OPENING HOURS: MONDAY – SUNDAY: 10.00 AM TO 8.00 PM

info@sitename.com | 987654321

Design Makes A Better Life.

Design Makes A Better Life.

บ้านรีโนเวทดีเทลละเอียดยิบที่ชวนให้รู้สึกถึงการเป็น ‘เจ้าของบ้าน’ อย่างแท้จริง

“บ้าน เป็นสิ่งที่เราต้องเจอในทุกวัน เราเลยพยายามออกแบบรายละเอียดลงไป เพื่อให้บ้านมีคาแร็กเตอร์ ซึ่งเมื่อผู้อยู่อาศัยได้ซึมซับคาแร็กเตอร์เหล่านั้น เขาจะเกิดความรู้สึกรักในของของเขา มันจะทำให้เขาเห็นคุณค่าของสเปซในงานออกแบบของตัวเอง เกิดความรักในสถาปัตยกรรมที่เขาอยู่ เหมือนเราภูมิใจในบ้านของเรา”

เมื่อ บ้าน มอบความภาคภูมิใจในฐานะของการ ‘เป็นเจ้าของ’ บ้านจึงไม่เพียงเป็นสถานที่พักอาศัยสำหรับการพักผ่อน แต่ยังแสดงถึงความชื่นชอบ ความเป็นตัวเองของผู้อยู่อาศัย ที่มักจะซ่อนอยู่ในรายละเอียดเล็กๆ ที่เราคาดไม่ถึง นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม คุณแอม -อรชุมา สาระยาสถาปนิก จาก Common Space Architect ถึงตั้งใจออกแบบ รีโนเวทบ้านเก่าขนาด 50 ตารางวาของคุณพ่อคุณแม่ให้มีรายละเอียดของงานดีไซน์มากมายที่ซ่อนอยู่

คุณแอม -อรชุมา สาระยา สถาปนิกจาก Common Space Architect

‘ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่’ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ ได้เป็นเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง

เมื่อคุณพ่อคุณแม่ เริ่มเข้าสู่วัยเกษียณ รวมถึงลูกๆ ที่ต่างก็แยกย้ายออกไปสร้างบ้านและมีครอบครัวเป็นของตัวเอง คุณแอม ลูกสาวผู้เป็นสถาปนิกจึงเริ่มลงมือวางแผนที่จะรีโนเวทบ้านเก่าอายุกว่า  40 ปีให้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ รวมถึงตอบสนองไลฟ์สไตล์และกิจกรรมที่คุณพ่อคุณแม่ชื่นชอบ เช่นเดียวกับสำนวนที่บอกเราว่า ปลูกบ้านก็ต้องตามใจผู้อยู่อาศัย

บริเวณหน้าบ้านถูกออกแบบให้เป็นลานไม้กระถาง หรือกระบะต้นไม้ที่ดูแลได้ง่าย ตามความต้องการของคุณแม่ ผู้ที่มักใช้เวลาว่างไปกับการปลูกต้นไม้ ทำอาหาร เล่นโยคะ และทำงานศิลปะ ต่อเนื่องจากลานหน้าบ้าน คุณแอมจึงออกแบบให้มีชานหน้าบ้านที่ยื่นยาวออกไป เพื่อให้คุณแม่สามารถยืดเส้น ยืดสาย เล่นโยคะในยามเช้าและมองเห็นพื้นสีเขียวจากไม้กระถางเล็กใหญ่ที่รายล้อม รวมถึงมีชั้นคอนกรีตเล็กๆทำชั้นคอนกรีตเล็กๆ เผื่อสำหรับนั่งพักหรือสามารถวางกระถางต้นไม้ได้
Dtips : เนื่องจากปัญหาเดิม เคยมีน้ำขังบริเวณพื้นหินหน้าบ้าน ผู้ออกแบบจึงแก้ไขด้วยการดีไซน์กรวดแม่น้ำบังท่อระบายน้ำไว้ทั้งหมด ซึ่งกรวดแม่น้ำมีคุณสมบัติไม่ขึ้นตะไคร่ ทำให้เมื่อเกิดฝนหนัก ก็จะไหลผ่านกรวดแม่น้ำไปตามรางระบายและลงท่อได้อย่างสะดวก

การรีโนเวทในเฟสแรกเริ่มต้นที่ชั้นล่างเป็นหลัก ซึ่งเดิมบ้านหลังเก่าจะมาพร้อมปัญหาทึบตัน มีหน้าต่างน้อย ทำให้แสงธรรมชาติไม่เข้าถึงโซนภายใน การออกแบบในครั้งนี้จึงต้องดีไซน์ช่องเปิดใหม่ทั้งหมด เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องแสง ส่งเสริมความเป็นบ้านของผู้สูงอายุที่ต้องโปร่ง มีอากาศธรรมชาติถ่ายเท และที่สำคัญคือ ต้องอยู่สบาย

