OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Renovation Nak-Niwat เพิ่มความสุขให้คนในครอบครัว ด้วยพื้นที่แห่งการอยู่อาศัย ‘ร่วมกัน’

Location: นาคนิวาศ 37 กรุงเทพฯ
Architect:
ไพลิน หงษ์วิทยากร จาก OPH Architects
Owner:
ตุณ ชมไพศาล และวิศทา ด้วงวงศ์ศรี
Photographer:
กีรติ อึ้งสุทธิพรชัย และณภัทร ภัทรยานนท์

ถ้าให้ลองจินตนาการถึงการอยู่อาศัยที่มีความสุข หลายๆ คนคงนึกถึงการอยู่อาศัยร่วมกับครอบครัวหรือคนที่เรารัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเติมเต็มความหมายของการอยู่อาศัยสำหรับ ‘บ้าน’ ให้พิเศษมากขึ้นไปอีก แต่ถึงแม้จะต้องการอยู่ร่วมกันกับครอบครัว การได้มีพื้นที่ส่วนตัวก็ยังเป็นสิ่งที่คนส่วนมากต้องการเช่นเดียวกัน บ้าน Renovation Nak-Niwat หลังนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดีๆ ของบ้านที่จัดสรรพื้นที่เป็นสัดส่วน แต่ยังสร้างปฏิสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว โดยได้คุณไพลิน หงษ์วิทยากร สถาปนิกจาก OPH Architects มาเป็นผู้ออกแบบ


แรกเริ่มเดิมที บ้านหลังนี้เป็นบ้านหลังเก่ารุ่นคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งแบ่งเป็นอาคารบ้านหลักและบ้านรอง ซึ่งบ้านรองถูกต่อเติมสำหรับเป็นพื้นที่ให้เช่าประกอบกิจการต่างๆ เมื่อหมดสัญญาและย้ายออกไป คุณปอยและคุณสุกี้ เจ้าของบ้านรุ่นลูกซึ่งกำลังจะมีลูกเล็ก จึงตัดสินใจที่จะรีโนเวทบ้านรองขึ้นใหม่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่อยู่อาศัย เนื่องจากอยู่ใกล้ออฟฟิศที่สามารถไปมาสะดวก
โดยตั้งใจให้พื้นที่บ้านหลักเป็นส่วนที่อยู่อาศัยของคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางของทั้งสองครอบครัว ส่วนบ้านรองจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยส่วนตัวของคุณสุกี้และคุณปอย



ภาพบ้านก่อนการรีโนเวท credit : OPH Architects

ฟังก์ชัน ที่เอื้อให้เกิดการอยู่ร่วมกัน

ด้วยความที่อาคารเดิมของบ้านหลักและบ้านรองค่อนข้างจะแยกกันอย่างชัดเจน ทำให้สเปซแต่ละส่วนไม่เชื่อมต่อกัน และเกิดเป็นพื้นที่ตรอกเล็กๆ เป็นมุมอับ ที่ไม่ถูกใช้งาน สถาปนิกจึงตั้งใจออกแบบให้บ้านหลังนี้เป็นเสมือนบ้านของคนทั้งสามรุ่น ซึ่งก็คือ รุ่นคุณพ่อคุณแม่ รุ่นเจ้าของบ้าน และรุ่นลูกที่กำลังจะเกิด โดยเน้นให้มีการอยู่อาศัยร่วมกันให้ได้มากที่สุด ในขณะที่แต่ละพื้นที่ยังคงความเป็นส่วนตัวเอาไว้

การออกแบบ Layout Plan ที่เราเห็น จึงเหมือนการมัดรวมพื้นที่บ้านรองกับบ้านหลัก ซึ่งถูกปรับเปลี่ยนให้มีทางเข้าหลัก 2 ทาง โดยสามารถเข้าจากลานโล่งที่เป็นเหมือนโถงต้อนรับก่อนแล้วจึงไปเจอกับส่วน Living  อีกทางเข้าหนึ่งจะเข้าทางบ้านรองซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวของทางเจ้าของ เพื่อแยกพื้นที่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัวออกจากพื้นที่ส่วนกลางอย่างชัดเจน

ภาพแปลนก่อนการรีโนเวท credit : OPH Architects

ภาพแปลนหลังการรีโนเวท credit : OPH Architects

ส่วนพื้นที่ตรอกเล็กๆ จะถูกทำขึ้นใหม่ โดยเรียกว่า Sun room ซึ่งเป็นพื้นที่กึ่งเอาท์ดอร์ที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามการใช้งาน สามารถปลูกต้นไม้ วางเก้าอี้นั่ง หรือเป็นพื้นที่วิ่งเล่นของลูกก็ได้เช่นกัน และยังเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้เกิดการไหลเวียนของอากาศจากหน้าบ้านสู่หลังบ้านได้ด้วย

เนื่องจาก บ้านรอง เดิมไม่ได้ถูกทำเพื่อให้เป็นบ้านเพื่อการอยู่อาศัย จึงขาดฟังก์ชันบางอย่างไปบ้าง เช่น ครัว ซึ่งสถาปนิกเพิ่มฟังก์ชันส่วนนี้เข้าไปในบ้านรอง โดยได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านญี่ปุ่น และตั้งใจให้เกิดการเชื่อมโยงทางสายตา โดยทำให้ครัวอยู่ในรูปแบบของ Island หรือเคาน์เตอร์แยกตัวออกมา คนที่สามารถทำครัวอยู่จึงสามารถมองเห็นลูกที่วิ่งเล่นอยู่ หรือมองเชื่อมไปยังพื้นที่นั่งเล่นของบ้านหลักได้



พื้นที่ห้องนอนถูกวางไว้ส่วนหน้าของบ้าน โดยมีหน้าต่างบานกระทุ้งเปิดรับแสง ซึ่งเมื่อมองแล้วก็ให้ความรู้สึกบ้านๆ สร้างบรรยากาศความอบอุ่นในแบบง่ายๆ และยังมีข้อดีตรงที่เกิดแสงเงาได้มากกว่าหน้าต่างปกติ และเมื่อเปิดก็สามารถเชื่อมสายตาไปยังพื้นที่ลานจอดรถ ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการสังสรรค์ หรือทำกิจกรรมร่วมกันของครอบครัว แต่ก้ไม่โปร่งมากจนเห็นพื้นที่ห้องนอนได้ทั้งหมดนั่นเอง

 เป็นส่วนตัวแต่รับรู้ได้ถึงสภาพแวดล้อม

เมื่อมองจากภายนอก เราจะเห็นกำแพงโปร่งแสง เสมือนเกาะป้องกันที่ครอบบ้านไว้อีกชั้นเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว แต่เมื่อเข้ามาสู่ภายในจะพบกับลานโล่งซึ่งมีแบคกราวน์เป็นบ้านสองชั้นดีไซน์คล้ายคลึงกับบ้านโมเดิร์นในสมัยก่อน และมีผนังภายนอกก่ออิฐโชว์แนว ซึ่งสถาปนิกตั้งใจเก็บส่วนนี้ไว้ทั้งหมด เพียงแต่ทาสีขาว ให้ดูใหม่และสะอาดตามากขึ้น

“จริงๆ มู้ดโทนของบ้าน เราไม่ได้ตั้งใจให้มันออกมาเป็นญี่ปุ่นหรืออะไร แต่ด้วยความที่ทางเจ้าของเขาเป็นนักจัดดอกไม้สไตล์มินิมอลอยู่แล้ว เขาชอบโทนสีที่ไม่ได้ฉูดฉาดมาก ซึ่งมันก็ไปในทิศทางเดียวกัน”


