Location : สนามเป้า กรุงเทพฯ
Site Area : 121 ตารางเมตร
Usable Area: 320 ตารางเมตร
Owner : เนตรศิริ ดำรงพิศุทธิกุล และ ศุภฤกษ์ สุกิจจานนท์
Architecture & Interior Designer : บริษัท ดีไซน์ อิน โมชั่น จำกัด
Contractor : จักรชัย สุริโย
Photographer : ศุภกร ศรีสกุล
จากการอยู่อาศัยเป็นครอบครัวใหญ่มาแต่เดิม เมื่อเริ่มมีความคิดที่จะขยับขยายครอบครัวเป็นของตัวเอง คุณเนตรศิริ และคุณศุภฤกษ์ เจ้าของบ้านคู่แต่งงานใหม่จึงเริ่มมองหาบ้านขนาดไม่ใหญ่มากนักที่อยู่ในละแวกเดิมของบ้านเก่า จนได้มาพบกับบ้านทาวน์โฮมหลังหนึ่ง การรีโนเวทบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นที่พักอาศัยอันอบอุ่นสำหรับครอบครัวใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้น จึงกลายเป็นโจทย์ของทีมสถาปนิกจาก DESIGN IN MOTION CO.,LTD ผู้รับหน้าที่ออกแบบบ้าน ‘Joyce & Jo House’ หลังนี้
ปัญหาที่มองเห็นจากทาวน์โฮมหลังเก่า
“ลูกค้าไม่มีโจทย์อะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่บอกความต้องการพื้นที่คร่าวๆ ว่าเขาแพลนไว้ว่าจะมีลูกประมาณสองคน ส่วนเรื่องสไตล์เขาปล่อยให้เราคิดได้อย่างเต็มที่เลย โดยให้เราช่วยดูว่า หลังจากที่เราไปดูไซต์แล้ว เรารู้สึกอย่างไร แล้วเรามีความเห็นต่อบ้านเดิมอย่างไรบ้าง”
ภาพบ้าน Joyce & jo ก่อนการรีโนเวท
ซึ่งหลังจากที่มีโอกาสเข้าไปดูไซต์ ปัญหาแรกที่ทางสถาปนิกพบคือบ้านทาวน์โฮมมีการจัดวางฟังก์ชันที่ไม่ค่อยเชื่อมถึงกัน แสงธรรมชาติส่องเข้าถึงตัวบ้านได้น้อย และไม่มีการหมุนเวียนของอากาศภายใน จึงทำให้บ้านดูทึบ มีมุมอับ และรู้สึกอึดอัดกว่าที่ควรจะเป็น และด้วยความที่ตัวบ้านเดิมมีคอร์ดด้านหน้าเล็กๆ บริเวณด้านข้างที่จอดรถ แต่ไม่เชื่อมต่อกับภายบ้าน คอร์ดหน้าบ้านที่มีอยู่เดิมจึงกลายเป็นศักยภาพของบ้านที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีเท่าที่ควร
อีกหนึ่งปัญหาของบ้านทาวน์เฮาส์หรือทาวน์โฮมคือ พื้นที่จำกัดด้วยลักษณะหน้าที่ดินแคบแต่ลึก ผู้ออกแบบจึงตั้งโจทย์ของการออกแบบ โดยเน้นทำให้พื้นที่ภายในบ้านโปร่งมากขึ้น นำแสงธรรมชาติ และช่วยทำให้การหมุนเวียนของลมผ่านเข้าไปภายในตัวบ้าน สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นการออกแบบ ซึ่งเน้นการแก้ไขปัญหาของบ้านเดิมเป็นหลัก
ทางออกของปัญหา สู่งานออกแบบ
จากโจทย์ที่ต้องการจะแก้ปัญหาเดิมของบ้าน หน้าที่แรกของสถาปนิกคือ ปรับเปลี่ยนฟังก์ชันภายในขึ้นใหม่ เพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดดูไหลเชื่อมถึงกัน โดยออกแบบพื้นที่ฝั่งหนึ่งของชั้นล่างให้เป็นส่วนพื้นที่นั่งเล่น ส่วนรับประทานอาหาร คอร์ดด้านหน้าและคอร์ดด้านหลัง ที่เชื่อมถึงกันทั้งหมด และผลักฟังก์ชันที่อยู่ในลักษณะกึ่งทึบตัน เช่นห้องแม่บ้าน ห้องครัว และบันได ไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งของบ้าน เพื่อดึงการไหลเวียนของลมและแสงธรรมชาติให้ผ่านเข้าไปภายในตัวบ้านได้มากที่สุด ทำให้รู้สึกว่าบ้านโปร่ง โล่งมากขึ้น
