OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

8 เรื่องที่คุณอาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ ‘Shigeru Ban’ สถาปนิกเจ้าของรางวัล Pritzker Prize ผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อสังคม

หลังจากที่เราได้มีโอกาสไปฟังบรรยายจากสถาปนิกชื่อดังระดับโลกอย่างคุณ Shigeru Ban เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในงานบรรยายพิเศษที่จัดขึ้นโดย TOTO ซึ่งเป็นการบรรยายในหัวข้อ ‘ผลงานการออกแบบและผลงานที่ทำเพื่อสังคม’ ต้องขอบอกเลยว่าบรรยากาศภายในงานตื่นเต้น และได้กระแสตอบรับจากวงการสถาปัตยกรรมอย่างมากทีเดียว เนื่องจากภายในงานเราก็ได้เจอเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ หรือแม้แต่ระดับอาจารย์จากวงการการออกแบบมากหน้าหลายตาที่ให้ความสนใจมาฟังในงานนี้ด้วย ซึ่งจากการฟังบรรยายของคุณ Shigeru ban นอกจากจะได้ประเด็นในการออกแบบที่สำคัญแล้วนั้น ยังได้แรงบันดาลใจในการทำงานจากการได้เห็นผลงานดีๆ มากมายทีเดียว วันนี้เราจึงขอมาเป็นตัวแทนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่รู้เกี่ยวกับคุณ Shigeru ban ให้ได้รู้กัน


ภาพจาก https://www.nytimes.com/

1.จุดเริ่มต้นความฝัน คือการอยากเป็นช่างไม้
คุณ Shigeru Ban เกิดในครอบครัวนักธุรกิจที่ค่อนข้างรสนิยมดี ซึ่งคุณพ่อชื่นชอบดนตรีคลาสสิคและคุณแม่เป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า ทำให้เขาได้มีโอกาสติดตามครอบครัวไปเที่ยวฝั่งตะวันตกอยู่บ่อยๆ ครอบครัวจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นความคิดสร้างสรรค์ของเขา และเนื่องจากที่อยู่อาศัยเป็นลักษณะบ้านไม้สไตล์ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม จึงมักมีช่างไม้มารีโนเวทบ้านอยู่บ่อยครั้ง การได้เห็นช่างต่อไม้ หรือได้เล่นกับเศษไม้เหล่านั้น จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นของความฝันในวัยเด็กของคุณ Shigeru Ban ที่ต้องการจะเป็นช่างไม้


ภาพจาก https://www.nytimes.com/

2.จากความฝันในการเป็นช่างไม้ สู่การเป็นสถาปนิก
หลังจากความฝันที่อยากจะเป็นช่างไม้ ในเวลาต่อมาเขาจึงสนใจงานประเภทงานคราฟท์และงานศิลปะเป็นพิเศษ ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาได้ลงมือทำโมเดลบ้านด้วยตนเองเป็นการบ้านส่งครูในช่วงปิดเทอมฤดูร้อนตอนมัธยม 3 และถูกโหวตให้เป็นผลงานดีที่สุดในโรงเรียน หลังจากนั้นจึงจุดประกายความคิดที่ทำให้เขาอยากจะมาเป็นสถาปนิก ซึ่งในเวลาต่อมาเขาก็โอกาสได้เข้าเรียนที่ Tokyo University of the Arts สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ และได้มีโอกาสรู้จักกับ John Hejduk ผู้เชี่ยวชาญในสถาปัตยกรรมกระดาษและเป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในมหาวิทยาลัย Cooper Union School of Architecture ทำให้เขาตัดสินใจจะไปเรียนต่อที่ Cooper Union แต่ในเวลานั้นทางมหาวิทยาลัยยังไม่เปิดรับนักศึกษานอกสหรัฐอเมริกา เขาจึงได้มีโอกาสเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ Southern California Institute of the Architecture ไปก่อนและได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ Cooper Union ในเวลาต่อมาตามที่ตั้งใจไว้

Tamidia Ofiice Building  ภาพจาก https://www.archdaily.com/

3.แรงบันดาลใจจากสถาปนิกชั้นครูอย่าง Alvar Aalto
หลังจากเรียนจบ เขาได้ร่วมเดินทางท่องเที่ยวในทริปยุโรปกับ Yukio Fukagawa ช่างภาพที่เปนเพื่อสนิทของเขา ซึ่งจากการได้ไปทริปนี้ ทำให้เขาหลงรักเข้ากับผลงานของ Alvar Aalto ในฟินแลนด์ ทั้งในแง่ของงานสถาปัตยกรรม การเลือกใช้วัสดุที่เข้ากับบริบท ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจจนกลับมาเปิดออฟฟิศเป็นของตัวเองในโตเกียว นอกจากนี้เขายังได้เป็นภัณฑารักษ์ ผู้คัดเลือกผลงานไปจัดแสดงในนิทรรศการของ Alvar Aalto ที่ญี่ปุ่นด้วย

