หากมองในฐานะผู้ใช้งานสักอาคารหนึ่ง นอกจากความสวยงามที่เราเห็นในงานสถาปัตยกรรม มีสิ่งใดที่เราสัมผัสได้อีกบ้าง? สเปซที่ถูกออกแบบตั้งใจพาเราไปในทิศทางที่ต้องการให้เป็น สเปซที่เอื้อให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สเปซที่สร้างความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น นิ่ง สงบ สนุก ผ่อนคลาย หรือแม้แต่บรรยากาศที่ออกแบบให้เราดื่มด่ำกับธรรมชาติ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่คุณอาร์ต-อยุทธ์ มหาโสม แห่ง Ayutt and Associates design (AAd) ตั้งใจเสาะหาความหมายของสถาปัตยกรรมบนเส้นทางของการเป็นสถาปนิก
หลังจากเราเข้าไปยังออฟฟิศ AAGroup จึงถือโอกาสพูดคุยกับคุณอาร์ตถึงเส้นทางการออกแบบ กว่าจะออกมาเป็นผลงานสถาปัตยกรรมที่มักจะสร้างคำถามให้ใครหลายคนๆ บทสนทนายามสายเริ่มต้นด้วยการที่คุณอาร์ตเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของ AAd ด้วยท่าทางผ่อนคลาย สบายๆ อย่างเป็นกันเอง
คุณอาร์ต-อยุทธ์ มหาโสม แห่ง Ayutt and Associates design (AAd)
01 : เริ่มต้นจากจุดอิ่มตัว
“ตอนเรียนจบมาใหม่ๆ ผมมีโอกาสทำงานที่ WOHA สิงคโปร์ ซึ่งเติบโตมาจากการทำบ้านส่วนบุคคลเป็นหลัก หลังจากนั้นพัฒนามาเป็นงานสาธารณะอย่างคอนโดมิเนียม อาคารเชิงพาณิชย์ หรือรีสอร์ท โดยขึ้นชื่อเรื่อง Green Architecture เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ตรงนี้เลยเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการหล่อหลอมประสบการณ์ต่างๆ จนกระทั่งมาเป็นเราในวันนี้” หลังจากทำงานที่สิงคโปร์ได้ประมาณ 4 ปี คุณอาร์ตก็ถึงจุดอิ่มตัวที่ทำให้เขาเปลี่ยนเส้นทางกลับมาที่เมืองไทย
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คุณอาร์ตเริ่มทำงานสาย Commercial เป็นหลัก ทำให้มองเห็นลักษณะงานที่มักจะเน้นผลประโยชน์ของเม็ดเงินลงทุนมากกว่าพื้นที่ใช้สอย เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงกลายเป็นความอิ่มตัวครั้งที่สอง และเริ่มเบื่อกับสายงาน Commercial ที่ว่านี้ ท่ามกลางช่วงเวลาอิ่มตัว คุณอาร์ตมีโอกาสได้ออกแบบและทำบ้านหลังแรกในฐานะฟรีแลนซ์ โดยใช้ชื่อว่า ‘บ้านเย็นอากาศ’
YAK – Yen A Kart ก่อสร้างเสร็จ 2013 (Photo Credit: AAd)
บ้านหลังแรกของ AAd ก่อนการก่อตั้ง Office มีการใช้แผงระแนง Aluminium Façade ที่มุ่งเน้นเรื่องการประหยัดพลังงาน กันแดด กันฝน และเพิ่มความ Privacy ก่อนที่แผง Façade นี้จะกลายมาเป็น Signature design สำหรับบ้านของ AAd อีกหลายๆ หลัง
