Location: สะพานควาย กรุงเทพฯ
Architect: พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล จาก PHTAA living design
Photographer: วีรพล สิงห์น้อย
สถาปัตยกรรมที่ดี แน่นอนว่าต้องคำนึงถึงบริบทและสิ่งรอบข้าง และคงจะดีไม่น้อยหากสถาปัตยกรรมจะสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คน สร้างความรู้สึกที่มากกว่าความสวยงามเมื่อมองเห็น BLU395 Resident อาคารโมเดิร์นสีขาวสะอาดตาหลังนี้ จึงทำหน้าที่มากกว่าอาคารทั่วไป โดยสร้างความสัมพันธ์กับย่าน คนที่สัญจรผ่านไปมา รวมถึงคนที่เดินบนทางเท้า ถือเป็นอีกหนึ่งการออกแบบที่ช่วยเปลี่ยนเมืองให้ดีขึ้นได้อย่างน่าสนใจ ออกแบบโดย PHTAA living design
สเน่ห์ของย่านสะพานควาย
BLU395 เป็นอาคารในรูปแบบ mixed-use ซึ่งประกอบไปด้วยยูนิตพักอาศัยจำนวน 84 ห้อง และส่วนร้านค้าอีก 3 ห้อง โดดเด่นอยู่ท่ามกลางตึกแถวเก่าในย่านสะพานควาย ริมถนนพหลโยธินฝั่งขาออก ซึ่งถ้าพูดถึงย่านสะพานควายแล้ว หลายๆ คนคงนึกถึงการสัญจรที่ติดขัดจนน่าปวดหัว ถึงแม้จะมีรถไฟฟ้าผ่าน แต่ก็มักจะเป็นทางผ่านที่ไปยังจตุจักร หรือผ่านเข้าไปในเมือง
“เรามองว่า ถ้าจะสร้างอาคารเป็นทางผ่าน มันก็ต้องเป็นทางผ่านที่ดีหน่อย คือคิดว่าเราไม่ได้สร้างแค่ที่พักอาศัย แต่เราก็ไม่ได้พูดถึงขนาดว่ามันจะเป็นอนุเสาวรีย์ หรือเป็น Iconic ขนาดนั้น แต่เป็นการออกแบบที่เล่นกับสภาวะตรงนั้นมากกว่า” ด้วยความที่เป็นทางผ่านนี้เอง ทำให้คุณวิทย์ สถาปนิก ตั้งใจออกแบบให้อาคารหลังนี้สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนภายนอก ที่รถติดอยู่บนท้องถนน คนที่เดินผ่านไปมา เกิดเป็นโจทย์แรกของการออกแบบ
สถาปัตยกรรมสัมพันธ์กับผู้คน
“การทำฟาซาดให้สวยคือมันเรื่องปกติอยู่แล้วที่ทุกคนจะต้องทำ แต่เราอยากจะไปให้มากกว่านั้น คือเราอยากจะทำอย่างไรก็ได้ ให้เล่นกับ visual ของคนที่ผ่านไปผ่านมาจริงๆ เหมือนเราเล่นกับเมือง”
จากโจทย์ตั้งต้น ถูกแปลงออกมาเป็นงานออกแบบโดยหยิบเอาแนวคิดภาพ Lenticular ที่เราคุ้นเคยในสมัยเด็ก มาใช้ในการสร้างฟาซาด ที่คนผ่านไปมาสามารถมองเห็นและเปลี่ยนไปได้ในทุกๆ มุมของการมอง ภาพที่ประกอบกันบนฟาซาดจะนำเสนอแนวคิด ‘เมืองสองรูปแบบ’ ที่ถูกทำให้เบลอ โดยไม่จำเป็นต้องให้เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมว่ามันคือรูปอะไร คนที่มองเห็นสามารถตีความจากสิ่งที่เห็นได้เอง สร้างปฏิสัมพันธ์ และสร้างควมรู้สึกกับการมองเห็นได้มากขึ้น
โดย ‘เมืองสองรูปแบบ’ ที่ปรากฏอยู่บนฟาซาด สะท้อนแนวคิด ความเปลี่ยนแปลงของเมืองในยุคปัจจุบัน ซึ่งหากมองจากฝั่งหนึ่งเราจะเห็นกลุ่มอาคารห้องแถวที่มีความโมเดิร์น แต่อีกมุมมองนั้นจะเป็นกลุ่มอาคารทรงไทยอนุรักษ์ เพื่อแสดงว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้คงอยู่ถาวร เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเหมือนดังเช่นเมืองในยุคปัจจุบัน
ภาพ ‘เมืองสองรูปแบบ’ ที่ปรากฏอยู่บนฟาซาดของอาคาร
นอกจากฟาซาดที่เราเห็น รูปลักษณ์ของตึกก็สร้างความสัมพันธ์กับผู้คนเช่นเดียวกัน โดยในการออกแบบอาคารจะมีการเซตอาคารให้อยู่ลึกเข้าไปมากกว่าปกติ และมีเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้านในตึกบริเวณริมทางเท้า เพื่อสร้างบรรยากาศ ทำให้พื้นที่ทางเดินเท้าด้านนอกดูโล่งมากขึ้น และมีการคว้านรูปทรงของตึกให้เป็นรูปทรงกรวย เพื่อลดการปะทะระหว่างตึกกับผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมา ซึ่งมีข้อดีที่ช่วยสร้างการหมุนเวียนของอากาศทางแนวตั้ง (vertical ventilation) ให้กับอาคารด้วย
พลิกแพลงวัสดุที่มี สู่งานออกแบบที่แตกต่าง
จากการดูไซต์ซึ่งเป็นตึกแถวก่อนจะโดนทุบทิ้ง ทำให้สถาปนิกได้เจอกับ ฝาท่อกัลวาไนซ์ และเห็นถึงประสิทธิภาพ จึงหยิบเอาวัสดุชิ้นนี้มาสร้างเป็นฟาซาด Lenticular อย่างที่เราเห็น สื่อความหมายโดยนัยถึงการนำวัสดุจากไซต์ก่อสร้างหรืออาคารเดิมที่ถูกทุบทิ้งไปแล้วมาครีเอทขึ้นใหม่ โดยการนำฝาท่อมาระบายสีฝั่งด้านในขอบทีละช่อง ซึ่งแต่ละช่องจะมีสเกลในการระบายที่ต่างกัน และกระจายกันไป ประกอบกันเป็นรูปขึ้นมา คล้ายกับแนวคิด pixels
ภาพแสดงกระบวนการระบายสีฟาซาดลงบนฝาท่อกัลวาไนซ์ทีละช่อง
ส่วนบริเวณกรวยที่เราเห็นจากภายนอกอาคาร จะถูกหุ้มด้วยผ้าแคนวาสแบบโปร่งแสง เพื่อเพิ่มความสว่างภายในทางเดินอาคารด้วยแสงธรรมชาติ ลดการใช้พลังงานจากการเปิดไฟ และลดงบประมาณการก่อสร้างโดยลดการใช้กระจก ซึ่งเป็นการทดลองนำวัสดุที่มีอยู่ มาก่อสร้างในรูปแบบใหม่ ซึ่งสถาปนิกเองมองว่าคือความท้าทายและความสนุกอย่างหนึ่งของการออกแบบ
“ผมมองว่า การทำ mixed-use ในสมัยนี้ มันจะคิดแค่ประโยชน์ด้านใดเพียงด้านเดียวไม่ได้ แต่มันต้องมีการปฏิสัมพันธ์ ระหว่างทางเดินเท้ากับคนที่เดินผ่านไปมา ถึงจะทำให้โครงการประสบความสำเร็จในแง่ของเมือง และมันก็ยังตอบโจทย์ในแง่การค้าด้วย เพราะเราทำให้คนที่เดินผ่านไปมาเขารู้สึกสบายขึ้น เขาก็จะสนใจมากขึ้น”
Blu395 นี้จึงเป็นเสมือนตัวแทนของการร่วมมือระหว่างการพัฒนาเมืองที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว กับผู้คนและย่านเดิมที่ยังคงไว้ซึ่งเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งคงจะดีไม่น้อยหากสถาปัตยกรรมจะเป็นสื่อกลางในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองสิ่งนี้ให้อยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน