“มันก็อาจจะดูแรงนะ แต่เราไม่สนใจว่าใครจะเป็นอย่างไร เราสนใจตัวเราและงานที่เราออกแบบ เพราะถ้าถามว่างานเราจะไปผลักดันสังคมได้อย่างไร อันนั้นเราไม่รู้ แต่เรารู้แค่ว่าถ้าเราได้งานมา เราจะทำหน้าที่ในฐานะสถาปนิก ในฐานะวิชาชีพนี้ ดูแลงานให้มันออกมาดีที่สุด”
นี่คือคำพูดของคุณนัด-ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท NPDA Studio ถึงแม้จะเริ่มต้นด้วยคำพูดที่ตรงไปตรงมา แต่ภายใต้เสียงหัวเราะ และอารมณ์ขัน เรารับรู้ได้ถึงความหลงใหลที่มีต่อการออกแบบ ผ่านการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่ดิบ และจริงใจที่สุดของคุณนัด-ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ คนนี้
ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว คุณนัดเป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ตั้งคำถามใหม่ๆ กับการออกแบบตามประสาดีไซน์เนอร์ไฟแรง ก่อนคว้าโอกาสสำคัญสู่การทำงานกับ Thom Mayne สถาปนิกระดับโลกผู้ได้รับรางวัล pritzker prize ในปี 2005 และ สถาปนิกชื่อดังระดับโลกอย่าง Rafael Viñoly
Dsign Something : ทำไมคุณนัดถึงเลือกเรียนสถาปัตย์
คุณนัด : ตอนเด็กๆ เราชอบศิลปะมาตลอด พอมาสักตอนมัธยมปลาย ด้วยความที่สังคมตอนนั้นมันไม่ได้มีทิศทางอะไรให้เลือกมาก ถ้าเราไปเรียนทางด้าน fine arts ไปเลย เราไม่แน่ใจว่าเราจะดำรงอาชีพนั้นได้ไหมในยุคนั้น แต่ถ้าไปทางวิทยาศาสตร์ เป็นหมอ เป็นวิศวกร เราก็จะขาดสิ่งที่เราชอบก็คือศิลปะ สุดท้ายก็เลยมาลงตัวที่เรียนสถาปัตย์
ตอนนั้นก็สอบติดสถาปัตย์ขอนแก่น ยุคนั้นถ้ามองสถานะทางสังคม เนื่องด้วยเป็นมหาลัยที่เพิ่งเปิดใหม่ ระบบการเรียนการสอนเลยค่อนข้างมีขอบเขตที่เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเอามากๆ ตอนนั้นเราก็ตั้งคำถามในใจ ‘ทำไมงานส่วนใหญ่ต้องไปตอบโจทย์ว่า อยู่ขอนแก่นต้องเป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น? เราก็แอบอิจฉามหาลัยในกรุงเทพฯ ที่เริ่มมีอาจารย์จบต่างประเทศ เขาเริ่มสอนอะไรใหม่ๆ ทดลองอะไรใหม่ๆ แบบนั้นมันก็ได้เหมือนกันนี่
คุณนัด-ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ สถาปนิกและผู้ก่อตั้งบริษัท NPDA Studio
Dsign Something : จากนักเรียนสถาปัตย์ในวันนั้น เริ่มต้นการเป็นสถาปนิกได้อย่างไร
