OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

“ปันสุข” ผ่านสถาปัตยกรรมและงานออกแบบอย่างไรให้ยังเป็นตัวเอง? คุยกับนักออกแบบ 4 สาขา บทนำก่อนการมาของงาน ACT FORUM ’20 Design + Built

เพราะความสุขของคนเรานั้นล้วนต่างกัน และเชื่อว่าหนึ่งในความสุขภายใต้บทบาทวิชาชีพสถาปนิกนั้น คือ สุขที่ได้แบ่งปันผ่านสถาปัตยกรรมและการออกแบบที่ดี

ชวนคุยกับสถาปนิกและนักออกแบบทั้ง 4 สาขา อย่าง ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ (Vin Varavarn Architects Ltd.), คุณอู๋ ภฤศธร สกุลไทย (PIA Interior Co., Ltd.), คุณซี กิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา (Shma Soen Co., Ltd.), คุณฟิวส์ นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย และคุณโจ ดลพร ชนะชัย (Cloud-floor Co., Ltd.) กับมุมมองการปันสุขผ่านขอบเขตของสถาปัตยกรรมในหัวข้อ “สถาปนิกปันสุข”

ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิก จาก Vin Varavarn Architects Ltd.

เราจะปันสุขให้กันและกัน ผ่านงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมได้อย่างไร ?

ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกจาก Vin Varavarn Architects Ltd. ได้กล่าวถึงการปันสุขอย่างตรงไปตรงมาว่า “คำว่าปันสุขนั้นอาจหมายถึงว่า ตัวเราเองนั้นต้องมีความสุขเป็นทุนเดิมอยู่แล้วก่อนที่จะนำไปแบ่งปันให้ผู้อื่น และเราไม่ควรเข้าไปปันสุขในฐานะของผู้เสียสละ เพราะผมมองว่านั่นอาจไม่ใช่การปันสุขที่แท้จริง เราควรเข้าไปแบ่งปันหรือช่วยในความรู้สึกที่สนุก มีความสุขที่ได้ไปทำงานร่วมกับเขา ถ้าเราเข้าไปใน Direction ของผู้ให้หรือผู้เสียสละเมื่อไหร่ ผมว่าตรงนี้เราอาจเข้าไปใน Direction ที่ผิดพลาด ส่วนนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการปันสุขที่สำคัญในมุมของผมนะ”

“และในฐานะของสถาปนิกธรรมดาทั่วไปคนหนึ่ง จริงๆ ผมมองว่า สถาปัตยกรรมทุกๆ โปรเจ็กต์ที่พบเห็นนั้นก็สามารถเอื้อให้แก่ผู้คนบนท้องถนนได้หมด เช่น การเผื่อแผ่ภูมิทัศน์อย่าง Green Space สวยๆ นั่นก็เป็นหนึ่งในการแบ่งปันที่ช่วยให้บรรยากาศในระแวกนั้นหรือย่านนั้นๆ ดีขึ้นมาแล้ว

คุณฟิวส์ นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย และคุณโจ คุณดลพร ชนะชัย สถาปนิกและนักออกแบบ จาก Cloud-floor Co., Ltd.

สำหรับ คุณฟิวส์ นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย และ คุณโจ ดลพร ชนะชัย สถาปนิกและนักออกแบบผังเมือง จาก Cloud-floor Co., Ltd. ได้กล่าวถึงเรื่องของการปันสุขไปในแง่มุมของการปันความรู้ผ่านรูปแบบของสายวิชาชีพเสียมากกว่าว่า “บทบาทของสถาปนิก คือผู้ที่ใช้ความรู้และความสามารถในการออกแบบเชิงสถาปัตยกรรมกายภาพ เพื่อที่จะทำให้มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เราออกแบบ มีสุขภาวะทางกายและใจที่ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักที่นักออกแบบสามารถมอบให้กับสังคมผู้อยู่อาศัยได้”

