OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

คุยเรื่องชีวิตการเป็น “สถาปนิกจบใหม่” ในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปกับอาจารย์รสรินทร์ ชอว์ และอาจารย์ปวรพชร บุญเรืองขาว

เรื่อง : ศุภิสรา เทียมมณีเนตร   ภาพ : Chalam

เคยตั้งคำถามกับตัวเองถึงอนาคตมั้ย?… นักศึกษาสถาปัตย์ที่ใกล้จะเรียนจบกำลังนั่งคิดถึงอนาคตของตัวเอง แล้วเกิดข้อสงสัยว่า ตอนเรียนกับตอนทำงานจริงเราต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง? การจัดการเวลาควรทำอย่างไร? และมีคำถามอีกมากมายสำหรับเด็กจบใหม่ในปัจจุบัน

วันนี้เลยถือโอกาสพิเศษชวน อาจารย์โรส – รสรินทร์ ชอว์ และอาจารย์มิว – ปวรพชร บุญเรืองขาว จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มานั่งพูดคุยกัน ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นกันเอง พร้อมยกคำถามเหล่านี้ขึ้นมาสนทนาร่วมกัน

DsignSomething: นอกจาก “Passion” เราควรจะรู้เรื่องอะไร และนำมาปรับใช้ในชีวิตการทำงาน?
อาจารย์มิว: ส่วนใหญ่เราเริ่มต้นจากคำว่า “Passion” หรือ “ความหลงใหล” ไม่จำเป็นว่าเราเรียนสถาปัตย์มาแล้วต้องจบออกมาเป็นสถาปนิกแต่ให้เราคิดว่าเราได้อะไรจากการเรียนสถาปัตย์มาบ้าง และทักษะที่ติดตัวเรามาคืออะไร แล้วเราจะนำมันมาใช้อย่างไร ที่จริงแล้วมีสิ่งที่เราควรรู้เหมือนกันนั่นก็คือ ความขยัน อดทน มีความตั้งใจและให้รู้ตัวเองว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่เราชอบจริงๆ
อาจารย์โรส: คำว่า “Passion” ในอะไรบางอย่างมันดีสำหรับการเริ่มต้นเสมอ ยิ่งเป็นเรื่องของการทำงานออกแบบ มันจะช่วยดึงความสนใจระหว่างเราและลูกค้าให้ไปในทิศทางร่วมกัน นอกจากการแชร์ความคิด เราต้องเรารู้จักฟังแล้วทำความเข้าใจ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นในเวลาที่เราต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น เหล่านี้เป็นสิ่งที่สถาปนิกควรจะมีเช่นกัน

DsignSomething: “เด็กสถาปัตย์หรือสถาปนิกต้องทำงานหนัก ต้องอดนอน ไม่มีเวลา ยุ่งตลอด 24 ชั่วโมง” อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างกับความคิดเหล่านี้?
อาจารย์โรส: มันอยู่ที่การจัดการเวลามากกว่า เพราะช่วงที่เราเรียนก็มีทั้งงานที่ต้องอดนอนและไม่อดนอน ซึ่งการอดนอนของคนเราก็มีหลายรูปแบบ มีทั้งแบบเพอร์เฟคชั่นนิสที่ยิ่งทำยิ่งรักงานตัวเอง หยุดทำงานไม่ได้ กับอีกประเภทที่ชอบทำงานตอนใกล้ส่ง (หรือเผานั่นเอง) ซึ่งเขาจะต้องจัดการตัวเองให้ได้ เพราะว่าไอเดียดีๆมันคงไม่สามารถออกมาได้ในเวลาที่เร่งรีบขนาดนั้น และมันก็คงทำไม่ได้ทุกครั้งกับทุกคนด้วย
อาจารย์มิว: “ไม่ต้องถามหา Passion แต่ให้ถามหา Deadline” (หัวเราะ) มันก็เหมือนวัฒนธรรมในรูปแบบนึง ที่จริงแล้วการอดนอนกับการทำงานหนักมันเป็นคนละเรื่องกัน ถ้าเราทำงานหนักแต่สามารถจัดการเวลาได้ดีมันก็ไม่จำเป็นที่เราจะต้องอดนอน ส่วนเพอร์เฟคชั่นนิสนั้นประสบการณ์จะช่วยสอนให้เขารู้ว่าตอนไหนที่ต้องหยุดควรพอได้แล้ว แน่นอนว่าเวลาที่เราจบไปเป็นสถาปนิกแล้ว เวลาของเราก็จะเปลี่ยนไปตามงานจริงที่เจอ ต้องใช้เวลาปรับตัว ยิ่งโตไปเราจะรู้ว่า “เวลาเป็นของสาธารณะ” มันคือสิ่งที่เราจะต้องแยกให้ออกระหว่างเวลาสาธารณะและเวลาของเรา โดยการทำงานคือเวลาของเรา และเวลาสาธารณะคือการใช้เวลาร่วมกับผู้อื่น ครอบครัว คนรัก ถ้าหากเราจัดการกับมันได้ เวลาส่วนตัวที่เหลือมันก็จะเป็นของเราอย่างพอเหมาะพอดี
อาจารย์โรส: นอกจากการจัดการเวลาสำหรับการทำงาน และเวลาให้คนรอบข้างแล้ว เรายังควรมีเวลาในการลับมีดของเราให้คมขึ้นด้วย เช่น อ่านหนังสือ ศึกษาเพิ่มเติม ออกท่องโลกเปิดความคิด ประสบการณ์ สิ่งเหล่านี้จำเป็นมาก

DsignSomething: วัฒนธรรมเรื่องการใช้เวลาที่แตกต่างกัน ระหว่างตอนที่เป็นนักศึกษาและตอนที่ทำงานจริง อาจารย์มีคำแนะนำอะไรให้กับเรื่องนี้บ้าง?
อาจารย์โรส: ออฟฟิศมีหลายรูปแบบ มีทั้งที่ทำงานเข้าออกเป็นเวลาและที่ทำงานแบบแบ่งเป็นช่วงเวลา ออฟฟิศที่เข้าออกเป็นเวลานั้นมีเวลาที่แน่นอนและถูกควบคุมด้วยคำว่า “Deadline” ส่วนออฟฟิศที่มีการทำงานเป็นช่วงเวลาหรือแบบไลฟ์สไตล์ ก็อาจจะต้องพยายามปรับตัวมากหน่อยเพื่อให้สามารถกลมกลืนไปกับวัฒนธรรมเวลาขององค์กรได้ สุดท้ายแล้ววัฒนธรรมเวลาในองค์กรจะช่วยกรอบเราเอง
อาจารย์มิว: ก่อนอื่นเราก็ควรศึกษาองค์กรที่เราจะเข้าไปก่อน เพราะเราต้องปรับตัวให้ได้ตามวัฒนธรรมองค์กร เวลาของเขาเป็นแบบไหน ความคาดหวังของเขาที่มีต่อเราเป็นอย่างไรและเราสามารถยอมรับและปรับตัวเข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรได้ไหม

DsignSomething: การวางตัวของสถาปนิกเมื่อต้องทำงานร่วมกันในองค์กรและการวางตัวในแง่ต่อวิชาชีพสถาปนิกควรเป็นแบบไหน?
อาจารย์โรส: สถาปนิกมีความเป็นอาร์ตติสท์สูง เราทุกคนจะมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง ซึ่งการทำงานนั้นเราเลือกไม่ได้ งานที่ชอบหรือไม่ชอบนั่นคือ “เรา” แต่ว่าการทำหรือไม่ทำนั่นคือ “ความรับผิดชอบ” เรื่องสำคัญของชีวิตตอนเป็นสถาปนิกก็คือลูกค้า เราจะเจอลูกค้าในหลายรูปแบบ เราต้องรู้จักรับฟังและหาวิธีสื่อสารกันระหว่างเรากับลูกค้าให้ได้ สุดท้ายแล้วเราจะรู้เองว่า อะไรที่เหมาะสมและไม่เหมาะสมในการสื่อสาร
อาจารย์มิว: การทำงานของสถาปนิกเราไม่ได้ทำงานเพื่อลูกค้าอย่างเดียวแต่ทำงานร่วมกับคนที่ใช้อาคารของเราด้วย ซึ่งอาคารของเราต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นเราต้องมีมุมมองในแง่ของการสำนึกต่อตัวเราเองและสาธารณะด้วย สองอย่างนี้มันต้องสมดุลและไปด้วยกัน เป็นสิ่งที่สถาปนิกพึ่งมี
DsignSomething: “เด็กสมัยใหม่สเก็ตช์มือไม่คล่อง ไม่เป็นกันแล้ว” อาจารย์เห็นว่ามันเป็นปัญหาไหม?
อาจารย์โรส: ถ้าเราใช้เครื่องมือที่เรารู้จักดี เราก็จะเป็นเจ้านายของมัน การสเก็ตช์มือสามารถช่วยอธิบายความคิดของเราออกมาได้เร็วที่สุด แต่โปรแกรมคอมพิวเตอร์สามารถอำนวยความสะดวกให้เราได้ในงานที่มือทำไม่ได้ ก็ต้องเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะกับประเภทงานและเวลาค่ะ
อาจารย์มิว: การทำงานก็เหมือนกับสงครามอะไรที่เราหยิบจับได้ก็ต้องนำมาใช้ก่อน การสเก็ตช์มือมันก็เหมือนอาวุธที่ติดตัวเรามา แต่การจะเป็นอาวุธที่ดีได้มันต้องสามารถอธิบายความคิดของเราได้จริง ประเด็นนี้มันก็เหมือนยุคสองยุคที่ตีกันอยู่ ระหว่างยุคของ Old school กับยุคของ Future มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจทั้งคู่ เราต้องรู้จักใช้เครื่องมือให้ได้ทั้งสองรูปแบบ แล้วค้นหาว่าเราใช้อะไรได้ดีกว่า ไม่ใช่คิดว่าทำสิ่งนี้ได้ดีแล้วจะทิ้งอีกสิ่งไปเลย ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นกับเราทุกคน

DsignSomething: อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรต่อความคิดที่จบไปแล้วจะเปิดออฟฟิศของตัวเองเลย?
อาจารย์มิว: ลองทำเลย! เราไม่มีทางรู้อนาคตอยู่แล้ว เดี๋ยวเราจะรู้ด้วยตัวเอง เพราะระหว่างทางมันจะทดสอบ “Passion” ของเราเอง ถ้าเราชอบมันจริงเราจะหาทางเข้าหามันเอง เพราะฉะนั้นการลองเปิดออฟฟิศนั้นมีทั้งความเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ถ้าไม่ล้มเราก็คงไม่รู้หรอก แต่ให้ล้มในจุดที่เราพลาดได้ ไม่เดือดร้อนตัวเองและบุคคลอื่นจนเกินไปก็พอ
อาจารย์โรส: ขอให้การเปิดออฟฟิศเองนี้ มาจากความมั่นใจว่าเราพร้อม ไม่ใช่ว่าเปิดออฟฟิศเพราะไม่อยากเป็นลูกน้องใคร หรือหนีระบบออฟฟิศมา ต่อให้เราเป็นเจ้าขององค์กรแต่สุดท้ายแล้ว เราก็เป็นลูกน้องของลูกค้าอยู่ดี การเป็นเจ้าขององค์กรยังต้องตามมาด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรับผิดชอบที่ผู้นำควรจะมี เรื่องเงินทุน เรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องระบบระเบียบต่างๆ ซึ่งที่จริงแล้วในตอนเรียนถือเป็นการจำลองระบบองค์กรระดับหนึ่ง แต่เมื่อตอนทำงานนั้นความผิดพลาดเพียงเล็กน้อย มันก็คือความผิดพลาดจริงๆ เราจะต้องมีความรับผิดชอบและความระมัดระวังรอบคอบให้มากๆต่องานที่รับผิดชอบอยู่

DsignSomething: อยากฝากอะไรถึงนักศึกษาสถาปัตย์หรืองานการออกแบบอื่นๆ ที่กำลังจะก้าวสู่โลกการทำงานบ้าง?
อาจารย์โรส: การเริ่มต้นทำงานมันคือการเอาชนะแรงเสียดทาน เราทุกคนต้องปรับตัวเยอะมากในช่วงแรก ตอนเรียนเราเทียบตัวเองกับเพื่อนร่วมห้องเพื่อวัดว่าเราอยู่ในระดับไหน โดยตัดสินจากอาจารย์ไม่กี่คน ซึ่งมันเป็นสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมไว้แล้ว แต่การทำงานนั้นต้องปรับตัวกันมากเพราะเราจะถูกคาดหวังจากทุกคน จึงต้องเอาชนะความกดดันในช่วงแรกให้ได้ เมื่อเริ่มปรับตัวได้แล้วเราจะรู้เองว่าควรจะวางตัวอย่างไรให้เหมาะสม เพราะการเป็นสถาปนิกเราไม่ได้ทำแค่เรากับอาคารแต่เราต้องทำงานร่วมกับคนเป็นหลัก ดังนั้นเราต้องเข้าใจและรีบปรับตัวให้ได้เพื่อการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
อาจารย์มิว: ก่อนอื่นมันคือการสนใจตัวเองก่อน เราชอบอะไร เรามีต้นทุนอะไร เราได้อะไรมาจากการเรียนสถาปัตย์ เรียนจบไปไม่ได้จำเป็นว่าต้องเป็นสถาปนิกกันทุกคน ส่วนใหญ่คนที่สับสนเป็นเพราะเราฟังความคิดเห็นและมุมมองของคนอื่นมากเกินไป เพราะฉะนั้นให้เราโฟกัสที่ตัวเองก่อนและเมื่อเรารู้แล้วว่าเราต้องการอะไร เราค่อยเริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองและทำให้มันสมดุลกับความคิดและมุมมองของคนอื่น

“ทุกวันนี้เด็กพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ เด็กสมัยนี้มีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน พวกเขากล้าถามมากขึ้นและพวกเขาจะถามจนกว่าจะได้คำตอบที่ต้องการเช่นคำถามที่ว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่ดีหรือไม่ดีอย่างไรและต่างกันตรงไหนเพราะฉะนั้นงานของพวกเขาและการแสดงความคิดเห็นเลยพัฒนาขึ้น ซึ่งมันทำให้เราเองที่สอนพวกเขาก็ต้องปรับตัวและพัฒนาตัวเองเพื่อหาคำตอบให้กับเด็กเหมือนกัน”