บ้านและสวน นิตยสารสายบ้านและการตกแต่งฉบับแรกของประเทศไทยเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนเลือกเข้าสู่เส้นทางการเป็นสถาปนิก
เช่นเดียวกันกับ พี่เจ – เจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางสายสถาปัตยกรรม โดยมี ‘บ้านและสวน’ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ และเป็นสถานที่ทำงานที่สร้างพี่เจ บรรณาธิการผู้เก่งรอบด้าน ยืนยันได้จากการที่ ‘บ้านและสวน’ กลายเป็นแบรนด์ที่สื่อสารผ่านงานหลายแขนง และยังคงปรับตัวทันยุคสมัยเสมอมา แม้นิตยสารเองจะผ่านเวลามาเกือบครึ่งศตวรรษแล้วก็ตาม
‘สื่อสามมิติ’ นิยามใหม่ของคำว่าสื่อ
หากพูดถึง ‘บ้านและสวน’ คนยุคพ่อแม่จะนึกถึงนิตยสารที่ให้ไอเดียและความรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับบ้าน คนรักบ้านยุคใหม่ก็จะนึกถึงงานแฟร์ที่จัดเป็นประจำทุกปี ส่วนเด็กยุคใหม่ก็จะนึกถึงในบทบาทการเป็นข้อมูลอ้างอิงเวลาต้องเซิร์ชหาความรู้เกี่ยวกับทุกเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านและงานสถาปัตยกรรม ทั้งหมดคือผลพวงจากยุคสมัย และพี่เจก็ได้จำกัดความไว้ว่านี่คือ ‘สื่อสามมิติ’
“สมัยก่อนเราอ่านหนังสือ เราเขียนเสร็จตามตรวจอาร์ตเวิร์ค ตรวจพรู๊ฟ แล้วก็นั่งยิ้มตอนหนังสือมันออกมา แล้วเราก็เริ่มทำเล่มใหม่ มันเป็นเส้นตรงแบบสองมิติ แต่พอตอนนี้เราทำออนไลน์ขนานกับสิ่งพิมพ์ที่เป็นรายเดือน เราทำงานแฟร์ เราทำรายการทีวี พี่ว่าไม่มีใครบอกได้ว่ามีคณะไหนที่ควรเรียน แต่กลายเป็นว่าไอ้ทำหลายอย่างแบบเป็ดๆ มันคือสกิลหนึ่งของสถาปนิก เพราะสถาปนิกก็ไม่ได้ออกแบบตึกมาได้แบบเดียว สถาปนิกก็ควรรับ requirement ได้หลายๆ อย่าง ทำไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญหรือความชอบ ทีนี้ก็เริ่มเลือกงานได้แล้ว อันนี้พี่อาจจะเปิดอ็อปชั่นให้ตัวเองมากไปหน่อย คือเลือกแม้กระทั่งจะไม่เป็นสถาปนิก ยอมรับได้ไหม?”
