OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Kisho Kurokawa สถาปนิกผู้สร้างภาพจำให้สถาปัตยกรรม Metabolism โด่งดังไปทั่วโลก

หลังจากที่นำเสนอ Kenzo Tange สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ผู้บุกเบิกแนวคิด Metabolism Architecture ไปเมื่อครั้งก่อน เพื่อให้เข้าใจถึงสถาปัตยกรรมแบบ Matabolism มากขึ้น วันนี้เราจะขอขยายความแนวคิดนี้ ผ่านเรื่องราวการออกแบบของสถาปนิกท่านหนึ่ง ซึ่งเชื่อได้เลยว่า ถ้าพูดถึง Metabolism Architecture หลายๆ คนต้องนึกถึงชื่อของ คิโช คุโรคาวะ (Kisho Kurokawa) อย่างแน่นอน

คุโรคาวะเริ่มต้นเส้นทางการเป็นสถาปนิกด้วยการเข้าศึกษาสถาปัตยกรรมระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเกียวโต และเข้าเรียนระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโตเกียวภายใต้การดูแลของ Kenzo Tange หลังจากสำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ.1959 ไม่นานเขามีโอกาสได้เข้าร่วมก่อตั้งขบวนการ Metabolist Movement ซึ่งในยุคนั้นถือเป็นกลุ่มแนวคิดสมัยใหม่สุดแหวกแนว ที่ผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทของความเป็นเอเชีย

Nagoya City Art Museum , Aichi , Japan 1987
Photo Credit : www.pinterest.com

ในปี ค.ศ.1962 คุโรคาวะได้ก่อตั้งบริษัท Kisho Kurokawa Architect & Associates เป็นของตนเอง โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองโตเกียว และมีสำนักงานสาขาย่อยมากมายทั่วโลกอย่าง โอซาก้า นาโกย่า นูร์-ซุลตัน กัวลาลัมเปอร์ ปักกิ่ง และลอสแองเจลิส

ไม่เพียงแต่เป็นสถาปนิกที่โด่งดังในด้านของ Metabolist เท่านั้น  คุโรคาวะยังยึดหลักแนวคิดของสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้ผลงานออกแบบของเขาโดดเด่นในเรื่องของสถาปัตยกรรมที่รองรับการขยายตัวของเมือง ซึ่งนำเอาเรื่องของวัฒนธรรมและธรรมชาติดั้งเดิมของญี่ปุ่นเข้ามาประยุกต์ใช้ได้อย่างน่าสนใจ
The National Art Center, Tokyo , Japan 2008
Photo Credit :
en.wikipedia.org , live.staticflickr.com

การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ ‘ไม่ถาวร’

ด้วยความที่วัสดุส่วนใหญ่ที่ใช้ก่อสร้างอาคารในประเทศญี่ปุ่นมักจะทำจากไม้และวัสดุจากธรรมชาติ เมื่อถึงคราวสงครามและผลกระทบจากภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น น้ำท่วมและภูเขาไฟระเบิด จึงทำให้สถาปัตยกรรมที่มีอยู่ในยุคนั้นถูกเผาเป็นเถ้าถ่านและหายไปอย่างน่าใจหาย  

แนวคิดของสิ่งที่คงอยู่ไม่ถาวร สะท้อนให้เห็นในผลงานของคุโรคาวะในช่วงยุค Metabolism อาคารส่วนมากถูกสร้างขึ้นด้วยโครงสร้างที่แสดงถึงความ ‘ชั่วคราว’ โดยสามารถถอดและปรับเปลี่ยนได้ เพื่อแสดงถึงสถาปัตยกรรมที่ขยายตัวควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงของเมือง
Agricultural City, Aichi, Japan 1960
Photo Credit : archeyes.com

ซื่อตรงต่อความเป็น ‘วัสดุ’

อย่างที่เราเห็นกันว่าชาวญี่ปุ่นพยายามใช้ประโยชน์จากพื้นผิวและสีตามธรรมชาติของวัสดุ โดยเผยให้เห็นในการออกแบบอาคาร ความซื่อสัตย์ในวัสดุนี้เกิดจากความคิดที่ว่าธรรมชาติมีความสวยงามในตัวเอง ด้วยความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่ว่าความเพลิดเพลินสูงสุดมักจะมาจากสภาพธรรมชาติ

การซื่อตรงต่อวัสดุ ยังคงมีให้เห็นในงานของคุโรคาวะ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เหล็ก อลูมิเนียม หรือพื้นผิวคอนกรีตโดยธรรมชาติ อย่างเช่น Nakagin Capsule Tower ซึ่งจะไม่มีการใช้สีเทียม องค์ประกอบต่างๆ จะถูกเผยให้เห็นเนื้อแท้ของวัสดุ โดยมีการเปิดให้เห็นโครงสร้าง สะท้อนความคิดแบบ Modernism ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในยุคสมัยนั้น
Hiroshima City Museum of Contemporary Art ,Hiroshima, Japan 1989
Photo Credit :  www.hiroshima-navi.or.jp ,  www.japanvisitor.com

Nakagin Capsule Tower Tokyo, Japan 1972

แน่นอนว่า ผลงานแนว Metabolism ที่สร้างชื่อให้กับคุโรคาวะ คือ  Nakagin Capsule Tower ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชิมบาชิ กรุงโตเกียว เพื่อรองรับแนวคิดการเปลี่ยนแปลงของเมืองหลังยุคสงครามที่เราเล่าไปข้างต้น  คุโรคาวะจึงตั้งใจออกแบบให้ Nakagin Capsule Tower เปรียบเสมือนต้นแบบของโรงแรมแคปซูลสมัยใหม่ ที่พร้อมถอด ประกอบและปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง
Nakagin Capsule Tower Tokyo, Japan 1972
Photo Credit : www.bubblemania.fr

ด้วยความที่ Nakagin Capsule Tower มีฟังก์ชันเพื่อรองรับพนักงานออฟฟิศในราคาที่ย่อมเยา ขนาดห้องภายในจึงถูกลดลงเหลือเพียง 250 x 365 x 213 เซนติเมตร แต่ความเล็กนี้ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะคุโรคาวะตั้งใจออกแบบให้พื้นที่สามารถขยายให้กว้างขึ้นได้ด้วยการนำแคปซูลแต่ละชิ้นมาประกอบเข้าด้วยกันด้วยการถอดออกและยึดเข้าใหม่ได้อย่างอิสระ โดยอาคารนี้เริ่มต้นด้วยการวางโครงสร้างเป็นคอนกรีตที่หนาและแข็งแรง เพื่อใช้ในการเป็นโครงสร้างหลัก (Main Structure) จากนั้นจึงค่อยๆ ใช้เครนยกแคปซูลแต่ละชิ้นเข้ามาประกอบเป็นชั้นๆ คล้ายคลึงกับระบบ Modular ทำให้แต่ละห้องเป็นเหมือนส่วนต่อเติมที่พร้อมรื้อออก โดยไม่กระทบกับห้องอื่นๆ นอกจากนั้น ระบบดังกล่าวยังทำให้อาคาร 13 ชั้นแห่งนี้สามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาเพียง 30 วันเท่านั้น
Nakagin Capsule Tower Tokyo, Japan 1972
Photo Credit : www.bubblemania.fr

ในการออกแบบระบบ Modular นี้ สถาปนิกตั้งใจให้มีการเปลี่ยนแคปซูลใหม่ทุกๆ 25 ปี เพื่อให้ตึกสามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างของการใช้งานที่เกิดขึ้นจริง เช่น การขายขาดห้อง ทำให้การตัดสินใจเปลี่ยนแคปซูลนั้นขึ้นอยู่กับเจ้าของห้อง  รวมถึงการประสบปัญหาทางการเงินของเจ้าของอาคาร ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการเปลี่ยนแคปซูล ทำให้ความตั้งใจของสถาปนิกในตอนแรกเป็นอันต้องยกเลิกไป
Nakagin Capsule Tower Tokyo, Japan 1972
Photo Credit : www.bubblemania.fr

คงพูดได้ว่า อาคารแห่งนี้ ถือเป็นหนึ่งในภาพจำที่คนญี่ปุ่นต่างรู้จักกันดีในบทบาทของสถาปัตยกรรมแบบ Modernism ซึ่งกำลังมาแรงในยุคสมัยที่ญี่ปุ่นฟื้นตัวหลังจากโดนถล่มแพ้ย่อยยับในสงครามโลกครั้งที่สอง สถาปัตยกรรมที่มีแนวคิดอันชัดเจนนี้จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนับสิบๆ ปี แต่แนวคิดของการออกแบบยังคงทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษาอยู่เสมอ

ในปัจจุบันบางแคปซูลของ Nakagin Capsule Tower ยังคงเปิดให้เช่ารายเดือน และมีการจัดแสดงให้ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมภายในของอาคารได้ โดยค่าใช้จ่ายจากการเข้าชมจะนำไปใช้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูให้อาคาร Nakagin Capsule Tower มีชีวิตอยู่ต่อไป
Nakagin Capsule Tower Tokyo, Japan 1972
Photo Credit : live.staticflickr.com


Expo’70 Takara Beautilion, Osaka, Japan 1968-1970

อาคารแห่งนี้เป็นการออกแบบสำหรับงานจัดแสดงสินค้าระดับโลกที่เรียกว่า EXPO ’70 โดยจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น ผลงานรูปลักษณ์แหวกแนวที่แม้มองดูในปัจจุบันก็ยังคงความล้ำสมัยให้เราเห็น เป็นอีกหนึ่งผลงานที่แสดงแนวคิด Metabolist ของคุโรคาวะ ได้เป็นอย่างดี

เพื่อแสดงถึงความไม่สมบูรณ์ของโครงสร้างภายในประเทศญี่ปุ่นที่กำลังฟื้นตัวจากสงคราม คุโรคาวะยังคงตั้งใจให้การออกแบบอาคารอยู่ในรูปแบบของโมดูลาร์แยกส่วน สะท้อนแนวคิดความ ‘ไม่ถาวร’ เพื่อระลึกถึงกระบวนการทางสถาปัตยกรรมที่มักจะมีการรื้อและสร้างขึ้นใหม่ วนเวียนไปอย่างไม่รู้จบ

Expo’70 Takara Beautilion, Osaka, Japan 1968-1970
Photo Credit : www.bubblemania.fr

อาคารนี้ประกอบไปด้วยชั้นใต้ดิน 1 ชั้นและบนดินอีกทั้งหมด  4 ชั้น โดยโครงสร้างทั้ง 4 ชั้นจะถูกประกอบกันขึ้นด้วยท่อเหล็กขึ้นรูป คล้ายต้นไม้ที่ยื่นออกไปทุกทิศทาง โดยความพิเศษของโครงสร้างเหล่านี้ คือ สามารถขยายออกหรือต่อซ้ำไปมาได้ทั้งแนวนอนและแนวตั้งขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้พื้นที่

Expo’70 Takara Beautilion, Osaka, Japan 1968-1970
Photo Credit : www.bubblemania.fr

อาคารรูปร่างล้ำสมัย แปลกตาที่เราเห็น ล้วนมาจากแนวคิดของสถาปนิกรุ่นเก๋า ซึ่งพร้อมจะทุ่มเทเพื่อสร้างสถาปัตยกรรมช่วยยกระดับเมือง สังคมและความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับผลงานการออกแบบของ Kisho Kurokawa ที่ยังคงเอกลักษณ์ และสะท้อนแนวคิดของการเปลี่ยนแปลงเมืองอันชัดเจน จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่ในปัจจุบัน ผลงานของเขายังคงโดดเด่น และน่าติดตาม ด้วยรูปลักษณ์อันล้ำสมัย เหนือกาลเวลา ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังศึกษาต่อไป
 
ขอบคุณที่มาข้อมูลจาก:
www.wallpaper.com ,
features.japantimes.co.jp , www.nakagincapsuletower.com , arcspace.com/architect/ , www.independent.co.uk , www.kisho.co.jp