ภาพบ้านก่อนการรีโนเวท 
ภาพแปลนบ้าน ชั้น 1 Photo Credits : Common Space Architect 

ส่วนพื้นที่ซักล้างภายนอกมีขนาดใหญ่เกินความต้องการในปัจจุบัน อีกทั้งเดิมยังถูกปิดเป็นผนังที่มีเพียงบานหน้าต่างขนาดเล็ก โซนนี้จึงถูกออกแบบขึ้นใหม่โดยกั้นเป็นคอร์ดเล็กๆ ด้วยเสาคอนกรีตที่เว้นช่องว่างถี่ๆ เพื่อสร้างความปลอดภัยอีกหนึ่งระดับ ทำให้บ้านหลังนี้ไม่จำเป็นต้องมีเหล็กดัดมารบกวนสายตาเหมือนบ้านไทยที่เราคุ้นเคย นอกจากนั้นยังมีการออกแบบบานหน้าต่างให้เปิดสูงถึงพื้น สามารถวางกระถางต้นไม้บางส่วน พร้อมทั้งเปิดรับแสง และอากาศธรรมชาติจากภายนอกให้เข้าสู่พื้นที่ภายใน บ้านที่เคยมืด และทึบตันจึงนำเอาแสงแดดรำไรที่ทะลุผ่านช่องเปิดเข้ามา พื้นที่นั่งเล่นภายในบ้านที่สามารถมองเห็นท้องฟ้าได้ เงาต้นไม้ที่พลิ้วไปตามลม สิ่งเหล่านี้ถึงแม้จะเป็นเพียงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่กลับส่งผลไม่น้อยต่อความรู้สึกของผู้อยู่อาศัย
จากเดิมห้องนอนของคุณแม่ที่เคยอยู่ชั้นบน ถูกย้ายลงมาชั้นล่างต่อเนื่องจากพื้นที่รับประทานอาหาร โดยออกแบบให้เป้นห้องนอนและห้องน้ำในตัว ที่มีขนาดบานเปิดกว้างและมีที่จับรองรับสำหรับการใช้งานของผู้สูงอายุโดยเฉพาะ แต่ปัญหาคือ ตำแหน่งห้องนอนที่ไม่สามารถมีแสงธรรมชาติส่องถึงได้เลย ผู้ออกแบบจึงเจาะพื้นที่หลังคาให้เกิดเป็นช่องแสงและเว้นระยะออกมาประมาณ 70 เซนติเมตร เพื่อให้แสงธรรมชาติสามารถส่องลงมาได้ และมีพื้นที่สำหรับตั้งไม้กระถางเล็กๆ ช่วยลดความรู้สึกหดหู่ที่จะเกิดขึ้นเมื่อต้องอยู่ภายในห้องเล็กๆ คนเดียว

‘Poetic Architecture’ เมื่อบ้านเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างอารมณ์และความรู้สึก