พี่เจเริ่มต้นทำงานกับนิตยสารบ้านและสวนเมื่อ 16 ปีที่แล้วในตำแหน่งกองบรรณาธิการ จากสถาปนิกหนุ่มไฟแรงนักเรียนนอก ที่พาครอบครัวกลับมาตั้งหลักปักฐานที่เมืองไทยอีกครั้งจากคำถามที่ว่า ‘เราอยากจะให้ลูกเติบโตแบบไหน’ เมื่อต้องมาเริ่มต้นใหม่ที่บ้านเกิดอีกครั้ง พร้อมกับคอนเน็กชั่นด้านสถาปนิกที่มีไม่มาก คำตอบของการทำงานจึงวนกลับมาที่จุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาอยากเป็นสถาปนิก นั่นก็คือ ‘บ้านและสวน’
“ตอนกลับมาเมืองไทย ตอนนั้นไม่รู้จักใครเลย เพราะเรียนเมืองนอกมา ถ้าอย่างนั้น เราก็ต้องมาหางานที่ได้รู้จักคนก่อน พอเริ่มมองว่าทำอะไรได้บ้าง ก็เห้ย บ้านและสวนไง เราอยากเป็นสถาปนิกก็เพราะบ้านและสวน ถ้าเรากลับมาทำที่นี่ เราก็จะเริ่มได้เห็นผลงาน ได้รู้จักคน พอชินกับประเทศไทยค่อยเปิดออฟฟิศ แต่ก็คิดแบบนั้นมาได้ 16 ปีแล้ว ยังไม่ได้ไปไหนเลย (หัวเราะ) จริงๆ ไม่ได้ไปไหนในทางนี้มันแค่ไม่ได้เลี้ยวกลับมาทำงานสถาปนิกอย่างที่สมองมันถูกเทรนมา แต่สกิลต่างๆ ในทาง Design Thinking ก็ยังถูกใช้ในงานนี้แหละ คือเราก็มองงานของเราเป็นสามมิติ เหมือนกับงานสถาปัตยกรรมที่เป็นงานสามมิติ”
สถาปนิกเอเชียไฟแรง ที่มีโมเดลเป็นอาวุธ
เช่นเดียวกับเด็กนักเรียนที่วาดรูปเก่ง อธิบายอะไรก็ใช้วาดเป็นรูปเอา พี่เจได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ว่า น่าจะเป็นสถาปนิกนะ “พอเริ่มวาดแปลนวาดสัญลักษณ์ตามหนังสือบ้านและสวน เราชอบสัญลักษณ์ประตูมาก เจออะไรวาดประตูไว้ก่อน จากนั้นก็คือล็อกอินเลย ไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่จำความได้ตอนประถมปลายก็อยากเป็นสถาปนิกมาตลอด”
ในช่วงมัธยมปลายขณะยังเรียนที่โรงเรียนจิตรลดา พี่เจมีโอกาสได้รับทุนนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ไปยังสหรัฐอเมริกา และนี่คือจุดที่ทำให้เขาและกลุ่มเพื่อนมองเห็นความฝันของการเป็นสถาปนิกที่ชัดเจนขึ้นอีกขั้น “ตอนนั้น ตี๋ (ณรงค์ โอถาวร : SO) ก็ไปรุ่นเดียวกัน เราก็นัดกันไปเที่ยวบ้านน้ำตกของ Frank Lloyd Wright ไปดูตึกนั้นตึกนี้ด้วยกัน เราก็ยิ่งมั่นใจว่าจะเป็นสถาปนิกขึ้นไปอีก เลยคิดว่า ไหนๆ ก็เรียน ม.ปลายที่อเมริกาแล้ว ก็อยากเรียนต่อที่ที่มี Great Architects กำเนิดกัน ใจอยากเรียนที่ฝั่ง East Coast ที่นั่งรถไฟไปนิวยอร์กได้ทุกวีคเอนด์ ไปเสพงานสถาปัตยกรรม ไปเดินดูมิวเซียมได้ตลอด ก็เลยวาดรูปสเก็ตช์เยอะๆ แล้วส่งพอร์ตจนได้ไปเรียนที่ New Jersey Institute of Technology (NJIT) ช่วงนั้นวันหยุดก็จะไปเจอกับ กิ๊บ (ชุตยาเวศ สินธุพันธุ์ ; Site-Specific : Architecture & Research) ที่เรียนที่ NYIT ไปดูงานด้วยกัน”
