ในระแวกชุมชนที่ผู้คนจอแจคนเราย่อมต้องการพื้นที่ส่วนตัว พบกับบ้านทรงกล่องซ้อนชั้นที่จะเนรมิตความสุขสงบให้เกิดขึ้นได้จริง
House in Toyonaka
Architect :Yo shimada / Tato Architects
Location : Osaka ,Japan
Photographer: Shinkenchiku Sha
ไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย สำหรับการตัดสินใจของนักออกแบบที่จะต้องเลือกจัดวางตำแหน่ง ทิศทางวางตัวของบันได – ราวมือจับ ว่าควรจะติดตั้งอิริยาบถแบบใดลงในผลงานที่กำลังสร้างขึ้นถึงจะดูเข้าที ทำให้เจ้าทางเดินเชื่อมพื้นต่างระดับดูแล้วไม่รู้สึกกลายเป็นส่วนเกินกับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมโดยรวม เป็นความลับรบกวนจิตใจที่คุณเจ้าของบ้านอาจจะยังไม่เคยได้ยินเหล่าสถาปนิกระบายถ้อยคำความกังวลเหล่านี้มาก่อน
บ้านทรงกล่องเป็นที่ดินสามเหลี่ยม
และเพื่อเป็นการยืนยันว่าเราไมได้พูดขึ้นเองลอย ๆ เพราะอย่างน้อยก็มีสถาปนิกญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เห็นด้วยกับคำพูดของเราแน่ ๆ ขอเปิดตัวแขกรับเชิญพิเศษนำเข้าจากแดนอาทิตย์อุทัย คุณ Yo shimada จาก Tato Architects ที่ลองตั้งคำถามและพยายามหาทางบรรลุเป้าหมายการออกแบบทางเดินขั้นบันไดให้กลายเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสถาปัตยกรรมหลักได้อย่างกลมกลืน ออกแบบความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นยื่นชานพัก ลูกตั้ง-ลูกนอน แม่บันไดและราวจับกับโครงสร้างสถาปัตยกรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่เคาะเขิน เป็นทางเดินเชื่อมพื้นที่ที่ได้รับบทเป็นพระรองคอยช่วยเพิ่มเติมความกลมกล่อมให้เนื้อเรื่องมากกว่าการเป็นแค่นักแสดงตัวประกอบ และการสร้างคุณภาพพื้นที่การใช้งานที่ตอบสนองความต้องการจากเจ้าของบ้านได้อย่างแท้จริง
บ้าน Toyonaka ตั้งอยู่บนที่ดินทรงสามเหลี่ยมปลายแหลมในเขตพื้นที่พักอาศัยและทำเกษตรกรรมของเมือง Osaka , Japan อาณาเขตแนบชิดติดกับเพื่อนบ้านที่สัญจรผ่านไปมากันอย่างจอแจ เจ้าของบ้านจึงแจ้งความต้องการกับนักออกแบบไปว่าอย่างได้บ้านที่พวกเค้าจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสุขสงบ เป็นส่วนตัวจากพื้นที่รอบข้าง
นอกจากผังบริเวณบ้านจะเป็นพื้นที่ทรงแคบ ลึกยาว ลาดชันลงเล็กน้อยแล้ว แปลงที่ดินก็ยังอยู่ในเขตกฎหมายร่นระยะ setback จากเขตที่ดินและกฎห้ามสร้างอาคารสูงเกินจนเงาไปทับอาคารเพื่อนบ้านอีกด้วย (ห้ามสูงเกิน 7เมตรจากพื้นถนน ) ข้อจำกัดดังกล่าวทำให้สถาปนิกเลือกกดพื้นที่ใช้สอยลงใต้ดินเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยสำหรับเจ้าของบ้านให้มากขึ้น พร้อมกับการยื่นหดตัวเข้า – ออกของก้อนอาคารด้วยหลังคาเรียบ ( flat roof ) ทำให้เกิดการบดบังแสงแดดขณะใช้งานแทนการใช้หลังคาทรงจั่ว ( gable roof ) เพื่อรักษาความสูงของบ้านให้อยู่ภายใต้กฎหมายความคุมอาคาร
เชื่อมถึงกันเป็นหนึ่งเดียว
ตัวบ้านแบ่งออกเป็น 2 ชั้นเหนือพื้นดินและ 1 ชั้นอยู่ใต้ดิน ส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินจะถูกหั่นออกเป็น 7 ส่วน 7 รูปแบบพื้นที่การใช้งานที่ซ้อนเหลื่อม เชื่อมถึงกันอยู่ภายในบ้านแบบ open plan ไม่มีผนังกั้นภายใน เพื่อทำให้บ้านไซส์กะทัดรัดขนาด 50 ตารางเมตรดูโปร่งโล่งมากขึ้น เลือกใช้วัสดุ FRP ( Fiberglass Reinforced Plastic ) พลาสติกเสริมแรงด้วยเส้นใยแก้ว (วัสดุคอมโพสิท) สีขาวเป็นสีพระเอกหลักของบ้าน ให้ความแข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบา ปิดกั้นความเป็นส่วนตัวแต่ภายในก็ยังดูกว้างขวาง เป็นโครงสร้างร่วมกับผนังคอนกรีตเปลือยรับน้ำหนักที่โซนพักผ่อนอันเงียบสงบชั้นใต้ดิน
เพราะจำเป็นต้องซ้อนตัวอาคารขึ้นเป็น 3 ชั้น แบ่งพื้นที่ออกเป็นหลายระดับโดยที่โครงสร้างบันไดต้องไม่ไปกีดขวางความโปร่งเบาภายในห้อง สถาปนิกจึงเลือกใช้โครงสร้างบันไดเหล็กทาทับด้วยสีขาวเนียนสนิทกับสีผนัง วางเรียงเป็นทรงตัว L อยู่ตรงกลางแปลนบ้าน เดินไปมาถึงกันไม่ไกลใช้งานได้ต่อเนื่อง เป็นคำตอบการแก้ปัญหาที่ดูเรียบง่ายแต่ได้ผล
อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือแผ่นกระจกใสที่ยอมปล่อยให้แค่แสงสาดผ่านเข้ามาให้ความส่องสว่าง แต่ไม่ให้มองเห็นได้จากภายนอกที่ระดับสายตาเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวภายใน มีเพียงผนังกระจกที่ชั้น 2 ของบ้านโซนพื้นที่ทานข้าว – นั่งเล่นที่เปิดมุมมองออกไปเห็นวิวทิวทัศน์โดยรอบ
แผ่นกระจกใสที่ติดตั้งในตำแหน่งเหนือระดับสายตาเพื่อป้องกันมุมมองความเป็นส่วนตัว แต่ยังคงนำแสงสว่างจากภายนอกผ่านเข้าช่องวางที่กำหนดเอาไว้ได้
เจ้าของบ้านยังคงได้รับความรู้สึกอบอุ่นได้จากแสงตะวันผ่านแผ่นกระจกใส แผ่นไม้บนพื้นบ้านและเฟอร์นิเจอร์ตามมุมต่าง ๆ ในอาคาร ได้สัมผัสความเงียบสงบเป็นส่วนตัวตั้งแต่โซนห้องนอนที่ชั้นใต้ดิน โซนห้องทำงานอ่านหนังสือที่ชั้น 1 โซนนั่งเล่นทานข้าวที่อยู่ตรงชั้นบนสุดของบ้าน และท้ายที่สุดก็ยังสามารถใช้งานเพื่อที่แต่ละส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สัญจรผ่านทางเชื่อมต่างระดับที่ตั้งใจออกแบบเอาไว้ให้กลมกลืนกับตัวอาคารเป็นหนึ่งเดียวกัน
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
http://www.archdaily.com/776358/house-in-toyonaka-tato-architects