จากแนวคิดขยับขยายบ้านของครอบครัวใหญ่ สู่บ้านหลังเล็กในวัยเกษียณของคุณพ่อคุณแม่วัย 78 ปีในชื่อ ‘บ้านป๊าม๊า’ บ้านทรงกล่องสีขาวแสนเรียบง่ายหลังนี้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของคนในครอบครัว สร้างปฏิสัมพันธ์ รวมถึงนำความชื่นชอบและความสุขของคนในบ้านร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างอบอุ่น ในการออกแบบได้ฝีมือลูกชายอย่างคุณภพ -ศีลวัตร อารักษ์เวชกุล สถาปนิกจาก AplusCon Architects มาเป็นผู้เปลี่ยนโฉมบ้านเก่าชั้นเดียวในย่านพัฒนาการให้กลายเป็นบ้านใหม่ที่รองรับไลฟ์สไตล์และความชื่นชอบของคุณพ่อคุณแม่ ผ่านการออกแบบในพื้นที่จำกัด งบประมาณที่จับต้องได้ จนอาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกว่า ‘การมีบ้านของตัวเองสักหนึ่งหลังอาจจะไม่ได้ยากอย่างที่คิด’
คุณภพ -ศีลวัตร อารักษ์เวชกุล สถาปนิกจาก AplusCon Architects
บ้านกระทัดรัด แสนอบอุ่นของคุณพ่อคุณแม่
ด้วยความที่เดิมทีคุณพ่อคุณแม่เปิดร้ายขายยาอยู่ที่จังหวัดสระแก้ว และต้องคอยไปมาระหว่างกรุงเทพฯ-สระแก้วอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ลูกๆ มองไปถึงช่วงชีวิตหลังวัยเกษียณ โดยต้องการให้คุณพ่อคุณแม่วัย 78 ปีย้ายมาพักอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ถาวร เพื่อให้เกิดการใกล้ชิดกับครอบครัว ดูแลกันได้ง่าย ผ่านการไปมาหาสู่จากบ้านซึ่งอยู่ในซอยละแวกเดียวกันทั้งหมด
ถัดจากบ้านของลูกชายเพียงไม่กี่หลัง เราจะพบกับบ้านเก่าชั้นเดียวที่ถูกแปลงโฉมใหม่ทั้งพื้นที่ภายใน และภายนอก จนเกิดเป็นบ้านทรงกล่องสีขาว ที่มีการจัดการสเปซภายในที่เรียบง่าย อบอุ่นในแบบบ้านๆ และตรงตามความต้องการอย่างตรงไปตรงมา
เนื่องด้วยขนาดที่ดินที่มีเพียง 50 ตารางวาทำให้บ้านหลังนี้มีฟังก์ชันหลักตรงตามความต้องการของบ้านทั่วๆ ไป อย่างเช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องน้ำ แต่สิ่งที่ทำให้บ้านป๊าม๊าพิเศษกว่าบ้านหลังอื่นๆ คือบทบาทของบ้านซึ่งรับหน้าที่เป็นหัวใจของครอบครัว ญาติที่อาศัยอยู่ในละแวกนี้จะมานั่งรับประทานอาหารร่วมกันเป็นประจำ หรือมีการพบปะ แวะเวียนมาพูดคุย เยี่ยมเยียนคุณพ่อคุณแม่ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นบรรยากาศที่ช่วยเติมเต็มให้บ้านสีขาว เรียบ นิ่ง อบอวลไปด้วยความอบอุ่นของความเป็นครอบครัว
ออกแบบบ้านแบบเฉพาะเจาะจงผู้อยู่อาศัย
“ความจริงมันคงไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการออกแบบบ้านแต่ละหลัง ถ้าเกิดเราออกแบบบ้าน เจ้าของบ้านน่าจะเป็นส่วนสำคัญของงานดีไซน์นั้นๆ มันต้องมีความเป็นตัวของเขามากกว่าเป็นลายเซ็นของผู้ออกแบบ อย่างบ้านหลังนี้เราก็เอาความชอบของป๊ามาใช้ เราเอาสิ่งที่ม๊าอยากได้มาผสมผสานให้เกิดเป็นบ้านของเขา ส่วนเรื่องอื่นๆ มันอยู่ในสิ่งที่สถาปนิกต้องทำอยู่แล้ว อย่างการอยู่สบาย แสงธรรมชาติ หรือระบายอากาศได้ดี” คุณภพ สถาปนิกกล่าว
เมื่อโจทย์ของบ้านออกแบบเพื่อการอยู่อาศัยของคุณพ่อคุณแม่ซึ่งมีอายุมาก อันดับแรกสถาปนิกจัดการสเปซโดยให้ห้องนอนของคุณพ่อคุณแม่อยู่บริเวณชั้นหนึ่งและมีห้องน้ำในตัว เพื่อไม่จำเป็นต้องใช้บันไดเดินขึ้นลง ช่วยลดอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนบริเวณช่องเปิดอย่างบานประตู สถาปนิกออกแบบให้มีขนาดกว้างประมาณ 1 เมตรเกือบทั้งหมด เพื่อรองรับการใช้งานของวีลแชร์ในอนาคต เอื้อต่อการใช้งานและการอยู่อาศัยในระยะยาว
Dtips: การออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุ ควรคำนึงถึงอะไรบ้าง?
