ก่อนที่ลิฟท์ของอาคารสิงห์ คอมเพล็กซ์จะเปิดออกสู่ชั้น 34 เชื้อเชิญให้เราก้าวเดินเข้าสู่โถงต้อนรับขนาดใหญ่ที่โอ่อ่า หรูหรา แทรกไปด้วยสเปซหลากหลายรูปแบบที่ชวนให้บรรยากาศดูสนุกสนาน ผ่อนคลายและเป็นกันเองอย่างน่าประหลาด หากไม่มีคนบอก เราก็คงไม่เชื่อว่าสเปซอันสวยงามที่ได้รับการออกแบบมาอย่างพิถีพิถันนี้ คือ พื้นที่ทำงาน สำนักงานใหญ่ของ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด หรือที่เราคุ้นเคยกันในแบรนด์สิงห์ที่อยู่คู่คนไทยมากว่า 88 ปี
เมื่อได้โอกาสเราจึงนั่งลงพูดคุยกับคุณ คุณโอ๊ค–เกียรติระบิล เตชะวณิช Design Director และคุณตี๋ –จารุพัฒน์ วิจิตร์ตราภัทร์ Senior designer ทีมอินทีเรียดีไซน์เนอร์จาก PBM ผู้รับหน้าที่ออกแบบ เปลี่ยนภาพจำของสำนักงานอาคารสูงที่แสนน่าเบื่อให้กลายเป็นออฟฟิศสมัยใหม่ที่ตอบโจทย์ทั้งไลฟ์สไตล์และการทำงานไปพร้อมๆ กัน และยังคว้ารางวัลสุดยอดการออกแบบตกแต่งภายในที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปี “Best of Workspace Design” จาก TIDA Award 2019 ที่จัดโดยสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทยอีกด้วย
คุณตี๋ -จารุพัฒน์ วิจิตร์ตราภัทร์ Senior designer และ คุณโอ๊ค-เกียรติระบิล เตชะวณิช Design Director จาก PBM
โปรเจกต์นี้เริ่มต้นขึ้นจากการประกวดแบบ โดยมีนักออกแบบหลายกลุ่มเข้าร่วม ก่อนที่ PBM จะชนะการประกวดด้วยรูปแบบการดีไซน์ที่โดดเด่น แปลกใหม่ สามารถจัดสรรพื้นที่หลากหลายฟังก์ชันให้ออกมาดูสวยงามแต่ในขณะเดียวกันก็ยืดหยุ่น ราวกับเป็นออฟฟิศในฝันของใครหลายคน
คุณโอ๊คเล่าว่า “โจทย์ของทางสิงห์ค่อนข้างเปิดกว้างมาก เขาเพียงต้องการให้ดีไซน์เนอร์นำเสนอว่า ออฟฟิศสมัยใหม่ที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์รวมถึงการทำงาน และสามารถคงอยู่ไปได้อีก 10 ปี มันจะเป็นแบบไหน ซึ่งเขาให้เราเริ่มดีไซน์ตั้งแต่ตึกกำลังก่อสร้างอยู่เลย มันเลยสนุกกว่าโปรเจกต์ทั่วไป เราสามารถดีไซน์ได้ตั้งแต่สเปซ เข้าไปปรับเปลี่ยนงานสถาปัตย์ ซึ่งอันนี้ก็ต้องชมวิสัยทัศน์ของทางสิงห์นะ เพราะเขาให้ความสำคัญกับการใช้พื้นที่ของผู้ใช้งานจริงๆ ไม่ใช่สร้างเสร็จแล้วไปบังคับว่าผู้ใช้งานต้องทำงานอยู่ในสเปซแบบนี้”
ทุกหยดซ่า โซดาสิงห์ , รวมกัน มันส์กว่า สโลแกนติดหูของโซดาสิงห์ หรือเบียร์ลีโอ ที่เราท่องจำได้อย่างคุ้นเคย ถูกดีไซน์เนอร์หยิบมาถอดความเป็นสเปซ “เริ่มแรกเราไม่วางแปลนนะ แต่เราคิดเรื่องแรงบันดาลใจ เราเข้าไปศึกษาว่าองค์กรนี้คืออะไร ประวัติของเขาเป็นยังไง โปรดักต์ไลน์คืออะไร เมื่อเราเข้าใจเขา เราถึงตีความและถอดมาเป็นคอนเซ็ปต์” แต่เมื่อแนวคิดการออกแบบโซนต่างๆ ล้วนแตกต่างกันไปตามคาแรคเตอร์ของแบรนด์ย่อย ทางทีมออกแบบจึงจำเป็นต้องหาแนวคิดหลักภาพรวมที่จะมาครอบคลุมเพื่อทำให้สเปซทั้งหมดดูเป็นหนึ่งเดียวกันและยังสะท้อนตัวตนอังทรงเกียรติของความเป็น บุญรอดบริวเวอรี่
