กาลครั้งหนึ่ง นานมากแล้ว เมื่อครั้งเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะจัดงานปัจฉิมนิเทศน์ที่โรงแรมหรูหราแห่งหนึ่ง ซึ่งถึงตอนนี้ก็จำไม่ได้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในงานนั้น แต่มีเหตุการณ์หนึ่งที่จำได้ขึ้นใจคือ หลังจากปัจฉิมนิเทศน์เสร็จ อาจารย์ตรึงใจ (ศาสตราจารย์ ดร. ตรึงใจ บูรณสมภพ) ได้พาทุกคนไป “ทานข้าว” มื้อกลางวัน ที่ห้องอาหารของโรงแรม ซึ่งเมื่อเข้าไปถึงโต๊ะอาหาร พวกเราต่างก็ฮือฮากันมาก ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้แม้แต่ว่าจะเลือกนั่งกันอย่างไรดี เพราะโต๊ะอาหารถูกจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ ตามการจัดโต๊ะอาหารอย่างเป็นทางการในแบบฉบับตะวันตก ที่เราเห็นกันในหนัง ซึ่งสำหรับเราทุกคนแล้ว การได้นั่งโต๊ะอาหารอย่างเป็นทางการแบบนี้ เป็นโอกาสที่น้อยมาก และบางคนอาจไม่เคยเลยเสียด้วยซ้ำ …ตอนนั้น เราต่างก็สงสัยว่าทำไม คณะฯ ถึงเลือกที่จะส่งท้ายชีวิตนักศึกษาสถาปัตยกรรม บนโต๊ะอาหารอย่างเป็นทางการเช่นนี้นะ
พออาจารย์บอกให้เราทุกคนเข้าที่นั่งได้ เราก็นั่งกันอย่างเรื่อยเปื่อย ใครอยู่ตรงไหนก็นั่งตรงนั้น จนอาจารย์บอกว่า “เดี๋ยวก่อนๆ ผู้ชายควรต้องช่วยผู้หญิงที่อยู่ทางขวาให้เข้าที่นั่งเรียบร้อย แล้วตัวเองจึงนั่ง” ซึ่งเราก็คิดในใจ ทำไมต้องช่วยกันนะ ในเมื่อ ผู้หญิง หรือ ผู้ชาย ก็น่าจะเท่าเทียมกัน นั่งเก้าอี้ได้เหมือนๆกัน ซึ่งแปลกมาก ที่อาจารย์ดูเหมือนจะอ่านใจพวกเราได้ อาจารย์พูดยิ้มๆ ว่า “มันไม่ใช่ว่าต้องช่วยเพราะผู้หญิงอ่อนแอกว่า แต่มันเป็นมารยาททางสังคม ที่บ่งบอกความใส่ใจและความเอื้ออาทร เป็นจุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมสำคัญร่วมกัน ซึ่งก็คือการกินอาหารนี่แหละ” ซึ่งเราก็นึกในใจอีกว่า การกินอาหารเพียงมื้อเดียว มันจะสำคัญแค่ไหนกันนะ
อาหารวันนั้น มี 4 course เริ่มด้วยซุป สลัด อาหารจานหลัก และจบที่ของหวาน ซึ่งในขณะที่ทานอาหาร อาจารย์ตรึงใจ ก็บรรยายอย่างเป็นกันเอง ถึงวิธีการและลำดับการหยิบจับอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารทั้งหลาย รวมถึงมารยาทบนโต๊ะอาหาร ที่พวกเราไม่ค่อยมีกันเลย ซึ่งเราจบวันนั้นด้วยความสนุกสนาน พร้อมประสบการณ์แปลกใหม่ที่เราก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ ว่ามันจำเป็น หรือมีผลอะไรกับชีวิตในตอนนั้น
ภาพตัดมาที่สิบปีต่อมา ในช่วงที่เราเรียนหนังสืออยู่ที่ฟิลาเดลเฟีย ได้มีโอกาสร่วมโต๊ะอาหารกับอาจารย์สองท่าน ในวัน Thanksgiving พร้อมกับเพื่อนๆชาวต่างชาติ บทสนทนาบนโต๊ะอาหารในวันนั้น ยังฝังอยู่ในความทรงจำจนทุกวันนี้
Dalibor Vesely ซึ่งเป็นอาจารย์ท่านหนึ่ง พื้นเพเดิมเป็นชาว Czech แต่ย้ายมาอยู่ที่อังกฤษนานแล้ว พูดขึ้นมาว่า “ทุกคนเล่าให้ฟังหน่อยสิ ว่าเวลาทานอาหารกับครอบครัว ที่บ้านของคุณ จัดโต๊ะอย่างไร และร่วมทานอาหารกันอย่างไร” เพื่อนๆในโต๊ะ ที่มาจาก เม็กซิโก โคลัมเบีย อิตาลี แคนาดา ตุรกี รวมทั้งเราที่มาจากเมืองไทย ต่างก็เล่าถึงโต๊ะอาหารที่ประเทศของตน ที่แน่นอนว่ามันทั้งแตกต่างกันมาก และก็เหมือนกันมากในเวลาเดียวกัน
พอพวกเราเล่าจบ อาจารย์ก็พูดขึ้นมาว่า “นี่ล่ะ เรื่องบนโต๊ะอาหาร มันเป็นเรื่องซับซ้อนละเอียดอ่อน ที่เราต้องเข้าใจ ก่อนที่เราจะไปออกแบบอะไรล้ำๆ มันเป็นเบสิก เราจะเข้าใจสังคมวัฒนธรรมไหนอย่างง่ายๆ ก็ต้องดูที่โต๊ะอาหาร และมื้ออาหารของเขา คุณลองนึกดูสิ อาหารมื้อเช้าของแต่ละชาติ ที่มันแตกต่างกัน ทั้งของหวาน ของคาว ของร้อน ของเย็น มันบ่งบอกมุมมองของการเริ่มวันใหม่ ถ้าเราไม่เข้าใจมัน เราไม่มีวันจะออกแบบ Setting ทางสถาปัตยกรรมให้กับมันได้ บางทีเราก็ลืมเบสิกเหล่านี้ เราลืมไปว่า ทำไมนะ ไอ้โต๊ะอาหารที่เรานั่งกันอยู่ มันถึงเป็นแบบนี้มาเป็นพันๆปี มันอาจจะเปลี่ยนหน้าตาไปบ้าง แต่ตัวจริงของมันไม่เคยเปลี่ยนไปเลย คุณจะสร้างสรรค์ คุณต้องสร้างภายใต้ความเป็นจริงเหล่านี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่คนเราเลิกเดินตั้งฉากกับพื้นดินด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก และไปห้อยหัวจากเพดานได้เหมือนค้างคาวนี่สิ เมื่อนั้นแหละ เบสิกพวกนี้จะเปลี่ยนไป และคุณเองก็ต้องสร้างสรรค์ภายใต้เบสิกใหม่นั้น”
บทสนทนาบนโต๊ะอาหารในคืน Thanksgiving วันนั้น แม้จะห่างจากโต๊ะอาหารวันปัจฉิมนิเทศน์ นับสิบปี แต่มันเป็นครั้งแรก ที่ทำให้เราเข้าใจจริงๆ ว่าทำไมมื้ออาหารและมารยาทบนโต๊ะอาหาร มันถึงสำคัญ ไม่ใช่เพราะมันทำให้เราอิ่ม ไม่ใช่เพราะมันบ่งบอกชนชั้นในสังคม ไม่ใช่เพราะมันเป็นกฏระเบียบ แต่มันเป็นการแสดงออกถึง “ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์อย่างง่ายที่สุด” มันทำให้เกิดประสบการณ์ร่วมกัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมในสังคมเล็กๆ ที่ใช้พื้นที่บางพื้นที่ร่วมกันอย่างมีกติกา ส่งผลให้เกิดความปกติสุขอย่างเรียบง่าย … นี่คงเป็นเหตุผลที่ บทเรียนนี้ถูกบรรจุอยู่ในวันปัจฉิมนิเทศน์ … เพื่อให้เป็นเบสิก ที่เราควรจะเข้าใจ ก่อนจะออกไปเผชิญกับโลกกว้างนั่นเอง