บ้านมะขาม…บ้านไม้ที่ยกสูงจากร่องสวนและพื้นที่ธรรมชาติ เพื่อคงสภาพแวดล้อมเดิมให้อุดมสมบูรณ์มากที่สุด จนเกิดความกลมกลืนทั้งกับธรรมชาติและบริบทรอบข้าง ด้วยการออกแบบที่เป็นมิตรกับผู้เข้าพัก แต่แฝงด้วยความละเอียดในทุกมิติของการออกแบบ
บ้านมะขาม บางน้ำผึ้ง
ยิ่งเราได้อยู่ใกล้ธรรมชาติมากเท่าไหร่ จิตใจเรายิ่งสงบมากขึ้นเท่านั้น แต่การอาศัยอยู่ในกรุงเทพกับไม่เป็นเช่นนั้น ป่าคอนกรีตรายล้อมเราแทนป่าไม้ ความร่มรื่น เขียวขจีของธรรมชาติก็ค่อยๆน้อยลง ในเมืองมีแต่ความเร่งรีบและวุ่นวาย แต่ยังมีพื้นที่นึงที่เต็มไปด้วยธรรมชาติและระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ เพียงนั่งเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพียง 5 นาทีจากฝั่งกรุงเทพเท่านั้น ณ บ้านมะขาม บางน้ำผึ้ง
กลมกลืนกับธรรมชาติ
บ้านมะขาม บ้านสวนเล็กๆในบรรยากาศที่เงียบสงบของตำบลบางน้ำผึ้ง สมุทรปราการ มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ มีสีเขียวของต้นไม้และพืชพันธ์ต่างๆ มักมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติแวะมาเยี่ยมเยียน พักผ่อน และทำกิจกรรมอยู่เสมอ
คุณประกิจ กัณหา จาก Studio Miti ผู้ออกแบบบ้านมะขาม บางน้ำผึ้ง
เพียงแรกพบกับบ้านมะขาม พื้นดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติบนพื้นที่ 5 ไร่ เราจะสัมผัสได้ถึงธรรมชาติที่อยู่รอบๆที่พัก มีระบบนิเวศของพืชและสัตว์ให้เรียนรู้ แต่เดิมชาวบางน้ำผึ้งนิยมการทำสวน ทำไร่ พื้นที่ส่วนมากจึงเป็นสวน ที่มีการเว้นร่องทำสวนไว้ พื้นที่ของโรงแรมบ้านมะขามนี้ก็เช่นกัน
การยกสูง เพื่อรบกวนธรรมชาติและระบบนิเวศให้น้อยที่สุด
เสน่ห์ของบางน้ำผึ้งคือธรรมชาติ แนวคิดหลักในการออกแบบบ้านมะขามจึงเป็นการคงไว้ของระบบนิเวศและธรรมชาติ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ความเป็นธรรมชาติของพื้นที่ไว้ โดยหาวิธีการออกแบบที่สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้ คุณประกิจ จึงออกแบบให้บ้านมะขามมีที่ห้องพักเป็นหลังๆ แต่ละห้องจะค่อนข้างห่างกัน และข้อสำคัญคือทั้งห้องพัก ทางเดิน ระเบียง หรือแม้แต่ร้านอาหาร ต่างก็ยกสูงจากพื้นประมาณ 1.8 – 2 เมตรทั้งสิ้น เพราะจะได้รบกวนธรรมชาติอย่างน้อยที่สุด ผู้คนที่เข้าพักจะไ้ด้เห็นความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ซึ่งหาได้ยากในพื้นที่แถบกรุงเทพนี่เอง
สถาปนิกจึงเกิดไอเดียในการคงพื้นที่ร่องสวนไว้ เพราะร่องสวนในบ้านมะขามเป็นร่องสวนแบบสมัยก่อนที่ชาวบ้านใช้กัน โดยมีขนาดตั้งแต่ 1.50 – 3.40 เมตร ภายในสวนนี้จะมีความอุดมสมบูรณ์ มีพืชผักหลากหลายชนิด มีสัตว์มากมาย และมีปลาแหวกว่ายตามล่องน้ำ เมื่อรวมกันทั้งหมดนั้นจะกลายเป็นระบบนิเวศขนาดเล็ก ซึ่งแขกผู้พักสามารถเห็นความมีชีวิตชีวาของสิ่งเหล่านี้ได้ตลอดการเข้าพักที่บ้านมะขาม จึงออกแบบโดยการคงร่องสวนอันเดิมไว้ วางเสาและฐานรากให้คล่อมกับร่องสวน โดยวางที่พักอาศัยหันด้านยาวตามทิศตะวันตกขนานยาวไปกับร่องสวนในพื้นที่
ขนาดพื้นที่ ที่พอเพียงในการใช้ชีวิต
อีกหนึ่งแนวคิดที่สำคัญคือการออกแบบห้องพักให้มีขนาด 2.40 เมตร ซึ่งเป็นขนาดที่เพียงพอสำหรับมนุษย์ในการพักอาศัย สามารถนั่งและนอนได้โดยไม่อึดอัด โดยขนาด 2.40 เมตร เกิดจากการศึกษาและเรียนรู้ของสถาปนิกอย่างต่อเนื่อง เพื่อหาสัดส่วนที่พอดีที่สุดกับการใช้งานของมนุษย์ นอกจากนั้นความกว้าง 2.40 เมตร นี้ ยังพอดีกับความกว้างของร่องสวนในพื้นที่อีกด้วย จึงสามารถนำความกว้างนี้มาใช้ด้วยกันได้อย่างพอดีทั้งความกว้างฐานรากและความกว้างของห้องพัก และ 2.40 เมตร ยังเป็นขนาดมาตรฐานที่เหลือเศษวัสดุน้อยที่สุดด้วย
การออกแบบที่แฝงไปด้วยรายละเอียดในทุกแง่มุม
บ้านมะขามเป็นโรงแรมขนาดเล็ก มีห้องพักทั้งหมด 6 ห้อง แบ่งเป็นห้องนอนสำหรับ 2 คน 4 ห้อง และห้องนอนสำหรับครอบครัว 4 คน 2 ห้อง มีส่วนของร้านกาแฟอยู่บริเวณทางเข้าที่พัก และมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับแขกผู้เข้าพัก โดยสามารถนั่งรับประทานอาหารเช้าหรือพักผ่อนในตอนกลางวันได้
ห้องพักถูกออกแบบมาให้เป็นลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยม แต่มีปีกเพิ่มออกมาจากแกนที่ขนานกับแนวร่องสวน เป็นการเพิ่มพื้นผิวให้กับอาคาร สามารถสัมผัสแสง ลม และมุมมองธรรมชาติแบบเปิดกว้างได้มากขึ้น และด้วยขนาดของห้องที่ออกแบบมาให้มีขนาดที่เพียงพอกับสัดส่วนของมนุษย์ ที่ไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป สถาปนิกจึงสามารถลดการใช้เฟอร์นิเจอร์ภายในห้อง เช่น ใช้เตียงยกสูงจากระดับพื้น 30 เซนติเมตร ใช้โต๊ะญี่ปุ่น มีเบาะวาง เพื่อไม่ให้กินพื้นที่มากนัก และทุกส่วนภายในห้องสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ ผู้เข้าพักจะไม่รู้สึกอึดอัดหรือคับแคบจากพื้นที่ภายในห้องที่กว้างเพียง 2.40 เมตร
ตำแหน่งหน้าต่างในห้องพักไม่เพียงแต่ต่อเนื่องกันเท่านั้น แต่ยังคิดถึงระดับการองเห็นที่อยู่ในระดับที่สัมพันธ์กับการใช้งานด้วย ในทุกระดับสายตาของผู้เข้าพักไม่ว่าจะทำอิริยาบถใดๆ เช่นนั่ง นอน หรือยืน ก็สามารถมองเห็นต้นไม้ เห็นสัตว์ที่อยู่ในสวน และเห็นบรรยากาศภายนอกได้ นอกจากนั้นยังช่วยให้สัมผัสได้ถึงสถานที่ รับรู้ความรู้สึกและอารมณ์ของการอยู่ท่ามกลางธรรมชาติได้มากกว่าห้องรูปทรงสี่เหลี่ยมธรรมดาอีกด้วย
สถาปนิกเลือกใช้หน้าต่างแบบบานกระทุ้ง เพราะสามารถเปิดได้ถึง 90 องศา และเปิดแง้มนิดๆในยามฝนตกได้
มีการใช้ยิปซั่มสีขาวเพิ่มเติมในการตกแต่งห้อง เพื่อสร้างบรรยากาศห้องให้ดูร่วมสมัยและเป็นมิตรมากขึ้น
เพื่อไม่ให้สูญเสียพื้นที่ใช้สอยในห้องพัก ประตูที่เลือกใช้จึงใช้บานประตูแบบเป็นบานเลื่อน
พื้นที่ส่วนกลางของที่พักจะอยู่ตรงกลางและมีห้องพักแต่ละห้องรายล้อมอยู่รอบข้าง มีการตกแต่งด้วยไม้เป็นวัสดุหลัก มอบความรู้สึกที่อบอุ่นและผ่อนคลายให้กับแขกผู้เข้าพัก
รักษ์การใช้ไม้
ไม้ เหล็ก และคอนกรีต คือวัสดุของบ้านมะขาม คอนกรีตคือฐานรากของบ้าน เหล็กนำมาใช้เป็นโครงสร้างจากร่องสวนสู่พื้นอาคาร และไม้วัสดุที่สำคัญและใช้มากที่สุดของบ้านมะขาม เพราะไม้ก่อให้เกิดบรรยากาศที่ดูเป็นมิตร อบอุ่น และยังเข้ากันได้ดีกับสภาพแวดล้อมที่รายล้อมด้วยต้นไม้และธรรมชาติอีกด้วย
“ที่เลือกไม้เป็นวัสดุหลัก เพราะผมคิดว่าถ้าใช้ไม้ก็เปรียบเสมือนการนำวัสดุพื้นฐานตั้งแต่อดีต นำกลับมาใช้มากขึ้น เป็นการเพิ่มมิติการรับรู้ในเรื่องงานไม้ให้กับบุคคลทั่วไปได้เป็นอย่างดี โดยที่บ้านมะขามแห่งนี้ จะใช้ไม้เป็นโครงสร้างในห้องพัก ใช้ไม้เป็นวัสดุปูพื้น ผนัง และเฟอร์นิเจอร์บางชิ้นก็ทำจากไม้เช่นกัน ไม้ที่เลือกใช้จะเป็นไม้เก่า นำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการก่อสร้างและก่อให้เกิดการใช้งานวัสดุอย่างเป็นระบบ” คุณประกิจ ผู้ออกแบบกล่าวถึงเหตุผลในการเลือกใช้ไม้
“ไม้ คือวัสดุที่มนุษย์รู้สึกคุ้นชินและเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน โดยเราจะรู้สึกถึงความอบอุ่น เรียบง่ายและเป็นมิตรจากการใช้ แต่ในปัจจุบันการใช้ไม้ค่อยๆหายไปตามกาลเวลา ผมจึงอยากนำไม้มาใช้กับบ้านมะขามหลังนี้ นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์วัสดุแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ช่างไม้ไทยอีกด้วย เพราะถ้าผมทำงานไม้ก็จะสามารถนำเทคนิคในการก่อสร้างด้วยไม้จากช่างที่มากประสบการณ์ มาเผยแพร่เทคนิคทางงานไม้ให้คนทั่วไปได้รับรู้มากขึ้น” คุณประกิจ กล่าว
โครงสร้างของฐานรากมีความคล้ายคลึงกับโครงสร้างเชตซี (โครงสร้างรถบรรทุก) ซึ่งเป็นโครงสร้างคานคู่ ที่สถาปนิกเลือกใช้ในการวางฐานรากให้คล่อมกับร่องสวน
กลมกลืนกับชุมชน
บ้านมะขามมีความกลมกลืนกับธรรมชาติรอบข้าง เมื่อมองจากภายนอกจะรู้สึกเหมือนเป็นบ้านของคนท้องถิ่นที่แทรกตัวอยู่กับบ้านทั่วไป เพราะรูปแบบอาคารถูกออกแบบมาให้คล้ายกับบ้านรอบข้าง เป็นหลังคาจั่ว ไม่ชันมาก และมีรูปทรงที่เรียบง่าย มีความกลมกลืนกันไปในตัว
อีกหนึ่งแนวคิดของบ้านมะขามที่มีต่อชุมชน คือการช่วยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ภายในที่พักจะมีการนำของใช้ที่ผลิตขึ้นจากคนในชุมชนมาใช้ รวมทั้งอาหารที่นำมาขายบางอย่าง เช่นม้าฮ้อ อาหารดั้งเดิมของชาวบางน้ำผึ้งที่ในปัจจุบันหารับประทานได้ค่อนข้างยาก และมีการตักบาตรบางน้ำผึ้งของคนบางน้ำผึ้งที่ลูกค้าสามารถเข้ามามีส่วนร่วมประเพณีนี้ได้ บ้านมะขามจะเปรียบเสมือนหน้าบ้านของชุมชน ที่สื่อสารกับบุคคลภายนอกว่าชุมชนแห่งนี้มีความน่าสนใจอย่างไร สร้างความรับรู้และความสำคัญของชุมชนบางน้ำผึ้งที่มีต่อบุคคลภายนอกให้มากยิ่งขึ้น
ม้าฮ้อ อาหารดั้งเดิมของชาวบางน้ำผึ้ง เป็นเมนูที่น่าลิ้มลองที่บ้านมะขามแห่งนี้
มะขามมิ้นท์ เมนูแนะนำของบ้านมะขาม ช่วยเพิ่มความสดชื่นจากอากาศร้อนๆในระหว่างวันได้เป็นอย่างดี
Strawberry and Lychee Smoothie หวานอมเปรี้ยวกับรสชาติที่เข้ากันอย่างลงตัว
บ้านมะขาม เป็นโรงแรมที่ให้ความรู้สึกไม่เหมือนโรงแรม หากเหมือนได้มาพักผ่อนที่บ้านเพื่อนในบางน้ำผึ้ง จากการออกแบบที่มีความกลมกลืนกับชุมชนโดยรอบและมีความเป็นธรรมชาติสูง จึงทำให้แขกผู้เข้าพักรู้สึกกลมกลืนกับบริบทรอบข้างด้วยเช่นกัน
บ้านมะขาม บางน้ำผึ้ง
Architect: คุณประกิจ กัณหา และทีมงาน Studio Miti
Photography: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
Tel: 098 828 0983
Facebook: บ้านมะขาม
Location: บ้านมะขาม ตำบลบางน้ำผึ้ง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
map