OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ต้น-บดินทร์ พลางกูร สถาปนิกที่กลั่นกรองบริบทอย่างประณีต เพื่องานออกแบบแห่งตัวตนที่เต็มไปด้วยคุณค่า

โดดเด่นแต่ทว่าถ่อมตนอยู่ในทีกับตู้คอนเทนเนอร์สีขาวสะดุดตาใจกลางเมืองซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทออกแบบอย่าง CONTEXT STUDIO ที่มีผลงานออกมาให้เราได้ประทับใจอย่างต่อเนื่องกับงานอาคารประเภท commercial ทั้งคาเฟ่ ร้านอาหารและ retail shop ที่ล้วนแต่ถูกกลั่นกรอง identity ของแบรนด์ผ่านงานดีไซน์อย่างเข้มข้น โดยมี คุณต้น – บดินทร์ พลางกูร – Founder of Context studio รับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ในการออกแบบไปพร้อมกับการให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และงานออกแบบของตนเองอยู่เสมอ

เส้นทางของวิชาชีพอินทีเรียร์

“จริงๆ แล้วเป็นคนชอบวาดรูปและงานศิลปะตั้งแต่เด็กอยู่แล้วครับ แต่ถ้าหากให้มองในมุมของเรื่องวิชาชีพแล้วศิลปะอย่างเดียวอาจจะไม่ค่อยมั่นคง เราเลยเลือกไปทางสถาปัตย์ครับ และพอได้สัมผัสกับการทำงานสถาปัตย์ก็รู้สึกว่าเป็นวิชาชีพที่เราสามารถรวมจินตนาการของเราและสร้างมันขึ้นมาเป็นสถานที่ที่เราสัมผัสและรู้สึกได้จริงๆ ก็เป็นอะไรที่เรายิ่งรู้สึกสนใจมากขึ้นครับ”

เมื่อตัดสินใจไปเรียนคณะสถาปัตยกรรมแล้วเป็นเหมือนอย่างที่จินตนาการไว้หรือไม่

“หลังจากที่ได้เริ่มเรียน ได้ทำงานจริง ได้สร้างผลงานขึ้นมา ตอนนั้นถึงจะมารู้ตัวว่าเรารักงานนี้ เราสามารถทำงานนี้ไปตลอดชีวิตได้ เพราะเรามีความสุขกับการที่เราเห็นสิ่งที่เราวาดที่เราจินตนาการแล้วสามารถก่อเกิดขึ้นมาเป็นสถานที่จริงที่เราสามารถเข้าไปอยู่ได้”

ตอนแรกคุณต้นเรียนสถาปัตย์แต่ต่อมาเปลี่ยนไปยังอินทีเรียร์

“คงเป็นเพราะตอนนั้นเป็นวัยรุ่นใจร้อนรู้สึกว่าเส้นทางการเป็นสถาปนิกมีขั้นตอนค่อนข้างเยอะ ต้องขอ certificate ต่างๆ รวมแล้วประมาณ 9 ปี ก็เลยคิดว่างานอินทีเรียร์เป็นงานที่ทำให้เรามีโอกาสโตและมีผลงานตัวเองเร็วกว่าครับ”

เมื่อเปลี่ยนมาเรียนอินทีเรียร์แล้ว
การเรียนอินทีเรียร์มีผลต่อวิธีการคิดในเรื่องอื่นๆ ในชีวิตยังไงบ้าง

“อย่างแรกเลยคือ ทำให้เรามองโลกในแง่บวก เพราะตั้งแต่รับงาน เราก็ต้องเริ่มหาข้อดีของบริบทงานที่เรารับมา รวมถึงไซต์งานที่เมื่อเราเข้าไปสำรวจเราต้องหาคาแรคเตอร์ ส่วนดีและศักยภาพของไซต์นั้น มันก็เลยสอนให้เรามองสิ่งต่างๆ ในแง่ดีด้วย อีกอย่างคือ เรื่องของ navigation skill และ mapping skill ในการเดินทาง ทำให้เรามองทุกอย่างเป็น plan view นอกจากนั้นยังทำให้ช่างสังเกตเพื่อที่เราจะได้ดึงบริบทต่างๆ เข้ามาในงานออกแบบได้ครับ”

การเรียนการสอนอินทีเรียร์ระหว่างที่อังกฤษกับไทยเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

