หากลองสังเกต ตรอกซอกซอยต่างๆ ในกรุงเทพฯ มักซุกซ่อนไปด้วยอาคารเก่าที่มีคุณค่ามากมาย บ้างก็มีโครงสร้างสวยงาม บ้างก็แฝงเอกลักษณ์ของยุคสมัยที่สร้างเสน่ห์ให้กับย่านนั้นๆ แต่น่าเสียดายที่อาคารเหล่านั้นมักถูกปล่อยทิ้งร้าง โครงสร้างสถาปัตยกรรมที่ถาวรยากจะทำลายทิ้ง จึงถูกปล่อยให้ตั้งตระหง่านโดดเด่นโดยที่ไม่มีการใช้งาน และเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา
อาคารเก่าในสมัยรัชกาลที่ 5 อย่างแทงค์เก็บน้ำประปาขนาดใหญ่แม้นศรี ณ แยกแม้นศรี ถนนบำรุงเมือง คือหนึ่งในอาคารดังกล่าวที่ถูกปล่อยให้รกร้าง ไร้ซึ่งการใช้งาน ก่อนเรื่องราวอันน่าสนใจจะได้นักศึกษาอินทีเรียดีไซน์ คุณเม–กัญญุมา ประชาศิลป์ชัย หยิบมาปรับปรุงให้กลายเป็นพื้นที่ใช้งานของชุมชนในโปรเจกต์วิทยานิพนธ์ปริญโท มหาวิทยาลัย Nuova Accademia di Belle Arti (NABA) แห่งมิลาน ประเทศอิตาลี
คุณเมเล่าว่า โปรเจกต์วิทยานิพนธ์นี้เริ่มต้นขึ้นจากความหลงใหลในเมืองเก่าของคุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิฟื้นฟูเมืองและอนุรักษ์เมืองเก่า โดยก่อนคุณพ่อจะเสียประมาณ 2 ปี ท่านได้ทำโปรเจกต์ Community Center ซึ่งเป็นการพัฒนาตึกโรงพิมพ์คุรุสภาเก่า บริเวณป้อมพระสุเมร ถนนพระอาทิตย์ให้เป็นพื้นที่ของชุมชน โดยมีแบบร่าง แปลน และงานออกแบบออกมาชัดเจน แต่ด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้เรายังคงไม่ได้เห็นโปรเจกต์ดังกล่าว ถูกสร้างขึ้นจริง
คุณเมจึงหยิบนำโปรเจกต์ที่ว่ามาพัฒนาต่อ แต่ในปัจจุบันโรงพิมพ์คุรุสภาเก่าได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์บางลำพูไปเสียก่อน ทำให้คุณเมต้องมองหาอาคารหลังใหม่ เนื่องจากมองว่า หากมีโอกาสนำเสนอและเกิดการสร้างขึ้นจริง อาคารนั้นน่าจะเป็นอาคารรกร้างที่ไม่มีใครใช้งานมากกว่า หลังจากที่ค้นคว้าและมองหาอาคารมากมายจึงได้มาพบกับ แทงค์เก็บน้ำประปาขนาดใหญ่แม้นศรี ซึ่งอยู่ในเขตละแวกบ้านที่สามารถไป-มา และเก็บข้อมูลได้อย่างสะดวก
อาคารแทงค์น้ำเก่าภายในพื้นที่การประปาแม้นศรี
Civic Center กับแนวคิดพื้นที่ของ ‘ทุกคน’ ในชุมชน
“เรามองว่า Community Center มันต้องแล้วแต่ความต้องการของชุมชนนั้นๆ ซึ่งจากที่เราไปศึกษาพื้นที่ลักษณะนี้มา เราพบว่าแต่ละพื้นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง บางที่มีห้องสมุด บางที่มีสวน มีสนามเด็กเล่น หรือบางที่อาจจะไม่มี สิ่งเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับการใช้งานของชุมชน” แทงค์น้ำเก่าทั้งสองจึงถูกออกแบบเปลี่ยนฟังก์ชันภายในใหม่ให้กลายเป็น หอชมวิว พื้นที่ร้านอาหารและคาเฟ่ ห้องสมุด พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจและพื้นที่เล่นของเด็กๆ ซึ่งแต่ละแนวคิดที่คุณเมออกแบบจะรองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม ทุกวัยในชุมชน ไปพร้อมๆ กับการผสมผสานวัฒนธรรมและเอกลักษณ์แบบไทยๆ ที่เราคุ้นเคย
แนวคิดแรก ‘vertical emptiness’ เริ่มต้นด้วยการจัดการสเปซ แทรกโครงสร้างส่วนพื้น เปลี่ยนหอคอยแทงค์น้ำให้เป็นสถาปัตยกรรมที่คนสามารถเข้าไปใช้งานได้ โดยลดการใช้ผนังเพื่อรักษาความโล่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่เดิมเอาไว้ ประกอบเข้ากับแนวคิดที่ 2 ‘River deck’ ซึ่งนำลักษณะของชานบ้านแบบไทยเดิม มาตีความใหม่และนำไปใช้ออกแบบเป็นทางขึ้นของอาคาร
แนวคิดที่ 3 ‘Vertical Transportation’ เป็นการออกแบบจัดการกับความแคบของพื้นที่ ลดการใช้งานและความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นบริเวณทางสัญจร ด้วยการใช้ลิฟท์ส่งอาหารบริเวณส่วนร้านอาหารและคาเฟ่ ซึ่งคุณเมได้แรงบันดาลใจจากร้านอาหารเก่าในย่านวังบูรพาที่เคยรับประทานในวัยเด็ก ส่วนแนวคิดที่ 4 ‘East Asian Floor Culture’ เป็นการหยิบนำวัฒนธรรมการนั่งกินล้อมพื้นแบบเอเชียเข้ามาใช้เติมสีสันในพื้นที่ และยังช่วยลดขนาดพื้นที่ให้ดูกว้างขึ้นได้ในเชิงความรู้สึก
แนวคิดที่ 5 ‘vertical playground’ ตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานวัยเด็ก ซึ่งเน้นการใช้งานพื้นที่ในทางตั้งเพื่อเพิ่มฟังก์ชันของการเล่น ปีนป่าย โดยไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มากเท่าที่ควร
แนวคิดที่ 6 ‘bookshelves x Capsule Hotel หรือการออกแบบชั้นหนังสือที่เพิ่มฟังก์ชันซ่อนเตียงเอาไว้ภายใน เนื่องจากพื้นที่มีจำนวนจำกัด การเสริมฟังก์ชันเหล่านี้เข้าไปจึงเป็นการเพิ่มทางเลือก และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งาน โดยยังคงเน้นที่การประหยัดพื้นที่
แนวคิดที่ 7 ‘Bucket-like Rocket capsule’ ด้วยความทีพื้นที่ทางสัญจรมีอย่างจำกัด ละอาจไม่เพียงพอต่อระยะของการออกแบบทางลาด หรือลิฟท์ แนวคิดเครนยกรถเข็นจึงกลายเป็นทางเลือกหนึ่งที่ตอบรับกับผู้ใช้งานในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ
จากแทงค์น้ำเก่าสู่พื้นที่ในฝันของเมือง
อาคารแทงค์น้ำเก่าทั้ง 2 ถูกแบ่งฟังก์ชันแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยบริเวณชั้นแรกของแทงค์น้ำที่ 1 จะเป็นฟังก์ชันของคาเฟ่ ร้านอาหาร พื้นที่นั่งรับประทาน ซึ่งรวมแนวคิดที่ 2 และ 3 เข้าไว้ด้วยกัน ส่วนด้านบนชั้น 4 ถูกออกแบบให้เป็นหอคอยสำหรับชมวิวซึ่งเป็นจุดที่หันหน้าเข้าสู่เขตเมืองเก่าของกรุงเทพฯ ได้อย่างพอดิบพอดีและยังเป็นชั้นที่ออกแบบให้มีทางเชื่อมต่อระหว่างอาคารทั้ง 2 เข้าไว้ด้วยกัน ตำแหน่งของโครงสร้างพื้นที่ยื่นออกมาจากตัวอาคาร ยังออกแบบให้สัมพันธ์กับโครงสร้างรอกส่งอาหารที่เชื่อมสู่พื้นที่ชั้นล่างอีกด้วย
ส่วนแทงค์น้ำหลังที่ 2 บริเวณชั้นล่างสุดเป็นฟังก์ชันเด็กเล่น ที่ปล่อยให้เด็กๆ ได้ปีนป่าย ขึ้นลงไปตามพื้นที่ตาข่ายที่ขึงไว้ เช่นเดียวกับบริเวณชั้น 3 และชั้น 4 ซึ่งเป็นพื้นที่นั่งเล่น นอนเล่น ที่ออกแบบด้วยตาข่าย เปิดให้ลมผ่านได้ ต่างจากการใช้โครงสร้างพื้นและผนังแบบเต็มผืน
ส่วนที่เหมือนกันระหว่างแทงค์น้ำทั้ง 2 คือห้องสมุด ที่อยู่บริเวณด้านบนสุดของอาคาร ซึ่งใช้ฟอร์มของน้ำที่มีการลื่นไหล รูปทรงของถังน้ำบัคเก็ต มาใช้ในการออกแบบส่วนต่างๆ ภายในพื้นที่
“เรารู้สึกว่าประเทศไทยไม่ได้ความสำคัญกับการพัฒนาอาคารเก่ามากเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่อาคารมันมีศักยภาพในการพัฒนาต่อ อย่างประปาแม้นศรีเอง ทั้งๆ ที่ขึ้นทะเบียนเป็นอาคารอนุรักษ์ แต่สภาพจริงกลับเสื่อมโทรม ถูกทิ้งร้างไม่ได้ใช้งาน ซึ่งมันก็คงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถพัฒนาพื้นที่ในลักษณะนี้ให้กลายเป็นของทุกคนในชุมชน”
ไม่ใช่เพียงการประปาแม้นศรีเท่านั้น แต่เชื่อว่าหลายคนคงเคยตั้งคำถามกับแทงค์น้ำขนาดใหญ่ที่ถูกปล่อยให้รกร้างอยู่ทั่วเมืองว่า เจ้าสถาปัตยกรรมที่ตั้งตระหง่านอยู่นี้ จะสามารถนำไปพัฒนาเป็นอะไรได้อีกบ้าง? ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่แนวคิดที่ยังไม่ได้สร้างจริง แต่โปรเจกต์วิทยาพนธ์ชิ้นนี้ก็ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดการกับพื้นที่รกร้างในเมือง ก่อนจะถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่ในฝันแบบที่ใครหลายคนต้องการ
ผู้ออกแบบ
ชื่อ-นามสกุล : กัญญุมา ประชาศิลป์ชัย
Master of Arts in Interior Design
Nuova Accademia di Belle Arti (NABA) – Milan , Italy
E-MAIL : pippokka@hotmail.com
โทร : 082-564-2419
ชื่องาน : Water Station Civic Center in the Old Town of Bangkok , Thailand