หากโครงสร้างอาคารเป็นร่างกาย 5 สิ่งที่ควรมีเหล่านี้ ก็คือเสื้อผ้าที่ที่ทำให้ชีวิตเราปลอดภัย สะดวก และลงตัว
ก่อนหน้านี้หากใครเคยอ่านคอลัมม์ที่เราไปพูดคุยกับ wheel go round ก็คงพอจะทราบกันมาบ้างแล้วล่ะว่า ทางลาดเป็นสิ่งที่จำเป็นอันดับแรกๆที่ทุกๆอาคารควรมี แต่วันนี้เราจะมาพูดคุยเจาะลึกเข้าไปอีกกับคนที่ทำงานในแวดวงที่เกี่ยวข้องกับคนพิการโดยตรงอย่าง ผศ.ดร.เบญจมาศ กุฎอินทร์ หรือ อ.นก อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระเจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยเรื่องที่เราคุยในวันนี้ก็จะเน้นไปที่ตัวกฎหมายอาคาร เพราะนอกจากจะสอนหนังสือเด็กแล้ว ยังรับหน้าที่เป็นผู้ตรวจอาคารของกรมส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอีกด้วย
หากพูดถึงคำว่า “กฎหมาย” อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวและน่าเบื่อไปสักหน่อยสำหรับใครบางคน แต่ทุกอย่างต้องมีกฎหมายเพื่อควบคุมทุกอย่างให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ว่ากันว่ากฎหมายตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไปนั้นได้มีการกำหนดให้อาคารสาธารณะที่มีขนาดตั้งแต่ 300 ตารางเมตรขึ้นไป จำเป็นต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับคนพิการ แต่ถ้าว่ากันตามจริงก็ทำเพื่อรองรับทุกคนทั้งเด็ก คนแก่ คนพิการ ซึ่งถ้าเจาะลึกลงไปอีกก็แบ่งประเภทคนพิการได้อีก 7 ประเภท แต่การออกแบบส่วนใหญ่ก็จะเน้นสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อคนพิการทางการเคลื่อนไหวซะมากกว่า เพราะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็เป็นสิ่งที่ทุกๆอาคารควรมีอยู่ดี
เราเลยเลือก “สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง” 5 อย่างนำมาแนะนำให้ทุกคนได้ทราบกัน เพื่อทำให้อาคารเหล่านั้นเปลี่ยนสถานะจากอาคารธรรมดา กลายเป็นอาคารที่มีคำพ่วงท้ายว่าน่าใช้งานและดีต่อทุกคน นอกจากทางลาดแล้วจะมีอะไรเพิ่มเติมอีกบ้างเอ่ย ไปชมกันเลยค่ะ
ทางลาด
ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างแรกเลย เพราะต้องใช้เป็นทางเข้าอาคาร แต่ไม่ใช่ว่าจะลาดเท่าไหร่ก็ได้นะ ทางลาดก็มีขนาดของมันเอง ต้องมีความชันอย่างน้อย 1:12 (ความสูง : ความยาว) คือสูง 1 เมตร ยาว 12 เมตร ซึ่งถือเป็นขนาดที่มีความลาดชันน้อยที่สุดที่ผู้ใช้วีลแชร์ สามารถใช้ได้อย่างสบายที่สุด และต้องมีความกว้างทางลาดไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร
ที่จอดรถ
ที่จอดรถที่ดีต้องอยู่ใกล้ทางเข้า-ออกอาคาร และมีพื้นที่ว่างด้านข้างที่จอดอย่างน้อย 1.00-1.40 เมตร เพื่อให้สามารถวางรถเข็นได้ นอกจากนั้นยังต้องมีป้ายสัญลักษณ์รูปคนนั่งรถเข็นบอกอย่างชัดเจน
ห้องน้ำ
ห้องน้ำต้องอยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย ภายในห้องน้ำต้องมีราวจับ ระบบสัญญาณเตือนภัย เพื่อขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดอุบัติเหตุภายใน และต้องมีเส้นผ่านศูนย์กลางภายในห้องน้ำไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร เพื่อให้รถเข็นสามารถหมุนตัวภายในได้ ส่วนประตูห้องน้ำหลายคนมีความเชื่อผิดๆว่าต้องเป็นประตูบานเลื่อนแบบกระจกฝ้า แต่ความจริงนั้น คนที่ใช้ห้องน้ำต้องการประตูทึบ เพราะรู้สึกเป็นส่วนตัวมากกว่า และต้องมีความกว้างประตูอย่างน้อย 90 เซนติเมตร
ป้ายสัญลักษณ์
มีป้ายบอกทางชัดเจน อาจจะใช้เป็นตัวอักษรหรือรูปภาพง่ายๆ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนภาษาสากล โดยใช้เป็นป้ายที่มีสีตัดกันชัดเจน เช่น น้ำเงิน-ขาว และติดตั้งในตำแหน่งที่มองเห็นได้ชัดเจน มีแสงสว่างทั้งส่องถึงทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
Information Center
ต้องเป็นเคาน์เตอร์ที่มีความสูงเท่าโต๊ะ คือ สูงประมาณ 75 เซนติเมตร และมีพื้นที่เปิดโล่งใต้เคาน์เตอร์ เพื่อให้รถเข็นสอดตัวเข้าไปได้ ด้วยเคานเตอร์ที่มีความสูงไม่มากนี้นอกจากจะรองรับคนพิการแล้ว ยังมีไว้เพื่อรองรับคนตัวเตี้ยหรือเด็กอีกด้วย บางที่อาจจะมีคู่มือ เอกสาร ที่เป็นอักษรเบรลล์หรือสื่อเสียงไว้คอยบริการคนพิการอย่างครอบคลุมทุกคน
เพราะ Universal Design คือ หัวใจสำคัญของการออกแบบทุกๆอย่างในโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆอย่างข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงสิ่งก่อสร้างใหญ่ๆ อย่างตึกรามบ้านช่อง แต่ก่อนจะได้สิ่งเหล่านั้น นักออกแบบทุกคนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องศึกษาความต้องการของผู้ใช้งานว่าต้องการอะไรบ้าง เพื่อนำมาพัฒนาปรับใช้ให้ได้สิ่งประดิษฐ์และสิ่งก่อสร้างที่ดีต่อทุกคน แต่เหนือสิ่งอื่นใดก็คือความใส่ใจ แค่ใส่ใจก็ทำให้ได้สังคมที่น่าอยู่แล้วล่ะ
ขอบคุณรูปภาพจาก Pinterest