Owner : คุณณฤชา – คุณพิชญ์สินียา คูวัฒนาภาศิริ
Architect : คุณเบนซ์ – ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ จาก Ilikedesignstudio
Photographs : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
เมื่อช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงไป การอยู่อาศัยมักจะเปลี่ยนแปลงตาม อาจมีทั้งการย้ายที่อยู่ใหม่ การขยับขยาย การต่อเติม หรือปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่าง ซึ่งคำพวกนี้ต่างมีความหมายที่สื่อถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น เช่นเดียวกับคุณเบนซ์ – ณฤชา คูวัฒนาภาศิริ สถาปนิกจาก Ilikedesignstudio ที่ตั้งใจรีโนเวทบ้าน N135 หลังนี้เพื่อให้ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของกิจกรรมและจำนวนของสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น
โดยคุณเบนซ์เองได้เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นในการรีโนเวทบ้านหลังนี้ว่า “ต้องเล่าก่อนว่าตอนแรกเราอยู่กับพ่อแม่ ทีนี้ก็ย้ายกันมาเพราะแต่งงาน และเราก็วางฟังก์ชันไว้ว่าวันนึงเราจะมีครอบครัวแหละ แต่กลายเป็นว่าจริงๆ ยกเลิกบ้านนั้นแล้วย้ายมาอยู่ด้วยกันหมด ซึ่งจริงๆ พี่อยู่ทาวน์เฮ้าส์มาตลอดชีวิตและก็เคยชิน ไม่ได้รู้สึกว่าจะต้องการที่จะอยู่บ้านเดี่ยว พอมาเจอที่นี่ ได้เห็นบรรยากาศส่วนกลาง ต้นไม้ใหญ่แบบ 20-30 ปี มีสระว่ายน้ำตรงกลาง มันไม่ค่อยมี developer เจ้าใหม่ๆทำแบบนี้แล้ว ก็เลยรู้สึกว่าชอบ และได้หลังมุมพอดี ก็เลยตัดสินใจที่จะรีโนเวทบ้านหลังนี้”
รีโนเวท’ การออกแบบเพื่อปรับเปลี่ยน แก้ไขปัญหาของจุดต่างๆ ในพื้นที่เดิม
“บ้านรีโนเวท เราจะดีใจทุกครั้ง อย่างเราไปเจอบ้านบางหลังเก่ามาก โทรมมากเลย แต่เวลาที่มันเสร็จแล้วคือ เรารู้สึกดีใจมาก มันเหมือนชุบชีวิตเขาขึ้นมาได้ แต่บ้านสร้างใหม่มันเหมือนกับแค่เราทำตามโจทย์ แต่อิสระในความคิดมันจะสูงกว่าเยอะมากเพราะมันสามารถเรียงอะไรได้ใหม่ สามารถสร้างสเปซได้ใหม่แต่ข้อจำกัดของบ้านรีโนเวทมันก็คือโครงสร้างเดิม ทำอะไรมากไม่ได้ ยื่นมากไม่ได้ ส่วนใหญ่มันก็เป็นการแก้ปัญหาในสิ่งที่มันเป็นอยู่มากกว่า” คุณเบนซ์เล่าถึงความท้าทายในการทำบ้านรีโนเวทให้เราฟัง
แปลนบ้าน N135 ชั้น 1 Credit ภาพ : ilikedesignstudio
แปลนบ้าน N135 ชั้น 2 Credit ภาพ : ilikedesignstudio
แปลนบ้าน N135 ชั้น 3 Credit ภาพ : ilikedesignstudio
ซึ่งคุณเบนซ์ยังเล่าว่า เดิมบ้าน N135 หลังนี้เป็นบ้านที่เล่นระดับอยู่แล้วจึงค่อนข้างโชคดี แต่ความยากคือบ้านหลังนี้มีการวางฟังก์ชันที่แปลก คุณเบนซ์จึงต้องวางฟังก์ชันภายในของบ้านใหม่เกือบทั้งหมด โดยเริ่มจากบริเวณห้องครัวซึ่งอยู่ติดกับส่วนลานจอดรถ คุณเบนซ์เลือกที่จะเปลี่ยนห้องครัวเป็นส่วนพื้นที่แยกออกมานี้ ซึ่งเดิมมีฟังก์ชันเป็นห้องสำหรับเมท และขยายพื้นที่ภายในออกไปเพื่อให้ประตูทางเข้าของห้องครัวสามารถเข้าถึงได้จากส่วนภายในบ้าน ต่างจากของเดิมที่จะแยกสัดส่วนออกไปและต้องเข้าถึงจากภายนอกบ้านเท่านั้น
แนวคิดของการออกแบบบ้าน N135 Credit ภาพ : ilikedesignstudio
พื้นที่ส่วนทางเข้าบ้านเดิมก่อนเกิดการรีโนเวท Credit ภาพ : ilikedesignstudio
เมื่อเดินต่อมาจากบริเวณทางเข้าและห้องครัว เราก็จะพบกับพื้นที่ต่างระดับเชื่อมไปยังบริเวณพื้นที่ห้องนั่งเล่น ซึ่งแม้จะมีขนาดพื้นที่จำกัดแต่บรรยากาศก็ไม่ได้คับแคบแต่กลับรู้สึกอบอุ่นและพอดิบพอดี ซึ่งคุณเบนซ์เองปรับเปลี่ยนพื้นที่ในส่วนห้องนั่งเล่นตรงนี้ และจับรวมฟังก์ชันของห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหารเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นกึ่งๆ ห้องอเนกประสงค์ที่ใช้สำหรับการพักผ่อน โดยบริเวณพื้นที่ในส่วนรับประทานอาหารก็สามารถใช้ในการนั่งทำงานได้ด้วยเช่นกัน
ซึ่งเมื่อนำพื้นที่สองฟังก์ชันมารวมกันก็จะได้พื้นที่ที่ค่อนข้างแคบลง คุณเบนซ์จึงแก้ปัญหาด้วยการต่อระเบียงยื่นออกไป ซึ่งห้องบริเวณระเบียง เมื่อก่อนเป็นออฟฟิศที่ทำไว้เพื่อนั่งทำงาน แต่หลังจากย้ายออฟฟิศไป จึงทำเป็นห้องออกกำลังกายแทน และคุณเบนซ์ก็ยังมีการสร้างรั้วจากต้นไม้ทำให้ได้มุมมองเป็นพื้นที่สีเขียวต่อกับสวนส่วนกลางของหมู่บ้านด้วย
พื้นที่ส่วนห้องนั่งเล่นเดิมก่อนเกิดการรีโนเวท Credit ภาพ : ilikedesignstudio
ถัดจากส่วนพื้นที่ห้องนั่งเล่นก็จะบันไดเชื่อมไปยังบริเวณชั้นสอง ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่ห้องครัวและห้องรับประทานอาหาร ซึ่งคุณเบนซ์เองมองว่าเมื่อห้องครัวกับห้องรับประทานอาหารอยู่บริเวณชั้นบน ทำให้บ้านดูแคบลงมากและยังทำให้รู้สึกอึดอัด จึงปรับเปลี่ยนพื้นที่บริเวณตรงนี้ให้เป็นห้องเอนกประสงค์ ซึ่งรวมห้องเล่นของลูกๆ ห้องทำงานของพ่อแม่ โดยมองว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ได้เป็นฟังก์ชันที่ถาวร แต่สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตามกิจกรรมและการใช้งานของคนในครอบครัว ซึ่งข้อดีที่ตามมาก็คือ ทำเกิดปฏิสัมพันธ์กันในครอบครัวได้ดี ลูกๆ ที่นั่งเล่นของเล่นอยู่ด้านบนส่วนพ่อและแม่สามารถนั่งดูทีวีในพื้นที่ของห้องนั่งเล่นได้โดยยังสามารถพูดคุยและมองเห็นซึ่งกันและกันได้ด้วย
เมื่อขึ้นมาบริเวณชั้นสาม จะเป็นส่วนของพื้นที่ห้องนอน ซึ่งเดิมมี 3 ห้อง แต่คุณเบนซ์ก็ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ โดยเพิ่มเป็น 4 ห้องนอน ซึ่งในแต่ละห้องนอนก็จะมีขนาดที่พอดีตามความต้องการในการใช้งานของคนในครอบครัว
แต่การออกแบบบ้านทุกหลังก็ย่อมมีอุปสรรคโดยเฉพาะบ้านรีโนเวทที่เป็นการแก้ไขปัญหาของเดิมที่มีอยู่ ซึ่งคุณเบนซ์เล่าให้ฟังว่า “พอมันเป็นบ้านรีโนเวทบางทีเราไม่สามารถมาวัดทุกจุดได้ ทำให้บางครั้งหน้างานมันไม่ใช่อย่างที่เราคิด เมื่อก่อนพอเราไม่ปูกระเบื้องผนังล้มดิ่งรึเปล่าเราก็ไม่รู้ แต่พอตอนนี้เรามาปูกระเบื้องมันก็กลายเป็นว่าผนังล้มดิ่ง เราก็เลยก็เซตผนังเข้ามาแก้การล้มดิ่งใหม่หมดเลย กลายเป็นเรามีจุดเซอร์ไพรส์ใหม่ๆมาเรื่อยๆ” ซึ่งจุดเซอร์ไพรส์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้พี่เบนซ์บอกกับว่าเราว่ามันคือ จุดที่ยากที่สุดของการทำบ้านรีโนเวท เพราะบางทีไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างที่เราต้องการหรือเปล่า อย่างเช่นมุมบริเวณบันไดที่มีลักษณะซ้อนทับกัน พี่เบนซ์ก็เล่าว่า ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจคิดให้มันซับซ้อนแบบนี้ แต่จากการที่จะทำฝ้าเรียบ แต่พอมาหน้างานกลับเกิดระดับเยอะแยะ แต่พอทำมาเรื่อยๆก็รู้สึกว่าได้ความสวยงาม มีมิติไปอีกแบบ ซึ่งความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นนี้ก็ถือเป็นสเน่ห์ของการรีโนเวทอีกอย่างหนึ่ง
บริเวณบันไดที่บ้านทาวน์เฮาส์มักจะมีปัญหาเรื่องความทึบ มืด ก็ถูกแก้ปัญหาโดยการใส่สกายไลท์เข้ามาเพื่อทำหน้าที่เป็นช่องรับแสง ช่วยทำให้บ้านโปร่งและส่วางขึ้นด้วย
ความต้องการในการเก็บพื้นที่สีเขียว สู่โจทย์ของการออกแบบ
จากที่เรากล่าวไปข้างต้นว่า คุณเบนซ์เองรู้สึกชื่นชอบพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านซึ่งประกอบไปด้วยต้นไม้ใหญ่จำนวนมากมายทำให้ดูร่มรื่น การออกแบบภายในบ้านจึงใส่ใจกับเรื่องของมุมมองเป็นพิเศษ โดยคุณเบนซ์เองเลือกที่จะออกแบบช่องเปิดต่างๆโดยเน้นการไหลของทิศทางลมและพยายามออกแบบช่องเปิดที่จะทำให้สามารถมองเห็นพื้นที่สีเขียวได้มากที่สุด ซึ่งช่องเปิดจากบริเวณชั้นสอง และส่วนหน้าต่างบานใหญ่บริเวณระเบียงก็จะเป็นส่วนหลักที่ทำให้ลมไหลผ่าน ทำให้พื้นที่ส่วนห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหารได้รับลมเต็มๆ อีกด้วย
ส่วนช่องเปิดบริเวณอื่นๆ ของบ้านก็เลือกที่จะออกแบบช่องเปิดเพื่อบดบังวิวที่ไม่น่ามองจากบ้านหลังอื่นและยังเพิ่มความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกัน การออกแบบช่องเปิดให้อยู่ต่ำบริเวณพื้นก็ยังทำให้มีแสงแดดที่สามารถส่องผ่านเข้ามาภายในบ้านได้บ้าง
