OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

คาเฟ่สีสนิม SOP กับนัยยะของกาลเวลา พื้นที่ และความเป็นโพธาราม

ไม่ใช่แค่ ‘คนสวยโพธาราม คนงามบ้านโป่ง’ แต่ที่ราชบุรี อำเภอโพธาราม ยังเป็นสถานที่ตั้งของสถาปัตยกรรมที่งดงามอย่าง SOP Café คาเฟ่สีสนิมที่คุณตี๋ – มิตรชัย พงศ์เนตรวิไล ตั้งใจแบ่งปันวิวสวย เปิดเผยความเป็นธรรมชาติสู่สาธารณะ เพื่อให้ผู้คนได้เข้ามาสัมผัสความงดงาม รับรู้ได้ถึงเรื่องราวและอารมณ์ที่อบอวลอยู่ภายในร้านกาแฟสุดเท่แห่งนี้ สอดคล้องกับชื่อร้าน SOP หรือความหมายแฝงอย่าง ‘Sense of Place’

“จริงๆ แล้วตอนแรกผมอยากได้ที่พักส่วนตัว แต่ความคิดเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยเพราะบรรยากาศตรงนี้สวยมาก ด้วยความที่ผมมานั่งชมบรรยากาศริมแม่น้ำบ่อยๆ ได้เสพย์ความเป็นธรรมชาติ ผมเลยอยากให้คนอื่นๆ ได้มาสัมผัส ได้มาเห็นเหมือนกัน และด้วยตัวเองก็เป็นคนชอบงานดีไซน์อยู่แล้ว ก็เราเลยอยากเห็นสถาปัตยกรรมที่แปลกใหม่เกิดขึ้นในบ้านเรา ผมอยากขายความสุขให้คนมาเสพย์ เสพย์ทั้งงานศิลป์ เสพทั้งธรรมชาติ และสถาปัตยกรรม”  คุณตี๋เล่า  

เมื่อถึงเวลาปรับปรุงพื้นที่ สร้างสถาปัตยกรรมให้คนมาเสพย์ตามที่ตั้งใจไว้ คุณตี๋จึงเริ่มมองหาสถาปนิกในพื้นที่จนได้มาเจอกับคุณมีชัย เจริญพร สถาปนิกจาก Backyard Architect ผู้รับหน้าที่ออกแบบ SOP Café แห่งนี้
คุณมีชัย เจริญพร (สถาปนิก) และ คุณตี๋ – มิตรชัย พงศ์เนตรวิไล (เจ้าของร้าน)

SOP / Spirit of Photharam ประวัติศาสตร์ของพื้นที่

ในส่วนของการออกแบบ คุณตี๋มีเพียงโจทย์เดียวที่ต้องการ คือ อาคารในสไตล์ดิบเท่ ไม่ต้องเนี้ยบมากนัก แต่ในส่วนอื่นเปิดโอกาสให้สถาปนิกได้ดีไซน์อย่างเต็มที่  ซึ่งคุณมีชัยเล่าว่า “ตรงนี้ไม่ใช่ถนนเส้นหลักที่รถผ่าน มันยากที่จะเข้ามาที่พื้นที่นี้ เราก็เลยกลับไปวิเคราะห์พื้นที่ ลองศึกษาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโพธารามจนพบว่า โพธารามเป็นที่ตีดาบ ตีเหล็กในยุคสมัยที่พระเจ้าตากสินมหาราชยกทัพไปรบกับพม่า ซึ่งแวบแรกเราก็สนใจในประเด็นนี้เลย”

ด้วยความที่ ‘โพธาราม’ มีความเกี่ยวข้องกับวัสดุชนิดนี้มาเป็นเวลานาน คุณมีชัยจึงตั้งใจนำ ‘เหล็ก’ เข้ามาใช้ในการออกแบบอาคารทั้งหมด เพื่อให้ SOP Café สอดคล้องกับสถานที่ดั้งเดิม ในขณะที่ยังไปด้วยกันได้ดีกับ ความดิบ ในแบบที่คุณตี๋ต้องการ

