OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Ai’s House บ้านสุขใจที่เกิดจาก ‘ปฏิสัมพันธ์’ ทางกาย

Owner : คุณดิสพล -คุณอาริยะนุช มีกุศล
Architect : คุณแตน-รักศักดิ์ สุคนธะตามร์ จาก GreenDwell
Photographs : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
Interior design studio: crafttrade studio
Interior designer: wareeyos waewsawangwong

แน่นอนว่าถ้าพูดถึงบ้าน สิ่งที่มาควบคู่กันก็คงจะเป็นครอบครัว ซึ่งความหมายของการอยู่อาศัยที่หลายๆคนต้องการ อาจจะเน้นไปที่การใช้เวลาร่วมกับครอบครัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะดีแค่ไหนหากสถาปัตยกรรมที่ถูกเรียกว่า ‘บ้าน’ จะมีส่วนช่วยที่ทำให้ครอบครัวสามารถมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีและได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ คุณแตน-รักศักดิ์ สุคนธะตามร์ สถาปนิกจาก GreenDwell ให้ความสำคัญในการออกแบบบ้าน Ai’s House หลังนี้

คุณแตน-รักศักดิ์ สุคนธะตามร์ สถาปนิกจาก GreenDwell

เมื่อความสำคัญของการอยู่อาศัยมาก่อนความสวยงาม
เริ่มแรกคุณแตนได้เล่าให้เราฟังถึงโจทย์หลักๆ ของบ้านหลังนี้ว่า ผู้อยู่อาศัยเป็นครอบครัวที่เพิ่งเริ่มต้น มีพ่อ แม่และลูกสาวอีก 2 คน ซึ่งทางเจ้าของบ้านเองชอบอยู่บ้านที่ไม่ต้องเปิดแอร์ตลอดเวลา อยากอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ แต่ด้วยความที่โลเคชั่นตั้งอยู่ภายในซอยลาดพร้าว 31 ซึ่งค่อนข้างมีความหนาแน่น ทำให้คุณแตนตั้งโจทย์กับตัวเองว่า ทำยังไงให้ผู้อยู่อาศัยเกิดความรู้สึกอยู่สบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่ต้องเปิดแอร์ ได้วิวสวน ซึ่งเมื่อเริ่มจากการสัมภาษณ์ เจ้าของบ้านมีความต้องการที่จะเน้นเรื่องของการอยู่อาศัยภายในบ้าน การใช้เวลากับครอบครัว มาก่อนในเรื่องของความสวยงาม ทำให้ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นจุดศูนย์ของการออกแบบที่คุณแตนให้ความสำคัญ

“จริงๆ ตัวบ้านเป็นบ้านสำหรับครอบครัวที่เพิ่งเริ่มต้น เราก็อยากให้บ้านรองรับกับชีวิตที่เจ้าของอยู่แล้วมีความสุขทั้งทางกายและทางใจ ความสบายกายคือ ทำยังไงให้ตัวบ้านวางในทิศทางที่ลมจะเข้าจะออกได้ดี ไม่ต้องเปิดแอร์ตลอดทั้งวัน โปร่ง โล่ง ใกล้ชิดธรรมชาติ ส่วนความสบายใจ ทำยังไงให้ครอบครัวอยู่ในบ้านแล้วอบอุ่น จริงๆ มันเป็นเรื่องจิตวิทยาในการอยู่อาศัย ซึ่งปกติเด็กก็จะมีระยะของช่วงวัย แต่ละช่วงวัยก็ไม่เหมือนกัน เด็กเล็กก็จะมีนิสัยแบบหนึ่ง พอเข้าช่วงวัยรุ่นก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติ แต่จะทำยังไงให้ครอบครัวยังรู้สึกว่าเป็นครอบครัวเดียวกันได้อยู่ ซึ่งตรงนี้เรามองว่าสถาปัตยกรรมมีส่วน” คุณแตนเล่าให้เราฟังถึงแนวความคิดหลักในการออกแบบบ้านหลังนี้

ความสำคัญของการปฏิสัมพันธ์กันในครอบครัว ถึงจะเป็นส่วนตัวแต่ยังมองเห็นกันได้
เมื่อเราเดินเข้าไปในบ้าน สิ่งแรกที่ต้องสะดุดตาก่อนเลยก็คือความโล่ง โปร่งที่เกิดขึ้นภายในพื้นที่โถงส่วนกลางของบ้าน ซึ่ง คุณแตนก็เล่าให้ฟังถึงแนวคิดในการวาง planning ให้เราฟัง โดยบ้านทั้งหมดจะมี 3 ชั้น ซึ่งบริเวณชั้น 1 จะออกแบบเป็น open-plan เพื่อความง่ายในการที่จะเปลี่ยนจากฟังก์ชันนึงไปยังอีกฟังก์ชันนึง แต่ยังสามารถมองเห็นซึ่งกันและกันได้ถึงแม้จะทำกิจกรรมที่แตกต่างกัน
แปลนบ้าน AI’S House ชั้น 1  Credit ภาพ : GreenDwell


แปลนบ้าน AI’S House ชั้น 2
Credit ภาพ :GreenDwell

ในบริเวณชั้น 1 จะมีห้องอเนกประสงค์ที่เชื่อมจากพื้นที่ส่วนกลางโดยแยกออกไป โดยห้องอเนกประสงค์นี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของเจ้าของ ซึ่ง ณ ตอนนี้เป็นห้องเล่นของลูก แต่วันนึงอาจจะกลายเป็นห้องสอนการบ้าน หรือเพื่อนมาบ้านแล้วทำกิจกรรมด้วยกัน ซึ่งการออกแบบโดยแยกออกไปจะทำให้เป็นส่วนตัวมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสามารถมองเห็นกันได้จากบริเวณห้องโถง open-plan ส่วนกลางของบ้าน


ในส่วนของสระว่ายน้ำก็ถือเป็นฟังก์ชันที่เกิดขึ้นจากความต้องการของลูกๆ และข้อดีของการวางสระว่ายน้ำไว้ตำแหน่งนี้ก็คือ ทำให้ลดความร้อนที่จะเกิดขึ้นและสามารถมองเห็นกันได้จากพื้นที่ส่วนอื่นๆ  ทำให้พ่อและแม่ยังสามารถเห็นลูกๆ ว่ายน้ำในขณะที่สามารถทำอย่างอื่นไปพร้อมกันได้



อีกหนึ่งการออกแบบที่ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ก็คือคุณแตนเลือกออกแบบโดยทำให้บ้านหลังนี้ เป็น split-level เนื่องจากรู้สึกว่าการออกแบบ floor to floor ระยะระหว่างชั้นจะอยู่ห่างกันเกินไป โดยข้อดีของการทำ split-level จะทำให้มีพื้นที่ส่วนกลางที่เป็น second living แยกชั้นกัน มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นแต่ในขณะเดียวกันก็ยังมองเห็นกันได้จากชั้นล่าง ยังอยู่ในสายตาและทำให้รู้สึกใกล้ชิดกันมากกว่า ซึ่งคุณแตนบอกกับเราว่า

“การทำให้ครอบครัวมีเวลาให้แก่กัน เรามีความเชื่อว่านั่นคือสิ่งที่ทำให้ครอบครัวมีคุณภาพ ไม่ว่าลูกจะชอบหรือไม่ชอบ แต่การที่พ่อแม่มีเวลาให้กับลูกมันดีอยู่แล้ว ดีกว่าไม่มี เวลาเราให้เขาไม่ได้หรอก แต่ทำให้เขามีเวลาที่จะอยู่ด้วยกันมากขึ้นได้ อันนี้สถาปนิกมีส่วน”



รูปตัดบ้าน AI’S House  Credit ภาพ : GreenDwell

ในขณะเดียวกัน ที่คุณแตนเลือกให้ตำแหน่งตรงนี้ถูกวางไว้เป็น second living เนื่องจากถ้าเอา private function ไปใส่ ก็จะไม่สามารถเปิดระบายอากาศได้  คุณแตนจึงเลือกออกแบบห้องตรงนี้ให้เป็นลักษณะโหมดกึ่งเปิดกึ่งปิดที่สามารถให้ผู้อยู่อาศัยทำกิจกรรมร่วมกันกับครอบครัวได้และยังเย็นสบาย ระบายอากาศได้ดี ซึ่งในส่วนพื้นที่ชั้น 2 นอกจากจะมีส่วนของ second living แล้ว ยังถือเป็นชั้นของห้องนอนส่วนตัวต่างๆ และห้องเล่นของเด็กๆ อีกด้วย




ส่วนพื้นที่บริเวณชั้น 3 จะเป็นส่วนของห้องพระและเจ้าของบ้านมีแพลนที่จะทำเป็นห้องสำหรับฟิตเนส ซึ่งเช่นเดียวกัน เนื่องจากบันไดที่มีความโปร่ง และการออกแบบแบบ split level ทำให้เมื่อทำกิจกรรมอยู่บนชั้นสาม ก็ยังสามารถมองเห็นพื้นที่ชั้นสองซึ่งเป็นของห้องนอนและมองลงไปยังพื้นที่ชั้น 1 ซึ่งเป็นห้องโถงส่วนกลางของบ้านได้



เปิดโล่ง โปร่ง สู่ธรรมชาติแต่ยังมีความเป็นส่วนตัว
ถึงแม้ว่าตัวบ้านจะถูกออกแบบให้เปิดโล่ง โปร่ง สู่ความธรรมชาติแล้ว แต่คุณแตนก็เลือกที่จะจัดการกับความเป็นส่วนตัวของผู้อยู่อาศัยโดยการทำผนังด้านข้างของบ้านให้มีความทึบ แต่เจาะช่องแสงให้ได้รับแสงธรรมชาติเข้ามาบ้าง และเลือกเจาะช่องแสงให้อยู่ในมุมที่เพื่อนบ้านจะไม่สามารถมองเห็นกิจกรรมที่อยู่ภายในได้



นอกจากนี้ยังใช้ต้นไม้ในการช่วยบดบัง และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับบ้าน ในขณะเดียวกันก็ได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากตัวบ้านอยู่สุดซอยจึงมีการออกแบบบริเวณหน้าบ้านเอียงให้หันออกสู่ถนนเพื่อให้ความรู้สึกเชื้อเชิญ และทำให้บ้านดูมีมิติขึ้น ไม่เรียบแบนไปกับถนน ซึ่งพอเอียงก็จะสามารถมีมุมเล็กๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเอาไว้สำหรับวางต้นไม้ ที่ทำให้ดูมีมิติ ดูน่าสนใจทั้งภายในและภายนอก

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่เราเห็นได้ชัดเมื่อมองจากนอกบ้านก็คือ ระแนงไม้ ซึ่งเนื่องจากบริเวณห้อง second  living เป็นห้องที่ต้องการความเป็นส่วนตัวประกอบกับการหันทิศทางออกไปที่ถนน คุณแตนจึงออกแบบเพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัวมากขึ้นด้วยการเลือกระแนงไม้แนวตั้งมาเป็นองค์ประกอบในการบดบังทั้งในเรื่องของมุมมองและเรื่องของแสง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องการให้ระบายอากาศได้อยู่ ซึ่งข้อดีของระแนงไม้ในแนวตั้งก็คือ สามารถป้องกันฝุ่นได้ดีกว่า เนื่องจากถ้าเป็นระแนงแนวนอนฝุ่นก็จะเกาะอยู่ พอเปิดหน้าต่างทำให้ฝุ่นพัดกระจายเข้าบ้าน แต่สำหรับระนาบตั้งทุกๆ ครั้งที่มีฝนตก ก็จะสามารถชะล้างฝุ่นออกไปได้ค่อนข้างดีกว่า ก็เลยตอบโจทย์ทั้งให้เรื่องของความ privacy การไม่เก็บฝุ่น และในเรื่องของงบประมาณก็ราคาไม่แพงอีกด้วย




ระบายอากาศได้ดี สิ่งสำคัญที่สร้างความสบายกายให้แก่ผู้อยู่อาศัย
ซึ่งความรู้สึกเมื่อได้มีโอกาสเข้ามานั่งในบ้านหลังนี้ ก็คือ ความรู้สึกเย็นสบายจริงๆ ทั้งที่ไม่ได้มีการเปิดแอร์หรือเปิดพัดลม ซึ่งเป็นความเย็นสบายจากลมที่มีการพัดผ่านและหมุนเวียนตลอดเวลา เรื่องนี้คุณแตนก็อธิบายถึงการออกแบบให้เราฟัง โดยก่อนการวาง planning คุณแตนได้มีการทดสอบทิศทางของลมบริเวณบ้าน ทำให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าลมจะข้างบริเวณหน้าบ้านและออกตรงข้างๆ ส่วนห้องครัวหรือ service ด้านหลัง ทำให้การออกแบบส่วนต่างๆ ที่ตามมา ทำเพื่อให้เอื้อต่อทิศทางของลม โดยเลือกออกบันไดในรูปแบบโปร่งเพื่อไม่ให้ขวางทิศทางของลม ระบายอากาศได้ดีขึ้น และ บริเวณห้อง second living บริเวณชั้นสองก็ออกแบบเป็นห้องโหมดเปิดโหมดปิดที่สามารถดึงลมเข้ามาได้


ช่องเปิดบริเวณด้านข้างของห้องโถงส่วนกลางจะทำหน้าที่รับลมที่มาจากบริเวณหน้าบ้านเข้ามาภายในบ้าน


ส่วนช่องเปิดบริเวณด้านหลังของบ้าน บริเวณห้องครัวจะทำหน้าที่เป็นรูลมออก ทำให้เกิดการหมุนเวียนของอากาศภายในบ้านได้  ส่งผลทำให้บ้านเย็นสบาย โดยไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์เลย


นอกจากนี้การเลือกใช้ช่องแสงที่เราได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดความร้อนที่เข้ามายังตัวบ้าน เนื่องจากคุณแตนเลือกออกแบบช่องแสงโดยไม่ให้มี direct light เข้ามาในบ้าน หรือแดดที่มาเป็นลำๆ ซึ่งถือเป็นแดดที่มีความร้อน แต่จะเลือกออกแบบโดยพยายามวางช่องแสงในทิศทางที่จะเป็น Indirect light ซึ่งจะเป็นความสว่างที่ไม่มีความร้อนเข้ามาแทน



หากเรากำลังสงสัยว่าการมองความหมายของการอยู่อาศัยผ่านสถาปัตยกรรมประเภทนี้ตอบอะไรเราบ้าง หรือเรากำลังตั้งคำถามว่า อะไรคือสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญในการออกแบบบ้านหนึ่งหลัง คงพูดได้ว่าบ้านหลังนี้ทำหน้าที่ตอบคำถามนั้นได้เป็นอย่างดี เพราะในความเป็นจริงแล้วคำถามเหล่านี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ทำให้ ‘บ้าน’ แต่ละหลังเป็นเอกลักษณ์ ไม่เหมือนใคร ตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้ใช้งาน เช่นเดียวกับ AI’s house หลังนี้ที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้อยู่อาศัยได้อย่างแท้จริง