OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Jun Sekino จากนักเรียนสถาปัตย์ที่เกือบถูกรีไทร์ สู่เส้นทางแห่งการทดลองและฝึกฝนจนกลายเป็นสถาปนิกแนวหน้าของไทย

“เส้นทางการเป็นสถาปนิกสำหรับผม มันคล้ายๆ การวิ่งมาราธอน เวลาเราวิ่งไกลๆ มันจะมีทั้งช่วงที่มีแรง  มีพลัง มีช่วงท้อ เสียงในหัวบอกว่าไม่ไหวแล้ว พอเถอะ แต่ก็กลับมาฮึดใหม่ มันวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ” นี่คือคำพูดของสถาปนิกไทยเชื้อสายญี่ปุ่นคุณ จูน เซคิโน แห่ง Junsekino Architect and Design เมื่อเราถามถึงเส้นทางในสายอาชีพสถาปนิก

กว่าจะมาเป็นสถาปนิกมากฝีมือผู้ฝากผลงานไว้กับการออกแบบอาคารสเกลเล็กหลากหลายประเภทจนกลายเป็นที่รู้จักในฐานะสถาปนิกแนวหน้าของไทย เส้นทางการเป็นสถาปนิกของคุณจูนนั้นไม่ง่าย เพราะมองว่าตนเองไม่ได้เก่งและไม่มีพรสวรรค์ กว่าจะผ่านการทดลอง ฝึกฝน จนมีวันนี้ จึงเปรียบได้กับเส้นทางการวิ่งมาราธอนที่ต้องมีเหนื่อยล้า ท้อถอย อิดโรย แต่ก็รู้สึกชนะใจตนเองและหายเหนื่อยเมื่อถึงเส้นชัยที่ตั้งไว้


เมื่อ ‘นักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติ’ เปลี่ยนเส้นทางสู่การเป็น ‘สถาปนิก’

หากจะเริ่มต้นเล่าจากที่มาในสายอาชีพนี้ คงต้องย้อนไปในสมัยที่คุณจูนเป็นนักกีฬาเยาวชนทีมชาติ ซึ่งต้องไปแข่งขันระดับโลกมากมายหลายประเทศ การได้เห็นบ้านเมืองอันสวยงามจากสถาปนิกที่มีชื่อเสียงมากมาย ประกอบกับการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นบ่อยครั้ง สิ่งเหล่านี้สะสมเป็นแรงบันดาลใจและความหลงใหลในสถาปัตยกรรมโดยไม่รู้ตัว

ซึ่งใครจะเชื่อว่าจาก นักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติ ในวันนั้นจะผลิกผันสู่อาชีพนักสร้างสรรค์และออกแบบอย่าง สถาปนิก หลังจากที่กลับมาจากการแข่ง คุณจูน กลับเข้าสู่ระบบการเรียนมัธยมแบบนักเรียนคนอื่นๆ ทั่วไป ก่อนจะตัดสินใจเข้าเรียนคณะเกี่ยวกับการเงิน ในชีวิตช่วงปี 1 คุณจูนเล่าว่า ชีวิตค่อนข้างสนุกสนาน เฮฮา เรียนบ้างเที่ยวบ้างตามประสาวัยรุ่น ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสไปช่วยเพื่อนทำโมเดล การได้ลองทำและพบว่าตนเองชื่นชอบประกอบกับการได้เห็นงานสถาปัตยกรรมสวยๆ ทั่วโลก จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณจูนตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทาง มาเข้าเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรังสิต
จูน เซคิโน กับชีวิตของการเป็นนักศึกษาสถาปัตย์