SOP / Sense of Place กับนัยยะของความเป็นพื้นที่

ไม่เพียงภาพกว้างอย่างประวัติศาสตร์ความเป็นโพธารามที่คุณมีชัยหยิบมาใช้เพื่อเพิ่มกลิ่นอายให้ตัวร้าน  แต่ ณ พื้นที่ตั้งของที่ดินยังถูกออกแบบขึ้นเพื่อสื่อสารกับผู้ใช้งานโดยตรง  ซึ่งสถาปนิกเล่าว่า สิ่งแรกที่เตะตาเมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่ คือ ต้นกระทุ่มน้ำต้นใหญ่ที่แผ่ร่มเงากว้างใหญ่ ราวกับกำลังเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้ามานั่งเอกเขนก และใช้เวลากับพื้นที่นี้ในการพักผ่อนอย่างเต็มที่

“เราอยากทำให้คนที่เดินเข้ามารู้สึกกับต้นไม้ต้นนี้ก่อน อยากให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับต้นไม้ เพราะรู้สึกได้ว่าต้นไม้มันยิ่งใหญ่และสวยงาม เราเลยเริ่มดีไซน์โดยใช้ต้นไม้เป็นศูนย์กลางการเล่าเรื่อง”
เพื่อให้คนเกิดความรู้สึกและมองเห็นต้นไม้ต้นนี้เป็นอันดับแรกตามแนวคิดที่วางไว้ คุณมีชัยจึงออกแบบเส้นทางสัญจรเป็นอุโมงค์ยาวขนาด 50 เมตร เพื่อบีบให้คนต้องเดินโดยที่ยังมองไม่เห็นวิวทิวทัศน์อะไรมากนัก ก่อนที่ปลายอุโมงค์จะเปิดโล่งให้ยืนทอดสายตามองต้นกระทุ่มน้ำแผ่กิ่งก้าน โดยมีแม่น้ำไหลเอื่อยๆ เป็นฉากหลัง ชวนให้เราเดินเข้าไปทิ้งตัวลงนั่งพักผ่อนได้ไม่ยาก ด้านบนของอุโมงค์ถูกออกแบบคล้ายโครงสร้างสะพานที่ยื่นออกไป เพื่อให้คนได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์และใกล้ชิดกับต้นไม้ได้มากขึ้น
Layout Plan SOP Cafe Photo credits : Backyard Architect
บ่อน้ำทรงกลมบริเวณกลางพื้นที่ล้อมรอบเป็นตัวกั้น เพื่อให้ผู้คนดูเหมือนจะเชื่อมโยงแต่ก็ยังถูกตัดขาด ยังไม่เข้ามาถึงต้นไม้ได้ง่ายมากจนเกินไป ซึ่งทรงโค้งยังหลอกตา ทำให้จุดสนใจวิ่งเข้าหาศูนย์กลางของพื้นที่ เพิ่มเวลาให้ผู้มาเยือนได้เห็นต้นไม้นานขึ้นอีกสักหน่อย ก่อนจะเข้าสู่ตัวร้าน สั่งอาหาร เครื่องดื่ม และใช้เวลานั่งเล่นใต้ร่มเงาของต้นกระทุ่มน้ำอย่างเต็มที่

‘Kill Time’ ชวนมาฆ่าเวลาแบบไม่เสียเวลา

“ในขณะที่เราออกแบบอุโมงค์ พี่ตี๋เขาพูดมาประโยคหนึ่ง คือที่นี่มันคงเป็นสถานที่ฆ่าเวลาของคนอื่น มานั่งเล่น เพราะตอนนั้นเราก็คุยปรึกษากับพี่ตี๋ว่าเราจะทำอย่างไร ให้คนยอมมาเสียเวลากับพื้นที่ของเรา คำนี้เลยเข้ามาจุดชนวนให้เราคิดใหม่ โดยเอาเรื่องของเวลาเข้ามาเล่นด้วย เป็นแนวคิด Kill Time เพราะวัสดุที่เราหยิบมาก็แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของเวลาอยู่แล้ว” สถาปนิกเล่า
อุโมงค์ที่ว่าจึงถูกออกแบบทำงานร่วมกับพระอาทิตย์ เกิดเป็นอุโมงค์เหล็กนาฬิกาแดด ผ่านการทำเส้นสายให้เกิด shade เงา ซึ่งแต่ละเส้นจะมีช่วงเวลาที่ชัดเจนในตัวเอง เปลี่ยนแปลงไปในทุกๆ ชั่วโมง สร้างสัมพันธ์ให้ผู้มาเยือนรู้สึกและจดจำได้ว่า เราใช้เวลาภายในสถานที่นี้ไปนานเท่าไร เส้นสายของแสงเงาที่ปรากฏในตอนที่เดินเข้ากับตอนที่เราออกจากร้านอาจแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง  อีกทั้งวัสดุเหล็กที่ใช้ในการออกแบบยังไม่ผ่านการเคลือบกันสนิม เพื่อให้อาคารแสดงความสวยงามที่ผ่านกาลเวลาอย่างแท้จริง
แม้กระทั่งโครงสร้างหลังคาของตัวร้าน สถาปนิกออกแบบโดยใช้เหล็กในลักษณะที่ตกท้องช้างเล็กน้อย เพื่อปล่อยให้โครงสร้างเป็นไปตามกาลเวลา ในอนาคตหลังคาเหล็กที่เราเห็นอาจจะโค้งมากขึ้นและให้ความสวยงามในอีกรูปแบบหนึ่ง

เวลาในเชิงของ ‘ฤดูกาล’ ยังถูกหยิบยกมาใช้ในการออกแบบ ผ่านบ่อน้ำกลางร้านที่ต่อท่อตรงจากแม่น้ำโดยไม่ผ่านเครื่องกรอง สร้างความเชื่อมต่อที่ทำให้บรรยากาศภายในร้านและบริบทโดยรอบดูเป็นหนึ่งเดียวกัน สีแดงอิฐ สีขุ่น และสีใสของแม่น้ำในแต่ละช่วงเวลายังเปลี่ยนไปตามฤดูกาลของธรรมชาติ โดยไม่จำเป็นต้องปรุงแต่งให้มากความ ซึ่งคุณมีชัยเล่าว่า “การที่อาคารโดนสนิมกินจนเป็นรูบ้าง มีแสงเล็ดลอดออกมาบ้าง ตัวเหล็กที่ตกท้องช้าง อันนั้นเป็นพาร์ทของอนาคตซึ่งเราบอกไม่ได้ อาคารมันก็จะเสื่อมไปตามกาลเวลา แต่ความเสื่อมกลายเป็นสิ่งที่เราเตรียมไว้ แล้วเรายอมรับกับความสวยงามในส่วนนั้น”
“ผมไม่ได้คาดหวังว่าร้านจะสร้างกำไรหรือมูลค่าให้เราเท่าไร แต่ผมอยากเห็นความแปลกใหม่ของสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเรา เราอยากขายความสุขให้คนมาเสพย์ เสพย์ทั้งงานศิลป์ เสพย์ทั้งธรรมชาติและสถาปัตยกรรม” คุณตี๋ทิ้งท้าย

ความสวยงามผ่านภาพถ่ายที่เราเห็นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อย ลมเย็นๆ ที่พัดผ่านพื้นที่ ร่มเงาจากต้นกระทุ่มน้ำที่แผ่กิ่งก้าน เสียงน้ำไหลเอื่อยๆ มีสถาปัตยกรรมสีสนิมเป็นฉากหลัง อีกทั้งยังรายล้อมไปด้วยแม่น้ำและวิวทิวทัศน์สีเขียวจากธรรมชาติ สิ่งต่างๆ หลอมรวมให้พื้นที่แห่งนี้ กลายเป็นหมุดหมายแห่งใหม่ที่ผู้คนต่างยอมมาเสียเวลา แวะเวียนมาทิ้งตัว นั่งพักผ่อนในยามว่าง สร้างบทสนทนาร่วมกับสถาปัตยกรรมและธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์แบบ
Freaking Weekend ราคา 170 บาท , Pink Blossom 160 บาท , Lemon Tart ราคา 100 บาท

Location : ซอยวัดสร้อยฟ้า อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
Owner : มิตรชัย พงศ์เนตรวิไล
Designer : มีชัย เจริญพร จาก Backyard Architect
Photographer : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

แผนที่ SOP Cafe :