เมื่อมุมมองการสร้างตัวตนในปัจจุบันถูกโยกย้ายจากโลกความเป็นจริงเข้าไปยังโลกออนไลน์ ไม่เว้นแต่รูปธรรมของสถาปัตยกรรมที่ถูกสร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักและน่าชื่นชมบนโลกใบใหม่ด้วยการนำเสนอมุมมองจากภาพถ่ายสู่การอัพโหลดลงแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่นเดียวกับคอนเซ็ปต์ของ Instagramable Home Office ที่ทีมสถาปนิกออกแบบภายใน จาก PLEASE FEEL INVITED ได้สร้างตัวตนให้กับสเปซด้วยการทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของผู้คนบนโลกทั้ง 2 ใบ ก่อนจะได้คำตอบที่เป็นประเด็นสำคัญของการแปลงโฉมตึกนี้ให้มีตัวตนบนโลกออนไลน์อย่างสมบูรณ์
Conceptual Space
บนโลกความเป็นจริงและโลกออนไลน์
หากพูดถึงคอนเซ็ปต์บนโลกความเป็นจริงที่อาจมีเพียงไม่กี่ข้อนักจากที่เราคุ้นชิน อย่างปัจจัยเรื่องของบริบท ข้อจำกัดของพื้นที่ ความชอบและความต้องการส่วนตัวของเจ้าของโครงการ แต่สำหรับสเปซบนโลกออนไลน์นั้น ปัจจัยเหล่านี้อาจไม่ใช่ประเด็นที่ถูกพูดถึงกันสักเท่าไหร่ เพราะประเด็นนั้นได้ถูกสลับกัน จากที่ผู้ออกแบบต้องออกแบบให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริง กลับต้องออกแบบเพื่อให้ตอบโจทย์ความพอใจของผู้รับรู้ผ่านโลกออนไลน์แทน ดังนั้นคอนเซ็ปต์ของ Instagramable Home Office จึงได้ปรับรูปแบบของพื้นที่ให้ง่ายต่อการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ รวมถึงนำเสนอสิ่งต่างๆ ให้น่าดึงดูดผ่านแนวคิดการจัดวาง Composition ที่สามารถรับรู้ถึงมุมมองและมิติได้โดยไม่จำเป็นต้องมายืนอยู่ ณ สถานที่จริง
Instagram – able
“เจ้าของออฟฟิศเป็นร้านขายเสื้อผ้าบนสื่อออนไลน์ โจทย์ที่ได้จึงเป็นสเปซสำหรับวิถี Instagrammable หรือสเปซที่สามารถถ่ายรูปอัพโหลดลงสื่อออนไลน์ได้เลยทุกมุม ในสไตล์มินิมอลสแกนดิเนเวียน ด้วยโทนสีที่ล้อไปกับสินค้าที่เขาขาย ” สถาปนิกกล่าว
จากโจทย์ที่ทีมสถาปนิกได้เล่าสู่กันฟัง จึงทำให้เข้าใจประเด็นของการโยกย้ายโลกแห่งความเป็นจริงเข้าไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ด้วยความที่เจ้าของออฟฟิศเป็นร้านค้าออนไลน์ที่ต้องการสเปซสำหรับการสร้างตัวตนของสินค้าให้โดดเด่นสะดุดตากับผู้ที่พบเห็นบนสื่อในแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นที่มาของโปรเจ็กต์ Instagramable ที่ผสมผสานระหว่างชื่อแอปพลิเคชัน Instagram และ able เมื่อนำมารวมกันแล้วสามารถแปลอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า “สามารถถ่ายลงอินสตราแกรมได้เลย”
หรือหากจะขยายความกันอีกสักนิด Instagrammable ยังถือเป็นวิถีใหม่ในเชิงพาณิชย์ที่ปัจจุบันเหล่านักออกแบบยังต้องนำกลับมาขบคิดนอกจากการออกแบบเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งานในรูปแบบเดิมๆ แต่ยังต้องคำนึงถึงว่า จะทำอย่างไรให้สถาปัตยกรรมสวยเตะตามีมุมดึงดูดที่น่าสนใจและผู้ใช้งานสามารถถ่ายรูปลงโลกออนไลน์ได้ด้วย
WHY WHAT HOW ?
อย่างที่ได้กล่าวข้างต้น ผู้ออกแบบต้องนำประเด็นเรื่องของวิถี Instagrammable กลับมาร้อยเรียง ซึ่งโปรเจ็กต์ Instagramable ก็ได้ถูกคิดมาอย่างพิถีพิถันว่าจะทำอย่างไร ให้ออฟฟิศแห่งนี้สามารถตอบโจทย์ประเด็นดังกล่าวได้มากที่สุด โดยที่ผลลัพธ์จากการออกแบบเป็นอย่างที่สถาปนิกตั้งใจไว้ และด้วยวิถี Instagrammable เป็นหนึ่งในวิถีที่ถูกเชื่อมโยงเข้ากับเรื่องของเทรนด์และแฟชั่น Mood&Tone ของวิถีนี้จึงจะถูกปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วตามช่วงเวลาและความนิยม ผู้ออกแบบจึงได้เลือกใช้สีโทนกลางๆ ที่เรียบง่ายดูคลาสสิค และยังสามารถเข้าได้กับทุกยุคทุกสมัย อย่าง สีขาว สีน้ำตาล และสีครีม ร่วมกับการจัดวาง Composition ให้ดูมินิมอลอย่างพอดิบพอดี ไม่มากหรือน้อยจนเกินไปกับ Mood ที่ต้องการจะสื่อไปยังโลกออนไลน์
อีกทั้งเพื่อให้สินค้าตามโจทย์ที่ได้รับสามารถถ่ายลงสื่อออนไลน์ได้อย่างโดดเด่นสะดุดตาในทุกๆ มุมของออฟฟิศ การจัดวางเฟอร์นิเจอร์และการจัดแสงจึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญอย่างมาก ภายใน Instagramable Home Office จึงได้เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่สามารถเป็นทั้งพร็อพถ่ายภาพไปได้พร้อมๆ กับเป็นเฟอร์นิเจอร์สำหรับการใช้งาน ใช้แสงธรรมชาติเพื่อให้ความสว่าง และใช้แสงประดิษฐ์จากหลอดไฟเพื่อสร้างมิติให้กับบรรยากาศภายใน ที่ทำให้ภาพรวมทั้งหมดดูเรียบง่ายมีความเป็นไลฟ์สไตล์มากกว่าการจัดฉากและจัดแสงเหมือนกับถ่ายอยู่ใน Studio ซึ่งเหมาะกับวิถี Instagrammable ที่พร้อมจะโยกย้ายโลกแห่งความจริงเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์อย่างแท้จริง
“ทุกมุมภายในออฟฟิศสามารถถ่ายรูปลงสื่อออนไลน์ได้ออกมาน่าสนใจ และช่วยส่งเสริมสินค้าที่เขาขายได้จริงๆ” สถาปนิกกล่าว
ปรับดีไซน์ให้เป็นเครื่องมือสื่อสาร
สำหรับอีกส่วนหนึ่งในคอนเซ็ปต์การออกแบบนอกเหนือไปจากการโยกย้ายโลกทั้ง 2 ใบแล้ว การออกแบบ Commercial Space ให้สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ อย่าง Instagramable ที่ได้ออกแบบโทนสีและสไตล์ให้คล้อยไปกับตัวสินค้า ทำให้ลูกค้าที่ได้พบเห็นจากในสื่อออนไลน์สามารถรับรู้ได้ถึงสไตล์ของเสื้อผ้าที่ทางร้านจำหน่าย ซึ่งเป็นการสร้างตัวตนที่ชัดเจนให้กับแบรนด์ เมื่อผนวกไปกับคอนเซ็ปต์วิถี Instagrammable ก็ยิ่งช่วยผลักดันให้สินค้าดูโดดเด่นมีเอกลักษณ์มากกว่าแบรนด์อื่นๆ ไปในตัว
วิถี Instagrammable ในปัจจุบันอาจกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นอีกหนึ่งปัจจัยตั้งต้นก่อนการคิดคอนเซ็ปต์ของสาย Commercial ร่วมไปกับการคำนึงถึงเรื่องของฟังก์ชันการใช้งาน บริบท และประสบการณ์ที่ดีต่อผู้ใช้งานบนสเปซนั้นๆ ที่เหล่าสถาปนิกจะต้องนำกลับมาประยุกต์ไปพร้อมกับการพัฒนาแบบให้ตอบโจทย์กับคนยุคใหม่ที่ต้องการสร้างตัวตนและมีพื้นที่บนโลกออนไลน์มากขึ้น ในขณะที่รูปแบบของการใช้งานบนสเปซยังสามารถตอบโจทย์การใช้งานและปัจจัยอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี ที่จะชวนให้คนเห็นความงามของสเปซและสถาปัตยกรรม ณ สถานที่แห่งนั้นมากกว่าการพบเห็นจากในโลกออนไลน์บนจอ