‘Touch the Earth Lightly’ หรือ การสัมผัสความเป็นธรรมชาติอย่างแผ่วเบา คือ นิยามหรือปรัชญาการออกแบบของ เกล็นน์ เมอร์คัตต์ (Glenn Murcutt) สถาปนิกชาวออสเตรเลีย ผู้คว้ารางวัล The Pritzker Architecture Prize ปี 2002 ถึงแม้จะเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในยุคหลังๆ แต่แนวคิดเคารพธรรมชาติที่เขายึดถือ ก็ทำให้ผลงานของเมอร์คัตต์โดดเด่นด้วยความเรียบง่าย เน้นการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญบริบทโดยรอบ จนได้รับการยกย่องให้เป็นนักสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมเพื่อความยั่งยืนคนแรกๆ ของยุค
เกล็นน์ เมอร์คัตต์ (Glenn Murcutt)
Photo Credits ; https://www.australiandesignreview.com
ซึมซับความเป็นธรรมชาติมาตั้งแต่วัยเยาว์
ย้อนกลับไปในสมัยที่เกล็นน์ เมอร์คัตต์ยังเด็ก เขาเคยย้ายตามครอบครัวไปพักอาศัยที่ประเทศปาปัวนิวกีนี เกาะทางเหนือของทวีปออสเตรเลียเป็นระยะเวลา 5 ปี ทำให้เมอร์คัตต์ได้พบกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่สร้างขึ้นจากวัสดุเรียบง่าย เข้ากับลักษณะภูมิประเทศ ประกอบกับด้วยความที่คุณพ่อชื่นชอบการออกแบบ และมักจะสร้างบ้านขึ้นเอง ทำให้เขาซึมซับบรรยากาศเหล่านั้นมาโดยไม่รู้ตัว
“คุณพ่อสนใจในเรื่องการออกแบบมาก เขามักจะออกแบบและสร้างอาคารของตัวเอง โดยที่บ้านทุกหลังจะมีบานเกล็ดมุ้งลวดกันแมลงและหลังคาระบายอากาศ เพราะเรามองว่าอากาศบริสุทธิ์ถือเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่อาศัย” เมอร์คัตต์กล่าว
Marika – Alderton House
Northern Territory, 1994
Photo Credits ; area-arch.it , arielchesley.files.wordpress
หลังจากใช้ชีวิตที่ปาปัวนิวกีนีได้ไม่นาน ก็ย้ายกลับมาพักอาศัยในเมืองซิดนีย์ และเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จาก Sydney Technical College (ปัจจุบันคือ University of New South Wales) หลังจากเรียนจบ ในช่วงแรกของการทำงานเขามีโอกาสได้ทำงานร่วมกับสถาปนิกหลายท่าน เช่น Neville Gruzman , Ken Woolley, Sydney Ancher และ Bryce Mortlock ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นเวลาสำคัญที่เปิดโอกาสให้ให้เขาได้สัมผัสกับรูปแบบสถาปัตยกรรมออร์แกนิก ที่เน้นสร้างความสัมพันธ์กับธรรมชาติ
เมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้เป็นเวลา 8 ปี เมอร์คัตต์ก็ตัดสินใจก่อตั้งสตูดิโอออกแบบเล็กๆ เป็นของตัวเองในย่านชานเมืองซิดนีย์ ประกอบกับรับหน้าที่ศาสตราจารย์สอนด้านสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยทั่วโลก รวมถึงงานบรรยายต่างๆ ในระดับนานาชาติ
Marie Short House
New South Wales, 1975
Photo Credits ; area-arch.it , ofhouses.com
สถาปนิกผู้ออกแบบแต่บ้านและอาคารขนาดเล็ก
สิ่งหนึ่งที่ทำให้เมอร์คัตต์แตกต่างจากสถาปนิกคนอื่นๆ ที่คว้ารางวัล Pritzker Prize คือ การที่เขาไม่เคยทำงานออกแบบอาคารสูง รวมไปถึงอาคารสาธารณะสเกลใหญ่ ผลงานส่วนมากของเขาจะเน้นการออกแบบเพียงบ้านพักอาศัย หรืออาคารขนาดเล็กเท่านั้น ซึ่งสิ่งสำคัญไม่ใช่ความใหญ่โตของสเกลงานเสมอไป แต่คือ แนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมให้เข้ากับสภาพภูมิประเทศ สภาพอากาศและสถานที่ตั้ง โดยใช้เทคนิคการก่อสร้างสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่เขาคุ้นเคยดีมาใช้
Magney House
New South Wales, 1984
Photo Credits ; plansmatter.com , fr.wikiarquitectura.com
ผลงานในช่วงแรกๆ ของเขา ได้รับอิทธิพลมาจากสถาปนิกชื่อดังอย่าง Mies van de Rohe และ Alvar Aalto ทำให้เราเห็นผลงานออกแบบของเมอร์คัตต์ที่ตรงไปตรงมา อ่อนน้อมถ่อนตนและเคารพต่อธรรมชาติ โดยหยิบนำวัสดุง่ายๆ ในท้องถิ่นมาใช้อย่างหลากหลาย
“ผมสนใจอาคารที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศตามฤดูกาลได้ ยกตัวอย่างเช่น เราไม่เปิดเครื่องปรับอากาศในขณะที่เดินไปตามถนนในช่วงฤดูร้อน แต่เราเลือกที่จะเปลี่ยนเสื้อผ้าที่สวมใส่แทน การปรับตัวเหล่านั้น คือ กุญแจสำคัญที่มีผลต่อการออกแบบอาคารของผม”
Australian Islamic Centre
Melbourne, Australia 2017
Photo Credits ; www.archdaily.com
Simpson-Lee House
New South Wales , Australia 1994
Photo Credits ; https://architectureau.com
บ้านชั้นเดียวหลังนี้ตั้งอยู่ในเทือกเขา Blue Mountains ซึ่งเป็นภูมิทัศน์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางทิศตะวันตกของเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทำให้การออกแบบทั้งหมดจำเป็นต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดด้านกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
ตัวบ้านถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยฝั่งหนึ่งจะประกอบไปด้วยฟังก์ชันหลักของบ้าน ส่วนอีกฝั่งออกแบบให้เป็นห้องขนาดใหญ่ที่แยกตัวออกไปอย่างชัดเจน ก่อนจะเชื่อมเข้าหากันด้วยทางเดินยาวภายนอกที่ยกสูงขึ้นจากพื้น
Photo Credits ; www.ozetecture.org
หลังคายังออกแบบให้ทำมุมองศาอย่างพอดี เพื่อป้องกันความร้อนของอาคารในฤดูร้อน แต่ยังเปิดให้แสงแดดธรรมชาติเข้าถึงได้สำหรับฤดูหนาว และด้วยรูปทรงของหลังคายังสามารถรับน้ำฝน ให้ลงที่ด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อการดูแลรักษาที่น้อยที่สุด
การจัดวางผังบริเวณ เมอร์คัตต์ยังใส่ใจถึงความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ทั้งในเรื่องมุมมองที่เปิดออกสู่ภูมิทัศน์โดยรอบ และการนำน้ำเข้ามาสร้างบรรยากาศในการอยู่อาศัย รวมถึงออกแบบบ้านให้เรียบง่าย กลมกลืนไปกับบริบทความเป็นธรรมชาติโดยรอบ
ภาพแปลนบ้าน Simpson-Lee House
Photo Credits ; www.ozetecture.org
Arthur and Yvonne Boyd Art Centre
New South Wales, Australia 1999
(collaboration with Reg Lark and Wendy Lewin)
Photo Credits ; www.archdaily.com
เนื่องจากเป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่กว่าสเกลบ้านปกติ โปรเจกต์นี้จึงเป็นโปรเจกต์พิเศษที่เมอร์คัตต์ทำร่วมกับ Wendy Lewin ภรรยาและ Reg Lark ลูกศิษย์ อาคารหลังนี้ตั้งอยู่บนภูมิประเทศที่สวยงาม ห้อมล้อมไปด้วยวิวธรรมชาติและแม่น้ำในเมือง Riversdale รัฐ New South Wales ประเทศออสเตรเลีย โดยมีฟังก์ชันเป็นศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กนักเรียนอายุ 8 -15 ปี
เมื่อพิจารณาถึงบริบทของภูมิทัศน์อันสวยงาม รวมถึงลักษณะที่เป็นธรรมชาติของพื้นที่ อาคารจึงถูกจัดวางในลักษณะเฉียงเป็นเส้นตรงขึ้นสู่เนิน ฟังก์ชันหลักทั้งสองอย่างพื้นที่กิจกรรมส่วนกลางและหอพักมีรูปแบบที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน โรงเรือนและระเบียงถูกจัดกลุ่มไว้ใต้หลังคาห้องโถงใหญ่ที่สูงตระหง่าน โดยมีการยกระดับเพื่อให้มองเห็นวิวทิวทัศน์อันสวยงาม ในขณะที่ห้องนอนถูกจัดเรียงในแนวยาว ส่วนห้องครัวจะเชื่อมเข้าสู่ห้องโถงใหญ่เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งาน
Photo Credits ;www.architectural-review.com , www.flickr.com
ส่วนที่เป็นห้องพักทุกๆ ห้องยังออกแบบให้มองเห็นวิว อีกทั้งยังนำเทคนิคแผงกันแดดที่เขาเคยใช้ในการออกแบบบ้านหลังอื่นๆ โดยมีลักษณะคล้ายครีบยื่นออกจากอาคารทางแนวตั้ง ซึ่งจะช่วยสร้างความเป็นส่วนตัว รวมถึงช่วยถ่ายเทลมและอากาศ
Donaldson House
Sydney, Australia 2017
Photo Credits ; www.gessato.com
เช่นเดียวกับงานออกแบบอื่นๆ ของเมอร์คัตต์ Donaldson House ไม่เพียงลดผลกระทบต่อที่ดิน แต่ยังปรับรูปแบบของสถาปัตยกรรมให้กลมกลืนและตอบสนองต่อลักษณะภูมิประเทศและเอกลักษณ์ของพื้นที่
เนื่องจากบ้านหลังนี้สร้างขึ้นในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดไฟป่า บ้านจึงออกแบบด้วยโครงสร้างฐานรากคอนกรีตเสริมเหล็ก หน้าต่างกระจกที่แข็งแรงเป็นพิเศษ คานหลังคาเหล็ก และหุ้มด้วยสังกะสีเคลือบสีดำ ซึ่งหากมองจากภายนอกเราแทบจะมองไม่เห็นบ้านหลังนี้จากถนนเลย เพราะถูกออกแบบให้ตั้งอยู่ภายใต้หินทรายบนพื้นที่สูงชัน ซึ่งจะสามารถเข้าถึงตัวบ้านชั้นบนผ่านทางบันไดคอนกรีตแบบแขวน
Photo Credits ; www.gessato.com
บริเวณชั้นบนของบ้านประกอบด้วยพื้นที่หลักอย่างห้องครัว ห้องรับประทานอาหารและห้องนั่งเล่น เชื่อมต่อสู่ระเบียงที่เปิดให้เห็นทัศนียภาพอันงดงามของป่าไม้ หน้าต่างบานใหญ่ทำให้แสงธรรมชาติเข้าถึงพื้นที่ภายใน นอกจากนั้นในชั้นนี้ยังมีห้องนอนใหญ่ที่ออกแบบผนังเปิดให้มองเห็นแนวหินขนาดใหญ่และแอ่งน้ำ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในไฮท์ไลท์ของบ้านทั้งหลัง ส่วนชั้นล่างจะเป็นที่ตั้งของห้องนอน 3 ห้องและห้องน้ำ 2 ห้อง รวมถึงห้องซักผ้าและลานตากผ้า
Photo Credits ; www.gessato.com
อีกหนึ่งจุดเด่นของบ้านหลังนี้ คือ ถังเก็บน้ำ แผงโซลาร์เซลล์ และบ้านซึ่งไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่ใช้ระบบบานเกล็ดควบคุมด้วยไฟฟ้าเป็นตัวควบคุมแสงแดดและความร้อนจากภายนอกแทน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแบบฉบับของเกล็นน์ เมอร์คัตต์
MPavilion
Melbourne, Australia 2019
Photo Credits ; www.dezeen.com
สำหรับโปรเจกต์ล่าสุดของเมอร์คัตต์อย่าง MPavilion ตั้งอยู่ที่ Queen Victoria Gardens ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย อาคารหลังนี้ได้รับคำนิยามให้เป็นพื้นที่พักพิงที่ทันสมัยและสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยสามารถตั้งอยู่บนภูมิประเทศต่างๆ ได้อย่างสะดวกและรบกวนบริบทธรรมชาติน้อยที่สุด ซึ่งอาคารหลังนี้ยังคงนำเสนอลักษณะอันเรียบง่าย และให้ความสำคัญกับอากาศธรรมชาติตามแบบเฉพาะของเมอร์คัตต์
อาคาร MPavilion เปิดโล่งรับวิวทิวทัศน์และอากาศธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ โดยประกอบขึ้นเป็นผังสี่เหลี่ยมด้วยการใช้เสาเหล็กกลมรองรับโครงถักที่ห่อหุ้มด้วยโครงสร้างเมมเบรนแรงดึงโปร่งแสง ทำให้หลังคาสีขาวดูบางเบาและเหมือนลอยตัวอยู่ซึ่งในยามค่ำคืนจะสว่างไสวจากแสงประดิษฐ์จากภายใน โครงร่างสี่เหลี่ยมที่เรียบง่ายและการใช้โครงเหล็กน้อยที่สุด ยังทำให้อาคารสามารถรื้อถอนได้ง่าย พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลง
Photo Credits ; www.dezeen.com
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เมื่อโลกล้วนเต็มไปด้วยนักสร้างสรรค์ที่พร้อมจะสร้างผลงาน คำนึงถึงบริบทความเป็นธรรมชาติ พยายามหาหนทางการอยู่อาศัยในรูปแบบใหม่ๆ ที่ปรับตัวเข้าหากันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ หนึ่งในนักสร้างสรรค์ที่ว่านั้น ก็คือ เกล็นน์ เมอร์คัตต์ ซึ่งผลงานของเขาก็ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ไม่จำเป็นต้องโดดเด่น หวือหวา แต่ความเรียบง่ายกลับคืนสู่อะไรที่เป็นธรรมดาสามัญก็สามารถสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมระดับโลกได้เช่นเดียวกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก ;
en.wikipedia.org , assemblepapers.com.au ,www.pritzkerprize.com ,architectureau.com , architectural-review.com , www.gessato.com , www.archdaily.com
Photo Credits (ภาพปก) ;
static.naewna.com , archdaily.com