“อีกทั้งในการทำงานที่ผ่านมา พวกเราเองก็ได้พยายามคิดถึงมิติที่สองที่จะช่วยแชร์ประสบการณ์การใช้งานบนพื้นที่ต่างๆ ให้กับผู้ที่ไม่มีโอกาสเข้ามาใช้งานในพื้นที่นั้นๆ ร่วมด้วย อย่างผู้ที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด หรือชุมชนที่อยู่ห่างไกลบนดอย แน่นอนว่าหากการทำงานในมิติที่สองสามารถช่วยเสริมการแก้ปัญหาเรื่องของโอกาสการใช้งานแต่ละพื้นที่ได้ดี ก็จะเป็นการปันสุขที่ไม่ใช่แค่ปันในเชิงพื้นที่นั้นๆ เพียงอย่างเดียว”

คุณอู๋ ภฤศธร สกุลไทย สถาปนิกออกแบบภายใน จาก PIA Interior Co., Ltd

ทิศทางของสถาปัตยกรรมที่ควรจะเป็นในวันนี้ ควรเป็นอย่างไร ?

คุณอู๋ ภฤศธร สกุลไทย สถาปนิกออกแบบภายในจาก PIA Interior Co., Ltd. เล่าว่า “ส่วนตัวผมเองนั้นมองว่าเมืองก็เป็นเหมือนกับบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่ง ถนนก็เหมือนทางเดินในบ้าน ย่านก็เป็นเหมือนห้องต่างๆ ที่เราจะสร้างสรรค์ย่านหรือห้องนั้นอย่างไรให้ออกมาดี วิธีการจัดการหรือการอยู่ร่วมกันนั้นก็ต้องช่วยกันคิดช่วยกันสร้าง ซึ่งในฐานะของมัณฑนากรออกแบบภายใน รวมถึงสถาปนิก แลนด์สเคป ผังเมือง หรือแม้กระทั่งคนที่ทำงานด้านชุมชน อาจต้องเข้ามาจับเข่าคุยกันว่า จริงๆ แล้วชุมชนระแวกที่เราต้องการเข้าไปออกแบบหรือปันความสุขนั้น จริงๆ แล้วพวกเขาต้องการอะไร เพราะบริบทของแต่ละย่านก็มีศักยภาพและความหลากหลายที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งผมเชื่อว่าการทำความเข้าใจกับบริบทต่างๆ เหล่านี้เป็นส่วนที่สำคัญมากกับการออกแบบในปัจจุบัน”

นอกจากนี้ ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ ยังได้กล่าวเสริมว่า “แม้แต่การออกแบบบ้านทั่วไป นักออกแบบควรตั้งคำถามอยู่เสมอว่า อาคารหลังนี้จะสามารถอยู่ได้จริงหรือเปล่า และอยู่ได้ดีแค่ไหน การรับฟังปัญหาของผู้อยู่อาศัยและเสนอวิธีแก้ปัญหาในแบบของผู้ออกแบบน่าจะเป็นการปันสุขซึ่งกันและกันที่ดีที่สุด และผมเชื่อเสมอว่าการแก้ปัญหาด้วยงานออกแบบนั้นมีอยู่จริง สำคัญมากที่เราจะต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในงานออกแบบด้วย เพื่อให้อาคารหรือบ้านหลังนั้นมีรูปลักษณ์ที่สวยงามและสามารถตอบโจทย์วิถีชีวิตของผู้อยู่อาศัยได้”

