OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ออกแบบช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน ดื่มด่ำท้องฟ้าและผืนน้ำภายในพื้นที่ส่วนตัว Sleepless Residence

Location : หมู่บ้านสัมมากร รามคำแหง กรุงเทพฯ
Area : 570 ตารางเมตร
Owner : ณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์
Architect & Interior designer : WARchitect
Landscape Design & contractor : กิ่ง ก้าน ใบ
Contractor: NCK. Builder
Photographs : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

“ผมเชื่อว่าลึกๆ ในใจ หลายคนน่าจะมีความฝันแบบเดียวกับผม ซึ่งก็คือการมีบ้านในฝัน เราอยากมีบ้านที่มันดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร แล้วก็เป็นตัวเราจริงๆ ความฝันของคนมันก็มีไม่กี่อย่างหรอก อย่างตอนเด็กๆ ผมฝันอยากเป็นนักแต่งเพลง ในชีวิตนี้ผมก็ได้เป็นแล้ว ฉะนั้นการฝันมีบ้าน ที่เป็นบ้านในฝัน มันก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่มันท้าทายตัวเรา”

การมีบ้านในฝันสักหนึ่งหลังย่อมเป็นความฝันของใครหลายๆ คนอย่างที่คุณหนึ่ง-ณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์ กล่าวไว้ ซึ่งสำหรับคุณหนึ่งแล้ว Sleepless Residence หลังนี้ เปรียบเสมือนบ้านที่เติมแต่งความฝันให้เป็นจริง โดยใส่โจทย์ของความเป็นตัวเอง ความต้องการฟังก์ชัน จนออกมาเป็นบ้านสไตล์ลอฟท์ ที่แฝงด้วยรายละเอียดมากมาย และมีสเปซที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกถึงการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เหมือนได้ไปเที่ยวในทุกๆ วัน โดยได้คุณวิน-ธาวิน หาญบุญเศรษฐ สถาปนิกจาก WARchitect เป็นผู้ออกแบบ

 

คุณหนึ่ง-ณรงค์วิทย์ เตชะธนะวัฒน์ (เจ้าของบ้าน) และคุณวิน-ธาวิน หาญบุญเศรษฐ (สถาปนิก)


จากบริบท สู่ความต้องการบ้านที่ดื่มด่ำบรรยากาศมากที่สุด

หลังจากที่คุณหนึ่งได้พบกับที่ดินแปลงนี้ ซึ่งสามารถมองวิวทิวทัศน์ รับลมและบรรยากาศจากทะเลสาบได้อย่างเต็มที่ จึงมีความคิดที่จะสร้างบ้านในฝัน โดยเป็นบ้านที่ให้ความรู้สึกเสมือนได้พักผ่อนอยู่ในรีสอร์ททุกๆ วัน ได้ดื่มด่ำกับผืนน้ำและท้องฟ้าที่ให้ความรู้สึกสงบสุขและเป็นส่วนตัว รวมถึงมีคอร์ดกลางบ้านที่มองเห็นพื้นที่สีเขียวได้ตลอดทั้งวัน เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ซึ่งมีทั้งช่วงเวลาที่ต้องการใช้สมาธิ ความสงบอยู่กับการแต่งเพลง และมุมที่สามารถพาเพื่อนๆ มาสังสรรค์ที่บ้านได้

จากภาพความฝันที่คุณหนึ่งมี บวกกับบริบทของพื้นที่ ซึ่งค่อนข้างได้เปรียบได้เรื่องของมุมมองและบรรยากาศ ทำให้สถาปนิกมองภาพแนวคิดการออกแบบโดยตั้งใจให้บ้านหลังนี้สามารถมองเห็นและดื่มด่ำวิวพาโนรามาของทะเลสาบได้มากที่สุด

ภาพแปลนบ้าน Sleepless Residence ชั้น 1 (Photo Credit : WARchitect )
ภาพแปลนบ้าน Sleepless Residence ชั้น 2 (Photo Credit : WARchitect )

Amphitheater ผู้รับบทเป็นพระเอกของบ้าน

ด้วยลักษณะของพื้นที่ริมน้ำ ที่คล้ายตลิ่ง คุณวินจึงต้องการพรางพื้นที่ตลิ่งตรงนี้ด้วยลักษณะของสเปซแบบ Amphitheater ที่คล้ายกับอัฒจรรย์ เพื่อให้พื้นที่ค่อยๆ หลดหลั่น ไล่ชั้น หลบลงไปจนถึงน้ำ เพื่อให้เกิดวิวทิวทัศน์ที่มองไปถึงทะเลสาบได้อย่างกลมกลืนที่สุด

ภาพแนวคิดการออกแบบบ้าน Sleepless Residence  (Photo Credit : WARchitect)