“เรารู้สึกมีความสุขมาก สิ่งที่ได้ตอบแทนนอกจากเรื่องของเงินคือรอยยิ้มของเจ้าของบ้าน ท้ายที่สุดแล้วตัวงานนั้นมันตอบโจทย์ ทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ความรู้สึกมันเหมือนเราทำงานแล้วได้โบนัส การทำ Commercial จะวัดด้วยผลของกำไรของเจ้าของโครงการ เขาจะแฮปปี้เมื่อทำตึกออกมาดี อยู่ในงบประมาณและขายได้ แต่ทำบ้านพักอาศัย ผลตอบแทนสุดท้ายไม่ได้ตีเป็นตัวเงิน แต่คือความสุขของเจ้าของ”
YAK – Yen A Kart 2013 (Photo Credit: AAd)
02 : ทางชีวิตเส้นใหม่สู่ความเป็น AAd ยุคแรกเริ่ม
ความสุขที่ถูกเติมเต็มจากการสร้างสถาปัตยกรรมที่พักอาศัยกลายเป็นจุดเปลี่ยน สู่การออกแบบบ้านหลังที่สองและอีกหลายหลังต่อมา จนกระทั่ง 5 ปีก่อนคุณอาร์ตจึงเริ่มก่อตั้งบริษัทในชื่อ Ayutt and Associates design หรือ AAd พร้อมด้วยทิศทางที่ตั้งใจออกแบบเฉพาะที่พักอาศัย โดยคาดหวังจะพาบริษัทขึ้นไปให้ถึงระดับต้นๆ ของประเทศ และมีผลงานเป็นที่โดดเด่นในระดับประเทศหรือนานาชาติ
“ถ้าเราดูสไตล์หรือเอกลักษณ์บางอย่างของ AAd เราจะเห็นความคม เนี้ยบ หน้าตาของบ้านที่ดูทันสมัย แต่อาจจะไม่ถึงขั้นโฉบเฉี่ยว ซึ่งมันคือการผสมองค์ประกอบหรือวัสดุสมัยใหม่ที่เราเห็นในสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่สเกลบ้าน เช่น การหุ้มอลูมิเนียมฟาซาด ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่เราเรียนรู้จากงาน Commercial ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บ้านของ AAd จะมีจุดเด่นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการใส่คอร์ดต้นไม้เข้าไปภายในบ้าน ต้องยอมรับว่าอิทธิพลนี้เราได้มาจาก WOHA ซึ่งงานทุกงานของเขาจะใช้พื้นที่สีเขียวอย่างคุ้มค่าที่สุด”
วันเวลาเปลี่ยนพร้อมความคิดที่ถูกเปลี่ยนผันตามกาลเวลา เมื่อรู้สึกว่าสามารถไปถึงจุดที่ตนเองเคยวาดฝันไว้ จึงถึงเวลาที่คุณอาร์ตเริ่มมองหาทิศทางใหม่สำหรับ AAd อีกครั้งหนึ่ง
03 : ภูเขาลูกใหม่ของ AAd กับแนวคิดบ้านที่มากกว่าที่พักอาศัย
“สามปีที่แล้ว พอเราขึ้นไปถึงบนยอดเขาตามที่เราตั้งใจไว้ สำหรับตัวเองมองไปมันก็ไม่ได้มีอะไร เราก็เลยมาคิดทบทวนว่าเราจะอยู่บนยอดนี้ไปเรื่อยๆ หรือเปล่า ซึ่งต้องยอมรับว่าเด็กรุ่นใหม่เก่งมาก เขาก็สร้างยอดเขาของตัวเองเสมอ บางคนก็สร้างยอดเขาสูงกว่าเรา สวยกว่าเรา ดีกว่าเรา การที่เราอยู่เฉยๆ กลายเป็นว่ายอดเขาของเราจะเตี้ยลงไปเรื่อยๆ เราจึงรู้สึกว่า เราพอแล้วกับเขายอดนี้ เราจะลงจากเขายอดนี้ เพื่อไปหาภูเขาลูกใหม่”
ภูเขาลูกใหม่ที่คุณอาร์ตเปรียบเปรย หมายถึงความตั้งใจใหม่ในการวางทิศทางของ AAd ด้วยแนวคิดบ้านที่เป็นมากกว่าที่พักอาศัย “เราพยายามสร้างจุดที่ไม่ใช่ที่พักอาศัยอีกต่อไป เราจะบอกลูกค้าทุกคนเสมอว่าเราไม่ได้ทำบ้านที่สวย เราทำบ้านที่อยู่สบาย สวยไม่สวยนั่นคือผลพลอยได้ และความสวยมันคือปัจเจกบุคคล คนหนึ่งอาจจะมองว่าสวย อีกคนอาจจะมองว่าไม่สวยก็ได้ ดังนั้นความสวยคือสิ่งสุดท้ายที่เราจะทำ แต่คุณภาพชีวิตนั่นแหละคือสิ่งแรกที่เราโฟกัสอยู่ตอนนี้”
