OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

‘บ้านป้อมเพชร’ ร้านกุ้งเผาในเกาะกรุงเก่าที่ตีความบริบทแบบไทยสู่สถาปัตยกรรมยุคใหม่สุดกลมกล่อม

Location: อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
Owner: สราลี และอำนาจ รัตนภุชพงศ์
Designer: อริศรา จักรธรานนท์ และศิริยศ ชัยอำนวยจาก Onion
และรองศาสตราจารย์ ดร.ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์

Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

ท่ามกลางสเน่ห์ของโบราณสถานและเมืองเก่าที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับจังหวัดอยุธยา สิ่งที่เราพบนอกเหนือจากนั้นคือเหล่าโรงแรมและรวงร้านอาหารริมน้ำที่ยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศในแบบชุมชนสมัยเก่า สิ่งเหล่านี้ล้วนรวมตัวประกอบร่างให้จังหวัดอยุธยากลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายสโลว์ไลฟ์ที่ได้รับความสนใจไม่น้อยจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ

หนึ่งในสถานที่ที่เรากล่าวถึงข้างต้น คือ ‘บ้านป้อมเพชร’ ร้านอาหารกุ้งเผาและที่พักในย่านเกาะกรุงเก่า ผลงานล่าสุดจาก Onion ที่ตั้งใจรังสรรค์ให้สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ เหมาะสมกับพื้นที่ดินซึ่งได้เปรียบในเรื่องของมุมมองและบรรยากาศ รวมถึงบริบทความเป็นเมืองเก่า เพื่อมอบประสบการณ์การพักผ่อนที่ผสมผสาน ‘ความเก่าและความใหม่’ ของสถาปัตยกรรมเอาไว้อย่างลงตัว

ตั้งต้นจากสถานที่ตั้งสู่การออกแบบ ‘บ้านป้อมเพชร’

สิ่งที่น่าสนใจอันดับแรกของ ‘บ้านป้อมเพชร’ คือ สถานที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความเย็นสบายจากลมที่พัดผ่านไซต์เกือบจะตลอดเวลา ความร่มรื่นจากต้นโพธิ์เก่าแก่ขนาดใหญ่ที่มีในพื้นที่ดิน รวมถึงบรรยากาศสบายๆ ริมแม่น้ำ ที่เราสามารถทอดสายตามองเรือท่องเที่ยว หรือเรือขนส่งที่แล่นผ่านไปมาเป็นประจำ
ในการวางเลย์เอาท์แปลนของบ้านป้อมเพชร สถาปนิกจึงตั้งใจออกแบบเพื่อส่งเสริมบรรยากาศเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด รวมถึงส่งเสริมฟังก์ชันที่ทางเจ้าของตั้งใจให้มีทั้งร้านอาหารและที่พัก โดยแบ่งพื้นที่คร่าวๆ ออกเป็น 2 ส่วน ครึ่งหนึ่งเป็น public space ของร้านอาหารที่เชื่อมต่อไปยังแม่น้ำ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นที่พัก โดยใช้แกนของทางสัญจร (Circulation) เป็นตัวแบ่งสเปซเพื่อสร้างมุมมองและทำให้เกิดลมไหลเวียนในพื้นที่ได้มากที่สุด

Baanpomphet 1st Floor plan (Photo credit : Onion)
Baanpomphet 2nd Floor Plan (Photo credit : Onion)
Baanpomphet Rooftop plan  (Photo credit : Onion)

ด้วยขนาดของพื้นที่ที่ไม่ได้ใหญ่มากนักบวกกับฟังก์ชันซึ่งทางเจ้าของเน้นโซนร้านอาหารมากกว่า สถาปนิกเลือกออกแบบภาพรวมให้ดูมีความโลคอลในแบบพื้นบ้านนิดๆ เพื่อให้บรรยากาศของร้านดูบ้านๆ น่ารักและอบอุ่น เข้าถึงได้ง่ายเหมาะกับการมารับประทานอาหารในวันพักผ่อนสบายๆ

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในพื้นที่จำกัด

จุดเด่นของสถาปัตยกรรมที่ Onion ออกแบบ แน่นอนว่าต้องมีเรื่องของประสบการณ์และความรู้สึกของผู้ใช้งานเข้ามาเกี่ยวข้อง ทันทีที่เดินเข้ามาในตัวร้าน กลิ่นหอมของกุ้งเผาที่โชยจากเรือนย่างกุ้ง ก็ทำหน้าที่ออกมาต้อนรับลูกค้าตั้งแต่บริเวณถนน และสร้างบรรยากาศให้แขกที่มาเยือนรู้สึกถึงความน่ารับประทานของอาหาร ซึ่งเป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบที่ต้องการให้พื้นที่ส่วนนี้อยู่บริเวณด้านหน้าสุดถัดจากที่จอดรถ เพื่อแสดงออกถึงเอกลักษณ์และจุดขายของบ้านป้อมเพชรผ่านสัมผัสของรูป และกลิ่น
สถาปนิกเลือกทำผนังบริเวณทางเข้าผืนใหญ่ที่ค่อนข้างทึบเพื่อสร้างแบคกราวน์ให้เรือนย่างกุ้งดูโดดเด่น ซึ่งอีกฝั่งหนึ่งของพื้นที่ จะถูกเว้นไว้สำหรับทางเดินเข้าที่สามารถมองเห็นวิวแม่น้ำ สเปซภายใน และกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้บ้าง เพื่อทำให้แขกที่กำลังจะเข้ามารู้สึกสบายๆ เป็นกันเอง แต่ในทางกลับกัน สเปซภายในโครงการที่ถูกออกแบบเล่นระดับจะสร้างความเป็นส่วนตัว แบ่งโซน และทำให้คนที่อยู่ภายนอกไม่สามารถมองเห็นได้ทั้งหมด
ถึงแม้จะมีวิวทิวทัศน์อันสวยงาม แต่โจทย์หนึ่งที่กลายเป็นข้อจำกัดของบ้านป้อมเพชร คือขนาดของพื้นที่ซึ่งมีอยู่จำกัด ฟังก์ชันทุกอย่างที่ทางเจ้าของต้องการจึงถูกวางลงในไซต์แบบประหยัดพื้นที่มากที่สุด ฝั่งที่พักถูกจำกัดพื้นที่ด้วยการแบ่งเป็นห้องพักทั้งหมด 8 ห้อง ชั้นล่าง 4 ห้องและชั้นบนอีก 4 ห้อง โดยใช้แกนของทางสัญจรบริเวณกลางพื้นที่เป็นตัวแบ่งฟังก์ชันระหว่างร้านอาหารและที่พักออกจากกันอย่างชัดเจน
จากแกนทางสัญจรตรงกลางพาให้เรามาเจอกับห้อง Reception เล็กๆ สำหรับแขกที่ต้องการติดต่อฝั่งที่พัก ถัดจากนั้นจะเป็นทางเดินเชื่อมไปยังส่วน Rooftop Bar โดยจะมีบันไดทางเดินแคบๆ ที่บีบให้เราเจอกับสเปซ Rooftop เอาท์ดอร์ขนาดใหญ่ด้านบนที่สามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ได้รอบโครงการ ทั้งต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ กิจกรรมด้านล่างที่เกิดขึ้นภายในร้านอาหาร รวมถึงป้อมเพชรและจุดบรรจบของแม่น้ำทั้ง 2 สาย
บริเวณด้านล่างของ Rooftop Bar เป็นฟังก์ชันห้องน้ำที่เชื่อมเข้ากับพื้นที่ร้านอาหาร Indoor และ Outdoor ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะสามารถดื่มด่ำกับวิวของแม่น้ำได้เช่นเดียวกัน เพื่อให้บรรยากาศและมุมมองในการรับประทานอาหารแตกต่างกันออกไปในแต่ละโซนพื้นที่
ส่วนพื้นที่ระหว่างโรงแรมและร้านอาหาร เราออกแบบให้เป็นประตูไม้เชื่อมออกไป เพื่อให้ฝั่งของร้านอาหารสามารถมองเห็นต้นโพธิ์ได้บ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เห็นสระว่ายน้ำของฝั่งที่พัก เพื่อสร้างความรู้สึกว่ามันทั้งปิดกั้นและทั้งเปิดไปพร้อมๆกัน ซึ่งแขกที่พักในห้องพักส่วนตัวก็สามารถมองออกไปเห็นบรรยากาศของเรือที่แล่นผ่าน เห็นสระว่ายน้ำ แล้วก็ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ได้” สถาปนิกอธิบาย
อีกฝั่งหนึ่งของแกนทางสัญจรซึ่งแยกไปยังส่วนของห้องพักบริเวณชั้นบน สถาปนิกออกแบบเป็นโครงบันไดซึ่งมีบานประตูปิด เพื่อกั้นพื้นที่ แยกทางเดินของห้องพักให้มีความเป็นส่วนตัว ซึ่งแขกที่มาใช้บริการในส่วนของร้านอาหารจะไม่สามารถเดินผ่านเข้าไปได้ แต่ด้วยความที่พื้นที่มีจำกัดสถาปนิกจึงออกแบบให้เส้นทางของห้องพักชั้นสองและส่วนของ Rooftop Bar ฝั่งร้านอาหารเป็นโครงที่มาบรรจบกัน เพื่อสร้างความรู้สึกให้เหมือนกับว่าเส้นทางทั้งหมดในพื้นที่เชื่อมโยงถึงกัน
ถัดจากโซนรับประทานอาหารเอาท์ดอร์ พื้นที่ถูกออกแบบให้ลดหลั่นเป็นระดับชั้นที่แตกต่าง บริเวณชั้นล่างจึงเป็นโซนที่ถูกจัดไว้สำหรับนั่งรับประทานอาหารแบบเอาท์ดอร์ทั้งหมด โดยสามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศริมน้ำได้อย่างใกล้ชิดและเต็มที่มากที่สุด

‘อิฐและไม้’ กับบริบทของความเป็นอยุธยา

อีกเรื่องเบื้องหลังความละเมียดละไมในการออกแบบของ Onion คือการเลือกใช้วัสดุอย่างอิฐ บปก. ที่ผ่านกรรมวิธีการเผาแบบโบราณโดยการใช้ฟืนแต่ไม่ใช้แก๊ส และนำดินจากจังหวัดอ่างทอง ซึ่งมีสีที่พิเศษมาใช้ในกระบวนการเผา ทำให้อิฐที่ออกมามีสีส้มที่ค่อนข้างสดใส ออกเป็นโทนสว่างกว่าอิฐปกติที่เราเคยเห็น ตรงกับมู้ดโทนที่สถาปนิกวางไว้ให้บรรยากาศภาพรวมของร้านดูน่ารัก อบอุ่นและเข้าถึงได้ง่าย
เพื่อให้ผลงานสถาปัตยกรรมที่ออกมา สะท้อนถึงงานของชาวบ้านในแบบท้องถิ่น ประกอบกับขนาดพื้นที่ที่มีจำกัด สถาปนิกจึงเลือกใช้อิฐที่มีสเกลเล็กกว่าปกติมาจัดแพทเทิร์นที่ไม่เท่ากันในลักษณะ Relief  หรือเรียงแบบนูน ต่ำสลับกันไป เพื่อเน้นให้ผลงานไม่ออกมาดูเนี้ยบมากจนเกินไป เกิดพื้นผิวที่แตกต่างกันบ้าง หรือขนาดของอิฐที่ไม่เท่ากันบ้าง ช่วยสร้างมิติและเพิ่มเสน่ห์ให้กับพื้นที่ได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง
ลวดลายซิกแซกคล้ายฟันปลาบนพื้น เกิดจากการนำอิฐธรรมดามาเรียงกัน ซึ่งบริเวณขอบตัวจบของพื้นที่ต่อขึ้นมายังผนัง เป็นการเรียงอิฐสลับกันไปมาในทางตั้ง จึงคล้ายกับว่าอิฐฟันปลาบริเวณพื้นถูกยืดต่อกันกับส่วนผนังได้อย่างกลมกลืน
หากลองสังเกต เราจะเห็นสัดส่วนของงานไม้ ซึ่งถือเป็นวัสดุหลักอีกหนึ่งชนิด ที่สะท้อนให้บ้านป้อมเพชรมีกลิ่นอายของกรุงเก่าในแบบฉบับอยุธยาได้เป็นอย่างดี โดยไม้ที่นำมาใช้ภายในโครงการจะเป็นไม้เก่าจากบ้านหลังเดิมที่ถูกรื้อออกไปจากพื้นที่

บริบทของความเป็นไทยภายใน ‘บ้านป้อมเพชร’

