“ยาสีฟันที่ทันตแพทย์แนะนํา”
“อะไรดีบุ๋มก็ว่าดี”
“เชื่อแป้ง เชื่อเมืองไทยประกันภัย”
ทั้ง 3 ประโยคดัานบน คือตัวอย่างโฆษณาที่เลือกใช้คุณสมบัติตัวบุคคลและสถานะอาชีพ เพื่อมาสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวสินค้า เพิ่มแรงจูงใจผู้บริโภคมากขึ้น แล้วคุณเคยสังเกตุกันมั้ยว่า เราไม่ค่อยได้ยินชื่อสถาปนิกคนไหนออกมาโปรโมทสินค้าอะไรได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งต้องห้ามซึ่งควรระมัดระวังตามราชกิจจานุเบกษา ข้อบังคับสภาสถาปนิก ฉบับใหม่ปี 2558 ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม กำกับอยู่นั่นเอง ยิ่งในยุคที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึง content การรีวิวโครงการรูปบ้านสวย ๆ คลิ๊กเข้าไปอ่านบทความรู้ทางสถาปัตยกรรมมากมายผ่านสื่อออนไลน์ เปิดพื้นที่ให้เหล่านักออกแบบได้สื่อสารผลงานของตัวเองกันได้ง่ายแค่ปลายนิ้วกด แต่นั่นทำให้เราเริ่มฉุกคิดถึงประเด็นเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนอาจลืมนึกไป ว่าตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ วงการสถาปัตยกรรมสามารถทำสื่อสาร ทำการตลาดได้ถึงจุดไหน ทำอย่างไรไม่ให้เจอความเสี่ยง ?
เมื่อมีจุดเริ่มของความสงสัย ทำให้เราอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน ว่าตอบจบของเรื่องนี้จะมีคำตอบแบบไหนบ้าง ที่กำลังรอคุณอยู่
ข้อมูลทั้งหมดเป็นการตีความส่วนตัวจากผู้เขียนเท่านั้น
อ้างอิงจาก ratchakitcha.soc.go.th
สถาปนิกโปรโมทผลงานตนเองในสื่อต่างๆ ?
คำตอบคือทำได้ – การนำเสนอผลงานการออกแบบ ประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา ชื่อของตนเอง รวมถึงสำนักงานหรือบริษัท ข้อมูลที่อยู่และสถานที่ติดต่อที่เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมด ไม่ถือว่าเข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ แต่หากว่าในสื่อโฆษณามีการพูดเปรียบเทียบกับผลงานคนอื่นว่าผลงานตนเองดีกว่าอย่างไร ในลักษณะโอ้อวดว่ามีความสามารถสูงหรือมีประสบการณ์การทำงานดีกว่าผู้อื่น หรือมีเนื้อหาชวนเชื่อจนให้ผู้ชมเชื่อได้ว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถสูง หรือเอื้อประโยชน์ต่อการว่าจ้างทำงาน ลักษณะเช่นนี้เข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพในหมวด 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ข้อ 13 “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง วานหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาด้วยประการใดๆ ซึ่งการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมของตนเอง เว้นแต่การประชาสัมพันธ์การประกอบวิชาชีพของตน ที่ไม่เกินความจริง หรือไม่เปรียบเทียบกับงานสถาปัตยกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพรายอื่น“ และอาจเข้าข่ายความผิดตามหมวด 4 จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมวิชาชีพ ข้อ 24 “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่กระทําการใดๆ ให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่ผู้ประกอบวิชาชีพรายอื่น“ อีกด้วย
สถาปนิกเป็นพิธีกร แล้วพูดโปรโมทสินค้า ?
ทำได้ครับ – เมื่อสถาปนิกสวมบทเป็นพิธีกรพูดประชาสัมพันธ์สินค้าอุปโภคบริโภคหรือผลิตภัณฑ์อื่นที่ไม่เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้าง ย่อมไม่ถือว่าผิดจรรยาบรรณอย่างแน่นอน จะถือว่าเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าเหมือนกับนักแสดงหรือศิลปินทั่วไป แต่หากในกรณีผู้สนับสนุนนั้นเป็นวัสดุก่อสร้าง แล้วสถาปนิกผู้จัดรายการแสดงตนในฐานะสถาปนิกหรือแม้แต่เป็นอาจารย์อยู่ที่สถาบันการศึกษาซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือ มีการใช้คำพูดหรือการกระทำใดๆ ที่เป็นการชี้นำสนับสนุนผลิตภัณฑ์ว่าเป็นสินค้าที่ดี มีคุณภาพ จะถือว่าผิดจรรยาบรรณวิชาชีพทันที ตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม หมวด 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ข้อ 14 “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นเอาตนหรือชื่อของตน โฆษณาสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมทั้งปวง“
สถาปนิกให้สัมภาษณ์แนะนำวัสดุก่อสร้าง ?