อีกหนึ่งความท้าทายของบ้านหลังนี้ คือ งบประมาณที่มีจำกัด ทำให้เราเห็นวัสดุที่สามารถหาได้ตามท้องตลาดแต่นำมาครีเอทให้เข้ากันได้อย่างลงตัว เช่น ไม้อัดยางที่เข้ามาผสมอยู่ในงาน ถึงไม้อัดจะเป็นวัสดุที่ไม่ได้มี Finishing โดดเด่นสวยงามมากนัก แต่เมื่อนำผสมผสานกับความขาว คลีนของบ้าน กลับทำให้เรารู้สึกถึงความเป็นกันเองของบ้าน เข้าถึงได้ง่าย ดูมีความบ้านๆ ที่สวยแปลกตาอย่างลงตัว

ในขณะเดียวกัน บริเวณโรงรถที่มีสัดส่วนค่อนข้างกว้าง ทำหน้าที่เป็นเหมือนลานที่ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้โพลีคาบอเนตลอนเล็ก และหลังคาแผ่นโปร่งใสมาสร้างเป็นกรอบที่ถูกยกระดับให้สูงขึ้นเท่ากับหลังคาสองชั้น เพื่อสร้างบรรยากาศให้ลานนี้ดูโปร่ง โล่ง สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกลัวฝนตกและแดด แต่ก็ยังสามารถรับรู้ได้ถึงสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมโดยรอบ ไม่ตัดขาดจากภายนอกมากเกินไป และยังตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้าน ซึ่งไม่ชอบการใช้ผ้าม่านแต่ยังต้องการความเป็นส่วนตัว

ยืดหยุ่นเพื่อรองรับความหลากหลาย

“ส่วนใหญ่แล้ว เราไม่ได้แตะอะไรกับโครงสร้างเลย แต่พยายามใช้อะไรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งใช้วิธีการจัดแบ่งพื้นที่เอามากกว่า” การจัดแบ่งพื้นที่ที่สถาปนิกพูดถึง คือ การพยายามกั้นพื้นที่แต่ละส่วนอย่างชัดเจน โดยใช้องค์ประกอบอื่นๆนอกจากผนัง ซึ่งจะทำให้สเปซภายในบ้านที่มีอย่างจำกัดนั้น สามารถยืดหยุ่นได้มากขึ้น


สเปซแต่ละส่วนในบ้านถูกออกแบบให้รองรับการปรับเปลี่ยนในอนาคต อย่างบริเวณห้องนอน ซึ่งออกแบบโดยไร้ผนังกั้น แต่ใช้เพียง Partition รูปตัว L เป็นตัวแบ่งสเปซ ทำให้ Circulation ที่เกิดขึ้นในห้องสามารถไหลไปได้ทั่วทิศทาง ห้องจึงดูกว้างขวาง และสำหรับในอนาคตที่ลูกโตขึ้นและอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโดยกั้นผนังขึ้นใหม่ ก็จะทำได้ง่ายขึ้นด้วย


พื้นที่ห้องนอนยังมีการรื้อฝ้าเดิมที่ถูกตีปิดไว้ในระดับคาน โดยเปิดให้โปร่งมากขึ้น รวมถึงออกแบบด้วยโทนสีขาวสบายตา แทรกด้วยวัสดุไม้ ผสมผสานไปกับการโชว์พื้นผิวเดิมแบบดิบๆ ของโครงสร้างคาน ผนังอิฐเดิมของบ้าน ที่ให้ความรู้สึกเรียบง่าย มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นนิดๆ



“ในฐานะนักออกแบบ เราก็อยากให้เจ้าของเขาอยู่แล้วแฮปปี้ อยู่แล้วแฮปปี้ก็คืออยู่แล้วมีความสุข อยู่แล้วสบาย”
สถาปนิกทิ้งท้าย ซึ่งหากขยายความคำว่า อยู่แล้วมีความสุข นั่นอาจหมายถึงการได้อยู่ร่วมกันภายในครอบครัว หรือการอยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ต่อเจ้าของ บ้านหลังนี้จึงกลายเป็นส่วนผสมของหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นความใหม่และความเก่า ผสมผสานการอยู่อาศัยของคนทั้งสามรุ่น หรือแม้สไตล์ของบ้านมินิมอลผสมความดิบ แฝงกิมมิคเล็กๆ ที่เราทำให้เรานึกถึงความ ‘บ้านๆ’ ได้อย่างแท้จริง