ก่อนจะประสบความสำเร็จเป็นสถาปนิกที่มีชื่อเสียง ระหว่างทางนั้นเรียกได้ว่าสมบุกสมบันพอสมควร ปีแรกของการเรียนคุณจูนเกือบโดนรีไทร์ด้วยเกรดเฉลี่ยเพียง 1.8 เนื่องจากไม่เข้าใจในวิธีคิด การออกแบบ Visual Art การจัด Composition เรียกได้ว่าไม่เข้าใจและจับทางอะไรไม่ได้เลย โชคดีที่มีรุ่นพี่ในคณะที่สนิทสนม คุณจูนจึงใช้วิธีเรียนรู้จากคนใกล้ตัว โดยสอบถาม ช่วยงาน ช่วยเขียนแบบ และค่อยๆ เรียนรู้ สั่งสมเทคนิคต่างๆ ด้วยตนเอง

ด้วยความเชื่อว่าตนเองไม่ได้มีพรสวรรค์ ยิ่งทำให้ต้องพยายามมากขึ้น ในทุกๆ วันคุณจูนจะใช้วิธีการนำ Drawing ของรุ่นพี่มานั่งดู เรียนรู้และหัดเขียนตาม “ทำไมระยะ Truss ถึงต้องเท่านี้ ทำไมอันนี้ต้องเป็นแบบนี้ ทำไมตรงนี้ต้องเอียง ผมไปถามเขาทุกวันจนเขารำคาญ บางคนก็ตอบว่าเพราะทฤษฎีต่างๆ บางคนก็ตอบว่าเพราะความงาม ผมถึงเริ่มเข้าใจว่า การเรียนสถาปัตยกรรม 5 ปี มันเหมือนเราเรียนรู้ตัวเราเองกับสิ่งสิ่งหนึ่ง มันไม่ใช่การเรียนเพื่อสอบข้อสอบ ซึ่งเราจะตอบโจทย์ในเรื่องนี้อย่างไร คำตอบมันมีเป็นล้านแบบ” คุณจูน เล่า
กว่าจะมาเป็น Junsekino Architect and Design

โชคไม่ดีที่ในปีที่คุณจูนเรียนจบ ประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ฟองสบู่แตกพอดิบพอดี งานจึงค่อนข้างหายาก จากนั้นคุณจูนได้โอกาสเข้าทำงานที่บริษัทรับเหมา ซึ่งช่วยต่อยอดในเรื่องการทำงานจริงมากขึ้น เข้าใจพาร์ทการทำงานกับผู้รับเหมาและช่างก่อสร้าง รวมถึงได้มองเห็นงานสถาปัตยกรรมในมิติอื่นที่ต่างจากการออกแบบเพียงแค่ในกระดาษเท่านั้น

หลังจากนั้น ชีวิตก็วนเวียนกับการทำงานทั้งบริษัทเล็ก ใหญ่ เรียนรู้งานในสายอาชีพสถาปัตยกรรมหลากหลายประเภท ทั้งอินทีเรีย งานรับเหมา งานรีสอร์ท และงานสถาปัตยกรรมหลักนานถึง 10 ปี ก่อนจะมีงานพิเศษเป็นของตัวเองที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้การทำงานตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนจบงาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณจูนตัดสินใจเปิดบริษัท Junsekino Architect and Design เป็นของตัวเอง
คุณจูนเล่าว่า “ผมมี Mindset ว่าถ้าเราอยากเก่งอะไร เราต้องเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น  ตอนนั้นมันมีช่วงที่ผมอยากเก่งภาษาอังกฤษ ผมก็หาโอกาสให้ตัวเองได้ไปทำงานกับชาวต่างชาติ เพราะเราไม่เก่งเราเลยต้องเน้นพยายาม เราก็มีโอกาสได้ไปเป็นผู้ช่วยเขา จากคนไม่กล้าพูด กลัวการคุยสำเนียงเราก็กล้าพูดกล้าคุยมากขึ้น”

แนวคิดการทำงานแบบ ‘เรียบง่ายแต่ไม่ตายตัว’

หากใครเคยเห็นผลงานของ Junsekino Architect and Design คงจะคุ้นตากับผลงานสเกลเล็กที่โดดเด่นด้วยรูปลักษณ์อันเรียบง่าย ชวนให้เราหวนนึกถึงอะไรที่เป็นธรรมดาและสามัญที่สุด โดยไม่ต้องพึ่งพาความหวือหวา หรือแสดงตัวอย่างโดดเด่น พูดง่ายๆ ว่า หากเปรียบเป็นคาแรคเตอร์ของคน คนคนนั้นคงจะนิ่ง เงียบ สุขุมและมีความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างน่าเอ็นดู
“คนที่เห็นงานผมมาแต่เด็กๆ เรียนมาด้วยกัน เขาบอกงานผมปีสามเป็นยังไง วันนี้ก็ยังเป็นเหมือนเดิมไม่ได้เปลี่ยน  หลายๆ คนบอกว่าผมมีจิตวิญญาณของความเป็นญี่ปุ่นอยู่ในตัว ซึ่งผมไม่ได้ตั้งแนวทางว่ามันจะต้องเป็นญี่ปุ่นหรืออะไร แต่มันอาจจะอยู่ในสายเลือด อยู่ในวิธีคิด วิธีการที่โดนเลี้ยงดูมา เราเองก็ไปญี่ปุ่นบ่อย สิ่งเหล่านี้ก็เลยติดตัวมาเรื่อยๆ”

แต่ถึงแม้ผลงานของ Junsekino Architect and Design จะดูเรียบง่าย เล่นองค์ประกอบของวัสดุหลัก นำมาปรุงแต่งให้เกิดเป็นผลงาน  แต่คุณจูนกลับบอกว่าแนวทางการออกแบบของออฟฟิศนั้นไม่มี เพราะตนเองเชื่อว่า แนวคิดต่างๆ ย่อมถูกเปลี่ยนไปตามกาลเวลา “มันเปลี่ยนแน่นอน เพราะเมื่อก่อนเราทำคนเดียว แต่พอเรามีลูกน้อง มีเพื่อนร่วมงาน มันไม่มีใครคิดเหมือนกัน ผมเองก็ต้องปรับตัวตามเด็กๆ ไปเรื่อย มันเลยไม่มีรูปแบบตายตัว”
วิธีการทำงานที่เปรียบเสมือน ‘การตีปิงปอง’

วิธีการทำงานของ Junsekino Architect and Design เปรียบได้กับการตีปิงปอง หากเราตีแรงอยู่ฝ่ายเดียวก็ไม่มีใครอยากเล่นด้วย การทำงานภายในออฟฟิศก็เช่นเดียวกัน เพื่อให้ได้ผลงานที่ไปในทิศทางเดียวกัน การรับฟังความเห็นของเพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่ การแลกเปลี่ยนความคิด มุมมอง ทัศนคติ จึงเป็นสิ่งที่คุณจูนให้ความสำคัญเสมอมา โดยมองว่า “จะให้เด็กอายุน้อยกว่าเรา 20 ปี คิดเหมือนเราตอนอายุ 45 มันไม่มีทางหรอก เพราะเขาไม่เคยอายุ 45 มาก่อน แต่เราเคยอายุ 26 ปี เราต้องโน้มตัวลงมาคิดแบบคนอายุ 26 ณ วันนี้ เพียงแค่เรามีประสบการณ์มากกว่าในเรื่องอื่นอย่างเช่น เรื่องลูกค้า เรื่องการก่อสร้าง แต่เด็กรุ่นใหม่เขาจะมีความสดในเรื่องของเทคโนโลยี การมองเห็นโลก ซึ่งผมว่านี่มันคือเรื่องที่ดีในการทำงาน”
จูน เซคิโน กับความคาดหวังในสายอาชีพ ณ ปัจจุบัน

เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่าน จากนักเรียนสถาปัตย์ที่เกือบโดนรีไทร์ในวันนั้น ปัจจุบัน Junsekino Architect and Design ก้าวเข้าสู่การเปิดออฟฟิศเป็นปีที่ 11 บางคนอาจคาดหวังความสำเร็จเป็นรูปแบบของรางวัล การชนะการประกวดต่างๆ แต่สำหรับคุณจูน การมีงานออกแบบให้ทำในทุกวันนั่นถือเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง

“ผมคิดเหมือนคนญี่ปุ่นมั้ง ตื่นมามีงานทำสำหรับผมก็ดีแล้ว รางวัล หรือการประกวด ผมมองว่ามันเป็นเรื่องสนุกๆ มากกว่า การที่คนคนนึงทำงานออกแบบแล้วบอกว่างานนี้มันเวิร์ค ไม่เวิร์ค ผมพูดไม่ได้หรอกต้องให้คนอื่นเป็นคนพูด เพียงแค่ผลงานของเรามันมีคุณค่าบ้าง แต่ไม่ต้องถึงกับว่าทุกคนมาเคารพเรา ตราบใดที่ยังมีคนคนหนึ่งเดินมาแล้วบอกว่าคุณจูนออกแบบให้หน่อย ผมรู้สึกว่าแค่นั้นมันก็วิเศษมากแล้วสำหรับผม”
“สถาปัตย์มันเรียนสนุกนะ แต่การทำงานมันคนละโลกกันเลย นู่นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ บางเรื่องมันก็เหนือความควบคุมของเรา เป็นเรื่องของเจ้านาย เรื่องของผู้รับเหมาหรือเรื่องของลูกค้า ซึ่งผมว่าการจะเป็นการสถาปนิกจริงๆ มันต้องใช้เวลา เหมือนกับเราจะปลูกดอกไม้สักดอก มันคงไม่บานภายในสามวัน มันคือความอดทน คือพื้นฐานของทุกสิ่ง ทำไมถึงต้องอดทน คำตอบมันจะรออยู่ในอนาคต เดี๋ยวน้องๆ จะรู้เองแหละ (หัวเราะ)” ในฐานะของสถาปนิกรุ่นพี่ที่อยู่ในวงการการออกแบบมานานกว่า 10 ปี นี่คือคำพูดที่คุณจูน เซคิโน ที่ฝากถึงน้องๆ รุ่นหลังซึ่งอาจจะกำลังเรียนหรือเพิ่งเริ่มทำงานในสายอาชีพสถาปนิก
“ผมไม่ต้องการอะไรกับการเป็นสถาปนิกแล้ว ไม่ได้บอกว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้วนะ แต่เราไม่ได้ต้องการอะไรจากมันมากกว่าที่เป็นอยู่ แค่นี้ก็พอแล้ว เพราะมันเกินกว่าสิ่งที่เราคิดมาไกลมากแล้ว” ตลอดเวลาของการสัมภาษณ์เรารับรู้ได้ถึงความถ่อมตัวของคุณจูน เซคิโน ทุกคำถามมักเริ่มต้นขึ้นด้วยคำตอบในทำนองที่ว่า ‘ผมรู้ว่าผมไม่ใช่คนเก่ง’ ‘ผมไม่ใช่คนมีพรสวรรค์’ แต่อย่างไรก็ตาม เส้นทางอาชีพสถาปนิกที่คุณจูนฝ่าฟันมาเป็นระยะเวลานานก็ทิ้งผลงานเอาไว้เป็นเครื่องพิสูจน์ผ่านสถาปัตยกรรมสุดเรียบง่ายของ Junsekino Architect and Design ที่พยายามเข้าใจบริบทและสนทนากับผู้ใช้งานอย่างแท้จริง
คุณจูน เซคิโน สถาปนิกและผู้ก่อตั้ง Junsekino Architect and Design
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ภาพประกอบบทความจาก Junsekino Architect and Design

Discover more from Design Makes A Better Life.

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading