ความก้าวหน้าในชีวิตการทำงานสถาปนิกย่อมเป็นสิ่งที่ดี ส่วนลึกในใจของสถาปนิกรุ่นใหม่หลายท่าน อยากก้าวไปสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจรับบริการออกแบบ ด้วยส่วนใหญ่แล้วมักมาจากแรงผลักดันในด้านการออกแบบที่อยากแสดงตัวตนออกมาได้อย่างชัดเจน หรือบ้างก็เกิดจากความพร้อมในด้านการลงทุนและแรงสนับสนุนรอบด้าน แต่ในขณะเดียวกัน การเปิดสำนักงานออกแบบสำหรับมือใหม่นั้น ยังมีปัจจัยหลายเรื่องที่จะนำพาท่านไปสู่ความสำเร็จ ซึ่งบทความนี้จะขอนำมาคุยในประเด็นต่างๆได้ 7 เรื่องดังนี้ครับ
1. การบริการงานออกแบบอย่างครบถ้วน
ประเด็นนี้ถือว่าสำคัญมาก เนื่องจากจะทำให้เกิดมาตรฐานที่ดีในงานบริการวิชาชีพแล้ว ยังไปเกี่ยวข้องกับต้นทุนในการทำงานอีกด้วย(เรื่องต้นทุนจะนำไปกล่าวในข้อ2) ซึ่งตามมาตรฐานวิชาชีพนั้น การบริการออกแบบของสถาปนิกนั้นยังต้องรวมไปถึงงานด้านวิศวกรรมแขนงต่างๆที่ต่อเนื่องเช่นงานวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า-สื่อสาร-ปรับอากาศ วิศวกรรมประปา-สุขาภิบาล และ/หรือแขนงอื่นๆ อีกทั้งยังรวบไปถึงการจัดทำราคากลางและการตรวจเยี่ยมงานก่อสร้างอีกด้วย
ทั้งนี้งานออกแบบยังต้องมีขั้นตอนต่างๆเช่นการศึกษาโครงการ การออกแบบแนวความคิด การจัดทำแบบร่าง จนกระทั่งการทำแบบเพื่อใช้ในการก่อสร้างและยื่นขออนุญาตปลูกสร้างอาคาร ซึ่งขั้นตอนต่างๆนี้สถาปนิกเองต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบและหากลูกค้าต้องการปรับเปลี่ยน(ตัดหรือเพิ่มขั้นตอนหรือปริมาณงาน) ก็จะสามารถทำได้และเข้าใจได้ตรงกัน
2. เข้าใจต้นทุนในการทำงาน
ดังคำกล่าวที่ว่า ธุรกิจใดหากไม่เข้าใจเรื่องต้นทุนแล้วก็คงยากที่จะทำกำไร ในธุรกิจออกแบบก็เช่นเดียวกันนะครับ ท่านต้องสามารถแจกแจงหรือประมาณการเงินต้นทุนในแต่ละส่วนประกอบได้อาทิเช่น ค่าแรงวิชาชีพ(สถาปนิกและวิศวกร) , ค่าวัสดุสิ้นเปลือง ,ค่าติดต่อประสานงาน ,ค่าน้ำ-ไฟ-โทรศัพท์-เดินทาง ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อการสำรองเงินหมุนเวียนมิให้งานหยุดชะงักและที่สำคัญคือประมาณผลกำไรได้
3. การคิดค่าออกแบบและการทำสัญญารับจ้าง
เมื่อคิดต้นทุนตามข้อ2เป็น ท่านก็ต้องคิดค่าออกแบบเป็นด้วยนะครับ ซึ่งค่าบริการออกแบบนั้นท่านสามารถศึกษาได้จาก ตารางคิดค่าออกแบบที่สมาคมสถาปนิกสยามได้ทำไว้เป็นมาตรฐานให้แล้ว แต่ตัวเลขดังกล่าวนั้นก็ไม่ตายตัวซะทีเดียวนะครับ ตัวสถาปนิกเองสามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนได้ตามปัจจัยต่างๆเช่น ความยาก-ง่ายของงาน ,การแข่งขัน ,ต้นทุน หรืออื่นๆ ตามความเหมาะสม
ส่วนการทำสัญญารับจ้างก็เช่นกันนะครับ สถาปนิกสามารถใช้ฉบับมาตรฐานของสมาคมสถาปนิกสยามที่ได้ร่างไว้เป็นตัวอย่างเช่นกัน ซึ่งเนื้อหาในสัญญาจะระบุเรื่องขอบเขต ,ขั้นตอนการออกแบบ ตลอดจนถึงการแบ่งงวดเงินค่าออกแบบไว้อย่างชัดเจน
4. การวางตัวทีมงาน
สถาปนิกควรวางตัวบุคคลที่จะเข้ามาร่วมทำงานได้อย่างเหมาะสมโดยพิจารณาได้จาก วุฒิทางด้านวิชาชีพ(สถาปนิก/วิศวกรจะมีระดับทางวิชาชีพ สอดคล้องกับการออกแบบอาคารในขนาดต่างๆ),ประสบการณ์ทำงาน,ความรับผิดชอบ,การตรงต่อเวลา,ค่าแรง ฯลฯ เพื่อทำงานโครงการออกแบบนั้น ออกมาได้ผลลัพท์ที่สมบูรณ์ที่สุด
5. วางแผนระยะเวลา
สถาปนิกต้องสามารถวางแผนด้านระยะเวลาการทำงานในทุกๆขั้นตอนต่างๆได้ค่อนข้างแม่นยำ นั่นหมายถึงตัวสถาปนิกเองต้องมีประสบการณ์ในงานมาก่อนรวมไปถึงต้องสามารถกำกับทีมงานให้ทำงานให้บรรลุตามแผนงานที่วางไว้ได้
6. หางาน
ท่านควรมีเครือข่ายหรือช่องทางในการหางานป้อนเข้าบริษัทตนเองได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะเป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า รายจ่ายในบริษัทนั้นเกิดขึ้นได้ตลอดทุกวัน ดังนั้นการหารายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงนั้นสำคัญมากๆเช่นกัน
7. อื่นๆ
สุดท้ายซึ่งได้แก่เรื่องปลีกย่อยที่ต้องรู้ ซึ่งบางเรื่องก็ต้องทำเองบางเรื่องก็สามารถจ้างคนอื่นมาทำแทนได้เช่นเรื่องการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท,การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย,ระบบภาษีบริษัท,กฎหมายแรงงานต่างๆ,การทำธุรกรรมการเงินกับธนาคาร ฯลฯ