OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

From A Green Roof To The Green Community เริ่มต้นจากบ้าน สู่การสร้างผืนป่าในเมือง

Owner & Architect : คุณใหม่ – ประพันธ์ นภาวงศ์ดี
Story : SKIIXY

ผมอยากลองทำบ้านส่วนตัวที่คิดถึงส่วนรวมด้วย
ถ้าทุกบ้านเริ่มปลูกต้นไม้ของตัวเองแล้ว
ส่วนรวมทั้งหมดก็จะกลายเป็นสีเขียว”

นิยามเริ่มต้นในการก่อร่างสร้างบ้านส่วนตัวของ คุณใหม่ – ประพันธ์ นภาวงศ์ดี ภูมิสถาปนิกแห่งบริษัท ฉมา เป็นแนวความคิดที่เราเห็นได้ชัดเจนจากผลงานที่ผ่านมาของเขา และในโอกาสที่ได้ทำบ้านหลังใหม่ของครอบครัว เขาจึงได้นำความปรารถนาดีเหล่านี้แปลเป็นงานออกแบบบ้านที่เป็นเหมือนกับป่าธรรมชาติกลางเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ

เดิมที่บ้านหลังนี้เป็นที่ดินเก่าแก่ของครอบครัวที่อยู่กันมาตั้งแต่เด็ก กาลเวลาขยับขยายจากครอบครัวเล็กเติบโตเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีคนสามรุ่นอยู่ร่วมกัน ความต้องการกลับมาอยู่ร่วมกันบนที่ดินเดิมอีกครั้งจึงเป็นความฝันของทั้งครอบครัว หากแต่ข้อจำกัดของการเริ่มต้นบ้านหลังใหม่อยู่ที่ขนาดของที่ดินในเมืองที่ไม่ได้กว้างขวางมากนัก แต่ก็อยากได้บ้านเพียงสองชั้น การจัดโซนนิ่งสำหรับการวางผังพื้นบ้านจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อรวบรวมความต้องการทั้งหมดเข้าด้วยกัน ด้วยการใช้วิธีคิดสำหรับส่วนอยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียม โดยให้ห้องส่วนตัวทุกห้องมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะมีพื้นที่ส่วนตัวสำหรับทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วยนอกเหนือจากการเป็นห้องนอน และใช้ชั้นดาดฟ้าเป็นสวนขนาดใหญ่ของบ้าน

“ขั้นต่อมาเราเลยต้องคิดว่าจะเบรกตัวก้อนนี้อย่างไรให้แสงและลมยังสามารถเข้าอยู่ได้ ซึ่งถ้าดูตามภาพของแปลนแล้ว ทิศทางของลมที่พัดตามทางยาวของบ้าน ทำให้เราต้อง split มวลของอาคารเพื่อให้ลมสามารถพัดผ่านตรงกลางได้ แต่ตรงนี้ก็เป็นข้อดีตรงที่ทำให้เกิดคอร์ตยาร์ดสีเขียวตรงกลางบ้านในส่วนชั้นล่างสุด เป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับห้องนั่งเล่น”

ส่วนไฮไลต์ของบ้านหลังนี้ที่เราเห็นได้ตั้งแต่หน้าบ้าน คือไม้ยืนต้นที่ตั้งตระหง่านในทุกระดับชั้นของบ้าน เริ่มต้นจากส่วนหน้าบ้านที่เลือกต้นไม้ต้นเตี้ยหน่อย ซึ่งรักษาทั้งความเป็นส่วนตัวของผู้อาศัยในบ้านพร้อมกับเป็นวิวสีเขียวให้กับถนนหน้าบ้าน ไล่ระดับไปจนถึงชั้นดาดฟ้าที่เป็นเหมือนกับสวนป่าพื้นที่เท่ากับอีกชั้นหนึ่งของบ้าน ต้นไม้ทั้งน้อยใหญ่และสวนผักกินได้จึงทำหน้าที่กรองความร้อนจากแสงแดดบนชั้นหลังคาได้ อยู่ชั้นล่างๆ อากาศก็ยังสบายไม่อบอ้าว

 

 

“ส่วนตัวก็อยากทดลองเองด้วยว่า ต้นไม้ใหญ่กับการอยู่บนหลังคามันจะเติบโตได้ดีแค่ไหน ซึ่งแน่นอนว่าทุกคนจะห่วงก่อนเลยว่า การดูแลรักษาจะเยอะไหม? หรือจะรั่วซึมไหม? เราจึงต้องคุยกับวิศวกรโครงสร้างเพื่อวางแผนอาคารเผื่อความต้องการพิเศษที่จะตามมากับการปลูกต้นไม้บนชั้นดาดฟ้า ทั้งเรื่องน้ำหนักบนหลังคา การป้องกันการรั่วซึม รวมไปถึงความยั่งยืนว่าจะสามารถคงสภาพเช่นนี้ต่อไปได้อีกนานแค่ไหน?”

การทดลองสำหรับสวนดาดฟ้าจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยการจัดการโครงสร้างให้เหมาะสมกับการรับน้ำหนักดินให้พอดีกับการปลูกต้นไม้ ซึ่งปกติแล้วความลึกของดินสำหรับสวนดาดฟ้ามักจะอยู่ที่ 1.5 เมตร แต่คุณใหม่ทดลองที่ประมาณ 1 เมตร ซึ่งเป็นความสูงระดับพอดีกับการเป็นขอบราวกันตกของอาคาร โดยวิศวกรโครงสร้างจะเป็นผู้คำนวณน้ำหนักบรรทุกเพื่อให้สามารถรับน้ำหนักของดินพร้อมกับไม่รั่วซึมลงไปชั้นล่าง ตัวกระบะต้นไม้ที่เรียงรายส่วนขอบนอกของอาคารจึงจำเป็นต้องใช้คอนกรีตเสริมเหล็กผสมน้ำยากันซึม เสริมด้วยยางกันซึมอีกชั้นเพื่อความมั่นใจว่าจะไม่รั่วซึมลงไปชั้นล่าง

ลำดับต่อมาคือ การทดลองปลูกต้นไม้โดยเริ่มจากการนำต้นเล็กมาปลูกเพื่อให้เติบโตเป็นต้นใหญ่ได้เอง เพื่อสังเกตดูว่าจะสามารถเติบโตได้สูงแค่ไหน ซึ่งผ่านระยะเวลามาเกือบสองปี จากต้นไม้ต้นเล็กที่ 2-3 เมตร ก็สูงยืนต้นขึ้นมาเป็น 6-7 เมตร โดยข้อดีที่ตามมานั่นคือ ต้นไม้สามารถปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ได้ โดยการเลือกพรรณไม้สำหรับสวนหลังคานั้น คุณใหม่แนะนำให้เลือกต้นไม้ทรงสูงมากกว่าทรงแผ่ออกด้านข้าง เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาในอนาคต เช่น ต้นปีป จำปี พะยอม แคนา ตะแบก เป็นต้น และเพราะพื้นที่ดาดฟ้าเป็นพื้นที่สำหรับตากผ้าด้วย ต้นไม้ทรงสูงจึงสร้างให้เกิดพื้นที่ที่แสงแดดส่องถึงสำหรับฟังก์ชั่นของครอบครัว

สุดท้ายคือเรื่องของความยั่งยืนในอนาคต คุณใหม่เลือกเปลือยหน้าดินให้เหมือนป่าธรรมชาติ โดยไม่ได้ปลูกไม้พุ่มคลุมดินเหมือนกับสวนหน้าบ้านที่เราเห็นโดยทั่วไป เมื่อใบไม้ร่วงหล่นลงมาทับถมกันก็จะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยและดินในอนาคต นอกจากบรรยากาศที่เหมือนป่าจริงๆ แล้ว วัฏจักรที่ต้นไม้ดูแลกันเองตามธรรมชาติยังเกื้อกูลให้เติบใหญ่ได้อย่างยั่งยืนตามความตั้งใจ

“เวลาปลูกต้นไม้ คนเรามักคิดถึงข้อจำกัดมาก่อนข้อดี” คุณใหม่ให้ข้อสังเกตทิ้งท้าย ซึ่งเราก็เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า การทดลอง สังเกต และเรียนรู้จากคนที่ตั้งใจและมีแพสชั่นนั้น สร้างบทเรียนภายใต้ข้อจำกัดมากมายให้เกิดขึ้นจริง ทำให้เราทุกคนสามารถใช้ฮาวทูนี้เพื่อลงมือทำสิ่งเล็กๆ โดยเริ่มต้นจากตัวเราจนบังเกิดผลในระดับสังคมได้

“ตอนนี้เมืองต้องการต้นไม้เพิ่ม คนที่อยากทำสวนบนหลังคาก็ต้องยอมรับว่าจะมีการบำรุงรักษา การจัดการค่อนข้างมาก แต่ถ้าเราเอ็นจอยกับการดูแลสวนบนหลังคา เราก็จะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งเสริมให้ชีวิตเราดึขึ้น อย่างสมาชิกในครอบครัวก็ขึ้นมาใช้สวนตรงนี้ค่อนข้างบ่อย ขึ้นมานั่งเล่น ดูแลสวน หรือเก็บผักลงไปกิน เราก็คิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ไลฟ์สไตล์ของเราแอ๊คทีฟและมีชีวิตที่สมดุลขึ้น ถึงแม้จะอยู่ในเมืองใหญ่ก็ตามที”

ขอขอบคุณ

เจ้าของ – สถาปนิก : คุณใหม่ – ประพันธ์ นภาวงศ์ดี