1.เลือกวัสดุปูพื้นภายในบ้าน โดยคำนึงถึงคุณสมบัติที่ช่วยกันลื่น หรือมีค่า R มากกว่า 10 ขึ้นไป
2.ขนาดของประตูหรือบานเปิดที่รองรับการเข็นเข้าออกของวีลแชร์ได้อย่างสะดวก ซึ่งควรมีความกว้างสุทธิไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร
3.ขนาดและตำแหน่งของเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน อย่างเช่น ตู้ เตียง โต๊ะ หรือเก้าอี้ ควรอยู่ในตำแหน่งที่ผู้สูงอายุสามารถหยิบใช้ได้สะดวกโดยไม่จำเป็นต้องใช้แรงเยอะ หรือมีขนาดเหมาะสมที่วีลแชร์สามารถเข้าถึงได้สะดวก
4.ติดตั้งราวจับในจุดต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ
5.ออกแบบเรื่องแสงสว่างภายในบ้านให้เพียงพอ เพื่อให้ผู้สูงอายุมองเห็นได้ง่าย ลดการเกิดอุบัติเหตุ
เพื่อตอบรับกับนิสัยคุณแม่ที่รักการทำอาหารและขนมเป็นชีวิตจิตใจ คุณภพจึงออกแบบโดยให้ความสำคัญกับห้องครัวเป็นหลัก เพื่อให้ครัวสามารถใช้งานได้จริง มีขนาดที่เหมาะสม สามารถวางเตาอบขนม และทำอาหารไทยได้อย่างสะดวกสบาย โดยพื้นที่ครัวจะเชื่อมต่อเข้าสู่ส่วนรับประทานอาหารซึ่งเป็นพื้นที่ใจกลางบ้านที่ทำหน้าที่เป็นตัวแจกสเปซไปยังพื้นที่อื่นของบ้าน อย่างห้องนอนคุณพ่อคุณแม่ ห้องนั่งเล่น ห้องน้ำ รวมไปถึงบันไดทางเดินขึ้นสู่ชั้นสองแทนที่ห้องนั่งเล่นแบบบ้านทั่วๆ ไป
เมื่อขึ้นมาถึงบริเวณชั้นสอง เราจะพบกับพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดให้เป็นมุมพักผ่อนเล็กๆ ของบ้าน ก่อนจะแจกเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัวอย่างห้องนอน และส่วนห้องซักรีดซึ่งจะอยู่ในตำแหน่งที่เปิดให้ลมและแสงธรรมชาติส่องถึงโดยตรง
แปลนบ้านป๊าม๊าชั้น 1 และชั้น 2 (photo credits : AplusCon Architects)
หลังจากที่ได้สเปซตามความต้องการของคุณแม่ ผู้ออกแบบยังนำความชื่นชอบของคุณพ่อมาผสมผสานในการออกแบบผ่านการใช้ไม้เก่า ซึ่งเป็นของสะสมจากบ้านเก่าในจังหวัดสระแก้วของคุณพ่อมานานแล้ว ‘ไม้’ จึงเข้ามาเป็นส่วนผสมที่ขับเสน่ห์ของความเป็นบ้านเอาไว้อย่างอบอุ่น ทั้งพื้นระเบียงบริเวณคอร์ดหน้าบ้าน โต๊ะรับประทานอาหาร และระเบียงหลังบ้าน คุณภพใช้ไม้เก่าของคุณพ่อทั้งหมดโดยคงสภาพผิวที่ผ่านการใช้งาน เพื่อให้คุณพ่อรู้สึกได้ถึงความชื่นชอบในสิ่งที่ตนเองสะสมไว้ พร้อมแทรกความรู้สึกถึงความเป็นบ้านต่างจังหวัดตามที่คุณพ่อคุณแม่คุ้นชิน
