OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

‘บ้านนนท์’ เมื่อความสุข แปลงกายเป็นสถาปัตยกรรม

“ครอบครัวนี้เขาจะมีกิจกรรมอยู่ร่วมกันตลอดเวลา ใครพอจะมีเวลาว่างก็จะมาขลุกรวมตัวกันอยู่ที่พื้นที่ส่วนกลางของบ้าน พอถึงเวลาขยับขยาย สมาชิกครอบครัวต้องแยกย้ายไปมีพื้นที่ส่วนตัวของตนเอง ผมเลยอยากให้พวกเขารับรู้ได้ว่าทุกคนก็ยังคงอยู่ด้วยกัน” คุณ ท๊อป-พิพล ลิขนะไพศาล หนึ่งในสถาปนิกผู้ออกแบบกล่าว

ขึ้นชื่อว่า ‘ครอบครัว’ แน่นอนว่าต้องมีการใช้เวลาร่วมกัน สิ่งนี้จึงกลายเป็นสเน่ห์ที่ทำให้บ้านไม่ใช่เพียงสถาปัตยกรรมที่ไร้ชีวิต แต่เป็นบ้านที่มีเรื่องราวของความสุขผสมปนเปอยู่ภายใน  เมื่อสมาชิกครอบครัวขยายทั้ง 5 ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการอยู่อาศัยจากบ้านขนาด 300 ตารางเมตร มาเป็น 1,100 ตารางเมตร ความสนิทชิดเชื้อที่เคยเกิดขึ้นจึงถูกหยิบยกมาเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องรักษาไว้ โดยได้สองสถาปนิกจาก SPACE STORY STUDIO มารับหน้าที่ออกแบบ ขยายเรื่องราวการอยู่อาศัยของสมาชิก ในขณะที่ยังเก็บรักษาความกลมเกลียวภายในครอบครัวเอาไว้ได้อย่างมีเสน่ห์

เรื่องราวความเป็นครอบครัวที่ร้อยเรียงผ่านการวาง Planning

จากความเป็นครอบครัวที่รักใคร่กลมเกลียว นำมาสู่การวางผังบ้านครอบครัวขยายหลังดังกล่าว โดยที่ความต้องการจากทางเจ้าของนั้นไม่ได้มีอะไรมากเป็นพิเศษ เพียงแต่ต้องการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยสำหรับความเป็นอยู่ของครอบครัว 3 เจนเนอเรชัน ซึ่งก็คือคุณตาคุณยายที่อาจจะย้ายมาอยู่ด้วยกันในอนาคต คุณพ่อคุณแม่ และลูกๆ ทั้ง 3 คน 

บ้านเก่าสองชั้นขนาด 300 ตารางเมตรจึงถูกรีโนเวทให้มีฟังก์ชันเพียงพ่อกับทั้งคุณพ่อ คุณแม่ คุณตาและคุณยาย ส่วนบ้านหลังใหม่สร้างขึ้นเพื่อขยายเรื่องราวของลูกๆ ซึ่งอาจจะมีครอบครัวเป็นของตัวเองในอนาคต
เพื่อให้สมาชิกทุกคนสามารถมีพื้นที่ของตนเอง ในขณะที่ยังทำกิจกรรมร่วมกันได้ภายในบ้าน การวาง Planning จึงหยิบนำ ความเป็นครอบครัว มาเป็นหัวใจหลัก ซึ่งหากดูที่ภาพรวมของแมสอาคาร เราจะเห็นได้ว่าตัวบ้านถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน คือ ส่วนบ้านเก่าและบ้านใหม่ แต่หากมองลึกลงไปในส่วนของฟังก์ชัน การใช้งานภายในบ้านจะถูกแบ่งออกเป็นชั้นล่างและชั้นบน

“โปรแกรมที่เราทำขึ้นจะมีพื้นที่ประมาณ 3 ชั้น ฝั่งหนึ่งเป็นบ้านสองชั้น อีกฝั่งเป็นบ้านสามชั้น แต่เรากลับรู้สึกว่า ทุกคนมีความสนิทสนมกัน ซึ่งเราควรรักษาตรงนี้ไว้ เราเลยออกแบบยูนิตของลูกแต่ละคนให้เป็นลักษณะ Duplex Unit ซึ่งชั้นล่างของ Duplex นี้จะเริ่มต้นที่ชั้นสอง และออกแบบให้พื้นที่ชั้นสองทั้งหมดเชื่อมโยงถึงกันเหมือนเป็นบ้านหลังเดียว”
พื้นที่ชั้นล่างทั้งหมด สถาปนิกออกแบบให้เป็น Semi-Public ที่แขกของคุณพ่อและคุณแม่สามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด โดยวางฟังก์ชันบริเวณชั้นล่างของบ้านเก่าให้เป็นห้องครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร ห้องออกกำลังกายและห้องรับแขก รวมตัวอยู่ด้วยกันเป็นกลุ่มก้อนเดียว หันหน้าเข้าสู่สระว่ายน้ำรูปตัว C ที่เพิ่มความยาวของทางเดิน ทำให้คุณพ่อหรือผู้สูงอายุสามารถเดินเล่นหรือออกกำลังกายในน้ำได้  

เพื่อเพิ่มบรรยากาศและโอกาสให้ครอบครัวให้ใช้เวลาร่วมกันมากกว่าที่เคย สถาปนิกออกแบบที่นั่งเอาท์ดอร์แทรกตัวอยู่กลางสระว่ายน้ำภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ สองฟังก์ชันที่แตกต่างจึงสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ซึ่งที่จริงแล้วระยะของสระว่ายน้ำไม่ได้ถูกกดลงไปให้ฝังอยู่ใต้ดิน แต่เป็นการยกสระว่ายน้ำให้สูงเท่าระเบียง และใช้วัสดุกระจกเป็นส่วนหนึ่งของตัวสระ เพื่อทำให้รู้สึกเหมือนว่าที่นั่งถูกกดลงไป
ชั้นหนึ่งและชั้นสองเชื่อมถึงกันผ่านบันไดที่ถูกออกแบบไว้สองทาง ทางแรกคือทางเดินขึ้นจากบริเวณบ้านเก่าซึ่งเราจะเจอกับมาสเตอร์ยูนิตทั้งหมด ประกอบไปด้วย ห้องนอน ห้องพักผ่อนของครอบครัวที่แยกขาดจากชั้นหนึ่งโดยสิ้นเชิง เผื่อสำหรับวันที่มีแขกเรื่อมาเยี่ยมบ้าน สมาชิกคนอื่นๆ จะได้ยังมีพื้นที่เอาไว้อยู่ร่วมกันโดยไม่ต้องกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว

ห้องพักผ่อนของครอบครัวนี้ยังเชื่อมกับระเบียงบ้านใหม่ที่คล้ายกับชานบ้านไทยสมัยก่อน กลายเป็นพื้นที่ของครอบครัวที่สามารถทิ้งตัวพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ก่อนจะเชื่อมโยงเข้าสู่ Duplex Unit ของลูกๆ แต่ละคน ซึ่งในแต่ละยูนิตจะคล้ายกับพื้นที่คอนโดมิเนียมที่มีขนาดประมาณ 65 ตารางเมตร ภายในแต่ละยูนิตจะมีพื้นที่สองห้องนอน ซึ่งปัจจุบันอาจจะใช้เป็นห้องทำงาน หรือห้องนอนสำหรับเจนเนอเรชันใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
“เรื่องราวของครอบครัวจึงถูกเสนอผ่านดีเทลของการออกแบบ อย่างระเบียงที่เชื่อมโยงระหว่างบ้านเก่าและบ้านใหม่ การทำทางเข้าหลักของทุกยูนิตอยู่ที่ชั้นสองด้วยกัน หรือแม้แต่การทำระเบียงไม้ตีเว้นร่องเพื่อให้คนที่เดินอยู่ด้านล่างรับรู้ว่ามีคนอยู่ บางทีเราไม่ต้องเห็นหน้ากันตลอดเวลา มีความเป็นส่วนตัวระหว่างกันบ้าง แต่ยังรับรู้ได้ว่าทุกคนยังอยู่ด้วยกันภายในบ้านหลังเดิม” คุณท๊อปเล่า

ดีเทลแบบโมเดิร์นกับเสน่ห์ของคาแร็กเตอร์แบบไทย

นอกจากส่วนผสมของเจเนอเรชันที่แตกต่าง บ้านหลังนี้ยังเป็นส่วนผสมระหว่างความเข้ายุคเข้าสมัยแบบโมเดิร์นและเสน่ห์ของบ้านแบบไทยๆ ด้วยความที่มองว่าบ้านสไตล์ไทย จะสวยงามเหนือกาลเวลา และเหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทยมากกว่า ทางเจ้าของจึงสนใจที่จะนำคาแร็กเตอร์บ้านไทยเข้ามาใช้ในการออกแบบรูปลักษณ์ของบ้าน

แต่ด้วยความที่สถาปนิกค่อนข้างถนัดงานในลักษณะโมเดิร์น เราจึงได้เห็นดีเทล หรือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่นำความเป็นโมเดิร์นมาประยุกต์ใช้ โดยจะมีความบาง ความคมของการเลือกใช้วัสดุ หรือการจบวัสดุ ไม้เทียม และอลูมิเนียมลายไม้ ถูกเลือกให้กลายเป็นจุดเด่นของบ้านซึ่งตอบโจทย์กับยุคปัจจุบัน ซึ่งต้องทนทาน ดูแลรักษาง่าย และราคาไม่แพง โดยสถาปนิกเล่าเสริมว่า “เราไม่ได้ยึดติดกับความเป็นสัจจวัสดุ เพราะเรามองว่าไม้จริงมันมีความดูแลยากในสภาวะอากาศแบบบ้านเรา ซึ่งเราให้ความสำคัญกับความรู้สึกของวัสดุมากกว่าที่จะไปโฟกัสว่าต้องใช้วัสดุของจริงที่เป็นสัจจะเท่านั้น”
ในส่วนของงานอินทีเรียและแลนด์สเคป ทางเจ้าของยังมีส่วนร่วมโดยเป็นคนเลือกเฟอร์นิเจอร์และต้นไม้ทั้งหมด ช่วยเติมเต็มให้งานสถาปัตยกรรมออกมาสมบูรณ์ และกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว

เมื่อถึงเวลาที่ลูกๆ ต้องแยกย้ายไปมีครอบครัวของตนเอง คนเป็นพ่อเป็นแม่คงจะเกิดความรู้สึกเหงาหรือใจหายบ้างเป็นธรรมดา แต่สำหรับครอบครัวนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ยาก เพราะสเปซที่ร้อยเรียงเรื่องราวความสุข เอื้อให้สมาชิกครอบครัวได้พร้อมหน้าพร้อมตากัน ทางเดินระเบียงไม้ทอดยาว พาให้สมาชิกได้พบหน้า แวะเวียนมาทักทาย หรือชักชวนให้ทุกคนออกมานั่งเล่น กินบรรยากาศภายนอก พบปะพูดคุยแทนที่จะหมกตัวอยู่ภายในห้องส่วนตัว จึงไม่น่าแปลกใจที่ บ้านนนท์ หลังนี้จะเปี่ยมไปด้วยความสุขและสะท้อนเรื่องราวความเป็นครอบครัวออกมาได้อย่างอิ่มเอมใจ
Location : อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
Gross Built Area : 1,100 ตารางเมตร
Architect : พิพล ลิขนะไพศาล และอภิชาติ โรจน์ธรณิน SPACE STORY STUDIO
Interior : LIVING CURATOR
Structure Engineer : บัญชา ลยางกู
MEP Engineer : ดุษฎี ชนะภัย
Contractor : บริษัท แมดริกัล จำกัด
Photographer : ณัฐกิต จีรพัฒน์ไมตรี