คุณสมบัติของของไหลทางธรรมชาตินั้นสามารถพบได้ในของเหลว แก๊ส หรือสารแขวนลอยต่างๆที่มีเม็ดอนุภาคกระจายอยู่ในตัวกลางที่มีระบบการเคลื่อนตัวอย่างต่อเนื่องและคล่องตัว… ด้วยความงามของมันทําให้มีนักออกแบบมากมายนํามาสร้างแรงบันดาลใจร่วมกับงานออกแบบหลายแขนง รวมถึงงานสถาปัตยกรรม โดยมีสถาปนิกที่โด่งดัง เช่น Zaha Hadid, Patrik Schumacher,Santiago Calatrava หรือ Frank Gehry เป็นต้น ที่ได้นําเอาระบบของไหลในอุดมคติมาใช้ในการออกแบบ… ทําให้เกิดผลงานที่มีความโดดเด่นสวยงามแปลกตา สร้างประสบการณ์ใหม่และท้าทายระบบการก่อสร้างจนกลายเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นที่จดจําของผู้คนทั่วโลก
“ความลื่นไหลทางสถาปัตยกรรม”
(Fluid Architecture)
วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ต้องการที่จะศึกษาและทดลองเรื่องการก่อรูปจากเรื่อง “ของไหล” โดยวิเคราะห์หาระบบที่ซ่อนอยู่เพื่อนำมาพัฒนาเป็นเครื่องมือในการออกแบบรูปทรง (Form) และที่ว่าง (Space) ทางสถาปัตยกรรม ให้มีความต่อเนื่องลื่นไหล เพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรม และสร้างสุนทรีย์ภาพจากประสบการณ์การรับรู้พื้นที่ของมนุษย์ โดยใช้เครื่องมือ Parametric Design ที่มีตัวแปรหลักเป็นระบบจากคุณสมบัติของของไหล รวมกับโปรแกรมและบริบทโดยรอบโครงการมาคิดคํานวณหาความเป็นไปได้ในการก่อรูปผ่านอะกอริทึมของคอมพิวเตชั่นที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการออกแบบให้มีความหลากหลาย และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
หลังจากการได้ทำการศึกษาเรื่องของไหล ผู้ศึกษาได้สนใจเรื่องการไหลของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจึงได้ทำการทดลองหาความเป็นไปได้ในการก่อรูป ทั้งในเชิง 2 และ 3 มิติ
ตัวแปรสำคัญของระบบแม่เหล็กไฟฟ้าคือ ขั้วบวกและขั้วลบซึ่งทำหน้าที่ในการกำหนดลักษณะ และทิศทางของแรงที่แต่ละขั้วกระทำต่อกัน หากมีค่าเป็นบวกจะทำให้เกิดการรวมตัวกันของเส้นเวกเตอร์ และในทางกลับกันค่าลบจะทำหน้าที่กระจายเส้นเวกเตอร์ที่เป็นตัวแปรตาม
จากการทดลองเครื่องมือส่วนหนึ่งพบว่า ตัวเครื่องมือนั้นมีศักยภาพในการสร้างความต่อเนื่องของรูปทรงทางกายภาพ (Form) และด้านความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ (Space) ช่วยสร้างความสัมพันธ์ของแต่ละพื้นที่ให้เกิดพลวัตร (Dynamic) มากยิ่งขึ้น
นอกจากจะมีความลื่นไหลทางสถาปัตยกรรมแล้ว ยังต้องการนำแนวคิดนี้มาใช้ในการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ว่างในเมืองด้วยการสร้างพื้นที่เชื่อมต่อสำหรับการสัญจร (Transition space) จึงทำให้สนใจพื้นที่ว่างระหว่างระบบการขนส่งทางบกและทางน้ำที่ยังขาดการเชื่อมต่อกัน นำไปสู่การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำย่านบางรัก บริเวณอาคารไปรษณีย์กลาง
โดยสร้างความต่อเนื่องให้กับพื้นที่ทั้งสองส่วน จากถนนด้านหน้าโครงการจนถึงส่วนของแม่น้ำเจ้าพระยา เปลี่ยนพื้นที่ตรงกลางระหว่างสองส่วนนี้ให้เกิดกิจกรรมใหม่ๆที่ช่วยในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายผู้คนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมสันทนาการและพื้นที่ที่รองรับความต้องการของทั้งผู้คนในพื้นที่และผู้ที่สัญจรผ่าน ช่วยเปลี่ยนแปลงพื้นที่เดิมที่ขาดความ Active และตัดขาดจากเส้นทางการสัญจร ให้กลับมามีชีวิตชีวา เป็นการเปิดทางเชื่อมต่อใหม่ของเมืองและเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้กับผู้คนในชุมชน อีกทั้งยังมีความน่าสนใจของสถาปัตยกรรมอย่างอาคารไปรษณีย์กลางที่มีความแข็งแรงและมีเส้นสายที่เรียบง่ายตัดกับตัวรูปทรงของสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่มีความลื่นไหลด้วยเส้นโค้งที่มีความแปลกตาและดูทันสมัย เป็นการอยู่ร่วมกันของสถาปัตยกรรมรูปแบบเก่าและใหม่ที่มีความแตกต่างกันเพื่อดึงดูดสายตาจากผู้คนโดยรอบให้กลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของเมือง
*ขอขอบคุณไฟล์ 3D บริบทบางรักจาก : ธิติวุฒิ ภักดี, ชลธิชา วิมลชัยฤกษ์ และ วนาพร อนันต์. 2560. “Blink-Blend-Blob Charoenkrung Smart District”. ทำเพื่อเสนอในรายวิชา AR416 การออกแบบสถาปัตยกรรมขั้นสูง (Urban Design Studio). คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 10 พ.ค. 2560.
