OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

OOObkk คาเฟ่ซอกตึกสุดมินิมอล ที่เรียบง่ายและมีปลายทางคือโอเอซิส

“ผลลัพธ์ของความสวยงามที่มาพร้อมการใช้งานที่ลงตัว”

OOOBKK
Location: ทาวน์อินทาวน์ กรุงเทพฯ
Owner: คุณฟ้า นิโรธา วีรธรรมพูลสวัสดิ์
Architect: คุณตี๋ ณรงค์ โอถาวร SO Architects
Photographs: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

เมื่องานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดีไม่ใช่เพียงเรื่องของความสวยงามเท่านั้น แต่หากของฟังก์ชันการใช้งานในแต่ละพื้นที่เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญอันดับแรกๆที่ควรนึกถึง ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ร้านอาหาร หรือคาเฟ่อย่าง OOOBkk คาเฟ่น้องใหม่ในย่านทาวน์อินทาวน์ที่มีผลลัพธ์ในการออกแบบที่สวยงามพร้อมพื้นที่ภายในที่ทำให้ทุกคนสัมผัสประสบการณ์ในการดื่มด่ำกาแฟแก้วโปรดได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ด้วยความตั้งใจของ ‘คุณฟ้า นิโรธา วีรธรรมพูลสวัสดิ์’ เจ้าของร้านที่มีประสบการณ์ด้านกาแฟมาอย่างยาวนาน และไว้ใจให้ ‘คุณตี๋ ณรงค์ โอถาวร SO Architects’ มาสร้างสรรค์คาเฟ่แห่งใหม่บนพื้นที่ซอกตึกได้อย่างลงตัว

‘คุณฟ้า นิโรธา วีรธรรมพูลสวัสดิ์’ เจ้าของร้านและ ‘คุณตี๋ ณรงค์ โอถาวร SO Architects’ สถาปนิกผู้ออกแบบ

ด้วยความที่เจ้าของมีคาเฟ่แรกที่ชื่อว่า ‘One Ounce for Onion’ ในย่านเอกมัย และคาเฟ่ที่สองอยู่ที่ช่างชุ่ย ซึ่งหลังจากย้ายออกจากช่างชุ่ยได้ไม่นาน คุณฟ้าก็อยากทดลองทำโปรเจกต์ใหม่ที่สื่อสารกับลูกค้าได้ง่ายกว่าเดิม ’OOOBkk’ แห่งนี้จึงเป็นคาเฟ่ที่ต่อยอดความเป็นตัวตนของ One Ounce for Onion ออกมาในแนวคิด ‘Non Boundary Experience’ ผ่านรูปแบบที่เรียบง่ายและเข้าใจง่ายมากขึ้น เข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม เข้ามาแล้วรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจที่จะสั่งเมนูอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ โดยร่วมมือกับ Espressoman ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ทำกาแฟและเมล็ดกาแฟ ที่เปิดโอกาสให้ ’OOOBkk’ กลายมาเป็นเพื่อนบ้านที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

“ความน่าสนใจมันคือมันเป็นซอกตึกและเคยเป็นร้านอาหารตามสั่งมาก่อน ซึ่งพื้นที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมคางหมูที่สอบเข้า พื้นที่ด้านหลังแคบกว่าด้านหน้า ภาพแรกที่ผมนึกถึงเลยคือซอกตึกที่มีร้านก๋วยเตี๋ยว แล้วตรงปลายทางมีแสงส่องลงมา” คุณตี๋ สถาปนิกผู้ออกแบบเริ่มเล่าภาพจุดเริ่มต้นที่เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบหลังจากที่ได้เข้ามาสำรวจพื้นที่เดิมก่อนทำการรีโนเวทที่ค่อนข้างแคบ สอบเข้า และมีระดับฝ้าเพดานต่ำ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาในแบบฉบับของ SO คือ การรื้อฝ้าออกทั้งหมด และการวางผังภายในให้มีลำดับการเข้าถึง โดยใช้เส้นโค้งเข้ามาออกแบบผนังเพื่อสร้างความรู้สึกระหว่างเดินให้น่าค้นหาและรู้สึกว่าไปต่อได้เรื่อยๆ ทั้งสวยงามและทำให้แต่ละพื้นที่กลายเป็นมุมต่างๆที่สามารถใช้งานได้ รวมเข้ากับฟังก์ชันบาร์ที่ตั้งใจแบ่งเป็นสองส่วน คือ espresso และ slow bar โดยที่มีจังหวะแสงธรรมชาติลงมาเน้นแต่ละพื้นที่ภายใน ไฮไลท์คือปลายทางของร้านเพื่อให้เป็นเหมือนโอเอซิส

รูปร้านก่อนผ่านการรีโนเวท

espresso bar ด้านหน้า และ slow bar ด้านหลังกำแพง ที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อกัน

ด้านข้างมีพื้นที่เชื่อมต่อร้านกับ Espressoman

ด้วยความที่เป็นพื้นที่ซอกตึกที่ค่อนข้างมืดและอับ สถาปนิกออกแบบช่องเปิดด้านบนเพื่อให้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้ามา โดยเลือกตำแหน่งที่เป็นแกนหลักของร้านสามจุดคือ espresso bar ที่นั่งในผนังโค้ง และสุดท้ายตรงปลายทางของร้าน พร้อมทั้งออกแบบหน้าร้านโดยเลือกวัสดุบล็อกแก้ว เพื่อดึงแสงจากด้านหน้าอาคารเข้ามาแทนที่จะออกแบบช่องเปิดจากด้านบนทั้งหมด เป็นการลดระดับความร้อนที่จะเข้ามาภายในร้านโดยตรงได้เป็นอย่างดี

“คอนกรีตเป็นวัสดุที่ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก” คำตอบของสถาปนิกเมื่อถามถึงวัสดุหลักภายในร้าน ซึ่งเป็นความโชคดีที่สถาปนิกและเจ้าของเห็นภาพตรงกัน ว่าอยากให้ผลลัพธ์สุดท้ายของคาเฟ่ใช้วัสดุคอนกรีตโทนเรียบง่าย แต่ด้วยข้อจำกัดของโครงสร้างภายในอาจไม่สามารถรับน้ำหนักได้มากกว่าที่เคยเป็น ทำให้ไม่สามารถใส่งานก่อคอนกรีตจริงๆเข้าไปได้ จึงใช้การฉาบพลาสเตอร์คอนกรีตแทน ซึ่งหากหาส่วนผสมของพลาสเตอร์ที่ดี ก็จะออกมาดูเป็นธรรมชาติ

เนื่องจากร้านมีระดับฝ้าเดิมที่ค่อนข้างต่ำ หากคงไว้แบบเดิมอาจทำให้ร้านค่อนข้างอับทึบ สถาปนิกจึงตัดสินใจรื้อฝ้าเดิมทั้งหมดออก และปรับระดับฝ้าใหม่ทั้งหมดขึ้นตามองศาความลาดเอียงของหลังคา ซึ่งฝ้าใหม่ใช้วัสดุเซลโลกรีตหรือแผ่นเส้นใยไม้ซีเมนต์อัดที่มีสีเทากลมกลืนกับสีคอนกรีตของผนังภายในร้าน รวมถึงโชว์โครงสร้างเหล็กทัสในบางจุด เพื่อกลมกลืนกับวัสดุคอนกรีตของผนัง

เฟอร์นิเจอร์ภายในร้าน เจ้าของเลือกให้เข้ากับความดิบของวัสดุ เพื่อให้ได้บรรยากาศการตกแต่งบ้านในยุค 90 โดยนำโครงของเฟอร์นิเจอร์เก่ามือสองมาทำใหม่ให้ลงตัว มีความยูนีคและสวยงาม ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี เช่น เก้าอี้ต้องนั่งแล้วสบาย ความสูงของโต๊ะได้ระดับ “ความสวยงามมันควรจะมาพร้อมกับฟังก์ชัน เฟอร์นิเจอร์ทุกๆชิ้นที่อยู่ในร้านควรจะใช้งานได้จริง แล้วลูกค้าที่เข้ามาจะได้สัมผัสกับบรรยากาศที่แท้จริงของร้านจริงๆ” เจ้าของร้านเล่ามาถึงตอนสุดท้าย ที่เธอตั้งใจให้ร้าน OOOBkk นี้เป็นไปตามแนวคิด‘Non Boundary Experience’ ที่อยากให้ทุกคนที่เข้ามาที่นี่รู้สึกเป็นกันเอง สบายใจที่จะสั่งเมนูต่างๆ รู้สึกโอ(เค)สมกับชื่อร้าน