หากการออกแบบสถาปัตยกรรมและบ้านเป็นงานศิลปะแขนงหนึ่งที่มีกลไกคือ ‘สถาปนิก’ ผู้ทำหน้าที่ออกแบบ สร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้กับ ‘ผู้อยู่อาศัยหรือผู้ใช้งาน’ การออกแบบคอนเสิร์ตสักงานหนึ่งก็เป็นงานศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่ต้องอาศัย ‘นักออกแบบคอนเสิร์ต’ มาสร้างบรรยากาศและมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับ ‘ผู้ชม’ และ ‘ศิลปิน’
คุณพล หุยประเสริฐ คือหนึ่งในบุคคลที่เรากล่าวถึง หลังจากที่เรามีโอกาสไปเยี่ยมชมผลงานใหม่ล่าสุดของคุณพลอย่าง BOWKYLION x H.U.I The Forest Exhibition วันนี้เราจึงขอข้ามสายมาพูดคุยกับนักออกแบบคอนเสิร์ตในแวดวงการเพลงที่น้อยคนนักจะรู้ ว่าเบื้องหลังกว่าจะออกมาเป็นคอนเสิร์ตที่สร้างบรรยากาศให้เราอินไปกับเสียงเพลง ต้องอาศัย ผู้ทำหน้าที่ดีไซน์เวที ความตื่นตาของแสงสี รวมถึงกราฟิกต่างๆ เพื่อช่วยหลวมรวมองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ให้เกิดเป็นประสบการณ์การดูคอนเสิร์ตที่ผู้ชมล้วนติดตาติดใจไม่รู้ลืม
คุณพล หุยประเสริฐ -นักออกแบบคอนเสิร์ต เจ้าของบริษัท H.U.I
จากนิสิต Industrial design ผู้รักงานดนตรี สู่นักออกแบบคอนเสิร์ตในยุคปัจจุบัน
“ย้อนกลับไปตอนที่เราเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขา Industrial design ที่จุฬาฯ จะทำโปรดักต์ สเกลจะเล็ก ดังนั้นวิธีการทำงานจะศึกษาความเป็นมนุษย์เยอะว่า เขาชอบอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร คล้ายกับ Experience Design ซึ่งตอนนั้นเราเรียนหลากหลายมาก ประมาณ 5 อย่างทั้งเรียนทอผ้า ทำเซรามิก โฆษณา อินทีเรีย โปรดักต์ พอเรียนจบก็มาเปิดบริษัททำโปรดักชันทั่วไป มันก็ไม่ได้แย่นะ แต่เรามองว่า พอเราทำสี่ห้าอย่าง เราไม่สามารถควบคุมบริษัทให้ดีในทุกๆ อย่างพร้อมกันได้ ตอนนั้นชีวิตเลยต้องเลือกงานสักประเภทหนึ่ง เลยเลือกสิ่งที่คิดว่าเราจะเบื่อมันน้อยที่สุด คือดนตรี ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่เราชอบมาตั้งแต่เด็ก”
ความชื่นชอบในเสียงดนตรี และสิ่งที่ได้เรียนรู้ในด้าน Industrial design จึงหล่อหลอมให้คุณพลเป็นคนที่ชอบศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ และนำตัวเองเข้าสู่วงการคอนเสิร์ต เขาเริ่มมีโอกาสออกแบบเบื้องหลังทีละเล็กทีละน้อย ตั้งแต่การจัดไฟ ฉาก ไปจนถึงเริ่มมีการพูดคุยกับศิลปิน จนสามารถดีไซน์คอนเสิร์ตได้ทั้งหมด
นอกจากการทำงานบนพฤติกรรมของมนุษย์ อีกเรื่องที่คุณพลได้จากการเรียน Industrial Design คือกระบวนทางอุตสาหกรรม การผลิตอย่างเป็นระบบจนเกิดเป็นโปรดักต์หนึ่งชิ้น ทั้งความตื่นเต้นกับการได้เห็นหน้าศิลปินตัวเป็นๆ บรรยากาศสุดดราม่าจากเพลงเศร้า หรือความสนุกสุดเหวี่ยงไปกับเพลงเร็วมันส์ๆ อารมณ์ต่างๆ ที่เรารู้สึกล้วนเป็นธรรมชาติของคอนเสิร์ต คุณพลนำวิธีการคิดที่เรียนมาใช้ในการออกแบบบรรยากาศ รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ภายในงานร่วมกับศิลปิน เพื่อพาให้ผู้ชมรู้สึกเข้าถึงอารมณ์ และประสบการณ์ใหม่ๆ ไปพร้อมกัน
นักออกแบบคอนเสิร์ต ผู้สร้างประสบการณ์และความรู้สึก
แน่นอนว่า การออกแบบที่พุ่งตรงไปที่ความรู้สึกของมนุษย์ ย่อมเป็นสิ่งที่จัดการได้ยาก การเลือกใช้องค์ประกอบต่างๆ ที่ทำให้ผู้ชม ‘รู้สึก’ ร่วมไปกับบรรยากาศจึงเป็นเรื่องพิถีพิถันที่คุณพลต้องคิดและออกแบบอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เข้าใจในตัวเพลง ศิลปิน พร้อมกับเข้าใจกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าชมอย่างชัดเจน
“สมมติถ้าเราจะทำคอนเสิร์ต The Toys เราต้องมาดูว่าโปรดักต์นี้มีคาแรกเตอร์อะไร เราต้องกลับไปค้นคว้า หาข้อมูล สิ่งแรกที่ต้องทำคือ Mood Board คาแรกเตอร์ ทอยคืออะไรในคนดู คนดูเห็นทอยเป็นอย่างไร ทอยมีมุมเท่นะ แต่ก็มีความกวนเล็กๆ เราต้องทำคาแรคเตอร์ของทอยมาก่อนเพื่อจะหากรอบการออกแบบของเรา”
อันดับต่อไปที่ต้องทำความเข้าใจคือ ‘ผู้ชม’ ซึ่งจะมีการทำ Audience Target เพื่อให้รู้ว่าคนดูคอนเสิร์ตของศิลปินนั้นเป็นใคร และประสบการณ์แบบใดที่จะเหมาะกับคนกลุ่มนั้นๆ เมื่อเข้าใจผู้ชม จึงเริ่มเข้าสู่กระบวนการหาสถานที่ในการจัดงาน เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศและความคุ้มค่า ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ที่เรากล่าวไปข้างต้น ล้วนเป็นขั้นตอนของการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ทีมออกแบบเข้าใจก่อนว่าขอบเขตหรือเพดานในการออกแบบนั้นไปได้ถึงแค่ไหน
หลังจากได้ฐานข้อมูลที่ต้องการ ขั้นตอนสำคัญจึงเป็นการเริ่มออกแบบ มองหาแนวคิดหลัก ความตั้งใจในการสื่อสารคอนเสิร์ตให้กับคนดู จากนั้นคุณพลจึงเริ่มวาง Storyline ให้กับศิลปิน เพลงที่คนดูชอบเป็นพิเศษ เพลงที่โชว์ได้ หรือเพลงที่ศิลปินอยากจะร้อง “เพลงมันสามารถสร้างมวลอารมณ์ได้เยอะ เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจเพลงก่อน เหมือนเราเข้าใจเครื่องปรุงเรา เครื่องปรุงเราแต่ละอันมันมีความหมายอะไร คนดูรับรู้เพลงนี้แบบไหน เขารู้สึกอย่างไร เช่น ถ้าเราให้พี่ตูนร้องเพลงฮึกเหิมแล้วคนดูจะฮึกเหิม ตรงนี้เราเรียกว่าเป็นสูตรหลักหรือเป็นส่วนเนื้อ ที่เหลือที่จะเป็นกลิ่น เช่น สี แสง กราฟิก ที่จะเติมให้เครื่องปรุงนั้นมันหอมขึ้น หวานขึ้น หรือต้องการรสเค็ม”
เมื่อเพลงและศิลปินคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ผู้ชมตัดสินใจที่จะมาดูคอนเสิร์ตนั้นๆ ขั้นตอนการเรียงเพลงหรือวาง storyline ให้กับศิลปินจึงมาเป็นอันดับหนึ่งในการออกแบบคอนเสิร์ต ส่วนแสง สี เสียง โปรดักชันต่างๆ เป็นเพียงส่วนขยายที่มาเติมเต็มให้บรรยากาศนั้นสมบูรณ์ “เราไม่รู้หรอกว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่ดี แต่คนดูจะเป็นคนบอกเราเองว่าสิ่งที่เราคิดมา มันถูกหรือผิด”
การออกแบบคอนเสิร์ตสู่การออกแบบ Exhibition
“เราเห็นเอ็มวีของ Blackpink ที่เขาเต้นกัน คือฉากสวยมาก น่าจะลงทุนหลายล้าน เราเลยแอบคิดว่าถ้าเก็บไว้ต้องมีคนลงทุนบินมาเพื่อถ่ายรูปกับสิ่งนี้แน่เลย เราเลยรู้สึกว่า Art Design ตรงนี้มันมีคุณค่าอยู่ ทำไมเราไม่หาทางทำให้คุณค่าของศิลปะวงการนี้ มันโตในพื้นที่ของมัน ไม่ต้องไปเกาะอยู่กับ Music อย่างเดียว”
ด้วยความอยากถอยจากงานคอนเสิร์ตออกมาลองค้นหาสิ่งใหม่ๆ สำหรับวงการเพลง ประกอบกับสถานการณ์โควิดที่ทำให้งานคอนเสิร์ตต้องเลื่อนหรือพักออกไป คุณพลจึงมีโอกาสได้ลองทำ Art Exhibition ร่วมกับค่ายเพลง What The Duck ซึ่งเป็นการผสมผสานศิลปะหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Music, Installation Art, Visual Design, Lighting Design หรือ Flora Art โดยพื้นที่ทั้งหมดถูกรังสรรค์ผ่านแรงบันดาลใจจากเพลง ‘เจ้าป่า’ จากศิลปินยุคใหม่ที่หลายคงต้องคุ้นชื่ออย่าง BOWKYLION
“ถ้าพูดถึง Exhibition คือเราอยากทำมานานแล้ว รู้สึกอยากทำโปรเจกต์อะไรบางอย่างที่ออกมาจากเรา เพราะเราทำงานมาเป็นสิบปี เรารู้ว่าคาแรกเตอร์ของศิลปินต้องประมาณนี้ คนดูถึงจะโอเค มันเลยมีช่วงหนึ่งที่เราถามตัวเองว่า แล้วคาแรกเตอร์ของเราล่ะคืออะไร ความชอบคืออะไร ถ้าสมมติไม่มีกรอบมาให้เราเลย ผลงานที่เราทำจะออกมาเป็นอย่างไร”
“สำหรับ Exhibition ที่เรากำลังเริ่มขยับไป เราว่าวิธีคิดมันต่างกับการออกแบบคอนเสิร์ตค่อนข้างเยอะนะ เหมือนคล้ายๆ คณะสถาปัตยกรรม สาขา Industrial Design กับคณะศิลปกรรม ถึงแม้โปรดักต์อาจจะออกมาเหมือนกัน เช่นทำเฟอร์นิเจอร์ แต่พี่ว่ามันไปคนละแนวทางกัน อย่างงานออกแบบ Exhibition เราจะเปลี่ยนจากการคิดแบบ Industrial มาเป็นแบบศิลปกรรมมากขึ้น” การออกแบบ Exhibition ที่ว่านี้ ไม่เพียงแต่ผู้เข้าชมเท่านั้นที่รู้สึกแปลกใหม่ แต่สำหรับคุณพลเอง ก็ค่อนข้างเป็นผลงานที่ท้าทาย ได้ทดลองสิ่งใหม่ผ่านกระบวนการคิดที่แตกต่าง
The Forest Exhibition นิทรรศที่มีคำว่า ป่า แต่ไม่ได้พูดถึง ป่า
“โปรเจกต์นี้เริ่มมาจากการที่โบกี้อยากให้เราทำเอ็มวีเพลง ซึ่งเราทำไม่ได้ เราทำไม่เป็น เราก็เลยขอทำในแบบที่เราอยากทำแล้วกัน เขาก็เปิดให้เราทำ เราก็ไปฟังเพลงเจ้าป่า แล้วเราพบว่ามันไม่เกี่ยวกับป่า แต่มันเกี่ยวกับตัวคนเขียน เราเห็นคนกำลังส่องกระจกแล้วกำลังร้องเพลงให้ตัวเองหนึ่งเพลง พอเนื้อเพลงมันพูดถึงอารมณ์ของชีวิต แล้วก็การให้กำลังใจตัวเอง เราก็เลยอยากทำ Exhibition ที่พูดเรื่องกายและจิต ผ่าน symbolic ของคำว่าป่า คล้ายๆ คนเขียนเพลงที่เขาจบด้วยคำว่าเจ้าป่า ซึ่งคำว่าเจ้าป่าสำหรับพี่ คือ ความสมดุลของกายและจิต ที่อยู่ด้วยกันและไปพร้อมกัน”
