บ้านคอนกรีตภายใต้รูปลักษณ์สุดโมเดิร์นที่ตั้งอยู่ในย่านชานเมืองลำลูกกา จ.ปทุมธานี แห่งนี้เป็นบ้านของวิศวกรชาวออสเตรีย ที่ตั้งใจสร้างขึ้นเป็นบ้านของครอบครัว โดยนำไลฟ์สไตล์ความเป็นตะวันตกที่คุ้นชินเข้ามาผสมผสานความเป็นบ้านในประเทศไทย ความสวยงามของสถาปัตยกรรมผ่านวัสดุคอนกรีตเปลือย สเปซภายในที่แบ่งฟังก์ชันอย่างชัดเจน ตรงไปตรงมา ความท้าทายทางโครงสร้างวิศวกรรม จึงเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้าน และสถาปนิกจาก makeAscene ร่วมกันมองหาความเหมาะสม จนเกิดเป็น ERH Residence หลังนี้
Hierarchy และ Privacy แบ่งลำดับชั้นสร้างความเป็นส่วนตัว
โจทย์สำคัญเริ่มต้นขึ้นจากความต้องการของเจ้าบ้านที่เป็นชาวยุโรป จึงมักคุ้นเคยกับสถาปัตยกรรมในสไตล์โมเดิร์นที่แสดงถึงความโออ่า หนักแน่น และเผยให้เห็นความแข็งแรงของอาคารได้อย่างตรงไปตรงมา ประกอบกับความที่มีพื้นเพเป็นวิศวกร บ้านหลังนี้จึงตั้งใจให้การแสดงฟังก์ชันภายในแต่ละส่วนนั้น ชัดเจน และเชื้อเชิญให้ฟังก์ชันต่างๆ แสดงตัวออกมาโดดเด่นโดยไม่จำเป็นต้องหลบซ่อน
บ้านหลังนี้สร้างขึ้นบนผืนที่ดินซึ่งมีคาแร็กเตอร์ค่อนข้างชัดเจน โดยหันหน้าเข้าสู่ถนนภายในซอยหมู่บ้านทั้ง 3 ด้าน และมีบ้าน 2-3 ชั้นขนาดกระทัดรัดห้อมล้อมอยู่ ด้วยบริบททางพื้นที่และความต้องการของเจ้าของบ้าน สองสิ่งนี้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสถาปัตยกรรมที่จับต้องได้โดยสถาปนิกเติมแต่งแนวคิดหลักทั้งสองเข้าไป นั่นคือ ลำดับชั้น (Hierarchy) และความเป็นส่วนตัว (Privacy)
สถาปนิกออกแบบฟังก์ชันภายในเป็นลำดับชั้นตามคอนเซ็ปต์หลัก โดยแยกออกเป็น 3 ส่วน 3 ชั้นอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งการเพิ่มเลเยอร์ชั้นที่สูงขึ้นยังเป็นการเพิ่มความเป็นส่วนตัวจากสายตาของคนหรือรถที่วิ่งผ่าน รวมถึงสร้างมุมมองให้ผู้อยู่อาศัยได้ใช้ชีวิตภายในบ้านโดยมองเห็นวิวทิวทัศน์ที่กว้างไกลมากขึ้น สถาปนิกยังเล่าเสริมอีกว่า ด้วยการออกแบบที่เน้นฟังก์ชันตามความต้องการของเจ้าบ้าน ผลลัพธ์ที่ได้คือตัวอย่างหนึ่งของบ้านซึ่งสะท้อนให้เห็น ‘Forms Follow Function’ แนวคิดของสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นได้อย่างแท้จริง
ภาพแสดงแนวคิดบ้าน ERH Residence Photo Credits: makeAscene
ต้อนรับเข้าบ้านด้วย 1st (Ground) Floor
หลังจากที่กำหนดลำดับชั้น (Hierarchy) ในแนวตั้งเป็น 3 ส่วนอย่างชัดเจน พื้นที่ชั้นหนึ่งซึ่งเข้าถึงได้ง่ายที่สุด สถาปนิกออกแบบให้เป็นส่วนเซอร์วิสทั้งหมด โดยปรับฟังก์ชันที่เป็นส่วนพักอาศัยของครอบครัวย้ายขึ้นไปไว้ที่ชั้นสอง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกถึงความเป็นส่วนตัว หลบสายตาจากบ้านต่างๆ ที่รายล้อม และเพิ่มมุมมองการมองเห็นได้มากขึ้น
“บ้านหลังนี้ค่อนข้างมีภาษาทางสถาปัตยกรรมที่ตรงไปตรงมา ยกตัวอย่าง ทางเข้าเราเน้นให้มันเป็นเส้น corridor ที่ทิ่มเข้าหาตัวบ้าน โดยที่ลักษณะของตัวอาคาร เราแหวกให้มันรับเป็นสามเหลี่ยมมุมป้านเหมือนนำสายให้คนเข้าไปที่มุมแหลมที่สุดของมุมสามเหลี่ยม” สถาปนิกเล่า
ทางเข้าบริเวณชั้นหนึ่งสถาปนิกออกแบบผ่านเส้นสายที่นำสายตา เชื้อเชิญให้เราเดินเข้าสู่ตัวบ้าน ก่อนจะพบกับโถงต้อนรับเล็กๆ ที่บีบให้เดินขึ้นสู่ชั้น 2 และชั้น 3 ผ่านทางสัญจรที่ออกแบบเป็นปล่องบันไดวนแบบ Spiral Stair Case หุ้มด้วยกระจกโค้ง เมื่อเรามองสถาปัตยกรรมจากภายนอก จึงมองเห็นแกนหลักของบันไดซึ่งเชื่อมพื้นที่แนวตั้งทั้ง 3 ชั้นในรูปทรงกระบอกใสเสียบเข้าระหว่างฟังก์ชัน ซึ่งถือเป็นลักษณะเฉพาะที่สร้างความโดดเด่นให้กับตัวบ้าน
ภาพแปลนบ้าน ERH Residence ชั้น 1 Photo Credits: makeAscene
สำหรับบ้านหลังนี้ พื้นที่ชั้น 1 จึงไม่ได้เป็นฟังก์ชันหลักอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีในบ้านทั่วไป แต่กลับทำหน้าที่เป็นเพียงตัวรับและส่งผ่านผู้อยู่อาศัย ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ Living จริงๆ ที่ชั้น 2 ซึ่งประเด็นเหล่านี้ยังส่งผลต่อการออกแบบฟาซาดอาคารชั้นหนึ่ง โดยสถาปนิกเลือกใช้คอนกรีตเปลือยที่ให้ความรู้สึกบึกบึนราวกับฐานหินที่สร้างความแข็งแรง แต่ในขณะเดียวกัน การใช้ฟอร์มไม้แบบที่ต้องอาศัยความปราณีตในการสร้างลวดลาย ทำให้ความเป็นคอนกรีตไม่แข็งทื่อ และดูออร์แกนิกมากกว่าคอนกรีตเปลือยที่เราเคยเห็นกัน
2nd Floor พื้นที่อาศัย (ส่วนตัว)
“เรามีภาพการออกแบบง่ายๆ ของฟอร์มที่เราจะออกแบบ มองให้บ้านเป็นก้อนใหญ่ๆ ก้อนหนึ่ง เราหั่นตรงกลาง แล้วจับก้อนที่เราหั่นตรงกลางยกขึ้นลอย โดยส่วนที่เป็นช่องว่างระหว่างก้อนด้านบนและด้านล่าง เราต้องการให้มันดูใสและเสมือนลอยอยู่กลางอากาศ เราจึงออกแบบให้ฟังก์ชันตรงกลางนี้เป็นส่วน living ที่เปิดโล่งมากที่สุด”
รูปตัดแสดงความคิดบ้าน ERH Residence Photo Credits: makeAscene
พื้นที่ชีวิตเริ่มต้นขึ้นที่ชั้นสอง ห้องนั่งเล่น Pantry และส่วนรับประทานอาหารวางเรียงรายกันอย่างเป็นสัดส่วน ก่อนห่อหุ้มด้วยกระจกที่สามารถเปิดโล่งได้ทั้งหมด เพื่อให้ลมธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาทักทายผู้อยู่อาศัยภายในตัวบ้าน จากพื้นที่นั่งเล่นเชื่อมต่อสู่ส่วนสระว่ายน้ำเอาท์ดอร์ ที่ผู้อยู่อาศัยสามารถแหวกว่ายท่ามกลางเรือนยอดของใบไม้สีเขียว ช่วยสร้างบรรยากาศไปพร้อมๆ กับความเป็นส่วนตัว
ภาพแปลนบ้าน ERH Residence ชั้น 2 Photo Credits: makeAscene
ทางทิศเหนือของสระว่ายน้ำ สถาปนิกเพิ่มกิมมิคเล็กๆ ให้สเปซด้วยการสร้าง Plant Box ในลักษณะลูกบาศก์ที่ค่อยๆ ไล่ระดับขึ้นไป เพื่อให้สายตารู้สึกได้ถึงความเชื่อมโยงระหว่างชั้น รวมถึงสัมผัสกับพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ใหญ่ที่ยังคงยืดลำต้น แผ่ร่มเงาขึ้นมาที่ชั้นสอง
3rd Floor ยิ่งสูงยิ่งเป็นส่วนตัว
บริเวณชั้นบนสุด เป็นที่ตั้งของโซนอยู่อาศัยที่มีความเป็นส่วนตัว โดยแบ่งเป็นห้องนอนมาสเตอร์ 2 ห้อง ห้องนอนลูก 2 ห้อง และห้องฟิตเนส 1 ห้อง แต่สิ่งพิเศษอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้บ้านหลังนี้แตกต่าง คือการแบ่งสเปซห้องอย่างเท่าเทียม บ้านหลังนี้จึงมีห้องทั้ง 5 ที่หันหน้าเข้าสู่ทิศเดียวกันทั้งหมด
ภาพแปลนบ้าน ERH Residence ชั้น 3 Photo Credits: makeAscene
เมื่อเจ้าของบ้านมีพื้นฐานความรู้จากการเป็นวิศวกร บ้าน ERH Residence จึงเผยตัวตนผ่านการแสดงศักยภาพทางวิศวกรรม โดยห้องนอนมาสเตอร์บริเวณชั้นสามมีการออกแบบโครงสร้างให้ Cantileve หรือยื่นออกจากเสาต้นสุดท้ายถึง 7 เมตร และลอยอยู่เหนือสระว่ายน้ำ เพื่อสร้างภาพรวมให้ก้อนอาคารชั้นสามดูเหมือนลอยอยู่ในอากาศมากขึ้น
ซึ่งการเลือกใช้วัสดุภายนอกสำหรับชั้น 3 สถาปนิกหยิบเอา Equitone หรือ แผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ ห่อหุ้มฟาซาดของชั้นสาม เพื่อลดข้อจำกัดในเรื่องของการรับน้ำหนัก แต่ยังคงให้ความรู้สึกที่กลมกลืนกับคอนกรีตบริเวณชั้นหนึ่ง
“รูปลักษณ์หน้าตาบ้านมันค่อนข้างแข็งแรง บึกบึน ด้วยตัววัสดุที่สะท้อนคาแร็กเตอร์ของทางเจ้าของ ซึ่งเขาค่อนข้างตรงไปตรงมาและสตรอง แต่ในความแข็งแรงนั้น เราก็ยังผสมความธรรมชาติเข้าไปนิดหนึ่ง ผ่านสีเอิร์ธโทน มีความดิน หินหน่อยๆ เราเลือกใช้คอนกรีต แต่จับคอนกรีตมาเปลี่ยนให้มันดูมีความแข็งกระด้างน้อยลง”
หากมองอย่างผิวเผิน บ้านหลังนี้อาจจะดูแตกต่าง และไม่ค่อยพบเห็นในประเทศไทยเท่าไรนัก แต่เมื่อความเป็นบ้านสื่อสารโดยตรงกับผู้อยู่อาศัย ชวนให้เราคิดว่า ความสัมพันธ์ที่ก่อตัวขึ้นผ่านสิ่งที่ไม่มีชีวิตจิตใจอย่างสถาปัตยกรรม กลับสะท้อนให้เห็นชีวิตความเป็นอยู่ ความชอบ ไลฟ์สไตล์ ลักษณะนิสัย หรือแม้แต่อนุญาตให้เจ้าบ้านได้เป็นตัวเองมากที่สุด เพียงเท่านั้นก็คงพอแล้วที่บ้านหลังนี้จะได้ทำหน้าที่ของมัน
Gross Built Area : 1,600 ตารางเมตร
Architect : พิชยา รัตน์ปิยะสุนทร ,ธีรยุทธ วุฒิวงศ์ธนกิจ และวศิน ชุลีวัฒนะพงศ์ makeAscene
Structural Engineer : WOR consultants
M&E Engineer : MEE consultants
Construction : SPC technocons
Lighting Designer : SOLAS lighting consultant
Photographer : DOF SkyGround