“อาคารการเรียนรู้หลังใหม่ที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาสู่บทบาทมหาวิทยาลัยสีเขียวต้นแบบของประเทศได้ในอนาคต” สถาปนิกกล่าว
Architect : Vo Trong Nghia Architects
Location : FPT University, Hanoi, Vietnam
Photography : Hiroyuki Oki and Hoang Le
Vo Trong Nghia สถาปนิกชาวเวียดนามที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงในฐานะซุปเปอร์สตาร์ดวงใหม่ในวงการออกแบบแถบเอเชีย สร้างผลงานมาอย่างต่อเนื่องจนได้ยอมรับในระดับสากล ด้วยแนวคิดการออกแบบร่วมสมัยที่มักจะหยิบเอาวัสดุธรรมชาติท้องถิ่นมาแปลงโฉมหน้าตาและวิธีการนำเสนอเสียใหม่ ในสไตล์ Vernacular and Modern ทำให้เราได้เห็นอาคารรูปทรงเรียบง่ายที่แฝงไปด้วยกลิ่นอายความเป็นเอเชียอย่างแนบเนียน เราเลยอดไม่ได้ที่จะหยิบเอาอาคารเรียนแห่งใหม่ใน FPT University ซึ่งเป็นผลงานล่าสุดของเค้ามาเล่าให้ทุกคนได้ฟังกัน
แผนการพัฒนามหาวิทยาลัยสีเขียว
ภาพตึกสีขาวลายตารางที่วางตัวอย่างอิสระเหนือวิวทะเลสาบ คืออาคารบริหารและการเรียนรู้แห่งใหม่ใน FPT University มหาลัยที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการออกแบบชื่อดังประจำเมืองฮานอย นับเป็นอาคารหลังแรกในแผนแม่บทใหญ่สู่การยกระดับพื้นที่การเรียนรู้คู่กับสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน
โปรเจคที่ใช้เวลาก่อสร้างนาน 3 ปี ตั้งอยู่ในวิทยาเขตมหาลัยด้านเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม บนพื้นที่เขตชานเมืองของกรุงฮานอยขนาด 4000 เอเคอร์ ประกอบไปด้วย ห้องปฏิบัติการพัฒนาซอฟต์แวร์ ศูนย์การเรียนรู้อบรมเทคโนโลยี สำนักงาน ภัตตาคาร โรงแรม และศูนย์การประชุม โดยมหาลัยมีมติที่จะสร้างโลกการเรียนรู้ที่เชื่อมต่อกับที่สภาพแวดล้อมธรรมชาติเดิมในพื้นที่ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
สร้างความสัมพันธ์กับพื้นที่นอก – ใน ด้วยต้นไม้และแสงสว่าง
เราจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างไรลงในอาคารซ้อนชั้นขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องเสียพื้นที่ใช้สอยภายใน ? สถาปนิกผู้ออกแบบได้ตอบปัญหานี้ด้วยการปลูกไม้ยืนต้นขนาดเล็กลงที่ระเบียงอาคาร ที่ตั้งใจวางสับหว่างเป็นลายตารางต่อเนื่องกันตลอดทั้งหลัง ใช้ประโยชน์จากต้นไม้เป็นผนังธรรมชาติที่ช่วยบังแดดพร้อมแผ่ร่มเงาไปพร้อมกัน
Façade ผนังต้นไม้สีเขียวที่ให้ทั้งร่มเงา เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความสวยงามแก่อาคาร
ช่องเปิดลายตารางยังช่วยให้แสงธรรมชาติแทรกซึมเข้าไปพื้นที่ภายในได้มากขึ้น ลดการใช้พลังงานแสงประดิษฐ์ ซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ เพราะสถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยอยู่ในเขตชานเมืองที่มักจะเกิดปัญหาพลังงานไม่พอใช้ ถูกตัดไฟอยู่บ่อย ๆ และอยากจะเก็บพลังงานสำรองไว้ใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น จึงจำเป็นต้องใช้การออกแบบที่ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด
โครงสร้างประหยัดพลังงาน
อาคารถูกสร้างขึ้นด้วยระบบก่อสร้างแบบโมดุล (modules) ยกติดตั้งและใช้ผนังคอนกรีตสำเร็จ prefabricated ที่ช่วยลดขยะส่วนเกินและประหยัดเวลาในการก่อสร้าง รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยที่หน้างานให้มากขึ้น
นักออกแบบวางตัวอาคารให้ใช้ประโยชน์จากทิศทางแรงลมธรรมชาติให้มากที่สุด เริ่มจากศึกษาทิศทางลมในพื้นที่แล้วจึงวางตำแหน่งอาคารและช่องเปิดให้ลมไหลผ่านได้อย่างทั่วถึง เพิ่มการไหลเวียนให้ลมช่วยระบายอากาศภายนอก – ภายใน ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ
หลังคาชั้นดาดฟ้าดัดถูกแปลงให้เป็นลานสนามหญ้าเพื่อให้พนักงานและนักเรียนได้ขึ้นมาใช้เวลาพักผ่อนและเพลิดเพลินกับธรรมชาติ บนพื้นที่สีเขียวส่วนกลางที่มองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของมหาลัย
สถาปนิกกล่าวเสริมว่า “การออกแบบที่ตั้งใจเชื่อมต่ออาคารเข้ากับธรรมชาติ จะช่วยทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของสภาพแวดล้อมแก่ผู้คนมากขึ้น ด้วยประสบการณ์ใช้งานที่พวกเขาสัมผัสได้จริงและการซึมซับพลังงานที่อาคารมอบให้อย่างยั่งยืน”
ข้อมูลอ้างอิง dezeen