“ที่นู่นจะสอนโดยไม่ตีกรอบความคิดของเรา จะสอนให้เราคิดนอกกรอบแต่ไม่ว่าเราจะคิดนอกกรอบขนาดไหนเราต้องหาเหตุผลมาสนับสนุนความคิดนั้นของเราให้ได้ เราต้องรับผิดชอบความคิดของเรา อีกประเด็นหนึ่งคือจะเน้น workshop ของมหา’ลัยเยอะมาก พอเรากลับมาเมืองไทย เราเหมือนได้ถูกปลูกฝังให้ไม่กลัวที่จะลองทำดีเทลต่างๆ ในงานออกแบบ ไม่ว่าจะปูน ไม้หรือเหล็ก”

หลังจากเรียนจบแล้ว การทำงานอินทีเรียร์เป็นเหมือนที่คิดไว้หรือไม่

“หลังจากเรียนจบแล้ว ตอนแรกเริ่มจากทำงานเป็นอินทีเรียร์ประจำให้เฟอร์นิเจอร์ไฮเอ็นแบรนด์หนึ่ง ยังไม่ได้เริ่มทำงานอินทีเรียร์เต็มตัว รู้สึกเหมือนยังไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองได้เต็มที่ จึงตัดสินใจออกมาเพื่อเริ่มที่จะทำ portfolio ของตัวเอง เพื่อนำไปสมัครบริษัทอินทีเรียร์ ระหว่างนั้นเก็บประสบการณ์ไปเรื่อยๆ และสุดท้ายเราเอ็นจอยกับจุดนี้กับงานที่เราทำทุกอย่างด้วยตัวเองก็กลายเป็นว่าเราไม่ได้ไปสมัครงานของบริษัทอื่น แล้วเราก็ต่อยอดบริษัทของเราจนถึงวันนี้ครับ จนมาเป็น CONTEXT STUDIO”

นิยามของ CONTEXT STUDIO

“context แปลว่า บริบท ทุกงานที่เราออกแบบเราจะใช้บริบทมาเป็นตัวนำในการออกแบบคอนเซ็ปต์ ไม่ว่างานเล็กหรืองานใหญ่ ด้วยงานที่เราออกแบบจะเป็นร้านค้าเยอะ บริบทส่วนมากจะเป็น brand identity ของลูกค้า โปรดักส์ของลูกค้า เราจะเข้าไปเก็บภาพตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตเพื่อที่จะสามารถนำมาเป็นรายละเอียดงานออกแบบของลูกค้า ทำให้ brand identity ของลูกค้าก็จะชัดเจนขึ้นด้วย นอกจากนั้นบริบทของเรายังหมายถึงไซต์งานด้วย เราจะดูศักยภาพของไซต์ เราจะตีโจทย์จากแบรนด์ของลูกค้าหรือถ้าเป็นงานออกแบบบ้านเราจะดูประวัติความเป็นมาและความน่าสนใจของไซต์ครับ”

ทุกครั้งก่อนจะเริ่มออกแบบโครงการต่างๆ คุณต้นมีกระบวนการคิดอย่างไร

“อย่างแรกคือเราจะค้นหาตัวตนของบริบทรวมถึงตัวตนของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ขั้นต่อไปคือหาเสน่ห์และข้อดีเพื่อหาจุดที่เราสามารถนำไปประยุกต์หรือต่อยอดได้ ต่อจากนั้นเราจะวางเรื่อง layout ของฟังก์ชันเพราะไม่ว่างานจะคอนเซ็ปต์ขนาดไหนร้านทุกร้านก็ต้องฟังก์ชันได้เต็มที่ ร้านอาหารก็ต้องมีความต่อเนื่องของการใช้ฟังก์ชันแต่ส่วน ขั้นตอนหลังจากนั้นเราก็จะเริ่มลงรายละเอียดเรื่องของในเฟอร์นิเจอร์และงานบิลด์อินต่างๆ ครับ”

 

เล่าถึงงานออกแบบล่าสุด

“’งานออกแบบล่าสุดเป็นร้านอาหารอีสานชื่อ ‘ตำทองหล่อ’ โดยส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบเรื่องของวัฒนธรรมหรืองานหัตถกรรมของไทย พอเรามีโอกาสได้ทำร้านอาหารอีสาน เราเลยอยากดึงงานหัตถกรรมของไทยมาผสมผสานงานดีไซน์โมเดิร์นให้ได้ เพราะว่ายังไม่เห็นงานในลักษณะนี้ที่ออกมาแล้วดูอินเตอร์ ตัวโครงการนี้เราได้นำงานสานหวายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานสานกระติ๊บกับซึ้งนึ่งข้าวเหนียว โดยงานนี้ได้นำงานภูมิปัญญาแบบไทยมารวมกับงานออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งจุดนี้เองก็ค่อนยากเหมือนกัน แต่งานออกมาก็ค่อนข้างพอใจนะครับ”