คุณนัด : ตอนเรียนจบที่ขอนแก่น ปรากฏว่าฟองสบู่แตกพอดี ตกงานและหางานยาก เราได้เริ่มงานแรกไปช่วยเคลียร์แบบก่อสร้างที่สนามบินสุวรรณภูมิ จำได้ว่าตอนนั้น เบื่อมาก รู้สึกว่า เราจบสถาปัตย์ ทำไมเราไม่ได้เป็นดีไซน์เนอร์ ทำไมเราต้องมานั่งเคลียร์ดีเทลพวกนี้ หลังจากนั้นโอกาสมันมา เราก็ได้ทุนไปเรียนที่อเมริกา โห…เหมือนได้เปิดโลกทัศน์ เพราะเมืองไทยยุคนั้นงานจะไม่ค่อยมีคอนเซ็ปต์ อย่างมากแค่เรียบ แค่สวยก็ถือว่าโอเคแล้ว ในการออกแบบก็ค่อนข้างจะเป็นทิศทางที่ผู้ใหญ่ตีกรอบไว้ อันนี้พูดถึงในยุคของผมนะ
ผิดกับที่ต่างประเทศ อาจารย์จะค่อนข้างสอนให้เราเป็นตัวของเราเอง ผลักดันในสิ่งที่เราเป็น ตอนไปอยู่ที่นู่น เราเองก็ต้องปรับตัวเหมือนกัน เพราะเราสามารถแสดงตัวตน แสดงไอเดียเราออกมาได้อย่างเต็มที่ ณ ตอนนั้นเราก็ค่อนข้างประสบความสำเร็จเลย แล้วสุดท้ายก็ได้ไปทำงานที่ Morphosis กับคุณ Thom Mayne ได้เรียนรู้เยอะมาก ตั้งแต่วันแรกมากวาดพื้น เก็บของในช็อปเลย จนได้มาตัดโมเดล จนกระทั่งช่วงท้ายๆ เราถูกดึงเข้าไปอยู่ในทีมประกวดแบบตึกสูงชื่อ Phare Tower ที่ปารีส ซึ่งได้ยินข่าวดีว่าเขาชนะรางวัลอันดับ 1 ด้วย
Dsign Something : การได้ทำงานกับสถาปนิกระดับโลก ถือเป็นความฝันสูงสุดในตอนนั้นหรือยัง
คุณนัด : จริงๆ สำหรับความคิดเด็กเจเนอเรชัน X ที่อยู่เมืองไทย แล้วมีความคิดที่มองว่า ทุกอย่างมีขอบเขตที่ผู้ใหญ่วางไว้ให้ เราเลยคิดว่า การที่เราได้ทำงานกับคนเก่งๆ สักคนไปจนตาย มันก็ถือว่าประสบความสำเร็จสูงมากแล้ว ตอนนั้นก็มีโอกาสได้ทำงานกับสถาปนิกรุ่นใหญ่อีกคนหนึ่ง คือ Rafael Viñoly เราได้ขึ้นมาเป็นดีไซน์เนอร์หลัก ตอนนั้นเราก็ได้ออกแบบโรงแรมให้กับ Beyonce ด้วย แต่ทีนี้กระแสสถาปนิกรุ่นใหม่ ความคิดใหม่ อาคารสเกลเล็ก ดีๆ ใน Archdaily ในสื่อต่างๆ มันเริ่มมา เราก็เริ่มเห็นแล้วว่า เราก็สามารถที่จะเปิดออฟฟิศเล็กๆ ได้ ก็เป็นความคิดในใจอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มเก็บตังได้ก้อนหนึ่ง แล้วบังเอิญเศรษฐกิจที่อเมริกาเริ่มแย่ลง ก็เลยตัดสินใจกลับมาที่เมืองไทย แล้วก็เปิดออฟฟิศเล็กๆ ในชื่อ ‘NPDA’
Dsign Something : NPDA Studio ย่อมาจาก ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ?
คุณนัด : มันคือ The New Paradigm of Design and Architecture ถ้าแปลตรงตัวมันคือกระบวนทัศน์ใหม่ๆ กระบวนการทดลองใหม่ๆ กับงานใหม่ทุกครั้ง เพราะเรามีความเชื่อว่า งานมันควรจะต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง เฉพาะเจาะจงในพื้นที่นั้นๆ เพราะว่าในแต่ละบริบท แต่ละโจทย์ แต่ละผู้ใช้งาน แต่ละปัจจัยมันไม่เหมือนกันเลย เราเลยพยายามผลักดันให้ทุกงาน มีความแตกต่าง และมีเสน่ห์ในแต่ละจุดด้วยตัวของมันเอง
Dsign Something : อยากให้คุณนัดเล่าหน่อยว่า การทำงานของ NPDA เป็นอย่างไร?
คุณนัด: เราเปิดออฟฟิศเล็กๆ ควบคู่ไปกับการสอนที่เอแบค ช่วงทำงานยุคแรกๆ เราได้อิทธิพลจากชาวต่างชาติมาเยอะมาก เอาเทคนิคใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้จากเขามาใช้ รู้สึกตอนนั้นงานเข้ามาเยอะมาก เต็มโต๊ะเลยนะ แต่เราเองเป็นคนที่ว่า ในแต่ละงานต้องคิดให้ละเอียด คิดให้ดี บางทีพอมันหวือหวาไป สุดท้ายก็ไม่ได้สร้าง พอไม่ได้สร้าง ค่าแบบก็ได้ไม่ครบ ทำให้ช่วงหนึ่งของ NPDA เราพูดอย่างไม่อายเลยคือ ออฟฟิศไม่มีงานเลยหนึ่งปี
บังเอิญทางบ้านมีที่อยู่ที่เกาะพะงัน เลยเริ่มต้นใหม่ โดยทำโปรเจกต์ ‘บ้านสมใจ’ เป็นบ้านเกษียณอายุของคุณพ่อคุณแม่ พอเริ่มก่อสร้างไปได้ครึ่งทาง ปรากฏว่าผู้รับเหมาเขาทิ้งงานไป เราก็เลยตัดสินใจพักการสอน เอาสิวะ! ลองงานนี้กับมันจริงๆ จังๆ เราลงไปคลุกอยู่กับช่าง เริ่มได้เจอเทคนิคใหม่ๆ กับงานก่อสร้าง เริ่มเข้าใจระบบสังคมเมืองไทยว่า งานจะออกมาดี ต้องทำหรือคุยกับช่างอย่างไร งานระดับโลคอล ช่างอ่านแบบไม่ได้ละเอียด เราตัดโมเดลให้เขาดูเป็นชิ้นๆ เพื่อให้เขาสร้างได้ตามแบบ พอสร้างเสร็จ บ้านสมใจมีชื่อเสียงเลย กลับกลายเป็นว่าเราเริ่มได้งานกลับมาอีกครั้ง
โปรเจกต์บ้านสมใจ Photo credits: NPDA Studio
Dsign Something : ดีเทลแบบก่อสร้างที่เคยเบื่อ เลยถูกนำมาใช้อีกครั้ง?
คุณนัด: ใช่ เรามาทำโรงแรมต่ออีกหลังหนึ่งเป็นของที่บ้านเอง ขึ้นเป็น ‘บ้านบรรจบ’ งานนี้ทำให้ได้ทำงานกับผู้รับเหมาและช่างแบบเต็มๆ ตั้งแต่ศูนย์จนถึงงานเสร็จเรียบร้อย ปรากฏว่าองค์ความรู้ที่เราเคยทำงานเคลียร์แบบสุวรรณภูมิกับอิตาเลียนไทย กับผู้รับเหมา ที่เราเคยเบื่อนั่นแหละ มันได้กลับมาใช้อย่างเต็มที่ มันกลับมาส่งผลดีกับเราในภายหลัง แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้ตัว
สุดท้ายคือ บ้านบรรจบมีชื่อเสียงและได้รางวัลระดับโลก jury winner ของ Architizer ซึ่งเราภูมิใจมาก เราก็เลยตกตะกอนความคิดสำหรับ NPDA ว่า จริงๆ เราไม่จำเป็นต้องมีงานเยอะๆ มากองเต็มโต๊ะเหมือนเมื่อก่อน แต่เรามีงานปีละไม่กี่ชิ้น แต่ตั้งใจทำกับมันจริงๆ อยู่กับลูกค้าจริงๆ หรือถ้าบางงานอยู่ในสเกลที่เราสร้างได้ เราจะเริ่มมองหาสิ่งใหม่ๆ ทดลองสร้างจริงๆ จนกระทั่งเสร็จ ซึ่งคาดว่าจากนี้ไปงานหลายๆ งานของ NPDA ก็จะมีทั้งออกแบบและสร้างเองด้วย
โปรเจกต์บ้านบรรจบ Photo credits: NPDA Studio
Dsign Something : จากความคิดนี้ เลยทำให้ผลงานของ NPDA ออกมาดิบอย่างที่เห็น?
คุณนัด : ผมเคยหาข้อมูล จนไปเจอ Studio Mumbai Architects เขาทำงานที่อินเดีย แต่เรียนจบจากต่างประเทศเหมือนกัน ในบางครั้งการทำงานสเกลประมาณนี้ จำนวนสถาปนิกไม่ต้องเยอะ แต่ช่างที่จะสร้างสำคัญกว่า เขาได้แรงงานทางอินเดียมาทำงานคราฟท์แล้วได้ค้นพบ ศิลปะ วัฒนธรรม ใหม่ๆ ให้งานก่อสร้าง งานออกแบบได้มากขึ้น
ในสังคมไทยเราว่ามันคล้ายๆ กัน เราได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ อย่างที่ตั้งโจทย์ไว้ ได้ไปเจอวัฒนธรรมของช่าง บางคนเป็นช่างมาจากพม่า บางคนเป็นช่างมาจากยะไข่ แล้วในขณะเดียวกัน เราได้ทดลองกับวัสดุจริง เราได้เรียนรู้จากการจับต้องของจริงที่ไซต์ หลังๆ มันมีการแก้แบบสดๆ กันที่หน้างาน จากแต่ก่อนเรานั่งในห้องแอร์ สเก็ตช์ จินตนาการ ไม่ได้จับต้อง ไม่รู้ว่าจำนวนเหล็กเส้นเท่านี้ ความบางของคอนกรีตเท่านี้ เราจะทำระยะเท่าไรแล้วมันถึงจะแข็งแรง แน่นอนว่าวิศวกรเขาจะสเปคมา แต่ในบางรายละเอียด เราต้องสเก็ตช์ด้วยตัวเองจากประสบการณ์ นี่ก็เป็นทิศทางที่ NPDA เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้น
Dsign Something : ความสุขของการทำงานทุกวันนี้คืออะไร ?
คุณนัด : ต้องบอกเลยว่า เรารักงานสถาปัตยกรรมมาก เคยล้มลุกคลุกคลานกับมันจนกระทั่งไม่มีงานเป็นปีเหมือนกัน หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานถึงมาลงตัวว่า จริงๆ ความสุขในการทำงานของเราคือ การที่เราได้ทำงานกับทีมเล็กๆ กับคนที่รู้ใจ เพราะเราเองไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียงมาก่อน เราไม่ได้เรียนมหาลัยที่ชื่อเสียงโด่งดัง คอนเนคชันเรามีไม่มาก แต่สิ่งหนึ่งที่พี่มั่นใจคือ งานสถาปัตยกรรมมันเป็นของจริง สัมผัสได้จริง คนที่มาใช้เขารู้สึกได้จริงว่าเรามีความตั้งใจกับมันแค่ไหน เราไม่จำเป็นต้องมีข้ออ้างว่า งานนี้ได้ค่าแบบไม่เยอะ ไม่ได้ใหญ่โต แต่คุณสามารถทำงานเล็กๆ จะอยู่บ้านนอก คอกนาแค่ไหน ถ้าความตั้งใจดี โลกสมัยนี้มันออนไลน์ คุณจะส่งรางวัลระดับโลก คุณก็ทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีใจรักกับงานสถาปัตยกรรม ผมบอกได้เลยคุณจะไม่ผิดหวัง แต่ถ้าคุณไปทำชั่วกับมัน มันก็จะเป็นตัวประจานคุณไปตลอด
ถึงแม้ตลอดเวลา 2 ชั่วโมงของบทสนทนากับคุณนัด ณัฏฐวุฒิ พิริยประกอบ จะเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของบรรยากาศสุดเป็นกันเอง อีกสิ่งหนึ่งที่มาควบคู่กันจนเราสัมผัสได้ คือ ความจริงจัง และความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลงานสถาปัตยกรรมที่สดใหม่ผ่านกระบวนการทดลองจริง ค้นหาจริง และเจ็บจริง บนเส้นทางของการเป็นสถาปนิกที่คุณนัดตั้งใจลงไปคลุกคลี เพื่อให้ได้ผลงานขั้นสุดท้ายที่สมบูรณ์แบบ ตามแนวทางของ ‘The New Paradigm of Design and Architecture’ หรือ ‘NPDA’