Location : Nontaburi Thailand
Site Area : 1,115 Sqm
Built Area: 1,545 Sqm
Owner : Kenneth Bodahl
Architect : Apichart Srirojanapinyo ,Chanasit Cholasuek ,Panfan Laksanahut ,Win Rojanastien
Lighting Designer: in Contrast Design Studio
Contractor: D-Innova
Photographer : Sofography , Sky|Ground , Stu/D/O ,DOF
แน่นอนว่า จุดเริ่มต้นของการสร้างบ้านมักเริ่มจากความต้องการของผู้อยู่อาศัย กว่าจะออกมาเป็นบ้านสักหนึ่งหลังจึงมักมีส่วนผสมหลายๆ อย่างจากทางเจ้าของเข้ามาเป็นส่วนประกอบจนเกิดเป็นคาแรคเตอร์ที่ทำให้บ้านหลังนั้นมีแนวคิดอันโดดเด่น เช่นเดียวกับ ‘Casa De Alisa’ บ้านคอนกรีตเปลือยลายไม้สไตล์ชัดเจน ที่สะท้อนตัวตนเจ้าของผ่านวัสดุ ช่องว่างของสเปซ พร้อมด้วยฟังก์ชันภายในที่ตอบโจทย์ทางเจ้าของได้ดีที่สุดอีกหลังหนึ่ง โดยได้ทีมสถาปนิกจาก Stu/D/O มาเป็นผู้ออกแบบ
ตัวตนที่ถูกสะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมคอนกรีต
บ้านคอนกรีตเรียบง่ายหลังนี้ มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการของพ่อ แม่ ลูก ครอบครัวหนึ่ง ด้วยความที่คุณพ่อเป็นชาวนอร์เวย์ที่ย้ายมาอาศัยอยู่ที่เมืองไทย บ้านที่ต้องการจึงเป็นสถาปัตยกรรมคอนกรีตเปลือยลายไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไปในแถบแสกนดิเนเวียน ซึ่งแฝงกลิ่นอายที่ช่วยให้ทางเจ้าของได้ระลึกถึงชีวิตแบบเดิมๆ ในถิ่นบ้านเกิด ทางเจ้าของและทีมสถาปนิกจึงตกลงหยิบยกคอนกรีตเปลือยลายไม้มาเป็นโจทย์หลักในการออกแบบบ้านหลังนี้
“เราอยากจะเอาคอนกรีตเปลือยลายไม้ชูขึ้นมาเป็นแนวคิดหลัก แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้อยากให้มันเป็นเพียงงานตกแต่งพื้นผิว แต่อยากให้มันเป็นงานโครงสร้างของบ้านเลย ซึ่งพอเสนอไปทางเจ้าของเขาก็ชอบมาก เราก็เลยเอาโจทย์ตรงนี้มาตีความต่อ โดยเราอยากให้บ้านหลังนี้มันออกมาบริสุทธิ์ ผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด”
จากโจทย์ข้างต้น สถาปนิกจึงออกแบบบ้านให้เป็นลักษณะ ‘Barring Wall’ ทั้งหมด หรือถ้าพูดง่ายๆ บ้านหลังนี้จะไม่มีโครงสร้างที่เป็นเสา แต่โครงสร้างหลักทั้งหมดจะเกิดจากผนังคอนกรีตที่มาวางพาดกัน และใช้ไม้สน นำทำเป็นไม้แบบ เพื่อสร้างลวดลายให้กับระนาบคอนกรีตเปลือย เป็นการเผยพื้นผิวที่แท้จริงของโครงสร้าง รวมถึงทิ้งเสน่ห์ของงานก่อสร้างเอาไว้บนพื้นผิวอาคารได้อย่างถาวร
โครงสร้างที่ช่วยกรอบมุมมองให้กับผู้อยู่อาศัย
เนื่องจากทางเจ้าของต้องการให้บริเวณชั้นหนึ่งเปิดโล่งมากที่สุด ทีมสถาปนิกจึงสร้างแกนผนังที่พุ่งเข้าหาตัวบ้าน ซึ่งช่วยสร้างกรอบมุมมองพื้นที่ห้องนั่งเล่น ให้มองออกไปเห็นสระว่ายน้ำ พื้นที่สีเขียว ต่อเนื่องกันจนไปถึงบริเวณหน้าบ้าน ซึ่งในขณะเดียวกัน บริเวณชั้นสอง เจ้าของเองต้องการมุมมองที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัว โดยมองไม่เห็นบ้านหลังอื่นๆ ที่อยู่รายล้อม และไม่ต้องการปิดม่านตลอดเวลา