สำหรับการออกแบบบ้านหลังนี้ หากมองผิวเผินเราอาจจะมองเห็นเพียงความเรียบง่าย แต่แท้จริงแล้วกลับมีอารมณ์ขององค์ประกอบร่วมสมัยบางอย่างที่ส่งกลิ่นอาย ความรู้สึก โดยเล่าว่า “เราจะเน้นไปในแง่ของรูปทรง หรืออะไรที่ทำให้เกิดมู้ดแอนด์โทนที่ทำให้บ้านกลมกลืน เข้ากัน ต้องบอกก่อนว่า งานออกแบบของเราจะเน้นเป็นแบบ Poetic Architecture หรือ สถาปัตยกรรมที่ทำให้เกิดอารมณ์ ความรู้สึกร่วมกับบ้าน เราไม่ได้ตั้งโจทย์ว่าอยากได้บ้านที่มินิมอล หรือบ้านที่เรียบง่าย แต่เราจะเน้นไปที่อารมณ์ ว่าอยากให้บ้านหลังนี้สร้างความรู้สึกแบบไหน”
ด้วยความที่สมาชิกทุกคนในบ้านต่างรักการทำอาหาร บริเวณใจกลางของบ้านจึงถูกออกแบบเป็นโต๊ะรับประทานและพื้นที่ครัว ส่งผลให้ครัวต้องมีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ บวกกับความที่คุณแม่ชอบทำขนมปัง ท็อปเคาน์เตอร์ครัวจึงออกแบบจากไม้จริง และมีขนาดหน้าโต๊ะที่ใหญ่กว่าเคาน์เตอร์ทั่วไป เพื่อให้เหมาะสมกับการตีแป้งขนมปังมากที่สุด และจากตำแหน่งที่อยู่ท้ายสุดของบ้าน ทำให้ครัวกลายเป็นปลายตาในการมองเห็น สถาปนิกจึงออกแบบหน้าบานห้องครัวด้วยไม้โทนสีเขียวที่คุณแม่ชื่นชอบ เพื่อให้ครัวสามารถโชว์ความสวยงามได้ในตัว และการมองเห็นปลายตาเป็นสีเขียวก็จะสร้างความรู้สึกสดชื่นให้กับบ้าน และยังเข้ากับองค์ประกอบส่วนอื่นของบ้านได้เป็นอย่างดี
ด้วยพื้นเพของคุณแม่ซึ่งเคยอยู่อาศัยในบ้านเรือนไทยเก่า ส่งต่อสู่ความหลงใหลในเฟอร์นิเจอร์ไม้ สีคลาสสิค ของสะสมเก่าที่คุณแม่ชื่นชอบ ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น อย่างโต๊ะไม้เชอรี่ที่มีอายุกว่า 100 ปี จึงถูกตั้งเอาไว้ใจกลางบ้าน ถัดจากพื้นที่ครัว โดยกลายมาเป็นพื้นที่พูดคุย พบปะ สังสรรค์ของคุณพ่อและเพื่อนๆ ในยามที่มีการเยี่ยมเยือน โดยที่คุณพ่อเองก็มีลักษณะนิสัยที่รักการเล่าเรื่องและพูดคุยเป็นทุนเดิม
นอกจากไลฟ์สไตล์ของคุณพ่อคุณแม่ที่ผสานเข้าหากันอย่างลงตัว การออกแบบพื้นที่แต่ละส่วนยังถูกดีไซน์ให้กลมกลืน “เราพยายามทำให้มันเข้ากันมากที่สุด เพราะเรามีทั้งองค์ประกอบที่เก่ามาก และใหม่มากมาอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้มันไปด้วยกันได้ แต่ยังคงเน้นภาพรวมให้มันดูเรียบง่าย” สถาปนิกเล่า

ห้องที่ต่อจากชานหน้าบ้าน เป็นห้องทำงานศิลปะยามว่างของคุณแม่ โดยที่คุณแอมเก็บรักษาระดับของบ้านเดิมเอาไว้ และเปลี่ยนเพียงแค่ทิศทางของบันได เพื่อให้สามารถสัญจรได้อย่างสะดวกมากขึ้น  รวมถึงเปลี่ยนผนังของห้องเป็นกระจกทั้งหมด เพื่อให้แสงธรรมชาติจากหน้าบ้านสามารถผ่านเข้ามาได้ รวมถึงมองเห็นพื้นที่สีเขียวจากสวนไม้กระถางที่คุณแม่ออกแบบไว้ เปิดรับบรรยากาศภายนอก เพื่อเอื้อต่ออารมณ์และการสร้างสรรค์ผลงานให้ได้มากที่สุด
ห้องน้ำบริเวณด้านในออกแบบใหม่ด้วยการใช้วัสดุหลักเป็นกระเบื้องทำมือจากจังหวัดลำปาง ซึ่งแต่ละแผ่นจะมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน เพื่อให้บ้านดูมีอารมณ์และความรู้สึก ผ่านการใช้วัสดุที่ไม่ใช่ Mass-produced แต่มีกลิ่นอายของความเป็น Homemade ผสานกับเส้นสายโค้งมน เพิ่มความอ่อนช้อย และสวยงาม

‘หัวใจของงานรีโนเวท’ การหาจุดร่วมระหว่างของเก่าและของใหม่

“หัวใจของการรีโนเวท คือ เราไม่ได้อนุรักษ์เพียงอย่างเดียว แต่เราพยายามหาจุดร่วมที่สามารถอยู่ด้วยกันได้ พอเราทำงานรีโนเวทมาค่อนข้างเยอะ เราจะเห็นถึงความหวงของ ของเจ้าของบ้านแต่ละท่าน บางอย่างเขาก็ไม่อยากเปลี่ยนแปลงหรือทิ้ง เพราะมันมีเรื่องราวที่เขาผูกพันกับองค์ประกอบนั้นๆอยู่ นี่แหละ คือเสน่ห์และสิ่งสำคัญที่ทำให้บ้าน มันเป็นบ้านของผู้อยู่อาศัยคนนั้นจริงๆ” สถาปนิกเล่า