จากสไตล์และความชอบสู่รูปลักษณ์ภายนอกของบ้าน
“จริงๆ โจทย์ของบ้านรีโนเวทที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา คืองานระบบ คือเอาเรื่องที่มันควรจะต้องเป็นก่อน งานระบบมันเหมือนเส้นเลือดร่างกายมนุษย์ เราต้องรีโนเวทไฟ น้ำ ทุกอย่างให้มันดี ที่เหลือมันยังเป็นแค่เรื่องของการตกแต่ง เรามาต่อเติมทีหลังได้ แต่ถ้าทำระบบไม่ดี ต่อให้เราแต่งสวยแค่ไหน พอวันนึงมันมีปัญหาก็ต้องมาปวดหัวกับมันอยู่ดี ส่วนเรื่องที่เหลือเราคิดว่ามันเป็นเรื่องของสไตล์หรือความชอบส่วนตัวมากกว่า” คุณเบนซ์ตอบคำถามเมื่อเราถามถึงหัวใจสำคัญของการรีโนเวทบ้าน ซึ่งเมื่อเรื่องของงานระบบค่อนข้างลงตัวแล้ว คุณเบนซ์จึงกลับมาโฟกัสกลับรูปลักษณ์ของบ้าน ที่เราจะเห็นความมินิมอล เรียบง่าย ดูสะอาดตาในทุกๆพื้นที่ภายในบ้าน ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวของคุณเบนซ์เอง
จากบริเวณภายนอก หลังคาจั่วที่เราเห็นนั้นเป็นของเดิมที่มากับตัวบ้านได้ออกแบบโดยลดทอนเพื่อให้ดู
มินิมอลมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน ไม่รู้สึกแปลกแยกหรือแตกต่างมากจนเกินไป
รวมถึงพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้าน เมื่อเราเห็นก็รู้สึกว่าค่อนข้างเรียบร้อย สะอาดตาทีเดียว ซึ่งคุณเบนซ์ใช้พื้นที่บริเวณด้านข้างของผนังทำเป็นชั้นเก็บของแนวตั้งขนาดใหญ่ทั้งบริเวณที่เป็นห้องอเนกประสงค์และส่วนพื้นที่นั่งเล่น ซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้บ้านยิ่งดูเรียบง่าย มีความมินิมอลมากขึ้น นอกจากนี้เมื่อมีพื้นที่เก็บของที่แยกสัดส่วนชัดเจน ทำให้การทำความสะอาดทำได้ง่ายขึ้น และช่วยลดปริมาณฝุ่นอีกด้วย
“เราไม่ได้อยากได้บ้านใหญ่โต เราพยายามจะใช้พื้นที่ให้น้อยที่สุดที่มันควรจะเป็น ซึ่งที่จริงแล้วกำลังจะทำบ้านใหม่อีกหลังนึง ซึ่งเอาสเกลสเกลบ้านหลังนี้ไปทำเป็นบ้านใหม่เลย เพราะเรารู้สึกว่าพื้นที่แค่นี้ก็อยู่พอแล้ว รู้สึกว่าสเกลเท่านี้มันเป็นสเกลสำหรับครอบครัวที่อยู่แล้วมันพอดี และรู้สึกว่าไม่ต้องดูแลเหนื่อย เราดูแลได้และไม่เหนื่อยจนเกินไป น่าจะอยู่แล้วมีความสุขกว่า” คุณเบนซ์พูดถึงความรู้สึกในการออกแบบบ้านหลังนี้ ซึ่งถ้ามองอีกมุมหนึ่งที่อยู่อาศัยที่ดีที่สุดอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวสถาปัตยกรรมแต่อยู่ที่ตัวของผู้อยู่อาศัยเองว่าอยู่แล้วพอดี อยู่แล้วมีความสุขไหม สถาปัตยกรรมจึงเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งที่มาเติมเต็มความรู้สึกเหล่านั้นเท่านั้นเอง