“อาคารที่ดีจะแสดงตัวตนและสื่อความหมายออกมาให้ผู้คนทั้งโลกรับรู้”
Bjarke Ingels สถาปนิกชาวเดนมาร์ก ผู้มีวลีประจำตัวคือ Yes is More เขาประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ได้รับรางวัลจากการแข่งขันมากมาย และยังเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจในวงการสถาปัตยกรรมมากที่สุดในปัจจุบัน
งานของเขาสะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ ความสนุก การมองโลกในแง่ดี และเข้าถึงง่าย
Bjarke Ingels เกิดในปี 1974 ที่เมือง Copenhagen, Denmark ในวัยเด็กเขาอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน แต่พ่อและแม่อยากให้เรียนด้านออกแบบ เขาจึงคาดหวังว่าการเรียนสถาปัตยกรรมจะเพิ่มพูนทักษะการวาดรูปได้ดียิ่งขึ้น ในเวลาต่อมาเมื่อเขาเข้าเรียนสถาปัตยกรรมที่ Royal Academy ในปี 1993 เขากลับเกิดความหลงใหลในงานสถาปัตยกรรมอย่างมาก จนเกิดแรงบันดาลใจในการออกแบบอาคารต่างๆ และตัดสินใจที่จะเป็นสถาปนิกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
VM Houses
เมื่อจบการศึกษา เขาเรียนต่อที่ Technica Superior de Arquitectura สาขาสถาปัตยกรรม เมือง Barcelona จากนั้นจึงเริ่มทำงานกับ OMA เป็นระยะเวลา 3 ปี และออกมาก่อตั้งบริษัท PLOT Architect ในปี 2001 กับ Julien de Smedt เพื่อนของเขา งานของ PLOT นั้น มีดีไซน์อันโดดเด่น ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับการค้นคว้า วิจัยข้อมูลตามทฤษฎีเป็นหลัก
8 House
ในปี 2005 Bjarke Ingels ได้แยกออกมาทำบริษัทของเขาเองในชื่อ Bjarke Ingels Group หรือ BIG ซึ่งมีออฟฟิศหลักตั้งอยู่ที่เมือง Copenhagen และ New York บริษัท BIG มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วและสามารถสร้างชื่อเสียงในระดับโลกด้วยระยะเวลาเพียงไม่นาน แสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของ Bjarke Ingels ได้เป็นอย่างดี
Melbourne Tower Competition Proposal
แนวทางการทำงานของ Bjarke Ingels ถูกเล่าผ่านหนังสือ Yes is More ซึ่งเป็นหนังสือที่รวบรวมผลงานกว่า 30 โปรเจคของเขา ผ่านทางรูปแบบของหนังสือการ์ตูนที่เขาชื่นชอบตั้งแต่เด็ก โดยมี “การพัฒนาด้านความสุขอย่างยั่งยืน” (Hedonistic Sustainability) หรือการออกแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้งาน เป็นแนวคิดหลักในการออกแบบ
“ผมชอบแนวคิดที่ว่า สถาปัตยกรรมคือหนทางที่จะนำความฝันออกมาสู่โลกความจริง เป็นอำนาจที่มนุษย์มี เพราะเราสร้างผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งแวดล้อม ในเมื่อตอนนี้เรามีอำนาจ เราก็สามารถใช้มันสร้างฝันร้าย หรือทำฝันสวยงามให้กลายเป็นจริงได้ และแน่นอนว่าแบบหลังน่าสนใจกว่าเยอะ” บทสัมภาษณ์ของ Bjarke จากสารคดี Abstract: The Art of Design Bjarke Ingels
Denmark Pavilion, Shanghai Expo 2010
Danish National Maritime Museum
งานออกแบบของ Bjarke Ingels เกิดจากความคิดสร้างสรรค์แต่ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ และเป็นสถาปัตยกรรมที่เกิดจากความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เขาได้เข้าร่วมผลงานการประกวดแบบจำนวนนับไม่ถ้วน และหลายครั้ง ผลงานของเขาก็ได้สร้างขึ้นจริง เช่น Danish Pavilion, VM House, Moutain Dwellings, Danish National Maritime Museum เป็นต้น
Mountain Dwellings
VIΛ 57 West เป็นโปรเจคแรกๆ ของเขาในอเมริกา
Homes for All – Dortheavej Residence
Location: Copenhagen
‘Homes for All’ บ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง Copenhagen, Denmark ที่ BIG ได้ทำร่วมกับ Lejerbo องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านที่อยู่อาศัย เพื่อออกแบบที่พักอาศัย 5 ชั้น จำนวน 66 ห้อง และมีขนาดพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 60 – 115 ตารางเมตร
เป้าหมายของโปรเจคนี้คือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคน สถาปัตยกรรม และพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากพื้นที่ตั้งอาคารอยู่ในแนวอาคารเก่ารูปตัว U ที่มีสวนสาธารณะอยู่ตรงกลาง Bjarke จึงปรับรูปแบบอาคารให้กลายเป็นตัว O และปิดล้อมสวนตรงกลาง จากนั้นจึงทำการเจาะช่องทางเข้าชั้น 1 เพื่อให้บุคคลภายนอกยังสามารถมาใช้งานที่สวนสาธารณะได้ตามปกติ เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างวีถีชีวิตเดิมและการใช้ชีวิตแบบใหม่
เนื่องจากเป็นโปรเจคที่ไม่แสวงหากำไร การคำนึงเรื่องค่าใช้จ่ายจึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับโปรเจคนี้ Bjarke เลือกใช้วัสดุและโครงสร้างที่หาได้ง่ายและราคาไม่แพง เช่น ไม้เมืองหนาว คอนกรีตเปลือย และลดการตกแต่งที่ไม่จำเป็น เพื่อลดต้นทุนในการก่อสร้าง
ทุกห้องพักจะมีระเบียงส่วนตัว และมีฝ้าสูงถึง 3.5 เมตร
มีการออกแบบห้องพักแต่ละห้องให้ลดหลั่นกันไปมา ทำให้ทุกห้องพักมีระเบียงขนาดเล็ก และยังช่วยบังแดดจากทิศใต้ ซึ่งจะมีแดดส่องเข้ามาตลอดทั้งวันอีกด้วย
Mars Science City
Location: Dubai
‘Mars Science City’ เมืองต้นแบบดาวอังคารจำลองที่รัฐบาลดูไบให้ BIG ออกแบบ เป็นการทดลองการใช้ชีวิตเสมือนอยู่บนดาวอังคาร เพราะทางดูไบวางแผนไว้ว่า ในอีก 100 ปีข้างหน้า จะเริ่มทำการย้ายมนุษย์ไปอาศัยอยู่ที่ดาวอังคารจริงๆ
Mars Science City เป็นโดมขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 170,000 ตารางเมตร ก่อสร้างโดยใช้เทคโนโลยี 3D Printed ภายในโดมมีการจำลองสภาพบรรยากาศให้คล้ายกับอยู่บนดาวอังคารมากที่สุด เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถรองรับการสำรวจดาวอังคารในอนาคต และเมื่อโครงการนี้เสร็จสมบูรณ์ ก็จะมีทีมงานทดลองเข้าไปพักอาศัยในโดมเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็ม เพื่อทดสอบการใช้งานและการใช้เทคโนโลยีแบบพึ่งพาตนเอง
ผนัง 3D Printed ที่สร้างจากทรายในทะเลทราย Emirati
มากไปกว่านั้น Mars Science City ยังมีจุดมุ่งหมายในการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชน ในด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ในอนาคต ด้วยการมีพิพิธภัณฑ์ที่สร้างจากเทคโนโลยี 3D Printed คอยให้ความรู้ด้านการบินและอวกาศ
CopenHill
Location: Copenhegen, Denmark
CopenHill หรือโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ ตั้งอยู่แถบอุตสาหกรรมเมือง Copenhegen, Denmark โปรเจคนี้เป็นโปรเจคที่น่าจับตามองมากที่สุดโปรเจคหนึ่งของ BIG เพราะแสดงให้เห็นถึงแนวทางการกำจัดขยะ ช่วยปูทางสู่ประเทศไร้ขยะในอนาคต ของประเทศ Denmark นั่นเอง
CopenHill แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศ Denmark และสื่อถึงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ เพราะนอกจากจะผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะแล้ว บนหลังคาลาดเอียงนั้น ยังเป็นทั้งลานสกี ลู่วิ่ง สวนสาธารณะ และหน้าผาจำลองที่สูงที่สุดในโลกให้กับชาวเมืองและนักท่องเที่ยวอีกด้วย
อาคารมีพื้นที่ทั้งหมด 16,000 ตารางเมตร ในส่วนของโรงงานสามารถรองรับขยะได้มากถึง 400,000 ตัน และนำมาผลิตน้ำร้อนให้กับประชาชน 160,000 ครัวเรือน ผลิตไฟฟ้าได้มากถึง 62,500 ครัวเรือน ส่วนพื้นที่บนหลังคาจะเปิดเป็นลานสกีในฤดูหนาว และเป็นเส้นทาง Trekking ช่วงฤดูร้อน โดยอาคารนี้จะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2019 นี้
Gammel Hellerup Gymnasium
Bjarke Ingels เป็นสถาปนิกสุดสร้างสรรค์และเป็นที่ต้องการตัวมากที่สุดในโลก ด้วยวัยเพียง 41 ปี เขาก็มีผลงานมากมายให้ติดตาม สิ่งที่โดดเด่นของเขาไม่ได้อยู่ที่สไตล์การออกแบบ แต่อยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์ในงานแต่ละชิ้น ซึ่งมีตั้งแต่ตึกที่ซ่อนตัวอยู่ใต้ดิน ตึกสูงเฉียดฟ้า ตึกรูปแบบเรียบง่าย และตึกที่มีรูปทรงสุดล้ำ เพราะเราเชื่อว่าทุกงานออกแบบจะสามารถกระตุ้นจินตนาการต่อผู้พบเห็นได้อย่างไม่รู้จบ…
ขอบคุณรูปภาพและบทความจาก BIG, Archdaily, Designboom, Officemagazine, Wired