สวยแบบง่ายๆ อยู่สบายในพื้นที่จำกัด
เนื่องจากบ้านตั้งอยู่บนที่ดินแปลงขนาดเล็กเพียง 50 ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ค่อนข้างติดกับอพาร์ทเมนท์และออฟฟิศที่อยู่ด้านข้าง สถาปนิกจึงออกแบบเพื่อให้ได้พื้นที่ที่คุ้มค่าที่สุด โดยเว้นระยะร่นรอบที่ดิน 1 เมตรตามกฏหมายการก่อสร้างอาคาร และออกแบบกรอบของบ้านด้วยการใช้ผนังทึบเป็นส่วนใหญ่ โดยเลือกเปิดพื้นที่ตรงกลางบ้านให้เป็นระเบียง และคอร์ดยาร์ดเพื่อรับแสงธรรมชาติเข้าสู่บ้าน สร้างความโปร่ง โล่ง รวมถึงเปิดให้อากาศถ่ายเทได้บ้างสำหรับบ้านที่มีพื้นที่จำกัด
ส่วนหน้าตาอันเรียบง่ายของบ้าน ผู้ออกแบบเลือกใช้โทนสีสว่างอย่างสีขาวเป็นหลัก เพื่อทำให้บ้านดูสว่าง สะอาดตา น่าอยู่ และเหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุที่ต้องการความสะดวกสบายและปลอดภัย
ถึงพื้นที่ดินจะมีขนาดจำกัด แต่การจัดสรรพื้นที่สำหรับบ้านป๊าม๊า ก็ถือว่าตอบสนองความต้องการของทั้งคุณพ่อ คุณแม่และครอบครัวได้ครบถ้วนแบบกำลังพอดี ด้วยพื้นที่ใช้สอย 300 ตารางเมตร และใช้งบประมาณในการก่อสร้างเบ็ดเสร็จทั้งหมดประมาณ 8 ล้านบาท สำหรับใครที่กำลังเริ่มต้นมองหา บ้านของตัวเองสักหนึ่งหลัง บ้านป๊าม๊าก็อาจจะเป็นตัวอย่างของบ้านที่จัดสรรพื้นที่ และงบประมาณ ในที่ดินเขตเมืองได้อย่างลงตัวไม่น้อยเลยทีเดียว
Dtips: หากต้องการควบคุมงบประมาณในการสร้างบ้านสักหนึ่งหลัง อาจจะลองคำนึงถึงขนาดพื้นที่ใช้สอยให้เหมาะสมกับจำนวนผู้อยู่อาศัย เลือกแบบบ้านให้เหมาะสมกับขนาดที่ดิน รวมถึงเลือกวัสดุที่พอเหมาะและพอดี เพื่อคุมงบประมาณให้อยู่ในจำนวนที่เรารับไหว แต่อย่าลืมสำรองเงินอีกประมาณ 5-10% เผื่อสำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่เราไม่ได้คาดคิด
Location : พัฒนาการ 50 สวนหลวง กรุงเทพฯ
Gross Built Area : 300 ตารางเมตร
Total Budget: 7-8 ล้านบาท
Owner : วีรพัฒน์ และสุพัตรา อารักษ์เวชกุล
Architect : ศีลวัตร อารักษ์เวชกุล จาก AplusCon Architects
Photographer : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์