เสน่ห์หนึ่งที่เราเห็นภายในบ้านหลังนี้ คือ องค์ประกอบของบ้านไม้เก่าที่ยังคงสมบูรณ์และสวยงามอย่างไร้ที่ติ ซึ่งสถาปนิกตั้งใจออกแบบเปิดฝ้า โชว์โครงสร้างตงไม้แดง ส่งผลให้บริเวณส่วนอื่นของบ้านกลายเป็นเพียงผนังสีขาวที่สร้างความเรียบง่าย เพื่อให้ฝ้าและตงไม้โดดเด่นขึ้นมามากที่สุด  ส่วนวัสดุอื่นๆ ภายในบ้าน ทีมสถาปนิกก็ออกต่อจากของเก่า พื้นหินอ่อนที่สวยงาม ก็ยังคงเก็บรักษาเอาไว้ดังเดิม ส่วนของใหม่ที่จะเพิ่มเติมเข้าไปก็ต้องเหมาะสมและเข้ากับไม้เดิมของบ้าน อย่างเช่น ดีเทลซ่อนตัวล็อคกลอนไม้สักแท้ที่ผู้ออกแบบทำขึ้นใหม่ โดยเขียนแบบเองทั้งหมด
หลังคาบริเวณชานหน้าบาน สถาปนิกยังออกแบบให้กลมกลืนกับคาแรคเตอร์เดิมของอาคาร ด้วยการใช้เหล็กบางเพียงแค่ 5 มิลลิเมตร ฝังเข้ากับโครงสร้างเก่าของอาคาร และยื่นออกมาประมาณ 2.5 เมตร ในลักษณะ Cantilever หัวใจของการรีโนเวท  เทคนิคของวัสดุใหม่ๆ จึงผสานเข้ากับโครงสร้างอาคารเก่าได้อย่างแนบเนียน โดยไม่ขัดสายตา
“เราไม่อยากจะปรุงแต่งอะไรที่คนคิดไม่ถึง คือ อะไรที่คนเรายอมรับได้ง่ายและสบายใจที่จะอยู่กับสิ่งนั้น เราจึงดีไซน์ความรู้สึกไปกับตัวสถาปัตยกรรม พยายามตั้งจุดหมายในมุมมองที่เราเข้าใจลูกค้า ซึ่งบางทีลูกค้าเองเขาก็ไม่แน่ใจว่าเขาต้องการอะไร แต่เขามักจะมีภาพ หรือความรู้สึกว่าอยากได้ประมาณนี้ เราแค่ต้องค้นหาสิ่งนั้นและเปลี่ยนให้มันเป็นสิ่งที่จับต้องได้”
เมื่อบ้านแสดงถึงความเป็นเจ้าของ สิ่งหนึ่งที่สถาปนิกพยายามสร้างให้เกิดขึ้นภายในบ้านหลังนี้ คือ Sense of Belonging ดีเทลทั้งหมดที่เราเห็นจึงแสดงถึงการเก็บรักษาบางส่วนเอาไว้ เพื่อให้บ้านยังคงมีเรื่องราวของความผูกพันระหว่างผู้อยู่อาศัยและสถาปัตยกรรม ซึ่งดีเทลต่างๆ ที่คุณแอมออกแบบ เรียกได้ว่า ได้รับอิทธิพลจากสถาปนิกชื่อดังชาวญี่ปุ่นที่เคยมีโอกาสได้ทำงานด้วยอย่าง Kengo Kuma มาเต็มๆ โดยคุณแอมเองก็เชื่อว่า “ถ้าเราคิดรายละเอียดมาเพื่อสถานที่นั้นๆ

โดยเฉพาะ คนที่เขาเป็นเจ้าของจะมีความรู้สึกร่วม รักในความเป็นเจ้าของ เราเลยสร้างดีเทลในแต่ละบ้านให้แตกต่างกัน เฟอร์นิเจอร์ตามบ้านต่างๆ เราก็จะดีไซน์เอง เพื่อให้เจ้าของเขารู้สึกถึงความพิเศษ ราวกับว่าเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเพื่อเขาคนเดียวโดยเฉพาะ”

Location: วงศ์สว่าง บางซื่อ กรุงเทพฯ
Owner : รศ.ดร.ภญ.ม.ล.สุมาลย์ สาระยา
Architecture & Interior Design : อรชุมา สาระยา Common Space Architect