ซึ่งไม่เพียงแต่บริเวณริมน้ำเท่านั้น สเปซแบบ Amphitheater นี้ยังถูกนำมาออกแบบ กลายเป็นแนวคิดหลักของบ้าน ด้วยลักษณะสเปซที่ลดหลั่นกันไปเป็นขั้นบันได ทำให้ห้องนอนหลักที่อยู่ในระดับความสูงครึ่งชั้นของอาคารฝั่งที่ติดทะเลสาบ สามารถเปิดมุมมองไม่ให้แต่ละสเปซนั้นบดบังกัน ในช่วงเวลาของการใช้ชีวิตอยู่ในห้องนอนจึงสามารถมองผ่านคอร์ดกลางบ้านลงไปเห็นทะเลสาบได้เช่นเดียวกัน
แต่กลับกันหากเราอยู่ที่ห้องนั่งเล่นหรือบริเวณริมน้ำ มองกลับมาเราจะเห็นสวนขั้นบันไดที่มองเห็นแนวต้นไม้เรียงราย สูงต่ำแตกต่างกันอย่างมีมิติ เนินดินนี้ยังปกคลุมส่วนที่จอดรถซึ่งเป็นสเปซที่ไม่ต้องการมองเห็น และทำให้คนที่อยู่ภายนอกไม่สามารถมองเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในบ้าน สร้างความเป็นส่วนตัวซึ่งถือว่าตอบโจทย์ความต้องการของคุณหนึ่งได้ครบทุกข้อ

 มุมมองที่ถูกบีบและระเบิดให้เห็นสเปซที่ซ่อนอยู่ภายใน

บ้านหลังนี้จะค่อนข้างใส่ใจมุมมองของการเข้าถึงพื้นที่แต่ละส่วนมากเป็นพิเศษ เพื่อทำให้ผู้อยู่อาศัยมีความเป็นส่วนตัว แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดโล่งเพื่อให้เข้าถึงธรรมชาติ ซึ่งหากเรียงลำดับจากการเข้าถึง บริเวณหน้าสุดของบ้านจะเป็นส่วนของพื้นที่แม่บ้าน เพื่อทำหน้าที่ออกมาต้อนรับแขก ถัดจากส่วนที่จอดรถและพื้นที่ของแม่บ้าน เราจะพบกับทางเดินเล็กๆ เป็นช่องบันได ที่บีบให้เกิดความรู้สึกตื่นเต้นและลุ้นว่าเราจะได้พบกับสเปซอะไรเป็นส่วนถัดไป
ซึ่งเมื่อพ้นจากช่องบันไดมาแล้ว เราจะเจอกับคอร์ดกลางบ้านและพื้นที่ห้องนั่งเล่นหลักซึ่งสามารถเชื่อมออกไปยังพื้นที่สระว่ายน้ำ รวมถึงริมทะเลสาบภายนอกได้ โดยพื้นที่จะอยู่ในลักษณะที่ค่อยๆ ไต่ระดับสูงขึ้นไปตามความลาดของสวน ตั้งแต่ห้องออกกำลังกาย ห้องนอนหลัก ไปจนถึงห้องนอนแขกบริเวณชั้นสอง ซึ่งพื้นที่แต่ละส่วนนี้ล้วนเรียงตัวกันขึ้นไป โอบล้อมให้เกิดเป็นเนินพื้นที่สีเขียวกลางบ้านที่ให้บรรยากาศร่มรื่นตลอดการอยู่อาศัยภายในพื้นที่ส่วนตัวแห่งนี้
ถึงแม้ห้องนั่งเล่นจะถูกออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานที่ค่อนข้าง Public สำหรับช่วงเวลาที่คุณหนึ่งพาเพื่อนมาสังสรรค์ที่บ้าน แต่สิ่งที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งของบ้านหลังนี้คือ บันไดหลักที่อยู่ภายนอกบ้าน ที่สร้างทางเลือกสำหรับผู้อยู่อาศัย ในวันที่คุณหนึ่งกลับบ้านมาแล้วต้องการไปยังห้องแต่งเพลงเพื่อทำงานที่ชั้นสอง ก็สามารถขึ้นไปได้โดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องผ่านห้องนั่งเล่นเพื่อไปขึ้นบันไดอีกทีหนึ่ง หรือหากเป็นวันที่ฝนตก ก็สามารถใช้บันไดภายในได้เช่นเดียวกัน
พื้นที่ตลิ่งริมน้ำได้รับการออกแบบเป็นขั้นบันไดเช่นเดียวกัน โดยจุดสูงสุดของสวนจะลดต่ำจากสระว่ายน้ำ  ทำให้เมื่อมองผิวเผิน จะคล้ายกับว่าผิวน้ำในสระว่ายน้ำถูกเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกันกับน้ำในทะเลสาบ

สะท้อนตัวตนผ่านการตีความสไตล์ Loft ในรูปแบบใหม่

หากพูดถึงการเลือกใช้วัสดุและองค์ประกอบต่างๆ ของบ้านหลังนี้ หลายคนคงสะดุดตากับแพทเทิร์นอิฐที่เรียงรายจนเกิดเป็นคาแรคเตอร์ใหม่ของบ้าน ซึ่งคุณวินได้แรงบันดาลใจมาจากบ้านหลังเดิมและห้องทำงานของคุณหนึ่งซึ่งมีการตกแต่งในสไตล์ Vintage Loft “ถ้าพูดถึงสไตล์ลอฟท์จริงๆเลย มันก็คือเหล็ก กระจก ปูน หรือว่าเป็นสัจจวัสดุ อิฐอะไรแบบนี้ ซึ่งผมมองว่าการเอามาผสมกันมันมักจะไม่ค่อยเป็นระเบียบ”
แต่ด้วยความที่คาแรคเตอร์ของคุณหนึ่ง ค่อนข้างมีความเนี้ยบ แฝงด้วยความหรูหราเล็กๆ คุณวินจึงนำเอาสไตล์ลอฟท์ในแบบเดิมๆ มาตีความขึ้นใหม่ สร้างรายละเอียดแพทเทิร์นของการก่ออิฐให้มีความปราณีต เพื่อทำให้มู้ดโทนของบ้านดูมีความหรูหราและทันสมัยมากกว่าเดิม

โดยวัสดุหลักที่เลือกใช้ คือ เหล็ก ไม้ อิฐ และปูน ซึ่งจะมีการจับคู่สีวัสดุเพื่อขับให้วัสดุนั้นๆ โดดเด่นมากขึ้น เช่น อิฐสีส้มคู่กับไม้โทนสีเทาหรือสีดำเข้ม เพื่อทำให้อิฐโดดเด่น บ้านหลังนี้จึงมีส่วนผสมของความเคร่งขรึม เท่ด้วยสีเทาดำ แฝงความรู้สึกสดใสสบายๆ ด้วยสีโทนร้อนอย่างอิฐสีส้ม สะท้อนความเป็นตัวตนของคุณหนึ่งได้ดีทีเดียว
แพทเทิร์นอิฐที่เราบอกไปข้างต้น ถูกนำมาออกแบบโดยแบ่งออกเป็นสองส่วน ในส่วนแรกคือแผง facade บริเวณด้านหน้าของบ้าน ซึ่งใช้อิฐหน้าตัด 5×5 ซม. ยาว 30 ซม. วางเอียงสลับไปมาคล้ายกับก้างปลา 45 องศา ทำให้เกิดแพทเทิร์นกึ่งโปร่งกึ่งทึบที่ช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับพื้นที่ภายใน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงความโปร่ง เพื่อรับแสงธรรมชาติเข้ามาได้บ้าง การก่ออิฐในลักษณะนี้ยังสร้างความแข็งแรงให้กับผนังอิฐผืนใหญ่ให้ตั้งอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีโครงหรือ เสาเอ็นมาคั่น
ถัดจากส่วนหน้าบ้านเข้ามาภายใน เราจะพบกับแพทเทิร์นของผืนผนังอิฐที่แตกต่างกันออกไป โดยใช้อิฐตกแต่งมาก่อในลักษณะกลับด้านสลับและเรียงต่อกันในแนวตั้ง ด้วยพื้นผิวด้านหลังของก้อนอิฐที่มีลักษณะเป็นแนวร่อง จึงทำให้เกิดเส้นแนวตั้งขึ้นมา สร้างลวดลายและผิวสัมผัสที่แปลกใหม่ในแบบที่อิฐจริงไม่สามารถทำได้
เพียงแค่โอกาสสั้นๆ ที่เราได้ลองเดินสำรวจภายในบ้านหลังนี้ ทำให้เรารู้สึกถึงความสุนทรีย์ผ่านการออกแบบสเปซ มุมมอง ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่จุดใดของบ้าน ล้วนสามารถดื่มด่ำกับภาพวิวทิวทัศน์ทั้งทะเลสาบ คอร์ดพื้นที่สีเขียวกลางบ้าน รวมถึงสวนริมน้ำที่สามารถเอนกายทอดสายตาพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ เสมือนใช้ชีวิตอยู่ในรีสอร์ทท่ามกลางธรรมชาติดีๆ สิ่งเหล่านี้คงเป็นเครื่องพิสูจน์ที่ดีสำหรับ ‘Sleepless Residence’ บ้านที่ถูกออกแบบมาเพื่อการพักผ่อนอย่างแท้จริง