OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Peter Eisenman สถาปนิกผู้ทำลายระบบเดิมของโครงสร้าง และ Deconstruction คือจิตวิญญาณของเขา

Deconstruction – สถาปัตยกรรมที่ไม่มีรูปแบบตายตัว มักสนใจในการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวโครงสร้างอาคาร ตลอดจนรูปลักษณ์ที่บิดเบี้ยว จนเกิดเป็นความยุ่งเหยิง ไม่เป็นระเบียบทางองค์ประกอบสถาปัตยกรรม

หากกล่าวถึงสถาปนิกผู้โด่งดังในยุค Deconstruction คงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก Peter Eisenman ผู้แปลกประหลาด เขามีความแตกต่างทั้งการออกแบบ สถาปัตยกรรม งานเขียน และทฤษฎีที่ไม่เหมือนใคร นอกจากเขาจะเป็นสถาปนิกผู้ริเริ่มสไตล์ Deconstruction แล้ว เขายังได้รับรางวัลต่างๆ อีกมากมาย เช่น รางวัลการออกแบบเมืองของCanadian Centre for Architecture’s Prize ปี 1999, รางวัล American Institute of Architects ปี 2005 หรือ รางวัล AIA New York State Educator Award ปี 2013 เป็นต้น

The City of Culture

Peter Eisenman เกิดวันที่ 11 สิงหาคม ปี 1932 เมือง Newark รัฐ New Jersey เขาเริ่มสนใจสถาปัตยกรรมเมื่อเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่ Cornell University และมักใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ไปกับการศึกษาและค้นคว้าทางด้านสถาปัตยกรรม เมื่อจบการศึกษาจึงเข้าเรียนปริญญาโทที่ Columbia University สาขาสถาปัตยกรรม อีกทั้งยังจบการศึกษาปริญญาเอก สาขาศิลปศาสตร์จาก Cambridge University อีกด้วย

The Memorial to the Murdered Jews of Europe

ช่วงปลายปี 1960 เขาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ New York Five หรือกลุ่มสถาปนิกผู้ทรงอิทธิพลในสหรัฐอเมริกา ประกอบด้วย Michael Graves, Richard Mier, John Hejduk, Charles Gwathmey และ Peter Eisenman โดย New York Five คือกลุ่มสถาปนิกผู้นำแนวคิดของ Le Corbusier และสถาปัตยกรรมยุค Modern มาศึกษา ประยุกต์ ควบคู่ไปกับการออกแบบ

JC Decaux Bus Shelter

สถาปนิกทั้ง 5 ได้มีการพัฒนารูปแบบและแนวคิดของตนเอง จนท้ายที่สุดทุกคนต่างมีสไตล์การออกแบบที่ชัดเจน โดยสถาปัตยกรรมของ Peter Eisenman ก็เกิดจากการทดลองและสั่งสมประสบการณ์ จนเกิดเป็นแนวคิดการออกแบบอันเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือสถาปัตยกรรมสไตล์ Deconstruction ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับรูปแบบ แพทเทิร์น และที่ว่างในอาคาร

Koizumi Sangyo Corporation Headquarters Building

Deconstruction คือแนวคิดรื้อถอนโครงสร้างอาคาร เพื่อสร้างอิสรภาพให้กับสถาปัตยกรรม โดยไม่อ้างอิงรูปแบบหรือรูปทรงต่างๆ แต่จะนำระดับชั้น รูปทรงทางโบราณคดี หรือวัฒนธรรม จากความหมายและบริบทที่ตั้งมาตีความใหม่ จะเห็นได้ชัดจากบทความ ทฤษฏีและแนวคิดในหนังสือที่ถูกเผยแพร่ของเขา ทั้งนี้สถาปัตยกรรมสไตล์ Deconstruction มักมีปัญหาอยู่บางประการ เช่น มีโครงสร้างอาคารที่เปราะบาง หรือมีภาพลักษณ์ไม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน

Diagram of House VI

Peter Eisenman ยังเป็นผู้ริเริ่มการใช้ Diagram 3 มิติ หรือภาพวาดที่อธิบายแนวคิด สเปซ และฟังก์ชันซับซ้อนในอาคาร โดยเขาได้แนวทางนี้มาจาก Colin Rowe และ Palladio ซึ่งในยุค New York Five กับ Deconstruction เขาก็ใช้ Diagram เพื่ออธิบายแนวคิดอาคารให้เข้าใจง่ายมากขึ้น

Wexner Center of Visual Arts

Wexner Center of Visual Arts คือสถาปัตยกรรมชิ้นแรกที่เกิดจากแนวคิด Deconstruction’

อาคารแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ Ohio University เป็นโปรเจคต่อเติมเพื่อเชื่อมอาคารเก่า 2 อาคาร ด้วยการสร้างอาคารใหม่ ซึ่งPeter Eisenman เริ่มออกแบบจากการสร้างตารางกริด 3 อัน ประกอบด้วยกริดเมือง Ohio ในปัจจุบัน กริดเมืองซึ่งเคยถูกวางไว้ในอดีต และกริดของมหาวิทยาลัย จากนั้นจึงสร้างความสัมพันธ์ของกริดทั้ง 3 ด้วยการนำมาวางซ้อนทับกัน จนเกิดเป็นโครงสร้างกริด 3 มิติ และนำมาออกแบบพื้นที่ในอาคาร

 พื้นที่ภายในเกิดจากที่ว่างในกริดซึ่งสอดแทรกระหว่างอาคารเก่าและใหม่ เมื่อมองจากภายนอกจะพบว่าโครงสร้างกริดสีขาวทำหน้าที่เป็นทางเดินเพื่อแยกอาคารเก่าและใหม่ออกจากกัน แต่หากได้เดินเข้ามาภายในจะพบว่ากริดมีหน้าที่เชื่อมพื้นที่ทั้ง 2 อาคารเข้าด้วยกัน ซึ่งนี่เป็นการสร้างความรู้สึกคลุมเครือ ไม่ชัดเจนให้กับผู้ใช้งานนี่เอง

มากไปกว่านั้นเขายังเลือกใช้รูปทรงเศษเสี้ยวป้อมปราการ ซึ่งเคยตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยมาใช้อีกด้วย โดยการใช้รูปแบบที่ไม่สมบูรณ์นี้ ส่งผลให้อาคารดูราวกับเป็นซากปรักหักพัง ตรงกันข้ามกับสถาปัตยกรรมสไตล์ Postmodern ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้นอย่างสิ้นเชิง

หากด้านการใช้งาน Wexner Center of Visual Arts กลับมีปัญหาบางส่วน เนื่องจากโครงสร้างและกริดมีความทับซ้อนกันหลายส่วน ผนังอาคารจึงมีความซับซ้อน จนบางครั้งก็ทำให้ผู้ใช้งานเกิดอาการคลื่นไส้ เวียนหัว เมื่อเข้ามาในอาคารเลยทีเดียว

House VI

‘เสาและคานใน House VI สำหรับ Peter Eisenman นอกจากจะทำหน้าที่รับน้ำหนักแล้ว ยังเป็นดั่งงานศิลปะในขณะเดียวกัน’

 House VI ตั้งอยู่ที่เมือง Cornwall ในอเมริกา บ้านนี้เป็นดั่งประติมากรรมขนาดใหญ่ตั้งโดดเด่นท่ามกลางสนามหญ้ากว้างไกล มีแนวคิดการออกแบบจากการแบ่งพื้นที่บ้านเป็นตารางกริด 4 ส่วน จากนั้นจึงแบ่งฟังก์ชันตามความสัมพันธ์ของกริดทั้ง 4 ส่วนนี้

บ้านนี้เป็นดั่งการทดลองโครงสร้างอาคารระหว่างแบบทั่วไปและแบบตามแนวคิดของ Peter Eisenman โดยใช้เสาและคานเพื่อแสดงการรับน้ำหนักอาคารในบริเวณต่างๆ ตามโครงสร้างอาคารแบบปกติ แต่ก็มีเสากับคานบางช่วงที่ถูกวางตามทฤษฎีการออกแบบของ Peter Eisenman เพื่อเพิ่มความน่าสนใจและสวยงาม เช่น เสาในห้องครัวบริเวณด้านบนของโต๊ะกินข้าวที่ลอยเหนือพื้นไม่สัมผัสพื้นห้อง หรือช่องเปิดซึ่งโผล่ตรงกลางห้องนอน และแบ่งเตียงออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน

หน้าที่ของเสาและโครงสร้างที่เหมือนและแตกต่างกัน ได้แปรเปลี่ยนเป็นจุดสนใจให้กับผู้พบเห็น จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของ House VI

The City of Culture

สถาปัตยกรรมของ Peter Eisenman ล้วนสร้างความประหลาดใจให้กับผู้พบเห็นเสมอ และแน่นอนว่าทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นไปตามทฤษฎีและอุดมการณ์ที่แน่วแน่ของเขา แม้ใครจะมองว่าเขาเป็นสถาปนิกหัวขบถจากแนวคิดอันแปลกประหลาด แต่ก็ต้องยอมรับว่าความแตกต่างนี้ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมในยุคต่างๆ รวมทั้งทฤษฎีของเขาก็ถูกนำมาศึกษาและเป็นแรงบันดาลใจให้กับสถาปนิกในปัจจุบันอีกด้วย

ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก Eisenmanarchitects, Archdaily, Wexner Center of Visual Arts, House VIArchnu