ทำไม่ได้ – เพราะการที่สถาปนิกให้คำสัมภาษณ์กับสินค้าวัสดุก่อสร้าง โดยมีการพูดถึงข้อดีข้อเสีย ข้อเสนอแนะที่ส่งเสริมสินค้านั้นดีกว่าสินค้าอื่นในท้องตลาด และมีการเผยแพร่ในสื่ออื่นใดโดยมีชื่อผลิตภัณฑ์นั้นอยู่ด้วย ไม่ว่าสถาปนิกจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม จะเข้าข่ายความผิดตามข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม ใน หมวด 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ข้อ14 ที่ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นเอาตนหรือชื่อของตน โฆษณาสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมทั้งปวง”
แล้วต้องทำอย่างไรถึงไม่ผิด ? ในปัจจุบันมีรูปแบบการโฆษณาแบบ Advertorial บทสัมภาษณ์สถาปนิกที่มีเนื้อหาจะมุ่งเน้นให้ความรู้หรือข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องวัสดุหรือผลิตภัณฑ์ดังกล่าวในภาพรวมเป็นหลัก แต่จะมีข้อความหรือเนื้อหาทิ้งท้ายด้วยตัวอย่างวัสดุของบริษัท หรือแสดงตราผลิตภัณฑ์หรือตราสินค้า ซึ่งไม่ถือว่าเข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณ แต่ผู้ให้สัมภาษณ์ควรระมัดระวังไม่ให้มีเนื้อหาชี้นำเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ด้วย
สถาปนิกเป็นตัวแทนจำหน่ายวัสดุก่อสร้างหรือแนะนำสินค้าของตนเอง ?
ทำได้ – เพราะใครๆ ก็มีสิทธิ์ทำอาชีพเสริมนอกจากงานหลักด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ขายขนม ขายเสื้อผ้า ขายหนังสือแนะนำที่ท่องเที่ยว ตำราความรู้ บทความทางวิชาการใดๆ ก็ตาม โดยมิได้ใช้สถานภาพความเป็นสถาปนิกไปกล่าวอ้างให้ผู้ซื้อเข้าใจว่าตนเองนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือยกย่องโอ้อวดถึงความสามารถของตนเองจนเกินกว่าจริง ตามข้อบังคับใน หมวด 2 จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ ข้อ14 ที่ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่โฆษณา ใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นเอาตนหรือชื่อของตน โฆษณาสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมทั้งปวง” ก็จะไม่ถือว่าเป็นการผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ
ยกตัวอย่างให้ชัดเจนก็คือ สถาปนิกสามารถรับเป็นตัวแทนจำหน่ายกระเบื้องมุงหลังคา แล้วแนะนำสินค้าในฐานะพนักงานของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ได้ โดยไม่ได้อวดอ้างความเป็นสถาปนิกไปใช้โฆษณา หรือชี้นำข้อมูลใดๆ โดยใช้ความรู้ ความชำนาญของการเป็นสถาปนิกมาประกอบการขายสินค้านั่นเอง
การคิดค่าแบบสูงกว่ามาตรฐานและการโฆษณาค่าบริการ ?
ทำได้ เพราะตัวเลขค่าบริการวิชาชีพจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ เป็นเพียงข้อมูลมาตรฐานสำหรับการพิจารณาก่อนตกลงว่าจ้างเท่านั้น ดังนั้นหากสถาปนิกจะคิดค่าแบบสูงหรือต่ำกว่าข้อมูลมาตรฐาน ก็ถือว่าเป็นความพึงพอใจของผู้ให้บริการและลูกค้าผู้ว่าจ้างเหมือนกับอาชีพอื่นๆ ทั่วไป เป็นสิทธิส่วนุคคลที่นักออกแบบจะประเมินความเหมาะสมจากการสะสมประสบการณ์ การพัฒนาความสามารถ ปัจจัยต้นทุนต่างๆ ของตัวเองขึ้นมาได้ ไม่ถือเป็นกฎระเบียบใช้ตามตัวเลขเป๊ะๆ
แต่มีข้อควรระวังคือการโฆษณาค่าบริการ ตัวอย่างเช่น การลดราคาค่าบริการวิชาชีพในกรณีประกวดราคาหรือใช้โฆษณาเพื่อเป็นโปรโมชั่นทางการตลาด เพราะจะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการของผู้ว่าจ้าง มีสิทธิ์จะเข้าข่ายความผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพตามข้อบังคับฯ ในหมวด 4 จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมวิชาชีพ ข้อ 20 “ผู้ประกอบวิชาชีพต้องไม่แสวงหางานด้วยการแข่งขันราคากับผู้ประกอบวิชาชีพรายอื่น“
การลดราคาลงต่ำมากว่ามาตรฐานค่าแบบของสมาคมสถาปนิกสยามฯ อาจทำให้ผลงานการออกแบบไม่ได้ตามมาตรฐาน เพราะยอมรับงานราคาถูกแล้วไม่สามารถทำงานได้ตามที่เคยรับปากไว้ ไม่ใช่แค่ตัวเองเท่านั้นที่จะเสียความน่าเชื่อถือไป แต่การตัดราคากันเองจะส่งผลต่อภาพรวมมาตรฐานค่าบริการของนักออกแบบคนอื่นๆ ตามไปด้วย การตั้งราคาจึงเป็นปัญหาละเอียดอ่อน ที่ทุกคนควรช่วยกันพัฒนาคุณภาพผลงานให้เหมาะสมกับอัตราค่าบริการ ไม่ต่ำเกินไปจนตนเองและเพื่อนร่วมอาชีพเดือดร้อน หรือสูงเกินไปจนไม่มีใครจ้างวานนั่นเอง