คุณฟิวส์ นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย และ คุณโจ ดลพร ชนะชัย เสริมว่า “การออกแบบภายใต้เมืองที่ถูกวางโครงสร้างมาเป็นระยะเวลานานนั้น ผู้ออกแบบอาจต้องตั้งคำถามก่อนการแก้ปัญหาในอนาคตว่าระบบนั้นๆ ได้ถูกวางไว้เป็นระบบใด ถูกใช้ต่อกันมาหรือนำระบบจากต่างประเทศมาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าในหลายพื้นที่ค่อนข้างอ้างอิงจากระบบของเมืองอื่นๆ ฉะนั้นการตั้งคำถามว่าระบบนั้นมีความเหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในประเทศไทยแค่ไหน จะช่วยให้เรารู้ช่องว่างที่ควรแก้ไข และนำไปสู่บทบาทของผู้ออกแบบที่จะนำไปคิดต่อหลังจากการตั้งคำถามว่าเราสามารถแก้ไขได้ในระดับใด เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยในบริบทนั้นๆ มีความสุขกับการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น”

คุณซี กิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา ภูมิสถาปนิก จาก Shma Soen Co., Ltd.

เราควร “ปันสุข” อย่างไรจึงจะยั่งยืนไปสู่อนาคตอันใกล้นี้ ?

สำหรับมุมมองในแง่ของ Landscape กับความยั่งยืนสู่อนาคต คุณซี กิรินทร์ ตั้งเลิศปัญญา ภูมิสถาปนิกจาก Shma Soen Co., Ltd. มองว่า “เทรนด์เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา Landscape จะถูกกล่าวถึงในเรื่องของ value งานไหนที่มีการออกแบบ Landscape ดีๆ ก็จะสามารถทำให้ผู้คนหันมาใช้จ่ายกับพื้นที่นั้นๆ ได้มากกว่า ซึ่งในอนาคตเขาคิดว่าเทรนด์น่าจะมีการเปลี่ยนทิศทางไปในเรื่องของการทำความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้ใช้งานมากขึ้น มีผลงานออกแบบที่รักษ์โลกออกมาเรื่อยๆ มีการตระหนักคิดเรื่องระบบน้ำ สภาวะการอยู่สบาย การดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเรื่องของการดูดซับฝุ่นละอองต่างๆ เพื่อที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้คนสามารถออกมาใช้พื้นที่สาธารณะได้มากที่สุด ในบริบทของการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างยากลำบากมากในปัจจุบันและอนาคต”

และอีกหนึ่งมุมมองของ คุณฟิวส์ นัฐพงษ์ พัฒนโกศัย และ คุณโจ ดลพร ชนะชัย ในฐานะของสถาปนิกและนักออกแบบผังเมือง รวมถึงประชากรผู้อยู่อาศัยคนหนึ่งที่มองว่า “เมืองที่ดีควรที่จะเอื้อให้ทุกคนมีสิทธิ์และส่วนร่วมที่จะแบ่งปันหรือเสนอความคิดเพื่อทำให้มันดีขึ้นได้ มีสิทธิ์บอกได้ว่าอะไรที่ยังไม่ดีหรือควรแก้ไขตรงไหน ถึงแม้ว่าเขาจะไม่รู้ว่าสิ่งที่ดีกว่านั้นเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อยผู้ที่อยู่อาศัยจริงๆ ควรมีสิทธิ์ที่จะพูดหรือแบ่งปันความรู้สึกของเขามากกว่านี้ ซึ่งสิ่งนี้น่าจะช่วยให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ ทุกคนควรกลับมาตั้งคำถามกับการใช้ชีวิตของตัวเองมากขึ้น เพื่อให้นักออกแบบอย่างเราเข้าไปหาช่องทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาให้มันยั่งยืน และการปันสุขในที่นี่อาจไม่ใช่เพียงแค่ผู้ออกแบบเท่านั้นที่จะควรเป็นฝ่ายปันสุข หากแต่ผันตัวกลับมามองหรือเป็นผู้รับบ้าง ก็อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาผ่านงานออกแบบที่ดีได้เช่นกัน

ความหวังเบื้องหลังรอยยิ้มที่สถาปนิกได้รับ?

คุณอู๋ ภฤศธร สกุลไทย เล่าว่า “มัณฑนากรนั้นอาจเปรียบได้กับผู้ฟื้นฟูของเก่า เราถนัดงานด้านรีโนเวต และนำเสนอประสบการณ์การใช้งานที่ดีผ่านพื้นที่ ซึ่งในช่วงเวลาที่ผ่านมาผมหันมาให้ความสนใจกับการรีโนเวตชุบชีวิตอาคารเก่าหรืออาคารร้างเป็นพิเศษ เพื่อ Reuse ของเก่าที่เรามีอยู่ในเมืองและมอบประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับย่านนั้นๆ อีกทั้งผมยังคิดว่าจริงๆ แล้วผู้คนอาจต้องการเพียงพื้นที่ว่างสำหรับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะกับเพื่อนหรือครอบครัวก็ตาม การที่เราเข้ามาออกแบบปรับปรุงตรงนี้ก็ช่วยทำให้ภายในชุมชนมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ มากขึ้น รวมถึงสิ่งที่ผมประทับใจและได้รับหลังจากที่มีผู้กล่าวถึงพื้นที่ที่ผมออกแบบนั้นคือ เขารู้สึกสนุกและใช้งานอยู่ในพื้นที่นั้นได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกสนุกและมีความสุขไปด้วยมากกว่าการที่มีคนมาชมว่าพื้นที่นี้ออกแบบได้สวยงามอีกนะ”

และ ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ ยังได้กล่าวเสริมว่า “ครั้งหนึ่งเราเคยมองเรื่องงานออกแบบเพียงเพื่อความสวยงาม แต่มัน Fail เพราะงานออกแบบของเราไม่สอดรับและไม่ลงตัวกับการอยู่อาศัยของเขา ขณะเดียวกันผู้อยู่อาศัยหรือชุมชนนั้นก็เสนอวิธีแก้ปัญหาในแบบของเขาให้เราได้ฟัง ซึ่งตอนนั้นผมถึงกับทึ่งไปเลยแต่ก็ต้องยิ้มตาม เพราะนี่คือสิ่งที่เราอยากจะเห็นตั้งแต่แรก คือการที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในพื้นที่และเสนอความคิดในแบบที่เขาอยากจะให้มันเป็น หลายครั้งที่ชาวบ้านก็แก้ปัญหาได้ดีด้วยไอเดียง่ายๆ จากวิถีชีวิตของเขาเอง ส่วนนี้เองที่ทำให้ผมรู้สึกเข้าใจและมีความสุขกับการปันสุขมากขึ้น”

สุขใดเล่าจะเท่าการแบ่งปัน

ม.ล.วรุตม์, คุณซี, คุณอู๋, คุณฟิวส์ และ คุณโจ ตัวแทนจากสถาปนิกทั้ง 4 สาขา ได้ฝากเชิญชวนถึงสถาปนิกท่านอื่นๆ ด้วยว่า เรื่องราวในแง่ของการปันสุขผ่านสถาปัตยกรรมยังคงต้องชวนคิดชวนคุยกันอีกหลายประเด็นจากเหล่าสถาปนิกท่านอื่นๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศที่จะมาร่วมกันแชร์ทั้งประสบการณ์และมุมมองของบริบทประเทศต่างๆ อีกมากมาย ในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built ที่จะจัดขึ้นตลอด 5 วัน ระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2563 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 3 เวลา 10.00 – 20.00 น. ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีต่อกลุ่มสายอาชีพสถาปนิก นักศึกษาวิชาออกแบบ รวมถึงบุคคลทั่วไป

อีกทั้งภายในงานยังได้พบปะพูดคุยกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก่อสร้างชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศกว่า 300 ราย ที่พร้อมมานำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ให้ทุกท่านได้สัมผัส โดยสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่นี่ https://actforum.prereg.info/form และดูรายละเอียดงาน ACT Forum ’20 Design + Built เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ArchitectExpo และ www.actforumexpo.com/2020/forum/

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading