OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

CLASSROOM MAKEOVER FOR THE BLIND ห้องเรียนนักเรียนตาบอด : เรียนรู้ชีวิตประจำวัน เสริมสร้างจินตนาการ

หากพูดถึงงานสถาปัตยกรรม ปกติมักเป็นเรื่องของฟอร์ม สเปซ หรือความงามที่มองด้วยสายตาล้วน ๆ “แล้วถ้าเราต้องทำงานออกแบบให้กับคนที่ไม่ได้ใช้สายตาดู แล้วจะต้องทำอย่างไร?” นี่คือคำถามที่ทีม Creative Crews ผู้ออกแบบเจ้าของ 2 รางวัลใหญ่จากเวทีระดับโลก INSIDE World Festival of Interiors 2019 ตั้งขึ้นเพื่อหาคำตอบออกมาเป็นห้องเรียน ที่มากกว่าคนตาบอดใช้งาน แต่ต้องเป็นพื้นที่การเรียนรู้เพื่อทักษะการใช้งานตลอดชีวิต

ห้องเรียนห้องพิเศษของโรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยาห้องนี้จะเกิดขึ้นและสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่มีจุดเริ่มต้นของแนวความคิดจาก Golden Land บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นแนวหน้าของประเทศไทย ที่ดึงเอาหลายภาคส่วนที่มีความถนัดในสกิลที่ต่างกันมาครีเอตห้องเรียนเพื่อส่งเสริมพัฒนาการด้านประสาทสัมผัสให้เด็กตาบอดได้เข้าสู่สังคมอย่างมั่นใจ และใช้ความสามารถในทักษะการทำงานไม่ต่างจากพวกเราทุกคน

“ทาง Creative Crews กับ Goldenland ทำงานร่วมกันตั้งแต่เริ่มต้นสำรวจไซต์ โดยมีโจทย์ตั้งต้นที่ว่า ทำอะไรก็ได้ที่ทำเล็กๆ แต่ได้ผลในมุมกว้าง และเอาไปใช้งานต่อไปได้อย่างยั่งยืน เราเป็นโมเดลให้คนอื่นทำต่อได้ด้วย จนเกิดออกมาเป็นห้องเรียนสำหรับเด็กตาบอด ด้วยจุดประสงค์สำคัญทั้งเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต และเสริมสร้างจินตนาการเพื่อพัฒนาความคิดต่อไป” และนอกจาก Creative Crews แล้ว ยังมีทีมงานและนักออกแบบคุณภาพอย่าง Mana and Friends, Manisra Panlawat, Plantoys, Withlight, Kantana, Chalida Kunalai ที่มาช่วยเติมเต็มพื้นที่นี้จากองค์ความรู้ที่ถนัดของแต่ละคนแต่ละบริษัทได้อย่างลงตัว 

รางวัลของความตั้งใจ คือรางวัลของการเรียนรู้

แม้จะเป็นเพียงงานออกแบบห้องเรียนขนาด 48 ตารางเมตร แต่งานเล็กๆ งานนี้ก็ได้รับรางวัลใหญ่ อย่าง INSIDE Awards 2019 รางวัลด้านอินทีเรียร์จากเวทีประกวด World Architectural Awards โดยคว้ารางวัลชนะเลิศในสาขา Health & Education และยังได้รับรางวัล Highly Commended จากการประกวดในทุกสาขา ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดที่งานออกแบบจากประเทศไทยเคยได้รับด้วย ส่วนในประเทศก็ได้รับรางวัลโครงการที่สมควรได้รับการยกย่องจากงาน ASA Real Estate Awards 2019

รางวัลครั้งนี้เป็นผลจากการทำงานอย่างหนักผ่านการ Research & Design “เราทำอะไรไม่ได้นอกเหนือจากการหาข้อมูลให้เยอะที่สุด แล้วย่อยออกมาเพื่อทำงานออกแบบต่อ วิธีนี้น่าจะเป็นแนวทางที่ถูกต้องสำหรับเริ่มต้นทำอะไรก็ตามที่ไม่เคยทำ”

นอกจากรางวัลที่เป็นความภาคภูมิใจของทั้ง Goldenland ทีมคณะทำงาน และ Creative Crews แล้ว รางวัลอีกอย่างคือ ห้องเรียนแห่งนี้กลายเป็นห้องเรียนห้องโปรดสำหรับนักเรียนตาบอด ที่ได้เรียนรู้ทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับชีวิตของเขาผ่านสื่อที่สนุก ทุกเรื่องไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ และมีไฟที่อยากจะเรียนรู้เรื่องราวอื่นๆ นอกห้องเรียน สร้างแรงบันดาลใจที่จะเติบโตไปประกอบวิชาชีพอื่นๆ เหมือนกับที่นักเรียนทุกคนทำได้

จำลองประสบการณ์จริงผ่านประสาทสัมผัส

สาระสำคัญของห้องเรียนห้องนี้ที่ได้รับจาก คุณชิด สุขหนู ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา และ คุณมณิสรา ปาลวัฒน์ นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ คือการที่อาจารย์ทั้งสองท่านได้ถ่ายทอดประสบการณ์และความต้องการของนักเรียนตาบอดที่ต้องการเพิ่มเติมจากหลักสูตรเดิม เพื่อใช้งานดีไซน์มาสร้างสรรค์ห้องเรียนห้องนี้อย่างตอบจุดประสงค์ของการเรียนรู้

ความต้องการสองประการของห้องเรียนนี้คือ ต้องการให้นักเรียนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ และเพิ่มจินตนาการ จากสองจุดถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรายละเอียดเล็กน้อยที่ต้องล้วงลงไปให้ลึกถึงหัวใจของคนตาบอด ประสาทสัมผัสทั้งรูป กลิ่น เสียง สัมผัส จึงเป็นหลักสูตรที่ใส่ในห้องเรียน โดยเริ่มต้นจากกิจกรรมเวิร์คช็อปเพื่อให้นักออกแบบรู้จักกับคนตาบอดให้มากที่สุด

“เวิร์คช็อปครั้งนี้ เราต้องสอนเด็กตาบอดเต้นรำ ถ้าปกติสอนเต้นรำเราก็จะมองท่าทางแล้วทำตาม แต่การสอนเด็กตาบอดเต้นรำคือการต้องบอกให้กวาดมือ ยกมือ เอามือขึ้นลง กวาดไปตามผนัง ตรงนี้เลยเป็นที่มาของการพัฒนาหลักสูตรผ่านงานดีไซน์ในห้องนี้” ตัวละครสำคัญของห้องเรียนแห่งนี้จึงเป็นหมุดที่ทำจากไม้ ติดตั้งรูปทรง ของเล่น หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่เสริมทักษะทุกด้านผ่านการจับ สัมผัส เขย่า

ห้องเรียนของนักเรียนตาบอดทุกคน

ประเด็นแรกในเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยได้ด้วยตัวเอง นักเรียนตาบอดจำเป็นต้องเรียนรู้ว่าสิ่งไหนคืออันตราย กลิ่นก็จะเป็นกลิ่นแก๊สรั่วหรือของไหม้ เสียงก็จะเป็นเสียงของสี่แยก หรือรถที่มาทางซ้ายและขวา ส่วนเรื่องสัมผัสก็ทำกับทุกพื้นผิวทั้งผนังและพื้น ทางทีมออกแบบใช้ฝาผนังเป็นรูให้เสียบหมุดเข้าไป ซึ่งหมุดก็จะเป็นกล่องพลาสติกที่บรรจุข้าวของในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เครื่องปรุงอาหาร ไปจนถึงของเหลวต่างๆ นักเรียนจะใช้การเขย่า กลิ่น เสียง ประสาทต่างๆ ความสัมพันธ์ของทุกส่วนจะสร้างขึ้นเป็นภาพจำของสิ่งของต่างๆ ในสมอง และส่วนพื้นนูนขึ้นเป็นสัญลักษณ์อักษรเบรลล์

อีกประเด็นหนึ่งนั่นคือการเสริมสร้างจินตนาการ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาทักษะการเรียนรู้เพื่อพร้อมรับการเรียนในระดับความยากที่เพิ่มสูงขึ้น หมุดของเล่นในหมวดนี้มีทั้งรูปทรงที่แตกต่างกันสำหรับฝึกกล้ามเนื้อมือในเด็กเล็ก ของเล่นรูปสัตว์เพื่อให้รู้จักรูปทรงของสิ่งมีชีวิตต่างๆ การจับสัมผัสจะทำให้นึกออก จินตนาการก็จะขยายขึ้น ซึ่งห้องนี้ไม่ใช่เพียงนักเรียนเท่านั้นที่ใช้งาน คุณครูก็ยังได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากห้องเรียนนี้ด้วย

นอกจากนี้นักเรียนตาบอดบางส่วนในโรงเรียนอยู่ในกลุ่มตาบอดแบบเลือนราง ซึ่งหากไม่ได้ฝึกฝนทักษะการมองเรื่อยๆ ก็อาจพัฒนาจนกลายเป็นตาบอดสนิทได้ จึงจัดให้มีทั้งแสงไฟประดิษฐ์สำหรับฝึกการผสมสีระหว่างวัตถุกับแสงที่ตกกระทบ และในพื้นที่ระเบียงจัดเป็นแผงกระจกติดฟิล์มสีสันต่างๆ ที่แสงลอดผ่านได้สำหรับเสียบหมุดแบบสี ซึ่งการเรียนรู้ผ่านการเล่นในครั้งนี้กลายมาเป็นฟาซาดของอาคารที่เปลี่ยนแปลงไปตามวิธีการเรียนรู้ของเด็ก

แง่มุมของงานดีไซน์ ด้านหนึ่งก็ตอบจุดประสงค์หลักตามฟังก์ชั่นความต้องการเรียนรู้ แต่ในมุมกลับกัน จากสายตาของพวกเราที่มองเห็นฟาซาด (Façade) อาคารจากการเล่นจับคู่สี มองเห็นผนังห้องเสียบหมุดหลากรูปทรง มองเห็นความนูนเป็นแพตเทิร์นของอักษรเบรลล์ ในเชิงความงามทางสายตาอาจจะบอกไม่ได้ว่าสวยหรือไม่ แต่ในความงามของหัวใจก็สร้างบทเรียนให้กับคนตาดีอย่างเราให้มองอะไรอย่างละเอียดขึ้น มองทุกอย่างด้วยความเข้าใจ และใช้ธรรมชาติของประสาทสัมผัสให้คุ้มค่ามากกว่าที่เคย

ข้อมูลเพิ่มเติม-เยี่ยมชมโรงเรียนได้ที่ 02-764-6244