คุณพลถ่ายทอดความเป็นร่างกายของมนุษย์ผ่านป่า ซึ่งถูกออกแบบขึ้นด้วยสิ่งของปรุงแต่งที่ไม่จริงอย่าง ท่อกระดาษ หรือดอกไม้พลาสติก ส่วนจิตใจที่เป็นแก่นของงานดีไซน์ถูกออกแบบจากของออร์แกนิคอย่างดอกไม้และใบไม้จริง โดยป่าทั้งหมดที่เราเห็นถูกแบ่งเป็นความรู้สึก 7 อารมณ์ ซึ่งได้แก่ ความสุข ความเติบโต ความเศร้า ความทุกข์ทรมาน ความโกรธ ความอ่อนโยน และความสงบ
หลังจากที่ได้แนวคิดหลักเรื่องอารมณ์และป่าคร่าวๆ แล้ว คุณพลจึงนำอารมณ์เหล่านั้นมาตีความเป็นภาพและฟอร์มที่เข้าใจได้ง่ายมากขึ้น ผ่านการเลือกใช้ดอกไม้ ใบไม้ แสง สี รูปทรง เพื่อให้ผู้เข้าชมมีอารมณ์ร่วมไปกับสิ่งที่ผู้ออกแบบต้องการสื่อ
(อ่านแนวคิดงาน Exhibition เต็มๆ ได้ที่ https://bit.ly/3c0HhPG )
ความสนุก คือ ความใหม่
“ทุกวันนี้ ความยากของการคอนเสิร์ตสำหรับเราคือ เราเคยทำคอนเสิร์ตที่ประสบความสำเร็จมาหลายงาน เรากดดันตัวเองว่าทำอย่างไรให้มันดีเหมือนงานที่ผ่านๆ มา แต่งาน Exhibition มันยากตรงที่ว่า เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแบบไหนคือดีแล้ว เราไม่รู้อะไรเลย แต่ความสนุกของมันคือความใหม่นี่แหละ ได้ลองผิดลองถูกประมาณหนึ่ง และเป็นสิ่งที่เราอยากทำ อยากลองมานานแล้ว เอาตรงๆ ว่าทำงานชิ้นนี้เสร็จ เราก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเจ๋งอะไรนะ แต่เราแค่รู้สึกดีใจที่มันเป็นก้าวแรกที่เราได้เริ่มเดิน”
“โควิดมันช่วยหลายๆ อย่างเยอะเหมือนกัน อย่างเช่น วงการคอนเสิร์ตจะชัดตรงที่ว่า คนดูเริ่มให้ค่ากับการมาดูไลฟ์สด บ่นว่าการดูออนไลน์ไม่ได้อารมณ์เลย ดังนั้นตรงนี้มันเริ่มมีค่าขึ้นมา คนเริ่มเข้าใจว่าจ่ายค่าบัตรไปพัน สองพัน เพราะอะไร Exhibition ในมุมของเรา ต่อไปมันก็ควรจะมีคุณค่าของตัวมันเองได้มากขึ้น เราควรจะทำ Art & Design ที่คนสามารถมาชมและอาจจะต้องจ่ายเงินบ้าง เพราะเรามองว่าการจ่ายเงินเป็นการโชว์ว่ามันมีค่าพอ ซึ่งโมเดลที่เราทำอยู่นี้ มันก็เผื่อให้เห็นว่า งานศิลปะมันมีคุณค่าบางอย่างที่ชวนให้เรามาดูที่นี่ ซึ่งถ้าใครก็ได้มาทำให้วงการนี้มันโตขึ้นไปเรื่อยๆ เราเชื่อว่ามันน่าจะสร้างคุณค่าของงาน Creative Thinking ได้มากขึ้น”
หลังจากได้มีโอกาสคุยกับคุณพลถึงเบื้องหลังการออกแบบ เราคงต้องยอมรับว่า การดูคอนเสิร์ตคงจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นอกจากความสนุก ความรู้สึกอินไปกับบทเพลงและบรรยากาศที่ชวนให้เราเคลิ้มไปตามอารมณ์ของศิลปิน การออกแบบคอนเสิร์ตเปรียบเสมือนงานศิลปะแขนงหนึ่งที่เฝ้ารอให้ผู้คนได้เข้าไปเชยชม แสง สี กราฟิกน่าตื่นตาตื่นใจที่ออกแบบผ่านกระบวนการคิดมาอย่างละเอียดละออ ซึ่งคงจะดีไม่น้อย หากผลงานเหล่านี้ กลายเป็นสิ่งที่คนไทยหันมาให้ความสำคัญ เพื่อต่อยอดให้วงการศิลปะในประเทศไทยมีคุณค่ามากขึ้น
ขอบคุณภาพโปรเจกต์จาก : H.U.I. Concert Production & Live Entertainment Design
Photographer: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์