นอกจากสเปซและวัสดุแล้ว องค์ประกอบต่างๆ ที่ใช้ประดับตกแต่ง สถาปนิกยังเลือกใช้ของไทยท้องถิ่น โดยเป็นการรวบรวมงานคราฟท์ที่ทำร่วมกับช่างฝีมือหลากหลายแขนง อย่างเช่น มือจับประตูหนุมานเป่าลม ที่เขียนแบบโดยนิสิตสาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้หนุมานซึ่งเป็นลูกพระพาย เป็นตัวแทนของพื้นที่ที่มีลมพัดผ่านตลอดเวลา และสร้างบรรยากาศความเป็นไทยไปพร้อมๆ กัน
โคมไฟในส่วนต่างๆ ยังสะท้อนบรรยากาศแบบไทย ภายในห้องอาหารเลือกใช้โคมไฟที่ทำจากชนาง ซึ่งเป็นอุปกรณ์จับกุ้งหรือสัตว์น้ำขนาดเล็ก ส่วนบริเวณโครงบันไดฝั่งห้องพักจะตกแต่งด้วยโคมไฟที่ถอดรูปทรงมาจากโคมแก้วของจังหวัดเชียงใหม่ และให้ช่างฝีมือทำขึ้นโดยเพิ่มเท็กเจอร์ให้ตัวโคมดูมีความน่าสนใจมากขึ้น
บริเวณห้องน้ำจะมีสีสันที่แตกต่างด้วยการใช้กระเบื้องดินเผาสีเขียว ส่วนบริเวณห้องพักภายในออกแบบให้มีสีสัน แต่คงไว้ซึ่งรายละเอียดเล็กน้อย เน้นความเป็นโมเดิร์นแบบคลีนๆ เพื่อตัดกับบรรยากาศภายนอกซึ่งมีรายละเอียดของงานออกแบบค่อนข้างเยอะกว่า การเลือกใช้สีสันในแต่ละส่วนพื้นที่จะมีกิมมิคโดยใส่ความเป็นไทยลงไป อย่างห้องพักสีเหลืองขนุน สีเขียวใบชะพลู หรือห้องอาหารสีส้มมันกุ้ง
โครงทางสัญจรบันไดทั้งหมดที่เราเห็น สถาปนิกออกแบบโดยนำลักษณะของบันไดแบบไทยซึ่งไม่มีลูกตั้งมาใช้ ทำให้ลมสามารถไหลเวียนภายในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึงมากกว่า แต่ถึงแม้จะนำบันไดแบบไทยๆ มาใช้ สถาปนิกดัดแปลงโดยออกแบบโครงสร้างเหล็กรวมถึงข้อต่อเสริมเข้าไปเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้โครงสร้างมากขึ้น ส่วนบริเวณชานพักบันไดจะมีการแทรกที่นั่งลงไปบ้าง คล้ายคลึงกับ Transition Space ที่เรามักเห็นในเรือนไทยโบราณ

ลิ้มรสชาติอาหารไทยภายในสเปซแบบไทยๆ

ไม่เพียงแต่สเปซที่น่าสนใจเท่านั้น อาหารของบ้านป้อมเพชรนั้นยังน่ารับประทานไม่แพ้กัน โดยมีทั้งส่วนของอาหารและเครื่องดื่มบริการในหลากหลายเมนูรอให้ลูกค้าเข้ามาลิ้มลอง
กุ้งแม่น้ำย่างถ่าน เมนูแนะนำจากทางร้าน ราคา  4 ตัว กิโล 1,800 บาท แยกตัวละ 470 บาท และ 3 ตัว กิโล 2,100 บาท แยกตัวละ 750 บาท
แกงคั่วเนื้อปู ราคา 480 บาท
Baanpomphet Blossom ราคา 180 บาท
Matoom shakerato ราคา 220 บาท
ท่ามกลางสเปซที่ดูโมเดิร์นสมัยใหม่ภายในบ้านป้อมเพชร เรายังคงรู้สึกถึงบรรยากาศหรือโครงสร้างบางอย่างที่สะท้อนความเป็นพื้นถิ่นแบบไทยโบราณ ซึ่งลงตัวไปกับวิวทิวทัศน์รอบด้านที่มองเห็น ไม่ว่าจะเป็นป้อมเพชร วัดหรือโบราณสถานต่างๆ รวมถึงการเสพย์บรรยากาศของการพักผ่อนแบบสโลว์ไลฟ์ริมแม่น้ำ ยิ่งเราได้มีโอกาสเข้ามานั่งรับประทานอาหารภายในบ้านป้อมเพชรแห่งนี้ เรายิ่งรู้สึกได้ว่า ผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ช่างเหมาะสมกับบริบทโดยรอบเหลือเกิน

แผนที่ร้าน บ้านป้อมเพชร  :