โปรแกรมที่เลือกมานั้นเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทภายในโครงการและพื้นที่ใกล้เคียง รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่กิจกรรมที่ขาดหายไป เพื่อช่วยส่งเสริมการเป็นย่านสร้างสรรค์
เมื่อได้ที่ตั้งโครงการมาแล้ว ได้ศึกษาต่อว่าพื้นที่แบบไหนสามารถสร้างความเชื่อมต่อจากถนนจนถึงแม่น้ำได้ดีขึ้น โดยทดลองคว้าน (Subtract) อาคารไปรษณีย์กลางบางส่วน เพื่อให้ได้เส้นทางใหม่ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อ
จากนั้นคำนวนหาพื้นที่ที่เข้าถึงได้ดีที่สุดผ่านโปรแกรม Depth map ที่ช่วยในการวิเคราะห์สร้างแบบจำลองต่างๆของพื้นที่ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กับทฤษฎีสเปซซินแท็กซ์ ทั้ง 3 แบบ คือ
1.คงอาคารเดิมไว้โดยไม่มีการคว้าน
2.คว้านส่วนใต้ดินรวมถึงชั้น 1 ฝั่งปีกขวาของอาคาร
3.คว้านพื้นที่ส่วนใต้ดินออกทั้งหมด
พบว่าแบบที่ 2 มีศักยภาพช่วยสร้างความต่อเนื่องของพื้นที่ได้ดีและมีทิศทางของเส้นทางที่ชัดเจน จึงได้เลือกมาวิเคราะห์และออกแบบต่อว่าสถาปัตยกรรมลื่นไหลแบบไหนที่จะสามารถแทรกตัวเข้าไปอยู่กับตัวอาคารเดิมได้อย่างลงตัว
เมื่อได้พื้นที่ที่มีความต่อเนื่องมาแล้วก็นำมาวิเคราะห์หาทางสัญจรที่เข้าถึงและมองเห็นได้ง่ายจากถนน ผ่านอาคารไปรษณีย์กลางต่อเนื่องไปยังแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย Axial line โดยได้ใช้พื้นที่ของอาคารไปรษณีย์กลางมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการทดลอง เน้นที่ช่องเปิดอาคารและบริเวณพื้นที่ที่คนภายนอกสามารถเข้าถึงได้เป็นหลักในการหาเส้นทางที่เข้าถึงและมองเห็นได้ดีของพื้นที่โครงการ ตั้งแต่ระดับพื้นดินขึ้นไปถึงพื้นที่ว่างในอากาศ คงระดับตามชั้นของอาคารไปรษณีย์กลาง จากนั้นก็เลือกวางจุดดึงดูด (Attractor) ไว้ตรงจุดตัดกันของ Axial line ที่เข้าถึงและมองเห็นได้ดีที่สุดของแต่ละชั้น
การทดลองเรื่องการไหลของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic field) ทำให้รู้ว่าหลักการทำงานของเครื่องมือที่สำคัญคือ ขั้ว (Node) ที่ใช้เป็นจุดดึงดูด จึงทำให้พัฒนาเครื่องมือต่อมาเป็นจุดดึงดูด (Attractor point) ที่จะนำมาทดลองต่อไปในการทำลายความเป็นกริดของตาราง (Deformed grid) เพื่อค้นหา Space และการก่อรูปใหม่ๆ
จุดดึงดูด (Attractor point) ทำให้เส้นในตารางถูกดึงให้เข้าใกล้จุดนั้นๆ ด้วยแรงขนาดต่างๆที่เป็นพารามิเตอร์ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ หากแรงที่กระทำมีค่าสูง ก็จะทำให้เกิดเส้นทางที่สั้นที่สุดจากแต่ละจุดถึงกันชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น โดยได้ทดลองผ่านโปรแกรม Grasshopper
จากนั้นได้นำเครื่องมือการทำลายความเป็นกริด (Deformed grid) มาทดลองลงในพื้นที่โครงการ โดยนำจุดดึงดูด (Attractor) ที่ได้มาจากการว่างจุดตัดกันของ Axial line มาทำลายระบบกริด ที่ขนาดเท่ากับพื้นที่ว่างในแต่ละชั้น
เมื่อลองสังเกตจากมุมมองด้านบนจะเห็นได้ว่าการ Deformed grid นั้นทำให้เกิดเส้นทางจากจุดถึงจุดที่ค่อนข้างชัดเจน เส้นเหล่านี้จึงถูกกำหนดให้เป็นเส้นทางการใช้งาน (Circulation) ส่วนพื้นที่รอบๆเส้นเหล่านี้จะเกิดเป็นพื้นที่ว่างที่สามารถวาง Function การใช้งานได้ ทำให้พื้นที่การใช้งาน (Function) จะเกาะอยู่รอบๆเส้นทาง (Circulation) ที่แปรผันตามจุดดึงดูด ทำให้เกิดความหนาแน่นของผู้ใช้งานรอบๆจุดดึงดูด ค่าแรงของจุดดึงดูดนั้นจะมีขนาดต่างกันตามปัจจัย (Input) ความต้องการของการใช้งานในแต่ละพื้นที่กิจกรรม
เส้นสายที่เกิดจากการ Deformed grid มีความซับซ้อนมาก จึงต้องนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมโดยแบ่งศึกษาแต่ล่ะ Layer ของเส้น เพื่อดู Space ที่เกิดขึ้นว่าเส้นต่างๆที่อยู่ต่างระดับกันนั้น ส่วนไหนสามารถพัฒนามาเป็นส่วนขององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมได้บ้าง เช่น พื้น ผนัง หลังคา รวมไปถึงองค์ประกอบทางความงามและเฟอร์นิเจอร์ภายใน โดยแต่ละองค์ประกอบเมื่อรวมกันแล้วจะต้องก่อให้เกิดพื้นที่ที่เหมาะสมกับโปรแกรมการใช้งาน
พื้นที่กิจกรรมภายในโครงการทั้งหมดจะมีความต่อเนื่องถึงกัน ประกอบด้วยพื้นที่จัดนิทรรศการ, ห้องสมุด, ห้องประชุมอเนกประสงค์, โรงมหรสพกลางแจ้ง, พื้นที่ Common space ริมน้ำ, ท่าเรือ, พื้นออกกำลังกาย, สวนพักผ่อน, ลานสร้างสรรค์สำหรับกิจกรรมหมุนเวียน เช่น ตลาดสร้างสรรค์ ดนตรีสด Street food เป็นต้น
ภาพบรรยากาศทางเข้าโครงการ บริเวณด้านหน้าอาคารไปรษณีย์กลาง ประกอบด้วยทางเข้าหลักที่ลอดผ่านตัวอาคารเข้าไปยังด้านใน และทางวิ่ง Outdoor สำหรับออกกำลังกาย ที่เชื่อมต่อจากฝั่งถนนเจริญกรุงไปจนถึงท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ทัศนียภาพบนทางวิ่ง
ทางเดินภายในโครงการสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั่วถึง บริเวณด้านหน้าตึก CAT Tower มีลานสำหรับรองรับกิจกรรมออกกำลังกายและจัดงานสร้างสรรค์แบบหมุนเวียน
พื้นที่ชมดนตรีและการแสดงสดภายในโครงการถูกโอบล้อมด้วยโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม
ทางเข้าจากฝั่งท่าเรือ เมื่อมองเข้ามาจะพบกับ Common space ที่ประกอบไปด้วยร้านค้าและร้านอาหาร เป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจริมน้ำของผู้ที่สัญจรผ่าน
Faculty of Architecture, Silpakorn University Thesis 2019
“ความลื่นไหลทางสถาปัตยกรรม” (Fluid Architecture)
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
02580004 นางสาวคคนางค์ จงอนุรักษ์