“ การศึกษาเรื่องโทนสีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลักการจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ เพราะทุกเฉดสีล้วนส่งผลต่อความรู้สึกของมนุษย์ ”
เมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก เราจะจดจำสรรพสิ่งรอบตัวจากสีของวัตถุนั้น ๆ โดยแยกเป็นแม่สีอย่างง่ายเพียงไม่กี่สีขึ้นมาก่อน สีฟ้าของท้องฟ้า สีเขียวของใบไม้ สีแดงของเปลวไฟ สีเหลืองสดใสของดอกไม้ ฯลฯ โดยปกติแล้วเด็กทารกจะเริ่มสังเกตความแตกต่างของสีที่มองเห็นได้เมื่ออายุประมาณ 4 เดือน หลังจากนั้นสมองหน่วยความทรงจำจะค่อย ๆ เก็บสะสมสีสัน pantone ที่สลับซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุการเจริญเติบโต เมมโมรี่ชิปของเราจะแยกแยะว่าอะไรคือสีฟ้าอ่อน สีฟ้าเข้ม สีฟ้าอมเขียว ไปจนถึง สีฟ้า serenity 15 – 3919 เป็นแบบไหนกันแน่ (ห๊ะ!?)
ดังนั้นจึงไม่น่าจะใช่คำพูดกินจริงที่เราจะบอกว่า สีสัน คือองค์ประกอบที่สำคัญของวัตถุบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ โทนสีที่แทรกตัวอยู่ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ดิน ก้อนหิน ใบไม้ หรือในสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นมาอย่าง อาคารบ้านเรือน หน้าต่าง ผนัง กำแพง สีสันมักจะมีบทบาทในขั้นตอนการวิวัฒนาการของมนุษย์มาโดยตลอด พัฒนาการความทรงจำ การเรียนรู้แยกแยะ ความคิดสร้างสรรค์ จิตวิทยาและความรู้สึก ล้วนเกิดจากกระบวนการรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทางสายตา แล้วส่งต่อข้อมูลที่ได้ไปประมวลผลลัพธ์ที่สมองต่อไป การออกแบบและเลือกใช้สีในงานสถาปัตยกรรมจึงไม่ได้มีจุดประสงค์เรื่องความสวยงามเพียงอย่างเดียว
Faber Birren บิดาแห่งวิชาจิตวิทยาการประยุกต์ใช้สี เค้าคือชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งอาชีพที่ปรึกษาการใช้สีเมื่อปี 1936 เคยกล่าวเอาไว้ว่า “การศึกษาเรื่องโทนสีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลักการจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ เพราะทุกเฉดสีล้วนส่งผลต่อความรู้สึกของมนุษย์ ”
จิตวิทยาสี Color Psychology
ทำไมสีผนังภายในห้องเรียนถึงแตกต่างกับห้องพักผู้ป่วยในโรงพยาบาล , สีผนังห้องสำนักงานจึงไม่ควรใช้สีแบบร้านอาหาร… ?
สาเหตุหลักเป็นเพราะสีสันที่มนุษย์มองเห็นจะส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกภายใน เป็นข้อความสื่อสารที่ทำให้เราย้อนนึกไปถึงวัตถุบางอย่างในความทรงจำที่ผ่านมาในสมอง ทำให้ทุกโทนสีล้วนแต่มีความหมายในตัวของมันเองตามความทรงจำและความรู้สึก และมันก็น่าแปลกยิ่งกว่าเดิมเมื่อผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์บอกเราว่านี่ไม่ใช่เรื่องคิดไปเองฝ่ายเดียว ในเมื่อความรู้สึกที่ว่าก็สามารถเกิดขึ้นได้จากบุคคลหนึ่งส่งต่อถึงกลุ่มคนขนาดใหญ่ หรือใครก็ตามที่อยู่คนละซีกโลก คนละวัฒนธรรม คนละสภาพแวดล้อมกันด้วยซ้ำ
งั้นลองมาดูความหมายของสีที่ถูกสื่อสาร เพื่อทดสอบความรู้สึกกันซักหน่อย
สีเหลืองพาสเทล ทำให้เรานึกถึงแสงแดด ให้ความรู้สึกเป็นกันเอง อุ่นละมุน มักใช้ในการตกแต่งพื้นที่ที่กระตุ้นให้เกิดความมีชีวิตชีวา เน้นความสว่างสดใส อุ่นสบายสไตล์ cozy
สีแดงกุหลาบจากสีดอกกุหลาบ ช่วยปลุกความรู้สึกหลงใหล เร้าใจ คึกคะนอง อันตราย ก้าวร้าวรุนแรง มักใช้ตกแต่งในพื้นที่ที่ต้องการความแตกต่างอย่างโดดเด่น สร้างความรู้สึกร้อนแรง กระฉับกระเฉง เพิ่มความ active คล่องแคล่ว
สีเขียวใบไม้ คือความสมดุลในธรรมชาติ ใบไม้เขียวขจี มักถูกใช้ในพื้นที่ที่ต้องการความสงบเรียบง่าย ปลอดภัย
จากตัวอย่างการทดลอง โทนสีที่แตกต่างกันย่อมแสดงความหมายที่ไม่ซ้ำกันตามบุคลิกของตัวมันเอง ซึ่งความแตกต่างที่ว่าก็สามารถเกิดขึ้นได้ในระดับการเปลี่ยนค่าความเข้มของสี (saturation) และค่าความสว่างของสี (brightness)
ค่าความสว่างและสภาพแวดล้อมทางสถาปัตยกรรม
Sune Lindstrom ศาสตราจารย์สาขาสถาปัตยกรรมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “ทุกองค์ประกอบในงานสถาปัตยกรรมจะส่งผลความรู้สึกนึกคิดของคนที่ได้เข้าไปใช้งาน อย่างในสภาพแวดล้อมอาการที่มีความผิดปกติทางกายภาพ แคบ มืด ลึก จำกัดการมองเห็น คาดการณ์ทิศทางล่วงหน้าไม่ได้ ปฏิกิริยาทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้ตามมา มีตั้งแต่ความเครียด วิตกกังวล หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งองค์ประกอบที่ว่ามา ก็หมายรวมถึงค่าความสว่างของสีสันที่ตาเรามองเห็นด้วย
หลายคนอาจจะยังไม่ทราบกันมากนักว่าค่าความเข้ม-สว่างของสีก็มีผลต่อความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน เพราะสีที่เรามองเห็นสีเกิดจากแสงที่ไปสะท้อนวัตถุเข้าสู่นัยนัยน์ตาของเรา ความรู้สึกเมื่อเรามองสีเทาอ่อนแตกต่างกับความรู้สึกตอนที่มองสีเทาเข้ม ซึ่งค่าความเข้มอ่อนของสีขึ้นอยู่กับลักษณะแสงสว่าง สีบนวัตถุและประสิทธิภาพการสะท้อนแสงบนพื้นผิว (พื้นผนัง , เฟอร์นิเจอร์ ) ที่ทำให้ได้ผลลัพธ์แตกต่างกัน ถ้าผิววัสดุสะท้อนสีกลับมาเยอะเกินไป ก็จะทำให้ดวงตาเมื่อยล้า รูม่านตาหดลง ส่งผลต่อสุขภาพสายตาและความรู้สึกในระยะยาว
การเลือกใช้สีในงานสถาปัตยกรรมจึงเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากกว่าแค่ความสวยงาม เพราะสีสันในอาคารจะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึก ความเหมาะสมต่อรูปแบบการใช้งาน และสุขภาพกาย-ใจของมนุษย์ เป็นเรื่องที่นานาชาติให้ความสนใจถึงขนาดที่ในต่างประเทศมีการจัดตั้งหลักสูตรภาควิชาการใช้สีในงานออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญกันอย่างจริงจัง ซึ่งจะว่าไปแล้วไทยเราก็มีเอกลักษณ์การเลือกใช้สีทาบ้านที่น่าสนใจไม่แพ้ใครในโลกเลย ….
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
archinect.com