OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

ปรับลุค…เปลี่ยนยุค Bourse de Commerce renovation by Tadao Ando

ปรับลุค…เปลี่ยนยุค
Bourse de Commerce Renovation by Tadao Ando

การรีโนเวท (Renovation) สถาปัตยกรรมดูจะเป็นหนทางช่วยต่ออายุอาคารเก่าแก่ได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง แถมการฟื้นคืนชีวิตให้กับอาคารเก่าในยุคนี้มักจะเป็นการบูรณะบนแนวคิดใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องจำเจอยู่กับขนบเดิมๆ เสมอไป ทุกวันนี้เราจึงได้เห็นการแต่งเติมไอเดียต่างๆ ผสานลงไปกับคุณค่าดั้งเดิมจนทำให้ผลลัพท์ที่ออกมากลายเป็นงานอัตลักษณ์ใหม่ที่มีเสน่ห์เฉพาะตัวไม่เหมือนที่ไหน แล้วนั่นก็รวมถึงโปรเจกต์ล่าสุดอย่าง Bourse de Commerce ในกรุงปารีสที่เพิ่งเผยโฉมใหม่ออกมาหมาดๆ และกลายเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่น่าสนใจขึ้นมาในทันที แล้วเสน่ห์ของการรีโนเวทครั้งนี้ก็ช่วยส่งผ่านสถาปัตยกรรมยุคเก่าสู่สถาปัตยกรรมยุคใหม่ได้อย่างน่าประทับใจทีเดียว

เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2021 ที่ผ่านมาภาพโฉมใหม่ของ Bourse de Commerce หลังการรีโนเวทครั้งล่าสุดก็ถูกเผยแพร่ให้คนทั่วโลกได้เห็นเป็นครั้งแรก สิ่งที่สะดุดตาลำดับแรกสุดกลับกลายเป็นความขัดแย้งของการปะทะกันระหว่างดีไซน์สมัยใหม่กับการออกแบบสมัยเก่าอย่างรุนแรงทีเดียว จุดดึงดูดสายตาที่ว่านี้ก็คือเจ้ากำแพงปูนดิบผิวเรียบสไตล์มินิมอลที่ผุดขึ้นท่ามกลางห้องโถงที่เป็นสถาปัตยกรรมยุคเก่าแสนคลาสสิก บ้างก็ว่ามันเป็นความอึดอัดที่อธิบายไม่ถูก แต่บางคนก็ว่านี่คือการสร้างสรรค์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดเช่นกัน จะว่าไปแล้วความขัดแย้งนี้ดูจะเป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าของทั้งสองฝั่งไปพร้อมๆ กัน เพราะหากคุณยืนอยู่ตรงกลางห้องโถงแล้วมองไปรอบๆ คุณก็จะเห็นกำแพงปูนสุดเรียบหรูตามแบบฉบับดีไซน์ยุคใหม่ที่อยู่ร่วมกับหลังคาโดมอันแสนอลังการตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมยุคเก่าอย่างลงตัวในแบบที่ไม่มีใครเด่นกว่าใคร

Tadao Ando ผู้อยู่เบื้องหลังการปรับโฉม Bourse de Commerce

หากมองดูสไตล์ของสถาปัตยกรรมที่ผุดขึ้นมาใหม่นี้หลายคนก็คงรู้ได้ในทันทีว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการรีโนเวทครั้งสำคัญนี้คงเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากสถาปนิกชาวญี่ปุ่นเจ้าของรางวัล Pritzker Architecture Prize ประจำปี 1995 อย่าง Tadao Ando แน่ๆ เพราะเอกลักษณ์ที่เป็นเสมือนลายเซ็นต์ของเขามันปรากฏในงานสถาปัตยกรรมที่ถูกรีโนเวทใหม่ในครั้งนี้อย่างชัดเจนทีเดียว

ภาพของกำแพงปูนเปลือยผิวเรียบสีธรรมชาติที่เป็นทั้งโครงสร้าง ดีไซน์ ฟังก์ชั่นต่างๆ ไปจนถึงฟาซาดของอาคารกลายเป็นวัตถุดิบหลักที่เขาจะต้องหยิบมันใส่ลงไปในการสร้างสรรค์งานของเขาทุกชิ้นเสมอ สำหรับการปรับโฉม Bourse de Commerce ในครั้งนี้เขาก็จงใจสร้างกำแพงปูนเปลือยล้อมรอบภายในโถงกลางจนกลายเป็นห้องทรงกระบอก (Cylindrical Concrete Wall) ที่มีความสูง 9 เมตร ยาว (เส้นรอบวง) 29 เมตร ให้ผุดขึ้นภายใต้หลังคาโดม (Rotunda) แสนคลาสสิก หากมองผิวเผินก็อาจคิดว่ากำแพงนี้ผุดขึ้นมาบดบังทัศนียภาพตลอดจนปกปิดมุมมองสถาปัตยกรรมดั้งเดิมจนหมดสิ้น แต่อันที่จริงแล้วทุกอย่างที่เกิดขึ้นนี้ล้วนมีเหตุผลในตัวของมันเองเรียบร้อยแล้ว

กำแพงทรงกระบอกที่ถูกสร้างขึ้นใหม่นี้โอบล้อมจนทำให้พื้นที่ด้านในกลายเป็น Exhibition Hall ที่หรูหรามีระดับ ขณะเดียวกันมันก็ทำหน้าที่แบ่งกั้นให้โซนด้านนอกรอบกำแพงกลายเป็นแหล่งแสดงงานไปพร้อมกันอีกโซน ซึ่งช่องว่างตรงจุดนี้ทำให้เราได้เดินชมอาคารในมุมมองใหม่ที่ราวกับว่ากำลังเดินชมงานศิลปะอันล้ำค่าไปพร้อมกันด้วย นอกจากนี้สถาปนิกยังออกแบบบันไดให้สามารถเดินขึ้นไปด้านบนเหนือกำแพงทรงกระบอกซึ่งเมื่อถึงข้างบนเราก็จะพบกับเส้นทางเดินแนววงกลมที่กลายเป็นระเบียงชมงานศิลปะอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว ตรงจุดนี้ทำให้เราสามารถขึ้นไปชมงานจิตรกรรมฝาผนังตลอดจนสถาปัตยกรรมอันแสนประณีตได้ใกล้ชิดยิ่งกว่าเดิมอีกด้วย

การออกแบบของ Ando ในคราวนี้ได้ทำให้ Bourse de Commerce เป็นมากกว่าแค่สถานที่แสดงงานศิลปะ เพราะในขณะเดียวกันตัวอาคารเองก็ถูกสถาปัตยกรรมของเขาทำให้มันกลายเป็นผลงานศิลปะที่ผู้ชมสามารถเสพไปพร้อมกับงานศิลปะได้ในตัว แล้วการรีโนเวทครั้งนี้ก็ไม่ได้อยู่เฉพาะส่วนของ Rotunda เท่านั้น เพราะโซนนอกโถงอาคารหลักก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นห้องแสดงนิทรรศการในรูปแบบต่างๆ ด้วยเช่นกัน

แต่รายละเอียดการออกแบบที่น่าสนใจยังไม่หมดอยู่เพียงแค่นี้ เพราะอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจก็คือบริเวณชั้นใต้ดินของโถง Rotunda ที่มีการเชื่อมต่อแนวกำแพงโค้งจากด้านบนสู่แนวกำแพงด้านล่างเช่นกัน สำหรับฟังก์ชันในส่วนนี้ก็คือการแบ่งพื้นที่เพื่อจัดแสดงงานศิลปะได้หลากหลายห้องและมีรูปแบบแปลกตาที่น่าสนใจไม่แพ้กัน สิ่งที่แตกต่างไปสักหน่อยก็คือตรงกลางด้านล่างนั้นไม่ใช่พื้นที่โล่งแต่กลับถูกปรับให้เป็นห้องประชุมเอนกประสงค์ทรงกระบอกที่ล้อกันกับโถงศิลปะด้านบนได้อย่างดีทีเดียว

สำหรับประวัติศาสตร์ของ Bourse de Commerce นี้แรกเริ่มเดิมทีมันถูกสร้างขึ้นในปี 1763 ให้เป็นยุ้งฉางเก็บข้าวสาลีตลอดจนเป็นตลาดกลางในการค้าขายที่สำคัญของปารีส ก่อนที่จะถูกปรับมาเป็นศูนย์กลางตลาดหุ้น (Stock Exchange) ของฝรั่งเศสในราวปี 1854 กระทั่งตลาดหุ้นย้ายไปยังที่ทำการใหม่ ต่อมาในปี 2016 ก็เปลี่ยนมือมาอยู่กับนักธุรกิจมหาเศรษฐีชาวฝรั่งเศสอย่าง François Pinault ที่เป็นผู้ก่อตั้งองค์กร Kering เจ้าของแบรนด์หรูระดับโลกอย่าง Gucci, Yves Saint Laurent และ Bottega Veneta นั่นเอง โดยทางกรุงปารีสได้อนุมัติให้เขาปรับโฉมมรดกทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญนี้ให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะร่วมสมัย (Contemporary Art Museum) ตลอดจนจัดแสดงศิลปะสะสมของตัวเขาเองที่มีอยู่กว่า 3,500 ชิ้นงาน ซึ่งมหาเศรษฐีผู้นี้เองนั่นล่ะที่เป็นคนเรียกให้ Ando เข้ามาเป็นคีย์แมนสำคัญในการรีโนเวทครั้งใหญ่นี้

เปลี่ยนโบราณสถานยุคเก่า สู่สถาปัตยกรรมยุคเก๋า

การรีโนเวทที่ถูกตีความใหม่ให้มีแนวความคิดกว้างกว่าแค่การบูรณะนั้นอาจเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันไม่จบว่ามันเหมาะสมหรือไม่ เพราะหากมองในมุมมองของสายงานอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ก็อาจมองว่าโปรเจกต์นี้ดูไม่โอเคสักเท่าไร แต่หากมองในมุมมองของแวดวงสถาปัตยกรรมไปจนถึงนักออกแบบก็อาจมองว่าไอเดียนี้ช่างกล้าและเจ๋งไม่น้อย

แน่นอนว่ากรณีไหนๆ ก็ไม่มีใครถูกหรือผิด เช่นเดียวกับแนวความคิดของ Ando ที่หนึ่งในสไตล์งานอันโดดเด่นของเขาก็คือการฟื้นชีวิตสถาปัตยรรมเก่าให้มีคุณค่าอีกครั้งด้วยการผสานอัตลักษณ์ใหม่เข้าไปอย่างกลมกลืนนั่นเอง แนวความคิดนี้อยู่บนพื้นฐานจิตวิญญาณแบบฉบับญี่ปุ่นอย่าง 再生 (saisei) ที่เขานำมาปรับเป็นวิถีแห่งการบูรณะในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งคำนี้มีความหมายได้หลากหลายมิติตั้งแต่ การเกิดใหม่ (Rebirth) การปรับโครงสร้างใหม่ (Reconstruction) การปรับการผลิตใหม่ (Reproduction) การสร้างสรรค์ใหม่ (Recreation) ไปจนถึงประโยคที่กินใจอย่าง Return to Life การกลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง แล้วสำหรับ “ไซเซย์” ที่บริบทของ Ando อาจนิยามลึกขึ้นไปอีกเพราะมันคือ “Regeneration” หรือการปรับยุคใหม่ที่ทำให้ความดั้งเดิมกลับมามีชีวิตอีกครั้งในรูปแบบใหม่สำหรับยุคสมัยใหม่นั่นเอง

ย้อนไปในอดีต … สถาปัตยกรรม Bourse de Commerce นี้ถูกสร้างขึ้นครั้งแรกโดยการออกแบบของ Nicolas Le Camus de Mézières สถาปนิกชาวฝรั่งเศสที่โด่งดังในยุคนั้น แรกเริ่มเดิมทีอาคารนี้ถูกสร้างขึ้นให้เป็นตึกทรงกระบอกสองชั้นแบบเรียบง่ายที่ไม่ได้หรูหราอะไรนัก แถมบริเวณตรงกลางอาคารยังเป็นพื้นที่โล่งแบบไม่มีหลังคาปกคลุมอีกต่างหาก อย่างไรก็ดีรูปทรงอันเป็นเอกลักษณ์นี้ก็ยังคงถูกอนุรักษ์ไว้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้และนั่นกลับกลายเป็นอัตลักษณ์ดั้งเดิมที่แข็งแกร่งและมีเสน่ห์เฉพาะตัวที่โดดเด่นทีเดียว

ต่อมาในปี 1783 ได้มีการสร้างโดมไม้ครอบด้านบนขึ้นมาซึ่งผู้ที่ออกแบบคราวนี้ก็คือ Jacques-Guillaume Legrand และ Jacques Molinos ก่อนที่มันจะถูกไฟไหม้เผาทำลายไปในปี 1802 จนเสียหายหมดสิ้น แต่เหตุการณ์เลวร้ายครั้งนั้นก็กลับกลายเป็นเหตุผลให้เกิดการออกแบบโครงสร้างหลังคาใหม่ให้แข็งแรงและสวยงามยิ่งขึ้น โดยผู้ออกแบบครั้งนี้ก็คือ François-Joseph Bélanger ที่สร้างหลังคาโดมขึ้นมาใหม่จากโครงสร้างเหล็กที่แสนประณีตงดงาม จนมันกลายมาเป็นอัตลักษณ์แห่งความวิจิตรที่โดดเด่นมาจนถึงยุคปัจจุบันเช่นกัน

อย่างไรก็ตามระหว่างทางก็มีการรีโนเวทเกิดขึ้นหลายครั้งโดยเฉพาะครั้งสำคัญนั้นเกิดขึ้นในปี 1886 ที่เป็นการรีโนเวทครั้งใหญ่ ในส่วนของของอาคารและโครงสร้างหลักยังถูกอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีเช่นเดิมทุกประการ แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปก็คือการเติมแต่งรายละเอียดต่างๆ ที่วิจิตรลงไปทั้งภายในและภายนอก ตั้งแต่หน้าบันและซุ้มประตูสไตล์โรมัน รูปปั้นต่างๆ ไปจนกระทั่งการเชิญศิลปินผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้นมาวาดจิตรกรรมฝาผนังบริเวณฐานเพดานโดมที่แสนงดงามเพื่อถ่ายทอดถึงประวัติศาสตร์การค้าในภูมิภาคทั้ง 5 ของโลกให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนอาคารสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการเงินของประเทศนั่นเอง

ซึ่งปัจจุบันศิลปะใต้หลังคาโดมชิ้นนี้ (ตลอดจนอาคาร Bourse de Commerce) ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็น Monument Historique โบราณสถานแห่งชาติของฝรั่งเศสมาตั้งแต่ปี 1975 แล้วก็นับว่านี่คือผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีชชิ้นสำคัญของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งนี้เลยก็ว่าได้ ซึ่งการสร้างสรรค์ของ Ando ในครั้งนี้น่าจะเป็นการตอบโจทย์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดสำหรับการมอบชีวิตใหม่ให้โบราณสถานอันทรงคุณค่าแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

Writer