนวคิดหลัก หรือภาพรวมในการทำงานของออฟฟิศเป็นอย่างไร
คุณชารีฟ : บางทีได้โจทย์มาผมพยายามไม่มองว่าเราจะมีกรอบความคิดแบบนี้อันเดียวเพื่อหาคำตอบกับงานดีไซน์อันนั้น เช่นบางทีเราอยากจะทำร้านอาหาร เราอาจจะมีไอเดียในการเอาไดนามิกต่างๆ มาใช้ในการคิดงาน เราก็เอามาวิเคราะห์ กลั่นกรองมัน แล้วก็ทำออกมาอย่างเป็นกระบวนการดีไซน์ผสมวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ทุกอย่างมันสมเหตุสมผลที่สุด แต่แน่นอน ที่มันอาจจะชัดและทำให้คนสนใจก็คือ อาจจะเป็นเรื่องของความรู้สึกที่มันผ่านจาก texture หรือสี ซึ่งจริงๆ เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะส่วนตัว เพราะที่ผ่านมาผมจะสนใจเรื่อง วาดรูปหรือการเรียน painting หรือการเรียนทำ sculpture มันก็เลยเหมือนกับว่าเรามีความคิดที่เป็นทฤษฏีจัดๆ และเรามีความเป็นนักศึกษาค้นคว้าจัดๆ เพื่อตอบคำถามบนโลกของความเป็นจริง และเราก็มีความเป็น artist ที่เหมือนกับว่าอยากจะทำให้ 2 อย่างนี้มันอยู่ร่วมกัน เกิดเป็นงานเดียวกันได้



Dsign Something: แนวงานออกแบบภายในส่วนมากที่ทางออฟฟิศทำ ส่วนมากอยู่ในรูปแบบของบ้านหรือร้าน
คุณชารีฟ : ส่วนใหญ่ที่ทำมาจะเป็นรูปแบบของ commercial แต่ในด้านกลับกันลูกค้าคนที่ชอบบ้านกลับรู้สึกว่าเราน่าจะนำเสนอคาแรคเตอร์หรือลักษณะจำเพาะบางอย่างให้กับบ้านเขาได้ มันก็เลยเกิดเป็นงานบ้านตามๆ กันมาแต่ว่าไม่ค่อยได้ทำเยอะมาก แต่ว่าถ้าเราสนใจอยากจะทำจริงๆ มันจะเป็นโปรเจคที่เหมือนว่า เราคิดว่ามันน่าจะมีศักยภาพที่จะทำให้มันแตกต่างหรือว่าอย่างน้อยคือมาเจอกันตรงกลางระหว่างความเป็นตัวเราด้วยและลูกค้าด้วย

Dsign Something: การออกแบบ interior ของ ร้าน กับ บ้าน มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ?
คุณชารีฟ : ต่างกันด้วยวิธีการคิดแล้วก็ strategy แล้วก็เรื่องของฟังก์ชัน ถ้าเกิดเป็นบ้านมันก็ค่อนข้างจะมีรายละเอียดมากมาย เพราะว่าผู้อยู่อาศัยแต่ละบ้านก็จะไม่เหมือนกัน ข้อจำกัดหรือความต้องการมันก็ต่างกันไป เรื่องการใส่รายละเอียดมันต้องเป็นแบบคงอยู่ในระยะนานกว่า  ส่วนงานอย่างร้านอาหาร คาเฟ่ ถ้าพูดตรงๆ ก็คือเขาพยายามเอางานดีไซน์ไปเป็นเครื่องมือเพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จหรือเดินต่อไปได้ คำตอบของเขาคืองานดีไซน์ ซึ่งเราเป็นนักออกแบบเราก็เลยต้องทำโจทย์นั้น  มันก็ย่อมต่างกับบ้านอยู่แล้ว เพราะอันนึงมันเบสบนความชอบส่วนตัว ไลฟ์สไตล์  อีกอันนึงมันคือธุรกิจ มันจะพูดถึงเทรนด์ ประสบการณ์ ความคุ้มค่า อะไรเหล่านี้ก็เลยทำให้มันต่างกัน


Organika House (Retail)  credit ภาพ : Studio Act of Kindness

Whale house (private house) credit ภาพ : Studio Act of Kindness

Dsign Something: คิดว่างาน
Interior ส่งผลต่อสาขาอื่นอย่างไรบ้าง หรือ มีการส่งเสริมกันอย่างไร
คุณชารีฟ : แต่ละยุคมันก็ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างอย่างอียิปต์ มันคือการทำ interior เพื่อความเชื่อว่าคนตายไปแล้ววันนึงจะกลับมาหาคนที่อยู่ต่อ งาน interior มันก็เลยเล่าเป็นไดอารี่ที่อยู่บนผนังเพื่อให้คนตายกลับมาจำได้ว่าตัวเองคืออะไร ทุกๆ ยุคมันก็มีการเปลี่ยนไปของมัน ผมว่ามันมีอิทธิพลมากแต่เราอาจจะไม่รู้ เพราะเราถูกหล่อหลอมอยู่ในนั้น แต่ด้วยยุคนี้ที่มันมีความเป็นทุนนิยม หรือยุคที่มันพัฒนาไปจนไปถึงอุตสาหกรรมหรือวิทยาศาสตร์ ผมว่าบางทีงานอินทีเรียมันอาจจะไม่ได้พูดถึงการขับเคลื่อนในเชิงวัฒนธรรมชัดๆ ขนาดนั้น แต่มันพูดถึงความต้องการของคนในปัจจุบันมากกว่า แล้วผมรู้สึกว่ามันมีอิทธิพลแน่นอนไม่ว่าจะเป็นกับด้านธุรกิจ  เพราะว่าจริงๆ มันก็คือทางเลือกนึงที่ทำให้ทุกๆ สาขา อยากจะใช้เราเป็นคำตอบหรือเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้เขาประสบความสำเร็จในแต่ละแง่มุมของเขา

Dental clinic credit ภาพ : Studio Act of Kindness

Dsign Something: เรื่องของ interior ที่คนอื่นมักจะเข้าใจผิดในมุมมองของคุณชารีฟ
คุณชารีฟ : จากที่เคยคุยกันนะ คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่า โหชีวิตดีมากเลย เป็นคนแบบไลฟ์สไตล์ดี ไปกินร้านอาหารดีๆ ใช้ของดีๆ เราแค่รู้สึกว่าบางทีมันอาจจะไม่ใช้เปลือกหรอก แต่ว่ามันทำอย่างนั้นเพราะว่ามันคือธรรมชาติ แต่จริงๆ เราก็คือคนทำงานหนักคนนึง ผมว่าสิ่งที่คนคาดหวังสำหรับชีวิตดีไซน์เนอร์มันคืออีกภาพหนึ่ง แต่จริงๆ คือ ทุกวันตื่นเช้ามานั่งมอเตอร์ไซค์บ้าง วิ่งไปไซต์บ้าง บางทีเราต้องนั่งกินส้มตำกับช่างเพื่อที่จะทำให้บรรยากาศในการก่อสร้างมันดีขึ้น หรือบางทีเคสตลกมากที่เคยเกิดขึ้นคือช่างส่งงานไม่ทัน แล้วผมต้องไปล้างห้องน้ำเพื่อให้งานมันเสร็จเร็วขึ้น เราก็เลยรู้สึกว่ามันมีสาระสำคัญมากกว่าการมองว่าดีไซน์เนอร์ภาพคือมันดูดี อันนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ผมมองว่าคนเข้าใจผิดแต่มันไม่ได้เป็นสาระสำคัญอะไร


Bchu Runway , Siam Square credit ภาพ : Studio Act of Kindness

Dsign Something: อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการสร้างออฟฟิศตรงนี้
คุณชารีฟ : จริงๆ เรามีชีวิตอุดมคติของเราว่าเราอยากอยู่เมืองนอก เพราะรู้สึกว่ามันถูกจริตทางความคิด หรือการใช้ชีวิตของเรามากๆ แต่สิ่งที่เราอาจจะทำแล้วได้ดีกว่า ก็คือการที่เราเติบโตบนพื้นฐานของบ้านเมืองที่เรามี
connection ของเราอยู่แล้ว เราก็ไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นดีไซน์เนอร์ที่อยากอยู่ออฟฟิศแบบตึกสูงๆ เรารู้สึกว่าการอยู่เป็นออฟฟิศเล็กมันน่าจะเป็นครอบครัวกว่า ก็เลยเดินหาออฟฟิศแล้วมาเจอย่านนี้ ย่านที่รู้สึกว่ามันเป็นชุมชน มีคนจีน มีช่างเหล็ก มีช่างเย็บผ้า เราก็เลยรู้สึกว่าเหมือนเป็นภูมิปัญญาที่เราน่าจะเอามาต่อยอดกับอาชีพเราได้ ในด้านกลับกันงานดีไซน์ที่ดี เราอาจจะเปิดวิสัยทัศน์ให้กับคนที่เขามีฝีมือแต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะดีไซน์ยังไง แล้วเราก็อยากจะให้ที่นี่มันเป็นเหมือนโรงเรียนหรือเป็นบ้านที่ทุกคนเข้ามานั่งทำงานแล้วคุยกันได้มากกว่า ก็เลยเป็นออฟฟิศที่ใครอยากเดินเข้ามาก็เดินเข้ามา ซึ่งตอนแรกๆ ก็มีเพื่อนที่ทำ film ทำ fashion ก็มาแชร์พื้นที่ตรงนี้ เพราะผมรู้สึกว่า การคุยกับคนเยอะๆ ที่เขามี
แบคกราวไม่เหมือนเราด้วย และคนที่สามารถส่งมอบพลังบวกให้เรา ผมว่ามันต่อยอดไปได้เยอะ ผมเลยค่อนข้างที่จะทำออฟฟิศให้เป็นพื้นที่เปิด หรือนักศึกษาอยากจะเข้ามาก็เข้ามา แค่กดกริ่งก็เดินเข้าได้เลย

ภาพบรรยากาศบริเวณภายนอกของออฟฟิศ Studio Act of kindness

ภาพบรรยากาศภายในของออฟฟิศ Studio Act of kindness

บรรยากาศบริเวณห้องสมุดของออฟฟิศ

Dsign Something: ที่มาของชื่อ studio act of kindness มาจากอะไร
คุณชารีฟ : ผมรู้สึกว่าคำว่า kindness มันสื่อถึงด้านบวก  ในทางวิชาชีพมันอาจจะไม่ได้หมายถึงเราต้องไปช่วยเหลือโดยที่ไม่ได้คาดหวังอะไรเลย แต่เรารู้สึกว่า kindness มันคือเราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด และถ้าเราไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนบนความรับผิดชอบที่เราต้องรับผิดชอบ หรือถ้าเราจริงใจต่ออาชีพตัวเอง ผลสุดท้ายคือมันจะทำให้เราคิดหรือทำเพื่อคาดหวังในผลลัพธ์ที่ดีต่อลูกค้าหรือต่อคนที่เราอยู่รอบๆ เราก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็เป็น act of kindness ดีกว่า เพราะว่ามันเกี่ยวกับการกระทำไม่ว่ามันจะเป็นรูปแบบไหน และเราก็อยากจะสร้างวิสัยทัศน์แบบนั้นให้กับคนที่ทำงานหรืออยู่กับเราด้วย คือเราไม่ได้ทำงานคนเดียว ผมว่าถ้าเราทำได้หมดทุกอย่าง โลกมันไม่มีความหลากหลาย ผมก็เลยรู้สึกว่าเราต้องให้ค่าของทุกคนหรือเคารพอาชีพของทุกคนเท่ากัน นี่คือสิ่งที่ผมสอนทีมมาเสมอว่า ไม่ต้องคิดว่าตัวเองเป็นดีไซน์เนอร์ คิดว่าเราต้องเรียนรู้จากเขาและเราต้องสอนเขาด้วยถ้าเกิดเขาไม่รู้ เพราะว่าเขาไม่เหมือนเรา เราก็ไม่เหมือนเขา อันนี้มันก็อาจจะเป็นเหมือนปรัชญาของตัวออฟฟิศที่คอยเตือนจิตใจว่า เราเป็นใคร ทำอะไรอยู่และทำเพื่อใคร

คุณชารีฟกล่าวทิ้งท้ายถึงวิสัยทัศน์ของ studio act of kindness ที่สะท้อนความเป็นตัวเองผสมกับความคิดแบบถ่อมตน การเห็นความสำคัญของผู้อื่น เพื่อที่จะได้ทำงานของตัวเองให้เต็มที่รวมถึงทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading