‘BodinChapa’ สตูดิโอไซส์เล็กแต่มากด้วยชั้นเชิงในการออกแบบที่ตอนนี้มีผลงานให้ชวนติดตามอย่างต่อเนื่อง ด้วยชื่อติดหูที่เกิดจากการรวมกันของชื่อ ‘บดินทร์’ จาก คุณป้อง-บดินทร์ เมืองลือ และ ‘ชาภา’ จากคุณว่าน-พิชชาภา โล่ห์ทอง สองสามีภรรยาที่ร่วมกันก่อตั้งบริษัท ภายใต้ความเชื่ออย่างลึกซึ้งว่าสถาปัตยกรรมจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้ในทุกๆ มิติของสังคม โดยผ่านการออกแบบที่เกิดจากการทดลองและเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง จนในวันนี้ BodinChapa Architects ได้กลายเป็นหนึ่งในสตูดิโอออกแบบที่น่าจับตามองมากที่สุดอีกแห่งของวงการ
จากการวาดรูปสู่เส้นทางเพื่อต่อยอดทางวิชาชีพที่รัก
กว่า BodinChapa Architects จะเกิดขึ้นได้ต้องเล่าย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่ทั้งคุณป้อง-คุณบดินทร์และคุณว่าน-พิชชาภายังเป็นเด็ก ด้วยพื้นเพเดิมของทั้งคู่เป็นเด็กต่างจังหวัด โดยที่คุณป้องเกิดและเติบโตที่จังหวัดเชียงราย ส่วนคุณว่านเกิดและเติบโตที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาทำให้ทั้งคู่ซึมซับความเป็นพื้นถิ่นมาอย่างเต็มเปี่ยม เริ่มจากทางคุณป้องที่ตอนเด็กได้มีโอกาสได้คลุกคลีกับช่างท้องถิ่นช่วงที่ในชุมชนมีการก่อสร้างบ้านหรืออาคารต่างๆ จากจุดนี้เองที่ทำให้คุณป้องเกิดความสนใจไปถึงข้อสงสัยว่าหากตนเองอยากทำงานเกี่ยวกับด้านนี้จะมีคณะอะไรบ้าง จนเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากจะเข้าคณะสถาปัตยกรรมเพื่อต่อยอดจากสิ่งที่ตนเองสนใจในวัยเด็ก
ส่วนทางคุณว่านนั้นชื่นชอบการวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆ โดยตั้งใจให้รูปภาพนั้นเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองคิดและความรู้สึกมากกว่าการสื่อสารอย่างอื่น เมื่อเติบโตมาทักษะการวาดรูปก็พัฒนาและมีความซับซ้อนมากขึ้น จนถึงจุดเดียวกับคุณป้องที่ค้นหาว่าทักษะที่ตนเองมีอยู่นั้นเหมาะสมกับการเรียนในด้านไหน และเมื่อกลั่นกรองจนแน่ใจแล้ว จึงตัดสินใจเลือกเรียนคณะสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกัน
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังให้มากกว่าการตอบโจทย์การด้านวาดรูป แต่คือการสอนวิธีคิด
คุณป้องและคุณว่านต่างก็เป็นนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งทั้งคู่ต่างบอกเล่าเรื่องราวไปทางเดียวกันว่า ช่วง 5 ปีที่ได้ศึกษาที่นี่เป็นช่วงเวลาแห่งการทดลองอย่างแท้จริง ทั้งการทดลองการใช้ชีวิต การเรียนรู้สิ่งต่างๆ การเข้าสังคม ไปจนถึงการได้ศึกษาถึงศาสตร์ของความงามของงานสถาปัตยกรรม ตั้งแต่ที่มาที่ไปในการออกแบบ แนวความคิดในการออกแบบ การพัฒนาแบบ ไปจนถึงการเขียนแบบเพื่อการก่อสร้าง ซึ่งประสบการณ์ที่พบเจอในช่วงเรียนนั้นได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในตัวตนของทั้งคู่ในเวลานี้อย่างเหนียวแน่น
จากงานออกแบบคาเฟ่เล็กๆ ที่เชียงรายที่ต่อมากลายเป็นจุดเริ่มต้นของ BodinChapa Architects
เมื่อเรียนจบทั้งคุณป้องและคุณว่านยังไม่ได้ตัดสินใจก่อตั้ง BodinChapa Architects ในทันที แต่ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะแยกย้ายกันไปหาประสบการณ์กันก่อน โดยคุณว่านเลือกที่จะทำงานในสตูดิโอออกแบบที่มีแนวทางการทำงานที่ตนเองสนใจอยู่หลายปี ส่วนคุณป้องได้เลือกที่จะกลับไปบ้านเกิดที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งตรงกับจังหวะที่เพื่อนอยากให้ออกแบบคาเฟ่ที่ชื่อ Laantim cafe พอดี ทางคุณป้องจึงตัดสินใจรับงานด้วยที่อยากทดลองอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่องความเชื่อและความคิดในวิถีทางในการออกแบบ ซึ่งงานออกแบบชิ้นนี้เองได้กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้คุณป้องเชื่อว่าตนเองสามารถผลิตงานสถาปัตยกรรมที่ดีได้ ทั้งต่อเจ้าของโครงการและบริบท จนเวลาผ่านไป 2-3 ทั้งคู่จึงกลับมาพูดคุยกันถึงรูปแบบของงานสถาปัตยกรรมที่ทั้งสองคนชอบและอยากทำให้เป็นกิจจะลักษณะเพื่อที่จะได้สื่อสารความเชื่อออกไปได้อย่างเต็มที่ ก็เลยตัดสินใจมาทำงานร่วมกันและนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของ BodinChapa Architects
การออกแบบที่เกิดจากการตั้งคำถาม จนไปถึงการเขียนแบบที่เน้นให้ง่ายต่อการก่อสร้างหน้างานให้มากที่สุด
BodinChapa Architects มีลักษณะการทำงานเป็นทีม โดยทุกโครงการที่ออกแบบจะเริ่มจากการตั้งคำถามอย่างละเอียดในทุกๆ มิติเป็นอันดับแรก ตั้งแต่การตั้งคำถามด้วยกันเองในทีม คำถามกับเจ้าของโครงการ จนไปถึงการตั้งคำถามถึงบริบทเพื่อหาทิศทางของโครงการ จากนั้นทั้งสตูดิโอก็ทำการ Brainstorm ความคิดกันในทีมเพื่อสเก็ตช์ออกมา โดยคุณป้องและคุณว่านจะให้เวลาและความสำคัญกับขั้นตอนสเก็ตช์เป็นอย่างยิ่งเพื่อหาความเป็นไปได้ของสถาปัตยกรรมที่จะเกิดขึ้น พอผ่านขั้นตอนนี้ก็ตามด้วย Presentation หรือ 3 มิติเพื่อเสนอเจ้าของโครงการและการเขียนแบบก่อสร้างเพื่อนำไปก่อสร้างหน้างาน ซึ่งในการเขียนแบบก่อสร้างทาง BodinChapa Architects จะเคลียร์รายละเอียดให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดคำถามในหน้างานให้น้อยที่สุดนั่นเอง
จากการหลอมรวมบริบทอย่างพิถีพิถันจนเกิดเป็น Pasang คาเฟ่ที่ BodinChapa ยกให้เป็นโครงการที่ยากที่สุดตั้งแต่ออกแบบมา
หลังจากเปิด BodinChapa Architects มาอย่างเป็นทางการและได้รับโอกาสให้ออกแบบอาคารต่างๆ มาไม่น้อย แต่ก็ยังมีโครงการหนึ่งที่ทั้งคู่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นงานออกแบบที่มีความท้าทายแต่ก็สนุกมากที่สุด โครงการนั้นคือ โครงการป่าซาง ที่จังหวัดเชียงราย
‘ป่าซาง คาเฟ่’ เป็นโครงการออกแบบร้านกาแฟที่ทั้งคู่พูดคุยกันเยอะมากเพื่อหา Direction ที่จะสื่อสารภาษาในแบบของตัวเอง ผ่านงานสถาปัตยกรรม โดยตั้งใจให้สถาปัตยกรรมทำหน้าที่เล่าความเป็นพื้นถิ่นในรูปแบบที่ร่วมสมัยและมีความโมเดิร์นเข้ามาเป็นส่วนประกอบ ตัวอาคารถูกออกแบบจากผนัง Modular ที่นำมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันจนเป็นงานสถาปัตยกรรมด้วยต้องการสื่อสารถึงคนที่เข้ามาใช้พื้นที่ได้อย่างตรงไปตรงมา
คำจำกัดความของสตูดิโอออกแบบที่ไม่ยึดติดกับอะไรแบบเดิม