ผนังคอนกรีตเหล่านี้จึงทำหน้าที่เป็นตัวกำหนดมุมมอง เมื่อเรามองจากชั้นสอง แทนที่จะเห็นบ้านหลังอื่นๆ เรากลับเห็นเฉพาะสระว่ายน้ำที่อยู่ด้านล่าง เส้นท้องฟ้าด้านบน พร้อมด้วยผนังคอนกรีตเป็น Background
ในขณะเดียวกัน ผนังแนวนอนชั้นสองที่อยู่ด้านหลัง จะถูกออกแบบเป็นผนังทึบทั้งหมด เนื่องจากด้านหลังบ้านติดกับถนนใหญ่ ผนังคอนกรีตจึงช่วยกันเสียงรบกวนจากรถไม่ให้เข้ามาในบ้าน สร้างความเป็นส่วนในการอยู่อาศัยให้ได้มากที่สุด
ลม แสงและเงาธรรมชาติที่เกิดขึ้นภายในบ้าน
ด้วยความที่ผนังคอนกรีตเปลือยแฝงลวดลายไม้สน จะยิ่งสวยงามเมื่อมีแสงแดดลงมาส่องกระทบ ประกอบกับแนวคิดพื้นฐานของ Stu/D/O ที่ใส่ใจในเรื่องของ Cross Ventilation (การระบายอากาศ) เป็นพิเศษ การออกแบบผนังแต่ละจุด จึงมีการเว้นช่องระยะห่างเพื่อสร้างคอร์ดเล็กๆ ที่เกิดเป็นช่องที่แสงแดดและลมสามารถเข้ามาภายใน อย่างเช่น บริเวณห้อง Family Room ชั้นสอง ที่ผนังด้านหลังจะถูกเว้นระยะห่างตลอดแนว เพื่อให้แสงจากธรรมชาติสามารถส่องเข้ามาภายในห้องที่เกิดการใช้งานได้บ้าง
นอกจากแสงธรรมชาติแล้ว ในการออกแบบบ้านหลังนี้ยังเล่นกับ Lighting Design ซึ่งเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมโครงสร้างผนังคอนกรีตบริเวณสระว่ายน้ำ ที่ดูผิวเผินจะเหมือนว่าผนังชิ้นนี้ลอยอยู่กลางอากาศ เมื่อมีการออกแบบไฟใต้ผนังด้านล่างเสริมเข้าไป ตัวผนังที่ทำหน้าที่รองรับโครงสร้างจึงดูเหมือนกับว่าหายไป ทำให้ในเวลากลางคืนเรารู้สึกได้ว่าผนังบริเวณหน้าสุดนั้นลอยอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง
ถึงแม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกของบ้านอาจจะดูแข็งและตรงไปตรงมา แต่ในอีกมุมหนึ่ง บ้านหลังนี้กลับดูเรียบง่าย และแฝงไปด้วยแนวคิดมากมายที่ตอบโจทย์ต่อเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้เจ้าของได้ระลึกถึงสถาปัตยกรรมที่คุ้นเคยจากถิ่นบ้านเกิด ช่วยสร้างคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนให้กับบ้าน สร้างกรอบมุมมองที่ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับการอยู่อาศัย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนผสมของความพอดีที่ลงตัวภายในบ้าน Casa De Alisa หลังนี้
“ถ้าไม่ได้พูดถึงรูปลักษณ์ที่ตรงไปตรงมาของสถาปัตยกรรม จริงๆแล้วผมชอบสเปซของบ้านหลังนี้มาก โดยเฉพาะส่วนที่เป็นพื้นที่ระเบียงสระว่ายน้ำ ซึ่งมันจะเปิดโล่งเห็นท้องฟ้า แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีตัวผนังคอนกรีตที่ลอยอยู่ สร้างความรู้สึกว่าเราอยู่เอาท์ดอร์แต่ก็ยังรู้สึกว่าเรายังอยู่ภายในขอบเขตของบ้าน เป็นบ้านหลังที่พอสร้างเสร็จแล้วรู้สึกดีมาก เรารู้สึกว่าทำหลังนี้แล้ว อยากจะสร้างบ้านของตัวเองสักที”