OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Fukuoka Architecture : From Meiji to Reiwa จุดร่วมคือคุณค่าของพื้นที่

การพัฒนาพื้นที่เพื่อฟื้นฟูความเป็นย่าน นัยหนึ่งเราอาจเรียกว่าเป็นกระแสเพื่อการอนุรักษ์หรือการระลึกถึง แต่อีกนัยหนึ่งอย่าลืมว่าผู้ใช้งานพื้นที่แห่งนี้โดยตรงคือผู้คน ณ บริบทของช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่านไปทุกวี่วัน

เวลาเปลี่ยน เทรนด์เปลี่ยน หน้าตาของสถาปัตยกรรมเปลี่ยน ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน หากแต่สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่แม้ทุกสิ่งเปลี่ยนแปลง คือการสร้างคุณค่าของพื้นที่ให้ส่งผลทั้งทางฟังก์ชั่น ความสบายใจ และไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งานเป็นสำคัญ

Hareno Garden พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ในย่าน Tenjin ในกรุงฟุกุโอกะ คือการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ Naka ที่ทั้งหมดรวมเรียกว่า Tenjin Central Park แต่เดิมบนพื้นที่นี้ เป็นที่ตั้งของอาคารศาลาว่าการเมืองฟุกุโอกะและบ้านพักแขกผู้มีเกียรติ (หรือ Kihinkan Hall) ในปัจจุบัน สวนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยังคงคึกคักทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน เพราะเป็นทั้งท่าเรือหลักสำหรับล่องเรือชมเมืองฟุกุโอกะบริเวณปากแม่น้ำ ที่ตั้งของอาคาร Acros Fukuoka สถาปัตยกรรมสวนแนวตั้งขนาดใหญ่ยักษ์ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น และร้านอาหาร Ganso Hakata Mentaiju ร้านเมนไทโกะชื่อดังที่มีคนต่อคิวแน่นตลอดทั้งวัน

ภายในพื้นที่ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง ได้แก่อาคารศาลาว่าการเดิมที่ขึ้นทะเบียนอาคารอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมสำคัญแห่งชาติ ถูกปรับปรุงซ่อมแซมโดยยังคงสถาปัตยกรรมไม้แบบดั้งเดิมซึ่งก่อสร้างขึ้นในยุคเมจิตั้งแต่ปี 1910 ให้กลายเป็นคาเฟ่ และสองอาคารเกิดใหม่ ได้แก่ Hareno Garden East ฝั่งติดกับแม่น้ำ ที่ประกอบด้วยคาเฟ่นมถั่วเหลือง อิซากายะ และร้านอาหาร และ Hareno Garden West ที่ตัวอาคารเป็นทั้งร้านขนมปัง-ร้านกาแฟ และอัฒจรรย์ขนาดยักษ์สำหรับนั่งเล่นเอ๊าต์ดอร์

แม้จะเป็นอาคารชั้นเดียว แต่ความตื่นเต้นอยู่ที่ฟอร์มของสถาปัตยกรรมและผังอาคารโดยรวมที่สอบเข้าเพื่อขับเน้นให้อาคารศาลาว่าการเดิมยังคงเป็นพระเอกตลอดกาลของพื้นที่ โดยที่ตัวมันเองยังสามารถเปิดเผยคาแร็กเตอร์ของการใช้งานโดยรวมได้อย่างตรงไปตรงมา ด้วยการใช้ผนังทึบน้อยที่สุด เปิดกิจกรรมภายในออกสู่สายตาของสาธารณะมากที่สุด ซึ่งอาจจะดูขัดกับไลฟ์สไตล์ที่ชอบความเป็นส่วนตัวของคนญี่ปุ่น แต่หากมองในทางกลับกัน นี่คือการเปิดไลฟ์สไตล์ของผู้คนออกสู่สิ่งแวดล้อมโดยเน้นคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานพื้นที่เป็นสำคัญ

ในขณะที่อาคารฝั่งตะวันออกทำหน้าที่เป็นประตูสู่พื้นที่จากฝั่งแม่น้ำ อาคารฝั่งตะวันตกที่ทำตัวเป็นอัฒจันทร์ก็เป็นจุดชมวิวอีกจุดที่เปิดทัศนวิสัยออกสู่แม่น้ำโดยไม่ถูกบดบังด้วยอาคารริมน้ำ และตัวมันเองก็ไม่ได้บดบังสภาพแวดล้อมส่วนกลางแต่อย่างใด คุณค่าของการใช้งานพื้นที่สำหรับสาธารณะจึงเกิดขึ้นทุกส่วนทั้งในสนามส่วนกลาง ทุกส่วนของสถาปัตยกรรม และเกิดขึ้นกับทุกคนที่สามารถเข้ามาใช้งานพื้นที่นี้ได้อย่างอิสระในทุกช่วงเวลาของวัน