จากคอร์ดต้นไม้กลางบ้านที่เคยเป็นเอกลักษณ์ของ AAd ในอดีต ปัจจุบันคุณอาร์ตพยายามมองภาพให้กว้างขึ้น ด้วยแนวคิดสร้างระบบนิเวศภายในบ้าน เพื่อให้ ‘ธรรมชาติ’ คืนสุนทรียภาพสู่การอยู่อาศัย โดยออกแบบให้สถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ การออกแบบภายใน และพฤติกรรมของมนุษย์ (เจ้าของบ้าน) ไหลเวียนเป็นเนื้อเดียวกัน
“ทุกวันนี้กฏหมายของประเทศไทย พื้นที่ว่างของอาคารสำหรับที่พักอาศัยคือประมาณ 30% ซึ่งงาน AAd ในยุคหลังๆ พื้นที่สีเขียวต้องเกิน 100% ของพื้นที่ดินเดิม หมายความว่าถ้าเราทำบ้านหลายๆ หลังในเมืองหรือพื้นที่ต่างๆ เรากำลังสร้างระบบนิเวศให้เมืองหรือย่านนั้นๆ ไม่ใช่แค่เจ้าของบ้าน อันนี้คือภาพใหญ่”
Shade house ก่อสร้างเสร็จ 2020 (Photo Credit: AAd)
บ้านหลังแรกของ AAd ที่เริ่มก้าวสู่แนวคิดใหม่ของบริษัทซึ่งมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่สีเขียวให้มากที่สุดจนกลายมาเป็นมาตรฐานใหม่ให้กับงานต่อๆ มาในอนาคต โดยบ้านถูกออกแบบให้โดนพื้นที่สีเขียวกลืนหายไปในอนาคต เพื่อเป็นการลดบทบาทของการติดอยู่ในรูปลักษณ์อาคาร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ AAd หลุดพ้นจากการออกแบบบ้านเพื่อให้สวย แต่มุ่งเน้นการออกแบบคุณภาพชีวิตเป็นหลัก (อ่านบทความ Shade House เต็มๆ ได้ที่ https://bit.ly/2RCYKoh)
“ภาพย่อยในแง่ของผู้อยู่อาศัย เราพยายามสร้างระบบนิเวศ พยายามโฟกัสประสาทสัมผัสทั้ง 4 รูป รส กลิ่น เสียง ให้ปรากฏในสถาปัตยกรรม เพราะบางครั้งเรามักจะโฟกัสสถาปัตยกรรมด้วยความเป็นรูปอย่างเดียว คือความสวย ถ่ายรูปมาสวยโฉบเฉี่ยวลงหนังสือได้ แต่เราลืมประสาทสัมผัสอีกสามอัน ซึ่งผมมองว่าอันนั้นสำคัญกว่า เราจึงเริ่มทำงานที่คอนโทรลธรรมชาติมากขึ้น เราไม่ไปบังคับธรรมชาติ แต่เราอยู่ร่วมกันและนำธรรมชาติมาสร้างให้เป็นประโยชน์”
Monsoon House ก่อสร้างเสร็จ 2019 (Photo Credit: AAd)
บ้านถูกออกแบบโดยการคำนึงถึงเรื่องความอยู่สบายในภูมิอากาศแบบร้อนชื้นฝนตกชุก เนื่องจากตั้งอยู่ในจังหวัดตราดที่เป็นเขตของลมมรสุม (MONSOON) จึงต้องออกแบบให้สามารถรับแรงลม และป้องกันลมพายุได้เป็นอย่างดี มีการออกแบบควบคุมให้น้ำฝนปริมาณมากตกลงมาหลังคา โดยทำหลังคาเป็นสเต็ปบันไดหมุน เกิดเป็นความสวยงามใหม่ในงานสถาปัตยกรรม โดยไม่ใช่รูป เสียง กลิ่นที่สถาปนิกเป็นคนดีไซน์ แต่ปล่อยให้ธรรมชาติได้ทำหน้าที่
04 : พลังของสถาปัตยกรรมที่ตอบสนองคนเฉพาะกลุ่ม
หลังจากออกแบบบ้านมาถึงหลักร้อยหลัง ทำให้คุณอาร์ตเริ่มมองเห็นพฤติกรรมของเจ้าของบ้านซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่มีอะไรบอกเราได้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก เพียงแต่ถูกใจ เหมาะสม และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเจ้าของบ้านเท่านั้นก็คงเพียงพอ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้คุณอาร์ตมองว่าการออกแบบที่พักอาศัยเป็นเรื่องน่าสนุกและน่าจะเป็นอะไรได้มากกว่านั้น ปลายปีที่ผ่านมาจนถึง ณ ปัจจุบัน AAd จึงเลือกรับงานที่ค่อนข้างหลากหลายมากยิ่งขึ้น
“ปัจจัยเวลารับงาน คือ เราจะรับโปรเจกต์ที่มีความยากที่จะรับมือ ลูกค้าช่วงหลังๆ จึงมีความพิเศษมากขึ้น ผมยกตัวอย่างเช่น มีน้องคนหนึ่งโทรมาร้องไห้ อยากได้บ้านที่การอยู่อาศัยไม่ต้องคุยกับแม่เลย เราเลยกลับมามองว่างานสถาปัตยกรรมที่เราทำ ไม่ใช่แค่คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น ปฏิสัมพันธ์ของครอบครัวเขาต้องดีขึ้นด้วย อันนั้นคือพลังของงานสถาปัตยกรรมที่เราอยากทำ เพราะเราอยู่ในจุดที่เล็กที่สุดของสังคม คือเราออกแบบสถาปัตยกรรมเพื่อครอบครัว”
Speakless Listenmore ออกแบบ 2018 (Photo Credit: AAd)
บ้านที่ได้รับโจทย์จากเจ้าของบ้านว่าอยากได้บ้านที่ไม่ต้องคุยและเห็นหน้ากัน AAd พยายามทำหน้าที่เป็นตัวกลางโดยใช้งานสถาปัตยกรรมเข้าแก้ปัญหาในการใช้ชีวิตของสมาชิกในบ้าน แม้ว่าโจทย์จะเกิดจากการไม่ต้องการคุยกัน แต่เราสร้าง space เพื่อให้ฟังกันมากขึ้น ตัวบ้านถูกออกแบบให้เป็นกำแพงสูงเพื่อกั้นระหว่างสมาชิกทุกคนในครอบครัวให้ขาดออกจากกัน และตัว Detail ของผนังกำแพงทึบสามารถเอื้อให้เกิดการเปิดช่องว่างได้ในอนาคต
“หลังจากนั้นเราก็เริ่มรับงานใหม่ เรารับงานที่เจ้าของบ้านเป็นคนตาบอด เพราะฉะนั้นลืมทุกอย่างในสิ่งที่เราเคยรู้ เพราะเราคือคนตาดี เราจะเอาบ้านคนตาบอดมาให้คนตาดีตัดสินใจว่าสวยไม่สวยไปเพื่ออะไร เพราะเขาไม่สามารถมองเห็นความสวย แต่เขารับรู้ได้ นี่แหละคือความยากของสถาปัตยกรรมที่เราอยากทำ”
คุณอาร์ตเล่าถึงผลงานที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่าเพราะเหตุใดสถาปัตยกรรมสำหรับคนเฉพาะกลุ่มจึงทำให้คุณอาร์ตรู้สึกอินกับมันมากเป็นพิเศษ “ข้อดีของการรับงานแบบนี้ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราได้ความรู้จากลูกค้า ซึ่งไม่มีในบทเรียน สิ่งหนึ่งที่มีค่าที่สุดของงาน AAd คือ Know-How ที่ลูกค้าให้เรามา เราทำงานกับคนตาบอดได้ความรู้เรื่องความละเอียดอ่อนของเสียง มันเป็นผลพลอยได้ที่ทำให้เมื่อต้นปีที่แล้วเรามาทำงานกับนักเปียโนอาชีพคนหนึ่ง แล้วเอาความรู้ที่มีมาประยุกต์กันได้”
Rhythm house ออกแบบ 2020 (Photo Credit: AAd)