พี่เจเป็นที่รู้จักในห้องเรียนสถาปัตยกรรมในฐานะเด็กเอเชียที่เนิร์ดมากกับงานดีไซน์ “พี่ไม่เคยส่งงาน Final ด้วย Final Model แต่จะส่งเป็น Series of Study Model ตลอด พี่ชอบเรียนวิชาดีไซน์มาก ได้ A ทุกเทอม ฝรั่งก็จะเกลียดมากไอ้เด็กไทยคนนี้ มันตัดโมเดลเร็วมาก นอนที่พื้นสตูดิโอ ตื่นขึ้นมาตอนเช้า ก็ตัดโมเดลต่อทันทีเลย ทำ Model Study Scenario 1 2 3 4 จับโมเดลมาตัดเซ็กชั่น แล้ววาดรูปต่อเลย จนไม่มีใครคิดว่า สุดท้ายพี่จะไม่ได้ทำงานสถาปนิก”
หลังเรียนจบจาก NJIT พี่เจเลือกเดินเส้นทางตรงสายสถาปนิกที่ Aedis Architects ที่ San Jose ในแคลิฟอร์เนียอยู่ประมาณ 5 ปี ที่นี่พี่เจก้าวขึ้นจากสถาปนิกสู่การเป็น Project Manager ที่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่ก็เป็นโอกาสและประสบการณ์ที่ได้จากการได้ทำงานที่รัก “ออฟฟิศนี้เน้นทำอาคารสาธารณะ มีอันนึงที่ประทับใจคือ งานดีไซน์โรงเรียนที่พี่ใช้เวลาทำกับมันเกือบสองปีเลย ตอนแรกยังตั้งใจว่าอยากจะให้ลูกที่เกิดที่อเมริกาเรียนในโรงเรียนที่พี่ออกแบบ พ่อรู้ทุกมุมเลยนะเว้ย แต่พอมีลูกก็เริ่มมานั่งคุยกับภรรยาว่า เราอยากให้ลูกเป็นคนอเมริกันจริงๆ รึเปล่า เลยตัดสินใจกลับมาเมืองไทย”
สังเกตทุกการเปลี่ยนแปลง คิดใหม่อย่างสร้างสรรค์
“อาชีพเรามีสกิลเรื่องการมองเห็นการเปลี่ยนแปลง และความรู้สึกต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ” ไม่ว่าเวลาจะผ่านกี่ปี หรือจะเปลี่ยนสายงานจากสถาปนิกมาเป็นสื่อ Thinking Sklll คือทักษะที่ยังติดตัวมาตลอด และทุกใช้ในการทำงานเสมอมา “Creative Skill หรือ Analytic Skill เราไม่แพ้ใครหรอก มันติดอยู่ที่ Technical Skill ซึ่งสุดท้ายมันก็มาเรียนเอาอีกทีได้ แต่ทักษะความคิด วิเคราะห์ แยกแยะต่างหาก ที่เป็นสกิลที่พวกเราเรียนกันมาเยอะๆ ตั้ง 5 ปี”
ทุกครั้งที่เราเดินเข้าออฟฟิศบ้านและสวน ภาพที่ชินตาคือห้องประชุมที่มีกระดานวางขนานตามแนวยาว พี่เจนั่งอยู่ตรงกลางที่มองเห็นสมาชิกทุกคนและกระดานได้อย่างชัดเจน การประชุมที่ใช้การสเก็ตช์และเชื่อมโยงแผนภาพแทนประโยคยาวๆ “การประชุมแบบนี้มันจะเกิดเป็นไดอะล็อกมากกว่า เหมือนกับวิชาตรวจแบบสตูดิโอเลย มองเห็นภาพของความคิดชัดกว่า ต่อยอดได้ง่ายกว่า”
เรามองเห็นความสอดประสานกันระหว่างบทบาทของสื่อในทางสถาปัตยกรรมของบ้านและสวนกับแพสชั่นในใจของพี่เจ คือความต้องการส่งต่อความรู้และความคิดในเชิงสร้างสรรค์ออกสู่สังคมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และสร้างสังคมสร้างสรรค์ให้กับคนไทย “พี่มองว่าเราเป็นตัวกลางที่ทำให้คนเข้าใจวิชาชีพออกแบบหรือบริการวิชาชีพบริการด้านการออกแบบ คืออาชีพเราเป็นอาชีพบริการ เราทำงานจากการคาดการณ์ว่าอะไรคือความพึงพอใจของผู้เสพ หรือเข้ามาเยี่ยมเยียน ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกับสถาปัตยกรรม ซึ่งนั่นก็เป็นเป้าหมายของบ้านและสวน หรือ room และ my home ที่อยากให้ภาษาการอ่านสเปซ อ่านสถาปัตยกรรม อ่านงานดีไซน์ มาเป็นภาษาที่คนเริ่มใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์จริงๆ ก็คือคนทำอาชีพออกแบบนะที่สามารถสื่อได้เยอะขึ้น และทำงานออกมาได้หลากหลายมากขึ้น”
ความสุขในการทำงานของพี่เจตลอด 16 ปีที่ผ่านมา จากสื่อสิ่งพิมพ์สู่สื่อสามมิติ ช่วยขยายข้อความจากการบอกเล่าเรื่องราวในหน้ากระดาษมาสู่การเล่าเรื่องราวในสถานที่จริง “เวลาเราเขียนคอลัมน์ดี เราไม่รู้ว่าผลตอบรับเป็นยังไง แต่อันเดียวที่เราได้เห็นแววตาของคนเสพงานของเราคืออีเว้นต์ มันก็เหมือนกับสถาปนิกตอนเปิดตึก ก็ไม่ฟินเท่ากับตอนไปแอบดูคนใช้งานตึก ในงานแฟร์เราก็ได้นั่งมองดูเขาว่า เขาเสพมันได้เหมือนหรืออาจจะต่างจากที่เราคิดไว้อย่างสิ้นเชิงก็ได้ แต่นี่แหละคือ engagement จริงๆ และมันมากกว่าด้วยซ้ำ มันคือ commitment”
คำถามสุดท้ายที่น่าจะเป็นคำถามในใจใครอีกหลายคนว่า พี่เจยังอยากกลับไปเป็นสถาปนิกอีกไหม? “ยังมีครับ แต่ใจนึงเราก็ผูกพันกับบ้านและสวน ตั้งแต่อยากเรียนมาก็เพราะแบรนด์นี้ จนวันนึงเรามาทำงานตรงนี้ ถ้าเรายังส่งต่อให้รุ่นต่อๆ ไปไม่ได้ เราก็เหมือนทิ้งมันไปเหมือนกัน เหมือนทำงานไม่เสร็จอะ ซึ่งตอนที่เปลี่ยนงานยังไม่ใช่คืนที่พี่คิดว่าพี่เปลี่ยนงาน พี่คิดว่าแค่ลองเปลี่ยนสถานการณ์ดู ถ้าเรามีอีโก้ว่าเราเป็นคนเก่ง เราก็จะต้องเก่งกับทุกสภาพแวดล้อมให้ได้ ตอนนั้นเราไม่ได้บอกว่ายอมแพ้ที่จะไม่กลับไปเป็นสถาปนิกนะ แต่อีโก้ตอนนั้นคือ พี่อยากจะเป็น บก.ที่เก่งก่อน เราอินกับอาชีพใหม่ของเราอันนี้มากพอๆ กับความฝันเดิม โดยที่เราไม่รู้สึกเจ็บหรือเสียโอกาส”
“แต่ตอนนี้จริงๆ ที่อยากทำคือ อยากทำเรื่องการศึกษา เราคิดว่าการศึกษาควรจะเป็น Public Service อยากจะเปิดแพลตฟอร์มสำหรับคนที่อยากเรียนรู้ที่ตอบแพสชั่นโดยไม่ต้องมีใบประกาศอะไรรับรอง เราอยากทำงานกับคนที่อยากรู้หรือจริงๆ อนาคตเราอาจจะอยากเป็น Educator ด้วยซ้ำ…