หลายงานที่คุณต้นลงไปคลุกคลีกระบวนการผลิตด้วยตัวเอง
อะไรคือแรงผลักดันในการทำงานทั้งที่รู้ว่าไม่ได้ง่ายแน่ๆ

“จุดที่เราอยากทำเองน่าจะมาจากตั้งแต่เด็กๆ ที่เราชอบวาดรูป ชอบประดิษฐ์อะไรด้วยตัวเองอยู่แล้ว พอได้ทำงานอินทีเรียร์เราก็อยากจะมีส่วนร่วมในงาน เรารู้สึกเหมือนกำลังทำงานศิลปะอยู่ ส่วนหนึ่งก็มาจากสมัยเรียนที่เราทำ workshop ด้วย ทำให้ลงรายละเอียดในงานออกแบบด้วยตัวเอง พอเรียนจบกลับมาทำให้เราเป็นคนกล้าทดลองอะไรใหม่ๆ เพราะเราเชื่อว่าความสำเร็จเกิดจากการทดลองที่อาจล้มเหลวมาก่อน เราไม่มองว่าปัญหาเป็นปัญหา แต่ปัญหาคือโจทย์ แล้วเมื่อเราเจอทางออก สิ่งที่เราเจอก็อาจเป็นดีเทลที่สำคัญในการออกแบบด้วยก็ได้”

ทัศนคติการแก้ปัญหาในแบบคุณต้น

“หากมีปัญหาหลังจากการออกแบบเสร็จแล้ว อย่างแรกเลยคือเราอย่าโทษคนอื่นนะครับเราต้องโทษตัวเองก่อน ครั้งหน้าเราต้อง พยายาม improve ไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นเหมือนคราวนี้อีก ซึ่งเราคิดว่าวิธีนี้ก็เป็นการพัฒนาตนเองได้เร็วที่สุดคือการไม่โทษคนอื่น”

ขอ 3 คำสำหรับแนวทางการออกแบบของ CONTEXT STUDIO

“Honest Contextual และ Boundless

Honest คือ เราไม่เติมแต่งเรื่องราว เพราะทุกอย่างมาจากเรื่องจริงที่เราไปสัมภาษณ์ลูกค้า เราตีโจทย์จากตัวตนของลูกค้าจริงๆ

Contextual คือ การนำบริบทมาใช้ในการออกแบบ และ Boundless หมายถึงการออกแบบที่ไร้ขีดจำกัด เราไม่เคยตีกรอบอะไรเลย เพราะเชื่อว่าทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ เหมือนที่คุณครูสอนสมัยเรียนว่าคิดอย่างไรก็ได้แต่ต้องรับผิดชอบความคิดตัวเองและทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้”

ถนัดออกแบบอาคารประเภทอะไร

“ที่ถนัดเลยจะเป็นร้านค้าครับ ยิ่งแปลกใหม่ยิ่งชอบ และคิดว่าทุกงานก็คือความท้าทายแบบใหม่เสมอ ถึงแม้ว่างานออกแบบจะเป็นประเภทเดิม แต่เมื่อลูกค้าเปลี่ยนหรือโปรดักส์เปลี่ยนก็เป็นความท้าทายใหม่ ส่วนนี้ทำให้เราไม่เคยเบื่องานของเรา เพราะได้เจอลูกค้าที่หลากหลายไปพร้อมกับการได้เรียนรู้ ซึ่งส่วนตัวเราไม่เลือกรับงาน แต่ขอให้ลูกค้าให้ความสำคัญกับงานดีไซน์ก็พอ อีกมุมของการไม่เลือกรับงานก็เหมือนกับเราให้โอกาสตัวเองได้เจอสิ่งใหม่ๆ ครับ”

โครงการไหนที่ออกแบบแล้วรู้สึกท้าทายที่สุด

“ทุกๆ โครงการมีความท้าทายที่แตกต่างกันครับ เพราะมันมีหลายปัจจัยที่เราต้องควบคุม ทั้งเรื่องของลูกค้า ระยะเวลา งบประมาณหรือผู้รับเหมาก็ด้วยครับ เราต้องบริหารทุกอย่างให้ไปด้วยกันกับงานออกแบบให้ได้”