บ้านของนักเปียโนอาชีพชาวต่างประเทศ ซึ่งมีความละเอียดอ่อนด้านการรับรู้เรื่องเสียงเป็นอย่างมาก ตัวบ้านจึงถูกออกแบบให้มีการเล่นมิติของแสงและเสียงธรรมชาติเข้าไปในส่วนต่างๆ ของบ้าน พื้นที่คอร์ดในบ้านออกแบบเป็นช่องลมและเป็นตัวสะท้อนเสียง ทำให้เวลาที่เจ้าของบ้านเล่นเปียโน เสียงเพลงสามารถสะท้อนไปยังส่วนต่างๆ ของตัวบ้านได้ กลายเป็น Background Music ให้กับสมาชิกคนอื่นๆ
05: จิตวิญญาณและความละเอียดอ่อนของสถาปัตยกรรม
ในชื่อ AAd ที่หลายคนรู้จัก แท้จริงแล้วน้อยคนจะรู้ว่า AAd อยู่ภายใต้ชื่อ AAGroup อีกทีหนึ่ง ซึ่งคุณอาร์ตเองก่อตั้งบริษัทในชื่อ DIFF และ Core แยกออกมา โดยทั้งสามบริษัทอยู่ภายใต้ AAGroup ทั้งหมด โดย DIFF จะทำหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมที่ลงรายละเอียดเชิงลึก ในเรื่องของจิตวิญญาณและความละเอียดอ่อนของสเปซมากกว่าบ้านปกติทั่วไป
ECHO house ออกแบบ 2019 (Photo Credit: AAd)
บ้านที่สมาชิกภายในบ้าน 4 คน มีความเป็นส่วนตัวสูงมากๆ มีพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันมาก แต่ในขณะเดียวกันเป็นครอบครัวที่สนิทสนมกันมาก จึงถูกออกแบบโดยเน้นสเปซของการใช้สอยพื้นที่ภายในเป็นหลัก โดยห้องนอนทุกห้องจะไม่มีส่วนของผนังที่ติดกันเลย รวมถึงโถงบันไดได้รับการออกแบบเพื่อให้เป็นตัวสะท้อนเสียงฝีเท้าของสมาชิกทุกคนในบ้าน ทำให้สมาชิกทุกคนทราบความเคลื่อนไหวของสมาชิกคนอื่นๆ แม้ว่าจะไม่เห็นหน้ากันแต่สามารถรับรู้ได้ด้วยเสียง
สิ่งที่น่าสนใจคือแต่ละบริษัทต่างนำ Know-How ที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน ทำให้การออกแบบที่พักอาศัยสำหรับคุณอยุทธ์สนุกมากขึ้นไปอีก “เมื่อก่อนเราคิดอยากเป็นผู้นำของการออกแบบบ้าน ทุกวันนี้เราไม่อยากเป็นแล้ว การเป็นผู้นำหมายความว่าเราต้องเดินเส้นทางที่คนอื่นเดินและคนอื่นต้องเดินตามเรา แต่ตอนนี้เราอยากจะเดินทางที่คนไม่ได้เดินตามเรา ดังนั้นมันก็ไม่มีใครนำหรือไม่มีใครตาม”
“บ้านของน้องที่เป็นดาวน์ซินโดรม เจ้าของบ้านที่เป็นนักเปียโน และบ้านของน้องที่อายุ 4 ขวบ คือผู้อยู่อาศัยที่พิเศษ แต่ยังอยู่ภายใต้ AAd เพราะยังมีความเป็นบ้านอยู่ ต่างจาก DIFF ซึ่งจะทำเฉพาะผู้อยู่อาศัยพิเศษที่มีความเข้าใจในเรื่องของ Sense เรื่องของสเปซ และประสาทสัมผัสที่ไม่ได้เกี่ยวกับการมองเห็น ไม่ใช่แค่ความสวยงาม”
WL – Wind Light ออกแบบ 2019 ภายใต้บริษัท DIFF
บ้านที่เป็นจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นของบริษัท DIFF ซึ่งมีการใช้ผนังโครงสร้างเป็นคอนกรีตเปลือยสีดำผสมเม็ดหินหลากหลายขนาดเป็นพิเศษ เพื่อก่อให้เกิดระนาบของผนังขนาดใหญ่ และใช้ Span อาคารช่วงยาวเกือบทั้งหมด ช่วยป้องกันพายุทะเลทรายและก่อให้เกิดเงาให้กับตัวบ้านเพื่อลดความร้อน ตัวผิวของผนังคอนกรีตนี้จะมีผิวหยาบเพื่อให้เม็ดผงทรายถยึดเกาะได้ดี ทำให้ตัวผนังจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาที่มีลมพัดผิวทรายมาสัมผัสและเกาะ เกิดเป็นงานศิลปะที่เปลี่ยนได้ตามธรรมชาติและช่วงเวลา
“เราทำบ้านหลังหนึ่ง เป็นบ้านหนึ่งห้องนอน หนึ่งห้องนั่งเล่น หนึ่งสระว่ายน้ำ สร้างบนที่ดินเดิม ห้องนั่งเล่นสีดำหมด ห้องนั่งเล่นสีขาวล้วน ภูมิทัศน์ การออกแบบภายใน ทุกอย่างไหลเป็นเนื้อเดียวกัน เล่นจังหวะช่องแสง เล่นจังหวะของลม ฝน ถ้าสร้างเสร็จคนส่วนใหญ่ต้องมีคอมเมนท์แน่นอนว่า มันอยู่ไม่ได้ แต่เราออกแบบให้เจ้าของบ้าน ถ้าเจ้าของบ้านบอกว่านี่คือบ้านที่ดีที่สุดตั้งแต่เขาเคยเห็นมา นั่นคืออาชีพเรา เราไม่ได้ทำบ้านสาธารณะ แต่เรากำลังทำบ้านให้คนคนหนึ่งอยู่”
นอกจาก Diff และ AAd ที่ค่อนข้างมี Users ที่พิเศษ Core จะเริ่มกลับมาแทนที่ AAd เพื่อรับงานบ้านพักอาศัยที่มีขนาดเล็กลง เป็น users ทั่วไป และมีความ Commercial มากขึ้น
SLEAFORD ออกแบบ 2020 ภายใต้บริษัท DIFF
โครงการบ้านพักตากอากาศส่วนบุคคล เข้าถึงตัวบ้านด้วยท่าเรือส่วนตัวเท่านั้น เพื่อความเป็นส่วนตัวสูงที่สุดของผู้ใช้อาคาร โจทย์ในการออกแบบทางสถาปัตยกรรม เน้นรูปทรงของหลังคาที่ถูกประยุกต์มาจากเกลียวคลื่นของน้ำทะเล โดยมีชายคายาวและบางเสมือนเป็นภาพเส้นขอบฟ้าที่ตัดกันกับมวลของเกลียวคลื่น ทำให้เวลาเข้าถึงตัวอาคารจะมีมิติของความคล้ายและแตกต่าง โดดเด่นแต่กลมกลืนไปกับผิวน้ำ
06: เรียนรู้ ปรับตัว และเปลี่ยนแปลง
“จุดที่เป็นหัวใจหลักของ AAd คือ คุณภาพชีวิต การใช้สอย การสร้างไลฟ์สไตล์ การสร้างสิ่งที่ลูกค้าคิดไม่ถึงให้เกิดขึ้นในชีวิตของเขา การออกแบบบ้านของ AAd ไม่ได้ดีทุกหลัง แต่ข้อบกพร่องที่เราเจอเหล่านั้น คือสิ่งที่เราต้องพัฒนา เราเอา know-how ของทุกคนมาประยุกต์ให้เหมาะกับลูกค้าคนใหม่ อันนี้คือผลลัพธ์ที่อยากให้โฟกัส มากกว่ารูปร่างหน้าตาของ AAd”
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คุณอาร์ตยังคงทำงานออกแบบที่พักอาศัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการมองหาภูเขาลูกใหม่สำหรับตนเองและทีมอยู่เสมอ การเรียนรู้ ปรับตัว และมองหาสิ่งใหม่ตลอดเวลาจึงเปรียบเสมือนจุดแข็งหนึ่งที่ทำให้ AAd ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและมุ่งหวังพัฒนาบ้านพักอาศัย ที่ให้อะไรกับผู้อยู่อาศัยมากกว่าเพียงแค่ความสวยงาม
ความสุขที่ได้เห็นรอยยิ้มเจ้าของบ้าน อาชีพที่ช่วยพัฒนาชีวิตคนคนหนึ่งให้ดีขึ้นได้ งานออกแบบที่เปลี่ยนความทุกข์ให้กลายเป็นความสุข สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต่างเติมเต็มความหมายทางสถาปัตยกรรมให้กับคุณอาร์ต สร้างเส้นทางชีวิตของบริษัทสถาปนิกที่มีชื่อว่า ‘AAd’