คุณว่านกล่าวว่าหากจะจำกัดความเป็น BodinChapa Architects ด้วยคำสามคำคงหนีไม่พ้น ‘ภูมิปัญญาเชิงช่าง การทดลองและไฮบริด’ ด้วยความที่ทางสตูดิโอนั้นให้คุณค่ากับความเป็นพื้นถิ่นของบริบทของแต่ละโครงการ จึงทำทั้งคู่ให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาเชิงช่างเป็นอย่างมาก แต่ด้วยยุคสมัยและข้อจำกัดในการออกแบบเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่หลากหลาย การยึดรูปแบบของความเป็นพื้นถิ่นทางเดียวนั้นยังไม่พอ จึงเกิดมาเป็นการ ‘ทดลอง’ ที่เป็นแนวทางการออกแบบ ทั้งเพื่อเป็นการเรียนรู้และค้นหาผลลัพธ์ทางสถาปัตยกรรมที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้าและบริบท เมื่อการทดลองนำมาผสมผสานกับภูมิปัญญาเชิงช่าง จึงเกิดมาเป็นคำว่า ‘ไฮบริด’ ซึ่งเป็นที่คำที่บ่งบอกรูปแบบสถาปัตยกรรมของ BodinChapa มากที่สุด เพราะที่นี่คือสตูดิโอแห่งการผสมผสานที่ไม่ยึดติดกับอะไรแบบเดิม และเปิดรับสิ่งใหม่อยู่เสมอเพื่อให้ทุกงานออกมาสนุก ทั้งในแง่ของการทำงานและตัวงานสถาปัตยกรรม
เมื่อความสำเร็จในวันนี้เป็นเพียงขั้นบันไดแห่งความท้าทาย
แม้ว่าวันนี้ BodinChapa Architects จะเป็นที่รู้จักและได้รับความไว้วางใจในการออกแบบอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งคุณป้องและคุณว่านยังมองว่าความสำเร็จในวันนี้เป็นเพียงบันไดเพียงขั้นหนึ่งในวิชาชีพสถาปนิกเท่านั้น โดยทั้งคู่ได้ย่อยคำว่าความสำเร็จออกเป็นหลายๆ ส่วน เพื่อที่จะได้ประเมินตัวเองตลอดเวลา ว่าสิ่งที่ทำนั้นตรงประเด็นและสามารถต่อยอดอะไรได้บ้าง และมองไปถึงผู้ใช้พื้นที่ในงานสถาปัตยกรรมที่ออกแบบว่ามีความสุขในพื้นที่นั้นๆ หรือไม่ ซึ่งความสุขของผู้ใช้นั้นก็ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของทั้งสตูดิโอเช่นกัน
ฝากอะไรถึงน้องๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงานในสายอาชีพสถาปนิก
สำหรับสตูดิโอออกแบบที่มีประสบการณ์ใกล้สิบปีแห่งนี้แนะนำให้น้องๆ คิดว่าการทำงานเป็นการทดลองเพื่อหาว่าเราเหมาะกับอะไร และเรียนรู้ให้ได้มากที่สุดในทุกๆ มิติของการทำงาน ทั้งเรื่องของการออกแบบ การเข้าสังคม การคุยงานกับลูกค้า การประสานงานกับทั้งวิศวะกรหรือช่างก่อสร้าง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ให้เก็บเกี่ยวความรู้ และหากต้องการจะเปิดออฟฟิศของตัวเองหลังจากนี้ก็ให้ถามตัวเองก่อนว่ามีความพร้อมมากแค่ไหน พร้อมทั้งการจัดการรอบด้าน ทั้งการออกแบบ งบประมาณไปจนถึงการเสียภาษีต่างๆ ซึ่งหากพิจารณาอย่างละเอียดแล้วว่าตัวเองพร้อมก็ให้ลุยเลย
“BodinChapa Architect เกิดจากการตั้งคำถามว่าเราควรจะใช้อะไรในการสื่อสารรูปแบบงานสถาปัตยกรรมในแบบของเรา หรือเป็นตัวแทนของสิ่งที่เรา เราไม่ต้องการเอาคำนิยามมานิยามว่าเราจะต้องเป็นอย่างนั้นไปตลอด ดังนั้นเราก็เลยคิดว่าน่าจะเอาชื่อหรืออะไรที่เรามีอยู่มาเล่าเป็นตัวเรา ชื่อ BodinChapa จะแทนบุคคลหรือสถาปนิกที่อยู่ในทีมของเราว่า เราเป็นบุคคล เราเป็นสถาปนิก และเตือนตัวเองตลอดว่า เราจะต้องทำงานสถาปัตยกรรมออกมาเพื่อสื่อสารไปยังคนภายนอก ให้เข้าใจถึงความหมาย คุณค่าตลอดจนการใช้พื้นที่ได้อย่างมีความสุขที่สุด” คุณบดินทร์ เมืองลือ และ คุณพิชชาภา โล่ห์ทอง แห่ง BodinChapa Architects
บดินทร์ เมืองลือ และ พิชชาภา โล่ห์ทอง
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง