OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

Kenzo Tange สถาปนิกผู้บุกเบิกแนวคิด Metabolism Architecture แห่งประเทศญี่ปุ่น

งานออกแบบและสถาปัตยกรรมเกือบทุกชิ้นในประเทศญี่ปุ่นที่เราเห็น ล้วนเรียบง่าย กลมกลืนกับบริบทและเคารพต่อธรรมชาติ แต่ซ่อนแนวคิด เทคนิคจากภูมิปัญญาที่ใส่ใจรายละเอียดทุกขั้นตอนสั่งสมตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ญี่ปุ่นจะกลายเป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องในเรื่องของงานดีไซน์และสถาปัตยกรรมที่โด่งดังไปทั่วโลก

กว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่เรียบง่ายจนเป็นไอคอนของประเทศญี่ปุ่นอย่างทุกวันนี้ เราขอพูดถึงสถาปนิกและนักวางผังเมืองยุคบุกเบิก Kenzo Tange ผู้นำวัฒนธรรมดั้งเดิมแบบญี่ปุ่นมาผสมผสานเข้ากับสไตล์โมเดิร์น จนทำให้ประเทศญี่ปุ่นได้รับการยกย่องระดับโลกในด้านสถาปัตยกรรม
Photo Credit : www.pinterest.com

Kenzo Tange กับบทบาทการเป็น สถาปนิก นักวางผังเมือง และศาสตราจารย์

Kenzo Tange เกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ.1913 ที่เมืองโอซาก้าประเทศญี่ปุ่น  หลังจากจบมัธยมต้น Tange ได้ย้ายไปที่เมืองฮิโรชิมาในปี 1930 เพื่อเข้าเรียนมัธยม ซึ่งทำให้เขาได้พบกับหนังสือและผลงานของ Le Corbusier เป็นครั้งแรก หลังจากนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นความคิดที่ทำให้เขาอยากจะเป็นสถาปนิก
Photo Credit : arquitextosblog

ในปี 1935 Tange เริ่มการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว หลังจากจบการศึกษา Tange เริ่มทำงานเป็นสถาปนิกที่สำนักงานของ Kunio Maekawa เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้นเขาตัดสินใจออกจากบริษัทของ Maekawa เพื่อกลับไปเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยโตเกียว และพัฒนาความสนใจด้าน Urban Design ของตนเอง
Tange’s own home 1951
Photo credit : champ-magazine.com

ในปี 1942 Tange เข้าร่วมการแข่งขันออกแบบ Greater East Asia Co-Prosperity Sphere Memorial Hall และได้รับรางวัลอันดับหนึ่งจากการออกแบบ  หลังจากนั้นในปี 1946 Tange เริ่มต้นทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยและเปิดห้องค้นคว้าวิจัยของตัวเอง ซึ่งใน 1963 เขาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นศาสตราจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเมือง โดยมีลูกศิษย์เป็นเหล่าสถาปนิกผู้โด่งดังอย่าง Sachio Otani, Kisho Kurokawa, Arata Isozaki และ Fumihiko Maki
Hiroshima Peace Center and Memorial Park 1949
Photo Credit : www.archdaily.com

Kenzo Tange บิดาแห่ง Metabolism Architecture

Metabolism Architecture ถือเป็นขบวนการสถาปัตยกรรมโมเดิร์นที่มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นและทรงอิทธิพลมากที่สุดในช่วงปี1960 (คาดว่าเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 1950 ถึงต้นปี 1970)
Shizuoka Press and Broadcasting Center 1967
Photo Credit :
www.archdaily.com

หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า Metabolism ในความหมายของกระบวนการบำรุงรักษาเซลล์ภายในร่างกายของเรา ซึ่งสถาปนิกชาวญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองต่างใช้คำนี้เพื่ออธิบายความเชื่อของพวกเขาที่มีต่อแนวทางการออกแบบอาคารและการพัฒนาเมืองในยุคนั้น

สถาปนิกต่างเชื่อว่าเมืองและอาคารไม่ใช่สิ่งที่อยู่กับที่ แต่ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา Metabolism Architecture จึงเป็นแนวทางของสถาปัตยกรรมที่มีการออกแบบคล้ายชิ้นส่วน ลักษณะคล้ายเซลล์ที่แตกตัวออก พร้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ติดตั้งได้ง่าย รวมถึงสามารถถอดออกได้อย่างง่ายดายเมื่ออายุการใช้งานสิ้นสุดลง แนวคิดแหวกแนวของสถาปัตยกรรมนี้โด่งดังในยุค 1960 และกลายเป็นที่รู้จักในฐานะ Metabolism Architecture ไปทั่วโลก
St. Mary Cathedral 1964
Photo Credit :
www.archdaily.com

การวางผังเมืองแบบ Metabolist ค่อนข้างเป็นสไตล์ที่แสดงถึงความ futuristic ในยุคนั้น โดยในการประชุม World Design Conference ในปี 1960 Kenzo Tange ได้เสนอแผนทฤษฎีของเขาในการวางผังสร้างเมืองลอยน้ำในอ่าวโตเกียว เพื่อแก้ปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรอย่างรวดเร็วของโตเกียว ซึ่งในภายหลังแนวความคิดแบบ Metabolism Architecture ถูกปลูกฝังให้เหล่าลูกศิษย์ของเขาอย่าง Arata Isozaki , Kisho Kurokawa ผู้สร้างสถาปัตยกรรมแนว Metabolism ให้โด่งดังและเป็นที่น่าจดจำไปทั่วโลก

A plan for Tokyo 1960 by Kenzo Tange
Photo credit : archeyes.com

Yoyogi National Gymnasium, Japan

Yoyogi National Gymnasium, Japan 1964
Photo credit : www.flickr.com


Yoyogi National Gymnasium ถูกออกแบบขึ้นสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวในปี 1964 ซึ่งเป็นกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกที่จัดขึ้นในเอเชีย Tange ออกแบบอาคารโดยได้แรงบันดาลใจจากเส้นขอบฟ้าของโคลอสเซียมในกรุงโรม พื้นผิวของหลังคาทั้งหมดจะมีลักษณะคล้ายกับว่าถูกแขวนจากเสากระโดงทั้งสองเสา

เสาคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งสองเสารองรับตาข่ายที่ยึดติดกับแผ่นเหล็ก จุดยึดด้านล่างของตาข่ายเหล็กนี้เป็นระบบรองรับคอนกรีตที่มีน้ำหนักมาก ทำให้เกิดเป็นเส้นโค้งที่แตกต่างทั้งภายในและภายนอกอาคาร ความโค้งทั้งหมดของหลังคายังช่วยป้องกันอาคารจากผลกระทบเมื่อเกิดลมพายุที่รุนแรง
อาคารหลังนี้ยังได้รับแรงบันดาลใจจาก Philips Pavilion ของ Le corbusier จึงเป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดแบบตะวันตกที่นำมาปรับให้เข้ากับข้อกำหนดหรือความเหมาะสมในแบบฉบับของญี่ปุ่น นอกจากนั้น Tange ยังได้รับรางวัลทรงเกียรติ Pritzker Prize จากการออกแบบอาคาร Yoyogi National Gymnasium และได้รับขนานนามว่า เป็นหนึ่งในอาคารที่สวยที่สุดในศตวรรษที่ 20

Embassy of Kuwait  Tokyo , Japan

Embassy of Kuwait  Tokyo , Japan 1970
Photo credit : www.re-thinkingthefuture.comi.pinimg.com

อาคารสถานทูตคูเวต 7 ชั้นหลังนี้ สะท้อนแนวคิดอาคารยุคโมเดิร์น ในสไตล์ Metabolist ผสมผสานกับวัสดุคอนกรีตเสริมเหล็กในแบบ Brutalist  โดยอาคารตั้งอยู่ในเขตมินาโตะในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความหนาแน่นของเมืองสูง

อาคารถูกสร้างขึ้นด้วยแกนกลางสองแกน และประกอบด้วยสองส่วนที่แตกต่างกัน โดยด้านบนจะแบ่งเป็นที่อยู่อาศัยของทูตและสถานกงสุลที่ค่อนข้างเป็นส่วนตัว ส่วนด้านล่างจะเป็นสำนักงานของสถานทูตที่มีฟังก์ชันสาธารณะมากกว่า ที่บริเวณชั้นล่างของอาคาร ผนังที่รองรับผืนคอนกรีตถูกเว้นช่องว่างเอาไว้สำหรับทางเข้าหลัก ส่วนกลุ่มก้อนของอาคารทางด้านขวาที่มีกระจกเป็นส่วนประกอบจะเป็นโครงสร้างแบบ Cantilevered ที่ทำให้รู้สึกเหมือนอาคารลอยอยู่เหนือทางเข้า

The Fuji television building , Japan

The Fuji television building , Tokyo Japan 1996
Photo credit : architecturetokyo.wordpress.com

อาคาร The Fuji television building ถือเป็นอาคารสมัยใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนญี่ปุ่นในสมัยนั้น นอกจากสถาปัตยกรรมที่มีรูปลักษณ์ภายนอกโดดเด่น อาคารหลังนี้ยังมีการคิดค้นนวัตกรรมรวมถึงสเปซภายในที่ทันสมัยผสมผสานแนวคิดที่มองไปสู่อนาคต ทำให้ดึงดูดความสนใจจากสาธารณชนได้อย่างรวดเร็ว กลายเป็น Landmark แห่งใหม่ของโตเกียวในยุคนั้น

อาคารหลังนี้ถูกสร้างจากคอนกรีตจำนวนมากเชื่อมต่อกันด้วยทางเดินกว้างที่เรียกว่า  “corridors of heaven” รวมถึงลูกบอลทรงกลมที่มีฟังก์ชันเป็นหอสังเกตการณ์ขนาดเล็ก ซึ่งสามารถมองเห็นทิวทัศน์อันงดงามของอ่าวโตเกียวได้รอบทิศทาง จุดเด่นของอาคารจะเน้นพื้นที่เปิดโล่งเพื่อสะท้อนถึงความเปิดกว้าง เปิดเผย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังความตรงไปตรงมาที่ดูจริงใจเหมือนกับภาพลักษณ์ของบริษัท ฟูจิทีวี
Kenzo Tange
Photo Credit : i2.wp.com

ถึงแม้เวลาจะผ่านไปนับสิบๆ ปี แต่ผลงานและแนวคิดของ Tange ยังคงได้รับความสนใจมากมายจากกลุ่มนักออกแบบรุ่นใหม่ รูปลักษณ์หน้าตาอาคารที่โดดเด่นบวกกับสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ ล้วนนำพาให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักในด้านงานออกแบบและสถาปัตยกรรมที่สอดแทรกความโมเดิร์นเข้ามาผสมกับสเน่ห์ในแบบของญี่ปุ่นอย่างลงตัว เป็นที่น่ายอมรับว่า แนวคิดทฤษฎีการออกแบบของเขา สร้างอิทธิพลมากมายต่อสถาปัตยกรรมในยุคต่างๆ รวมทั้งยังถูกนำมาศึกษาและเป็นแรงบันดาลใจให้กับสถาปนิกรุ่นหลังอยู่ไม่น้อย

ที่มา
architectuul.com , fahrenheitmagazine.com , www.archdaily.com , www.thoughtco.com , archeyes.com , pen-online.com , en.wikiarquitectura.com,  www.dezeen.com , en.wikipedia.org , arquitextosblog.blogspot.com