ในเมื่อทุกโครงการมีความท้าทายที่ต่างกันแสดงว่าไม่เคยหมด Passion ในการทำงาน

“ไม่เคยหมด passion ในการทำงานเลยนะครับ แต่เรื่องเหนื่อยกายนี่มีบ้างเป็นเรื่องปกติ หรือบางทีที่คิดงานไม่ออกก็มี ก็แก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนที่ทำงาน พาตัวเองออกจากมุมเดิมๆ ความคิดเราก็จะเปิดกว้าง หรือไม่พาตัวเองไปอยู่กับธรรมชาติ มีเดินป่าบ้าง ไม่ก็ไปทะเลครับ “

หากย้อนกลับไปได้ยังเลือกเรียนออกแบบหรือไม่

“เรียนครับ ขอเล่าย้อนนิดหนึ่ง คือ เมื่อก่อนเป็นเด็กเกเรไม่ค่อยตั้งใจเรียนครับ จนเมื่อผลงานการออกแบบของเราได้สร้างเสร็จ และเราได้ไปเดินอยู่ในพื้นที่นั้น ได้รู้สึก ได้สัมผัสตอนนั้นทำให้เรารู้สึกความสุขกับงานกับอาชีพนี้มาก เราอยากทำงานนี้ไปตลอดชีวิต”

ทุกวันนี้มีมุมมองต่อวิชาชีพนี้อย่างไรและคิดว่าตัวเองถึงเส้นชัยในอาชีพนี้หรือยัง

“ถ้าเรามองข้ามเรื่องเงินไปได้ อาชีพนี้เป็นอาชีพที่เราทำให้ธุรกิจต่างๆ สวยงามขึ้น อีกทั้งเรายังมองว่าอาชีพนี้สามารถ give back to the world ได้ด้วยครับ ส่วนสำหรับเรื่องเส้นชัย ส่วนตัวคิดว่าเส้นชัยจะขยับไปเรื่อยๆ ครับ ยิ่งเราโตขึ้นเส้นชัยยิ่งขยับออกไป สำหรับอาชีพนี้คือการพัฒนาไม่มีวันสิ้นสุดครับ ทุกวันนี้ยังคิดเสมอว่ายังต้องขยันทำงานและค้นหาตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวันนี้ก็ยังคงค้นหาอยู่ครับ”

ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่กำลังเรียนหรือที่เพิ่งเริ่มเดินทางบนวิชาชีพนี้

“รีบค้นหาตัวเองในงานสถาปัตยกรรม เพราะงานสถาปัตย์ก็มีหลายแขนง สิ่งสำคัญคือเราต้องค้นหาสิ่งที่เราชอบก่อนแล้วลุยไปกับมัน และสำหรับน้องๆ ที่เริ่มทำงานก็อยากให้ตั้งใจทำงาน แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่อยากให้ลืม portfolio อยากให้พัฒนางานออกแบบของเราไปเรื่อยๆ ถ้าเราคิดว่าเราจะอยู่ในเส้นทางสายงานออกแบบแล้ว คิดว่าการพัฒนาตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดและทำไปเรื่อยๆ นั้นสำคัญมาก รวมถึงการมีผลงานออกแบบของเราที่สร้างเสร็จแล้วให้เร็วที่สุด ซึ่งงานชิ้นแรกของเรานั้นยังไม่เป็นตัวเอง 100% หรอกครับด้วยข้อจำกัดต่างๆ แต่หลังจากน้องมีผลงานชิ้นต่อไป น้องจะเริ่มมีข้อต่อรองกับข้อจำกัดในการออกแบบได้มากขึ้น สุดท้าย งานจะออกมาเป็นเรามากขึ้น เช่น เก้าอี้ตัวแรกที่เราออกแบบยังไม่ความเป็นตัวเราหรอกครับ แต่หลังจากที่ตัวที่ 11 ตัวที่ 12 เชื่อว่าเก้าอี้จะเป็นตัวเรามากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอย่าไปน้อยใจกับงานแรกๆ เพราะทุกอย่างมันมีขั้นตอนของมันจริงๆ”

แม้ว่าทุกวันนี้ CONTEXT STUDIO จะมีผลงานและเป็นที่รู้จักมากขึ้นแต่คุณต้นเองก็ยังไม่หยุดคิด ไม่หยุดทดลองและยังคงพัฒนาตัวเองและงานออกแบบอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นว่าทุกอย่างไม่มีทางลัด มีแต่ความพยายามเท่านั้นที่จะกลายเป็นบันไดสู่ความสำเร็จในวิชาชีพได้

 

คุณต้น-บดินทร์ พลางกูร
Chelsea College of Art and Design
Bachelor of Arts in Interior and Spatial Design London, United Kingdom

Architectual Association school
Architecture Foundation London, United Kingdom

Harrow school
A Levels, AS levels and GCSEs Middelsex, United Kingdom