ภาพแนวคิดการวางฟังก์ชันของชั้น 1 ก่อนและหลังรีโนเวท Credit : DESIGN IN MOTION CO.,LTD
ภาพแนวคิดการวางฟังก์ชันของชั้น 2 ก่อนและหลังรีโนเวท Credit : DESIGN IN MOTION CO.,LTD
ส่วนบริเวณชั้นสองจะเป็นฟังก์ชันส่วนตัวที่ไม่ต่างจากบ้านทั่วไป แต่เนื่องจากทางเจ้าของค่อนข้างต้องการพื้นที่ห้องนอนที่มีขนาดใหญ่ พื้นที่ทำงานรวมถึงพื้นที่เล่นของลูกในอนาคตที่อยู่ร่วมกัน ด้วยพื้นที่บ้านทาวน์โฮมที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงไม่เพียงพอ สถาปนิกจึงใช้ประโยชน์จากหลังคาจั่วทรงสูง เพื่อสร้างสเปซใต้หลังคาเพิ่มขึ้น โดยใช้เป็นพื้นที่ห้องนอนและห้องทำงาน ทำให้พื้นที่ทั้งหมดสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นสัดเป็นส่วนและคงความโปร่ง โล่งเอาไว้
ฟังก์ชันที่ถูกใส่เข้าไปใหม่ในชั้นสอง สถาปนิกยังสร้างเป็นสเปซที่ไม่ชัดเจนมาก เนื่องจากต้องการให้สเปซมีความยืดหยุ่น พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงของเจ้าของบ้านในอนาคต
‘ช่องเปิด’ กับการจัดการแสงธรรมชาติและความเป็นส่วนตัว
เมื่อต้องการช่องเปิดขนาดใหญ่ ที่นำพาแสงธรรมชาติและความโปร่งเข้ามาให้มากที่สุด สิ่งที่ต้องแลกมาคือความเป็นส่วนตัว และความร้อนที่จะเข้ามาด้วย สถาปนิกจึงออกแบบฟาซาดภายนอกของบ้านด้วยระแนงอลูมิเนียมทางตั้ง เพื่อบังมุมมองจากภายนอกทั้งด้านข้างและด้านหน้า ซึ่งระแนงก็ตอบโจทย์ในเรื่องที่ยอมให้ลมธรรมชาติผ่านเข้ามาได้
ภาพแสดงแนวคิดของการออกแบบฟาซาด Credit : DESIGN IN MOTION CO.,LTD
แต่ถึงแม้ระแนงจะช่วยกรองแสงที่เข้ามาในบ้านได้บ้าง แต่เพื่อลดความร้อนที่จะเข้ามาภายใน สถาปนิกจึงเลือกนำระแนงไม้เข้ามาผสมผสานในส่วนของฟาซาดด้วย เกิดเป็นระดับของความทึบที่แตกต่างเพื่อบังแสง แต่ในขณะเดียวกัน บางส่วนก็จะโปร่งขึ้นมาหน่อยเพื่อรับแสงธรรมชาติเข้ามา ยกตัวอย่างเช่น บริเวณหน้าบ้านจะมีการแทรกระแนงไม้เข้ามา เพื่อสร้างระดับของความทึบให้มากขึ้น วัสดุจากไม้ยังช่วยทำให้ภาพรวมของบ้านดูอบอุ่น และไม่แข็งกระด้างจนเกินไปด้วย
“ถ้าถามถึงจุดเด่นของบ้าน ผมคิดว่ามันคือการที่ผมปล่อยให้ลมธรรมชาติไหลผ่านทั้งคอร์ดหน้าและหลัง ซึ่งปกติมันจะไม่มีในห้องแถวทั่วๆ ไป และปล่อยให้แสงแดดเข้ามา ทำให้บ้านดูไม่ทึบตัน ปรับเปลี่ยนภาพจากทาวน์โฮมแบบเดิมๆ ไปเลย ซึ่งมันเหมือนเป็นการแก้ปัญหาของบ้านหลังเดิม โดยอิงจากการใช้งานของเจ้าของบ้านเป็นหลัก” สถาปนิกกล่าว
จากบ้านทาวน์โฮมเก่าที่ทึบตัน และอึดอัด จึงถูกชุบชีวิตให้กลายเป็นหลังใหม่ที่ตอบสนองการใช้งานของครอบครัวขยายที่กำลังจะเริ่มต้น ถึงแม้การออกแบบจะเรียบง่าย แต่สามารถแก้ปัญหาที่มีอยู่เดิม เพื่อรองรับการอยู่อาศัยได้อย่างแท้จริง