เมื่อตำนานผสานการออกแบบ
แนวคิดหลักภาพรวม ผู้ออกแบบเลือกที่จะหยิบนำประวัติอันยาวนานของบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่มาร้อยเรียงและเล่าเรื่องราวผ่านเส้นสายและโทนสี ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่าก่อนจะมาเป็นสิงห์อย่างทุกวันนี้ บริษัทบุญรอด เริ่มต้นธุรกิจจากการเดินเรือเมล์ ก่อนจะปรับตัวและเปลี่ยนเส้นทางธุรกิจสู่การเริ่มผลิตเบียร์และน้ำเปล่า ทำให้ทางแบรนด์มีความผูกผันกับ สายน้ำ มาตั้งแต่ยุคอดีตจวบจนปัจจุบัน
ซึ่งหากพูดถึง สายน้ำ หลายคนคงนึกถึงภาพวาดที่มักระบายให้ผืนน้ำมีสีฟ้า หรือสีน้ำเงิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเป็นน้ำทะเลลึก มักจะถูกแทนที่ด้วยสีเทา ซึ่งเป็นสีที่มีความสุขุม นุ่มลึก นิ่งและสงบตรงตามคาแรคเตอร์ของสิงห์ รวมถึงมีการหยิบสีทองเข้ามาเติมแต่งเป็นส่วนผสมเล็กน้อย เพื่อเสริมความเป็นไทยและสื่อความหมายแฝงของฟองเบียร์ สีสันและเส้นสายลื่นไหลของน้ำ จึงเข้ามาเป็นแนวคิดหลักที่จะครอบคลุมก่อนที่ทุกโซนจะมีความสนุกที่แยกแตกต่างกันออกไป
จากสโลแกนและคาแร็กเตอร์สู่สเปซ
บริเวณชั้น 34 ออกแบบให้เป็นพื้นที่ต้อนรับ รองรับแขกสำหรับการประชุมและพื้นที่ co-working Space ซึ่งสโลแกน ‘รวมกัน มันส์กว่า’ จากแบรนด์ลีโอถูกตีความเป็น Townhall Space สเปซศูนย์รวมของทางองค์กร ที่สถาปนิกตั้งใจเปลี่ยนพื้นที่สูง 7 เมตรให้กลายเป็นชั้นลอยเพื่อสร้างมิติและเพิ่มพื้นที่ให้รองรับจำนวนคนได้มากขึ้น รวมถึงยังสร้างปฏิสัมพันธ์ ทำให้สเปซใช้งานได้อย่างสูงสุด แทนที่จะเป็นเพียงความรู้สึกโอ่โถง หรูหราจากเพดานที่สูง 7 เมตรเพียงอย่างเดียว พื้นที่บริเวณนี้ยังเปรียบเสมือนใจกลางของชั้น 34 ที่ได้รับการออกแบบเส้นสายมาจาก สายน้ำ ที่ไหลต่อเนื่องร้อยเรียงกันอย่างไม่สิ้นสุด
สถาปนิกเลือกนำหินสังเคราะห์ Solid Surface มาใช้ในการออกแบบพับม้วนพื้นที่ตั้งแต่บริเวณขั้นบันได ที่นั่ง ยาวจนถึงราวกันตก เพื่อให้สเปซทั้งหมดสามารถไหลเชื่อมต่อเป็นเนื้อเดียวกันโดยไร้รอยต่อ ราวกับสายน้ำ ก่อนจะไหลต่อเนื่องมาบรรจบที่บันไดวน Spiral ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากลักษณะของหยดน้ำ ซึ่งยังทำหน้าที่เป็นประติมากรรมอันสวยงามที่สร้างจุดเด่นให้กับพื้นที่ขนาดกว้างได้อีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนห้องประชุม ภายในชั้น 34 สถาปนิกเล่าเรื่องอย่างสนุกสนานผ่านคาแรคเตอร์ของโซดาสิงห์ “ทุกหยดซ่า โซดาสิงห์ เราไปนึกถึง ห้องประชุม เพราะจุดเด่นของโซดาสิงห์คือ เวลาที่มันคงที่ มันจะไม่มีฟองเลย แต่ถ้าคุณเขย่า ฟองมันจะฟู่ เราเลยรู้สึกว่า ห้องประชุมมันก็เหมือนโซดานั่นแหละ เกิดการรวมกัน พอตีฟอง Brainstorm เข้าไป ก็ตกผลึกกลายเป็นผลงาน” สถาปนิกเปลี่ยนไอเดียดังกล่าวให้กลายเป็นรูปเป็นร่าง ด้วยการนำการกระจายตัวของฟอง เรื่องของความใส หรือสีสันอันแตกต่างของฟองเบียร์มารวมไว้ภายในห้องเดียว
สายน้ำยังคงไหลต่อเนื่องไปสู่ฟังก์ชันต่างๆ ของพื้นที่ บริเวณเคาน์เตอร์ต้อนรับออกแบบด้วยหินควอทซ์ที่มีลวดลายคล้ายกับผิวน้ำที่เคลื่อนตัวอยู่บนพื้นหลังสีเทาดำอันนิ่ง สงบ รวมถึงยังมีการออกแบบ Kinetic Wall ที่สามารถขยับพลิ้วไหวได้ราวกับผืนน้ำที่เคลื่อนตัวไม่หยุดนิ่ง ดีไซน์เนอร์หยิบนำแผ่นสแตนเลสสีทอง เงินและทองแดง พับให้ได้องศาที่พอเหมาะก่อนจะยึดเข้ากับเส้นสลิงและหมุด ซึ่งลวดลายที่ปรากฏยังเป็นส่วนหนึ่งของตัวสิงห์ เผยนัยยะแฝงของอัตลักษณ์ที่สร้างจุดเด่นได้ทันทีที่พบเห็น
พื้นที่ co-working Space ในส่วนอื่นๆ ออกแบบให้มีการใช้งานที่แตกต่างกัน เพื่อความเหมาะสมและสร้างสภาวะการทำงานที่ไม่จำเจ ออฟฟิศยุคใหม่จึงไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ภายในแผงกั้นขนาด 1.5 เมตรที่เราคุ้นเคย แต่เปิดโอกาสให้พนักงานได้ค้นหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำงานของเขาเอง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการทำงานได้อย่างสูงสุด
ชั้น 40 ถูกวางให้เป็นพื้นที่สำนักงานภายในของบริษัท ซึ่งออกแบบให้มีความหลากหลาย ไม่เพียงโต๊ะนั่งทำงานเท่านั้น แต่เรายังเห็นพื้นที่ออกกำลังกาย พื้นที่พักผ่อน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่แทรกซึมอยู่ในทุกส่วนของการทำงาน เพราะแท้จริงแล้ว ไอเดียใหม่ๆ หรือความคิดสร้างสรรค์มักเกิดขึ้นเมื่อเราได้รับการผ่อนคลาย ที่ บุญรอดบริวเวอรี่ พนักงานจึงไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว แต่สามารถใช้งานพื้นที่ได้ตามความต้องการของตนเอง
“มันจะมีพื้นที่ co-working หรือ pantry แทรกอยู่ในแต่ละจุดของพื้นที่ทำงาน อันนี้มันจะทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น จากการที่เราต้องนั่งทำงานเป็นรูทีนที่หน้าคอม ลุกขึ้นมาก็เจอเพื่อนที่นั่งทำงานหน้าคอมเหมือนกัน ความรู้สึกมันจะต่าง เขาจะเปลี่ยนไปนั่งทำงานที่บาร์นั่งโซฟา หรือนั่งอาร์มแชร์กดแท็บแล็ตได้” คุณตี๋เล่า
ถึงแม้ชั้น 41 จะเป็นชั้นของผู้บริหารระดับสูง แต่ในการออกแบบคาแรคเตอร์ของชั้นนี้นำเสนอความเป็นครอบครัว ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านมากกว่าความเป็นสำนักงาน สะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่ดูแลคน พนักงาน ผู้อยู่กันมาอย่างยาวนานราวกับว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน
ในส่วนโถงต้อนรับสร้างจุดเด่นด้วยการออกแบบรูปแกะสลัก หนุมานคาบศร ตราสัญลักษณ์ดั้งเดิมของบริษัท โดยใช้วัสดุหินอ่อนดำก้อนใหญ่ทำให้เกิดพื้นผิวด้าน ก่อนจะนำมาแกะสลักด้วยเทคนิคนูนสูง นูนต่ำ ที่ผสมผสานระหว่างความเป็นไทยกับการออกแบบในไสตล์โมเดิร์นได้อย่างลงตัว
“อย่างผู้บริหาร แกจะเติบโตมากับโรงงาน มีความเป็น Industrial ลุค เพราะฉะนั้นเขาไม่ต้องการสีทอง ไม่ต้องหรูหรา ฟุ่มเฟือย เพราะในเส้นทางธุรกิจเขาไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองแล้วว่าเขาประสบความสำเร็จมากแค่ไหน ห้องของผู้บริหารก็เลยจะค่อนข้างเรียบง่าย มีความดิบ ดูโก้ เท่ เพราะเขาก็ต้องการให้สะท้อนคาแรคเตอร์ความ Industrial ของสิงห์ด้วย”
เรียบ ง่าย มั่นคงรับผิดชอบต่อสังคม
‘เรียบ ง่าย มั่นคง รับผิดชอบต่อสังคม’ คือแนวคิดการออกแบบวัสดุของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งสะท้อนคาแร็กเตอร์ความเป็น ‘บุญรอด’ ได้เป็นอย่างดี โดยความเรียบสะท้อนถึงวัสดุและโทนสีที่สวยงามเหนือกาลเวลา สามารถอยู่ได้ทุกยุคทุกสมัย ส่วนความง่าย นำเสนอผ่านวัสดุที่ง่ายต่อการดูแลรักษา สามารถนำมาสร้างสรรค์ผลงานออกแบบได้อย่างชัดเจน ส่วนความมั่นคง คือ วัสดุที่ต้องแสดงความแข็งแรง ถาวร ดูแลรักษาได้ในระยะยาว สะท้อนถึงความเป็นปึกแผ่นขององค์กร ส่วนสิ่งสุดท้ายซึ่งเป็นวิสัยทัศน์ที่ทางแบรนด์มีมาอย่างยาวนาน นั่นคือ ความรับผิดชอบต่อสังคม วัสดุต่างๆ จึงต้องสื่อถึงความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เรียกได้ว่า สำนักงานใหญ่ของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ลบภาพสำนักงานอาคารสูงในความทรงจำของเราไปจนหมดสิ้น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ เฝ้ารอวันหยุดหรือเวลาพักกลางวันเพียงหนึ่งชั่วโมง ไม่ใช่ฝันร้ายของพนักงานออฟฟิศอีกต่อไป การออกแบบสำนักงานให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของพนักงานจึงเป็นสิ่งที่องค์กรสมัยใหม่ต่างให้ความสำคัญ เมื่อการทำงานมาในรูปแบบที่สามารถผ่อนคลายได้มากกว่าที่เคย อาจนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ทำให้ผลงานออกมาดีกว่าเดิมก็เป็นได้
ซึ่งคุณโจ๊ค สถาปนิก ทิ้งท้ายอย่างขบขันว่า “การมีพื้นที่ที่คนไม่ขี้เกียจมาทำงาน นั่นแหละ สุดยอดแล้ว เหมือนเด็กเวลาไปโรงเรียน ถ้าเด็กอยากไป โรงเรียนนั้นคือประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกัน ถ้าพนักงานอยากมาทำงาน ชีวิตมีความสุข การทำงานมีประสิทธิภาพ เพราะมันไม่มีใครหรอกที่อยากนั่งอยู่ในพื้นที่ขนาด 1.50 ม. มีแผงกั้น นั่งมองรูปที่ติดอยู่ที่ผนัง แล้วคิดว่าเมื่อไรชีวิตฉันจะได้หยุดยาว แต่ท้ายที่สุดแล้วในฐานะของดีไซน์เนอร์เราก็พูดไม่ได้นะ มันคือผลลัพธ์ที่ผู้ใช้งานต้องพิสูจน์เอง”