ภาพจาก http://www.architectsjournal.co.uk

4.จุดเริ่มต้นของการออกแบบสถาปัตยกรรม
ในช่วงเริ่มต้น เมื่อเขาเรียนจบและเริ่มทำงาน เขาใช้ช่วงเวลาปีแรกไปกับการออกแบบ Installation ในส่วนนิทรรศการต่างๆ ที่เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมักจะมีการใช้ Paper Tube เป็นโครงสร้างในการติดตั้งงานต่างๆ และในเวลาเดียวกันเขาก็เริ่มออกแบบสถาปัตยกรรมจากโครงสร้างเหล่านี้เพื่อเป็นกรณีศึกษาและทดลอง ซึ่งประกอบไปด้วย PC Pile House, House of Double Roof, Furniture House, Curtain Wall House, 2/5 House, Wall-Less House และ Naked House

Curtain Wall House ภาพจาก  https://www.pinterest.com/

House of Double Roof ภาพจาก https://www.archdaily.com/

5.สถาปนิกผู้สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อสังคม
เมื่อปี 1994 Shigeru Ban ได้รับทราบข่าวเรื่องผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองของรวันดา เขาจึงได้มีโอกาสเสนอแบบบ้านจากโครงสร้างท่อกระดาษที่สร้างไว้เป็นกรณีศึกษาเหล่านี้ให้กับองค์การสหประชาชาติเพื่อผู้ลี้ภัย เขาจึงได้สานต่องานสถาปัตยกรรมเพื่อผู้ลี้ภัยและได้ก่อตั้งมูลนิธิ Voluntary Architects’ Network (VAN) หรือองค์กรอิสระเครือข่ายสถาปนิกอาสาเพื่อสานต่อการสร้างที่พักพิงชั่วคราวในเวลาต่อมา  ซึ่งในการบรรยายคุณ  Shigeru Ban ยังชวนให้เราตั้งคำถามถึงประเด็นที่น่าสนใจอย่าง อะไรคือความสำคัญของโครงสร้างชั่วคราวพวกนี้ ซึ่งคุณ Shigeru Ban เองบอกว่า ความแข็งแกร่งของอาคารไม่ได้เกี่ยวข้องกับความแข็งแกร่งของวัสดุ การสร้างโครงสร้างชั่วคราวพวกนี้บางครั้งกลับมีพลังอย่างประหลาดเนื่องเป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับผู้อยู่อาศัยในยามลำบาก และบางทียังดูแข็งแรงกว่าในด้านของความรู้สึกเมื่อเทียบกับสถาปัตยกรรมที่ทำจากวัสดุแข็งแรง อย่าง คอนกรีต ปูน แต่กลับถูกทำลายได้ง่ายๆจากการทุบทิ้ง หรือภัยธรรมชาติ เป็นต้น

ภาพจาก https://www.archdaily.com/

Paper Log House ,Kobe , Japan 1995
ในปี 1995 เมืองโกเบตั้งอยู่ใกล้ที่สุดของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ทำให้มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากมาย และมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยมากกว่าแสนคน  Shigeru Ban จึงออกแบบ Kobe Paper Log House เพื่อทำหน้าที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวโกเบที่ไม่มีที่อยู่อาศัยจำนวนมาก โดยคุณ Shigeru Ban ออกแบบฐานล่างของบ้านจากลังเบียร์ที่ได้รับบริจาคและบรรจุถุงทรายไว้ด้านใน  ส่วนผนังทำจากโครงสร้างท่อกระดาษเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด  106 มิลลิเมตร ความหนา 4 มิลลิเมตร  ประกอบกับบริเวณหลังคาที่ใช้วัสดุทำเป็นลักษณะเต็นท์  สำหรับฉนวนกันความร้อน จะมีเทปฟองน้ำกันน้ำที่หนุนด้วยกาวประกบอยู่ระหว่างท่อกระดาษของผนัง ซึ่ง Kobe Paper Log House หลังนี้มีต้นทุนวัสดุสำหรับหนึ่งหน่วย 52 ตารางเมตรต่ำกว่า 2,000 เหรียญ ทำให้สถาปัตยกรรมนี้ได้รับความชื่นชมมากมายเนื่องจาก ใช้ต้นทุนต่ำ เข้าถึงได้ง่าย ตอบโจทย์การใช้งานของพื้นที่ ง่ายต่อการรื้อถอน และสามารถนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย

Paper Log House ,Kobe ภาพจาก : https://www.archdaily.com/

6.ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ สู่แนวคิดหลักและการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์
จากประสบการณ์ในวัยเด็ก และการเรียนรู้ในช่วงมหาวิทยาลัยประกอบกับผลงานมากมาย ส่งผลให้ Shigeru Ban เป็นสถาปนิกชาวญี่ปุ่นที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง จุดเด่นของเขาคือการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ๆ ผสมผสานกับการออกแบบ ซึ่งผลงานส่วนมากที่เราเห็นมักจะประกอบไปด้วยวัสดุอย่าง แกนกระดาษ หรือแผ่น Cardboard รีไซเคิล ที่นำมาประยุกต์และออกแบบเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทที่แตกต่าง ทำให้สถาปัตยกรรมของ Shigeru Ban มักมีความซับซ้อนแต่ในขณะเดียวกันก็มีความเรียบง่ายแบบญี่ปุ่น และยังเป็นสถาปัตยกรรมที่สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ด้วย

ซึ่งในการบรรยายก็มีโอกาสได้ฟังแนวความคิดผลงานที่มีชื่อเสียงมากมายของคุณ Shigeru Ban อย่างเช่น

Centre Pompidou-Metz , France ,2010
Centre Pompidou-Metz เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ศิลปะโมเดิร์นร่วมสมัย โดยการออกแบบศูนย์แห่งนี้จะมีแกนของแกลเลอรี่นิทรรศการสามแห่งและมีรูปร่างเหมือนกล่องแคบๆ และเนื่องจากอาคารไม่ได้ตั้งอยู่ในใจกลางเมือง เพื่อสร้างความต่อเนื่องให้กับพื้นที่ภายนอกและภายใน และเพื่อเชื่อมอาคารแห่งนี้ให้เข้ากับเมืองมากขึ้น คุณ Shigeru Ban จึงออกแบบให้แกลลอรี่แต่ละแห่งหันไปทิศทางที่ตรงกับสถานที่ต่างๆของเมือง  และเพิ่มหน้าต่างสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ในแต่ละแกลเลอรีเพื่อ “วางกรอบ” มุมมองให้เห็นสถานที่ต่างๆ อย่างอนุสาวรีย์และสถานที่น่าสนใจ

Centre Pompidou-Metz ภาพจาก https://www.archdaily.com/

ส่วนบริเวณหลังคา คุณ Shigeru Ban เล่าว่าได้รับแรงบันดาลใจจากหมวกสานไม้ไผ่ของจีน โดยโครงสร้างหลังคาทำจากไม้ลามิเนตในรูปแบบแพทเทิร์นหกเหลี่ยมเหมือนกับการจักสานไม้ หุ้มด้วยวัสดุโปร่งแสงที่ทำจากไฟเบอร์กลาสและ PTFE (Polytetrafluoroethylene)


Centre Pompidou-Metz ภาพจาก https://www.archdaily.com/

Mt.Fuji World Heritage Centre , Shizuoka,Japan,2017
อาคาร Mt.Fuji World Heritage Centre มีเป้าหมายคือการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และเป็นพื้นที่สังเกตการณ์ภูเขาไฟฟูจิสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยคุณ Shigeru Ban ได้ออกแบบพื้นที่ภายนอกโดยใช้น้ำเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ ด้วยรูปทรงของอาคารที่เหมือนภูเขาไฟฟูจิกลับด้านเมื่อเกิดการสะท้อนกับน้ำ จะเห็นลักษณะเหมือนกับภูเขาไฟฟูจิที่ลอยอยู่เหนือน้ำ ซึ่งคุณ Shigeru Ban ตั้งใจจะสื่อความหมายไปในเชิงสัญลักษณ์เช่นเดียวกับภูเขาไฟฟูจิที่ถูกขนานนามว่า “Mountain Of Water”

Mt.Fuji World Heritage Centre ภาพจาก  https://architizer.com/

ส่วนภายในอาคารที่เหมือนภูเขาไฟฟูจิกลับด้าน คุณ Shigeru Ban ตั้งใจออกแบบให้พื้นที่เป็นสโลป เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมค่อยๆ เดินขึ้นไปข้างบน คล้ายกับประสบการณ์ในการปีนภูเขา ในขณะเดียวกัน การที่ค่อยๆเดินขึ้นไปก็จะพบกับความงามของภูเขาไฟฟูจิในมุมมองที่หลากหลายด้วย และเมื่อเดินขึ้นไปสู่ชั้นบนสุดก็จะพบกับช่องเปิดที่สามารถเห็นทิวทัศน์จากภูเขาไฟฟูจิที่สวยงามที่สุดได้


Mt.Fuji World Heritage Centre ภาพจาก https://inhabitat.com/

7.Paper Tube และ Cardboard วัสดุที่กลายมาเป็นภาพจำของผลงาน
ถ้าพูดถึงชื่อ Shigeru Ban เอกลักษณ์ที่หลายๆ คนมักจะนึกถึงและเห็นได้ในหลายๆ งาน ก็คือโครงสร้างจากไม้ หรือท่อกระดาษ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นในผลงานของเขา ซึ่งเขาเลือกที่จะแสดงออกถึงวัสดุและแนวคิดในการใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างยั่งยืน ทั้งการใช้ Paper Tube หรือ Cardboard หรือแม้แต่การใช้ไม้มาออกแบบโดยใช้โครงสร้างที่มองไม่เห็นที่เรียกว่า “Invisible Structure” หรือการรวมโครงสร้างเข้ามาเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการออกแบบงานสถาปัตยกรรม ทำให้ผลงานของเขาเป็นที่โด่งดังในแง่ของการใช้นวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ในการออกแบบ นอกจากนี้ Shigeru Ban ยังถือเป็นสถาปนิกคนแรกในญี่ปุ่นที่ออกแบบอาคารจาก Paper Tube โดยถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย

La Seine Musicale ภาพจาก https://www.archdaily.com/

นอกจากนั้นคุณ Shigeru Ban ยังพิสูจน์ให้เราได้เห็นในโปรเจค Cardboard Cathedral , Christchurch , New Zealand,2013 ด้วยว่าวัสดุที่ดูไม่น่าจะแข็งแรงอย่างท่อกระดาษหรือกระดาษแข็งสามารถนำมาสร้างเป็นสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่และสวยงามได้ โดย Shigeru Ban ได้ออกแบบโบสถ์หลังจากที่เมือง Christchurch มีแผ่นดินไหวรุนแรงและโบสถ์อันเก่าได้พังทลายลงไป โดยโบสถ์ใหม่นี้ออกแบบเป็นรูปสามเหลี่ยมสร้างจากท่อกระดาษแข็งขนาดเท่ากัน 98 ท่อ ล้อมรอบด้วยหน้าต่างกระจกสีทรงสามเหลี่ยมแบบโบสถ์ดั้งเดิม โดยโบสถ์แห่งใหม่นี้สามารถจุคนได้มากถึง 700 คนทีเดียว

Cardboard Cathedral ภาพจาก https://www.archdaily.com/

โครงสร้างของท่อกระดาษแต่ละอันยังถูกเคลือบยูรีเทนกันน้ำและสารหน่วงไฟ และยังได้รับการป้องกันอีกหนึ่งชั้นด้วยหลังคาโพลีคาร์บอเนตกึ่งโปร่งใส

Cardboard Cathedral ภาพจาก https://www.archdaily.com/

8.สถาปนิกเจ้าของรางวัล Pritzker Prize

จากผลงานการออกแบบเพื่อสังคมเหล่านี้ทำให้ Shigeru Ban ได้รับรางวัลทรงเกียรติ Pritzker Architecture Prize ในปี 2014 ซึ่งเป็นรางวัลที่จะมอบให้กับสถาปนิกเจ้าของผลงานที่มีคุณภาพระดับโลกเพียงปีละหนึ่งคนเท่านั้น นอกจากนี้เขายังได้รับขนานนามว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งนวัตกรรมด้านสถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อมนุษยชาติและความยั่งยืน จากนิตยสาร TIME อีกด้วย


ภาพจาก http://architectuul.com/

เรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่ได้ฟังประวัติก็สร้างแรงบันดาลใจให้กับเราได้มากแล้ว แต่ในบรรยากาศของการบรรยายนอกจากประเด็นของผลงานที่สำคัญเหล่านี้ ก็ยังมีช่วงสั้นๆ ที่เป็นการพูดคุยและตอบคำถามกับคุณ Shigeru Ban อย่างเช่น มีเคล็ดลับหรือวิธีในการสื่อสารกับลูกค้าในการทำงานอย่างไร หรือแม้แต่คำถามปลายเปิดอย่าง ในความคิดของคุณ Shigeru Ban สถาปัตยกรรมคืออะไร? เรียกได้ว่าเป็นการบรรยายที่ครบเครื่อง ทั้งได้สาระ ได้แรงบันดาลใจ และได้เคล็ดลับดีๆ ในการนำไปใช้กับการเรียนหรือการทำงานในวงการออกแบบได้เป็นอย่างดีทีเดียว